‘New Retail’ โลกใหม่ธุรกิจค้าปลีกต้องฉีกกฎ!





 Main Idea
 
  • เวลาเปลี่ยน พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยน การทำธุรกิจค้าปลีกก็ต้องปรับตัวเพื่อหนีการถูก Disruption ด้วยยุทธวิธีที่เรียกว่า New Retail  หรือการทำธุรกิจหลายช่องทางแบบไร้รอยต่อ
 
  • ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่นอกจากต้องใส่ใจเรื่องช่องทางการขายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความแข็งแกร่งของพื้นฐานธุรกิจและระบบหลังบ้านที่จะช่วยซัพพอร์ตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไม่มีสะดุด
 
  • เคล็ดลับการสร้างธุรกิจค้าปลีกให้ปังในยุคนี้ อยู่บนพื้นฐานของการแก้ Pain Point ให้กับผู้บริโภคให้ได้





     ‘การเปลี่ยนแปลง’ คือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำธุรกิจค้าปลีกยุคนี้ ผู้ประกอบการ SME รุ่นเก่าหลายคนยังมีความเชื่อแบบเดิม ทำธุรกิจรูปแบบเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้คนก็เปลี่ยนไป ทำให้ร้านค้าปลีกในโลกใหม่ต้องปรับตัวเพื่อหลีกหนีการถูก Disruption ก่อนธุรกิจจะต้องล้มหายตายจากไป  


     คำว่า New Retail จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจค้าปลีกที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญและเปลี่ยนตัวเองให้ก้าวทันกับความเป็นไปของโลก





     วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร 
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวถึงความยากของการทำธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ในงานสัมมนาโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ โดยเปิดประเด็นด้วยคำว่า ‘คนที่ไม่เปลี่ยนคือคนที่ตายไปแล้ว’ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง


     “การทำธุรกิจรีเทลไม่ง่าย ผมทำงานธนาคารมา 22 ปี แม้แต่โลกรีเทลธนาคารยังมีขึ้นมีลง เปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้เราอยู่นิ่งไม่ได้เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้อะไรจะมา แต่เรารู้แน่ชัดได้เลยว่าถ้ายังอยู่เหมือนเดิม เราตายแน่นอน”
 
  • New Retail ค้าปลีกยุคใหม่ที่ต้องจับตา

     สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายคนกำลังหวาดกลัวคงหนีไม่พ้นเรื่องของการถูก Disrupt ลองนึกภาพว่าคุณฝึกฝนวิชาดาบมาเป็น 10 ปี แต่อยู่ดีๆ ก็มีคนเอาปืนมายิงคุณดังเปรี้ยงแล้วคุณก็ล้มลงโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณกันแน่? การทำธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้ก็เช่นกัน





     วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมค้าปลีกและ CEO ของบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ที่รู้จักกันดีในชื่อ
OfficeMate จากจุดเริ่มต้นร้านขายเครื่องเขียนห้องแถวเล็กๆ เติบโตมาถึงระดับพันล้าน เขาได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนไปในธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่จะเข้ามาแทนค้าปลีกแบบเดิมๆ เรียกว่า New Retail หรือ Omni Channel


     “Disrupt คือการที่คุณทำธุรกิจค้าปลีกอยู่ดีๆ แล้วก็มีธุรกิจหนึ่งมาทำให้คุณล้มหายตายจากอย่างรวดเร็ว เกิดมาแล้วกับ Nokia, Kodak ผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งโลกกลัวมากว่าจะโดนอะไรเข้ามาแทนที่ คำตอบคือ New Retail แต่ก่อนเรียก Omni Channel คือการทำธุรกิจหลายช่องทางแบบไร้รอยต่อ ซึ่งธุรกิจบนโลกนี้ที่ทำได้จริงๆ มีน้อยมาก เช่น Amazon และซูเปอร์มาเก็ตของ Alibaba ที่ชื่อ Hema เป็นต้น”





     โดยวรวุฒิได้อธิบายเพิ่มเติมสำหรับค้าปลีกที่จะก้าวขึ้นมาเป็น New Retail ในยุคนี้ว่าต้องเก่งกาจในการทำ Omni Channel เขากล่าวว่าผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำระบบดังกล่าวนั้นล้วนมาจากฝั่งของคนทำออนไลน์มาก่อน เนื่องจากการทำ Omni Channel ให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบรวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน

1.Digital Content เพราะการขายออนไลน์ต่างจากออฟไลน์ ต้องมีการถ่ายภาพสินค้าให้ดึงดูดใจ เล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร ทำคลิปวิดีโอ หากทำคอนเทนต์ไม่น่าสนใจก็จะกลายเป็นจุดอ่อน ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกยุคเก่ายังมีความเชี่ยวชาญในจุดนี้น้อยกว่าผู้ประกอบการออนไลน์

2.Big Data ข้อมูลของลูกค้านั้นสำคัญมากในการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ต้องมีการเก็บข้อมูลให้ละเอียดเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า

3.Logistic ผู้ประกอบการค้าปลีกยุคเก่าอาจไม่ชินกับการออกไปส่งของให้ลูกค้าชิ้นต่อชิ้น ต่างจากผู้ค้าออนไลน์ที่สามารถส่งได้ไม่จำกัดจำนวนขั้นต่ำ


     “ผมว่าทุกคนที่ทำธุรกิจค้าปลีกต้องหันมามองออนไลน์ ทั้งสินค้าและบริการ ผมไม่อยากให้คิดไกลเกิน ลองมองก่อนว่าเรามีเฟซบุ๊กหรือยัง ถ้ามีแล้ว อัพเดตบ้างหรือไม่ แต่ก่อนอื่นเรื่องของพื้นฐานคุณก็ต้องแน่น ขายสินค้าที่มีคุณภาพ เซอร์วิสต้องดี ระบบหลังบ้านทำงานดีแค่ไหน ทำบัญชีและสต็อกสินค้าบ้างหรือไม่ อันดับแรกหากอยากเปลี่ยนแปลงคือเริ่มจากระบบบัญชีและสต็อก ผมอยากเชียร์ให้ทุกคนทำบัญชีเดียวและเสียภาษีถูกต้อง ลองกลับไปทบทวนตัวเอง ดูว่าธุรกิจของคุณทำงานเป็นระบบหรือยัง”


     ธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่นอกจากต้องใส่ใจเรื่องการทำ Omni Channel แล้ว เขายังเน้นย้ำเรื่องความแข็งแกร่งของพื้นฐานธุรกิจและระบบหลังบ้านที่จะช่วยซัพพอร์ตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไม่มีสะดุด

 
  • เจาะลึกเทรนด์ค้าปลีกออนไลน์

     หากพูดถึงประเทศที่มีการจับจ่ายใช้สอยบนโลกออนไลน์มากที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศที่มีประชากรเยอะที่สุดในโลกอย่างประเทศจีน ที่มีสัดส่วนการชอปปิงออนไลน์ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ส่วนประเทศไทยยังมีสัดส่วนการชอปปิงในตลาดออนไลน์เพียงแค่ 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังมีช่องว่างอีกมากมายในตลาดนี้ที่รอให้คุณก้าวเข้าไป เพียงแค่คุณต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะช้าเกินไป





     ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา
 นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้ให้ตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้าปลีกออนไลน์ไว้ว่าคนไทยใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่หากเจาะลึกถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานสมาร์ตโฟนพบว่าคนไทยใช้เวลากับสมาร์ตโฟนเป็นอันดับ 1 ของโลก ลองมองไปถึงมูลค่าของการชอปปิงออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทและจะโตขึ้นทุกปี ปีละ 30 เปอร์เซ็นต์จนแตะ1.2 ล้านล้านบาทภายในปี 2568 หากผู้ประกอบการคนไหนที่อยากจะเข้าสู่โลกออนไลน์ ไม่ต้องรีรออีกต่อไปเพราะนี่คือสิ่งที่คุณควรทำตั้งแต่ตอนนี้


     “3 ช่องทางหลักที่ผมอยากแนะนำให้ SME ใช้ในการขายออนไลน์คือ 1.Social Media เนื่องจากคนไทยติดเฟซบุ๊ก ชอบยูทูป ชอบตามเทรนด์ใหม่ๆ และตอนนี้โซเชียลมีเดียไม่ใช่ช่องทางการสร้างปฏิสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่คือช่องทางในการขายด้วย 2. Website เปรียบเสมือนบ้านของคุณ ที่สามารถควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองได้ อยากขายตัวไหนก็ได้ อยากเก็บข้อมูลลูกค้าก็ทำได้ อีกทั้งยังช่วยให้ไม่พลาดโอกาสจากลูกค้าที่ชอบค้นหาใน Google ก่อนซื้อสินค้าอีกด้วย 3.Marketplace เป็นช่องทางการขายที่ SME ต้องมี ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางอาจจะไม่จำเป็นต้องขายสินค้าแบบเดียวกัน เช่น คุณอาจจะใช้กลยุทธ์ว่าสินค้าไหนที่อยากให้เป็นตัวท็อป มี Exclusive เท่านั้น ก็ขายเฉพาะใน Website สินค้าไหนที่จัดโปรโมชั่น ต้องการขายจำนวนเยอะๆ ลดราคา ให้ลงขายใน Marketplace ส่วนสินค้าไหนที่ลูกค้าน่าจะถามเยอะๆ เน้นให้ข้อมูลก็ลงขายใน Social Media เป็นต้น”


     โดยธนาวัฒน์ได้ยกตัวอย่างของการทำธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ที่เรียกว่า New Retail สอดคล้องกับที่วรวุฒิได้ให้ข้อมูลไว้ อย่าง Hema ซูเปอร์มาเก็ตของ Alibaba ที่เปลี่ยนค้าปลีกแบบเดิมให้กลายเป็น New Retail ที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากร้านค้าปลีกทั่วไปอยู่ 3 ข้อนั่นคือ 1.Digital Grocery Store การเข้าไปชอปปิงที่นี่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ทุกสินค้าจะมีข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งการจ่ายเงินยังผูกกับ Alipay ด้วย 2.Restaurant ภายในซูเปอร์มาเก็ตจะมีส่วนของร้านอาหารที่มีความสดใหม่ 3.Real time E-commerce ภายในร้านจะมีสิ่งที่เรียกว่าศูนย์กระจายสินค้า ให้ลูกค้าสั่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นและสามารถจัดส่งถึงบ้านที่อยู่ในระยะของร้านได้ภายใน 30 นาที ทั้งหมดนี้คือการออกแบบประสบการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันจนสามารถทำให้ Hema มียอดขายที่เติบโตกว่าธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ได้

 
  • แชร์เคล็ดลับสร้างธุรกิจค้าปลีกให้ปัง

     อาจเรียกได้ว่าธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้คือธุรกิจปราบเซียน ผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ปรับตัวเร็วกว่าจะกลายเป็นผู้อยู่รอด  ส่วนใครที่ไม่มีจุดเด่น เปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทันก็จะแพ้พ่ายไปในเกมนี้





     สมยศ เชาวลิต
 กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ.ไอ.บี คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป อดีตเด็กวัดที่ทำงานหาเงินส่งเสียตัวเองเรียนจนในที่สุดเขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านอย่าง J.I.B. ขึ้น ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 5 ปีคือจุดเริ่มต้นที่สมยศเริ่มมองหาหนทางขยายธุรกิจจากเดิมที่เน้นการขายรูปแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียว


     “ผมมีโอกาสได้ฟังสัมมนาการตลาด เขาบอกว่าในอนาคต หน้าร้านจะตายกันหมด คนจะซื้อของออนไลน์ ผมตกใจมาก เลยคิดว่าเราจะต้องทำอย่างไรดี ซึ่งเรามีเว็บไซต์อยู่แล้ว สิ่งที่ผมทำคือเพิ่มปุ่มซื้อขายเข้าไป ยอดขายจากปุ่มนั้นเพิ่มขึ้นถึง 8 แสนบาท ซึ่งตอนเริ่มต้นขายออนไลน์ผมลงมาทำเอง เริ่มศึกษาดูว่าจะทำยังไงให้ขายได้ เราเลยทดลองด้วยการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ดังๆ ปรากฏว่ารอของเกินกำหนด กลายเป็นว่าเหมือนเขาเล่นกับความรู้สึกเรา”


     หลังจากนั้นสมยศจึงเกิดไอเดียในการพัฒนาระบบออนไลน์ของเขาให้บอกลูกค้าได้เลยว่าจะส่งสินค้าวันไหน อีกทั้งยังเพิ่มความเร็วเข้าไปด้วยการส่งสินค้าถึงมือภายใน 3 ชั่วโมง ส่งตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหนึ่งในการนำ Pain Point มาพัฒนาและตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้





     ทางด้าน อริยะ จิรวรา ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ SOS – SENSE OF STYLE หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่เล็งเห็นปัญหาของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สายแฟชั่นที่มีข้อจำกัดในเรื่องของหน้าร้าน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังต้องการทดลองสินค้า อยากเห็นของจริง ได้สัมผัสสินค้าก่อนซื้อ เขาจึงได้ก่อตั้งร้านขายสินค้าแบบ Multi-Brand Stores ขึ้นในชื่อ SOS ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างลูกค้าและผู้ประกอบการออนไลน์ให้ได้มาเจอกัน


     “จริงๆ มีคนถามเยอะมากว่าทำไมกล้าทำสวนกระแส กล้าเปิดร้านแบบออฟไลน์เพราะที่ผ่านมาทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องขายออนไลน์ แต่สำหรับผม เวลาจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องมองเห็นปัญหาก่อนแล้วเราจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ถ้าเราคิดวิธีแก้ไขได้ นั่นแหละ คุณกำลังจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองแล้ว ผมเล็งเห็นปัญหาที่แบรนด์ออนไลน์ทุกคนต้องเจอ เราคิดว่าสิ่งที่ทำมันเป็นไปได้”





     อริยะได้กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้ยังอยู่ได้ในยุคที่ร้าน Multi-Brand Stores บูมนั่นคือความแตกต่างและเป็นตัวเอง อยากทำธุรกิจต้องแตกต่าง อย่า Copy แล้ว Paste อีกทั้งต้องมีเป้าหมาย อย่างตัวเขาเองมีเป้าหมายหลักคือการพาแบรนด์ไทยไปไกลระดับโลก จึงทำให้เขาคิดอย่างรอบด้านและสนับสนุนแบรนด์ในร้านอย่างเต็มที่และนี่คือจุดแข็งของ SOS จนกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่โดดเด่นท่ามกลาง Red Ocean


     ปิดท้ายด้วยสมยศ เขากล่าวว่าหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจค้าปลีกคือเรื่องของการให้บริการ ต้องแนะนำลูกค้าให้ตรงจุด รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรแล้วธุรกิจของเราควรจะมอบสินค้าแบบไหนให้แก่พวกเขา หากลูกค้ามีการติชมในเรื่องของการบริการ ธุรกิจจะต้องน้อมรับและปรับปรุงโดยด่วน อย่าวางเฉย หากคุณทำได้ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด
 




     ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโลกค้าปลีกยุคใหม่จากงานสัมมนาโครงการ K SME Good to Great ปีที่ 2 ซึ่งได้จัดขึ้นเพื่อเสริมแกร่งผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปีนี้จะเน้นสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีก พร้อมจัดคอร์สอัพความรู้หนุน SME โตอย่างสตรองด้วยงานสัมมนาโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ อีกทั้งยังมีแคมป์อบรมเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ปิดท้ายด้วยการเฟ้นหาผู้ประกอบการตัวจริงจาก 2 กลุ่มทั้งกลุ่มธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องสำอาง และธุรกิจค้าปลีกเพื่อรับเงินรางวัลในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวม 1 ล้านบาทจากธนาคารกสิกรไทย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรของโครงการ


     เพราะก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงนั้นยากเสมอ คลื่นแห่ง Disruption กำลังถาโถมใส่ทุกคนอย่างรุนแรง ผู้ประกอบการ SME ต้องเริ่มขยับตัวตั้งแต่วันนี้เพื่อก้าวเข้าสู่โลกค้าปลีกยุคใหม่ก่อนใคร  


     ติดตามกิจกรรมดีๆ ของธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ Facebook K SME




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​