เปิดห้องส่องแบรนด์ ‘Craftroom’ งานย่ามและความชนเผ่าที่คนเมืองเข้าถึงได้

Text : Mata CK.





Main Idea
 
  • เมื่อครีเอทีฟหนุ่มได้เจอกับครูช่างของชนเผ่าปกาเกอะญอ ได้เห็นภูมิปัญญาการทอด้วยกี่เอว เห็นย่ามใหญ่ที่ชาวปกาเกอะญอใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อเกิดเป็นความประทับใจ และแรงบันดาลใจที่อยากต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้คนเมืองเข้าถึงได้
 
  • นี่คือที่มาของ Craftroom แบรนด์งานคราฟท์ที่นำเรื่องราวของภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอ มาส่งต่อถึงคนเมืองผ่านผลิตภัณฑ์คูลๆ อย่างย่ามใหญ่ ย่ามหางยาว ในลวดลาย รูปแบบ และสีสัน ที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ขัดเขิน



     ย่ามใบใหญ่ สะพายเคียงไหล่ในชุดตามสมัยนิยม ดูกลมกลืนมีสไตล์จนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือย่ามรูปทรงออริจินัลที่ชาวปกาเกอะญอใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ใส่ของยามย้ายถิ่นฐาน ใส่พืชผลทางการเกษตร โดยมีเอกลักษณ์สะดุดตา คือการสะพายย่ามซ้าย-ขวา หรือคาดศีรษะ    





     ภาพนี้อาจดูธรรมดาในสายตาของชาวปกาเกอะญอ แต่สำหรับ “จิรวัฒน์ บุญสมบัติ” เจ้าของบริษัทกราฟฟิกดีไซน์ ที่สนใจในงานหัตถกรรม เขาหลงใหลในเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาเหล่านี้ จนเมื่อวันที่ได้มาเจอกับ “สมศรี ปรีชาอุดมการณ์” ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2559 เมื่อครั้งได้ทำงานกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้เห็นผลงานและฝีไม้ลายมือ ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาการทอด้วยกี่เอวของชาวปกาเกอะญอ ได้เห็นรูปแบบของกระเป๋าย่าม เห็นคุณค่าและเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนั้น จึงเกิดความคิดที่อยากจะนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเมือง คนรุ่นใหม่ ตลอดจนไปสู่ตลาดสากลได้


     “ลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติเขาให้คุณค่ากับงานฝีมือและภูมิปัญญาของไทยเราอย่างมาก เพียงแต่ว่าในการใช้งานอาจจะต้องมีการปรับปรุง หรือว่าลวดลายบางอย่าง ตลอดจนสีอาจต้องเป็นโทนที่กำลังเป็นที่นิยม นี่คือสิ่งที่เราต้องเอามาปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป อีกเรื่องที่เราพยายามสร้างให้เกิดคือการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเราพยายามชักชวนให้ชาวปกาเกอะญอมาใช้สีธรรมชาติ ใช้เส้นฝ้ายที่ปลูกแล้วทอด้วยมือ ปั่นด้วยมือ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ตั้งแต่ต้นน้ำ” จิรวัฒน์ บอกความมุ่งมั่นของเขา หลังตัดสินใจที่จะเข้าสู่โลกของงานหัตถกรรม





     โดยเริ่มจากใช้พลังงานของงานดีไซน์และครีเอทีฟไปสนับสนุนกลุ่มทอผ้าด้วยกี่เอวชาวปกาเกอะญอ ในดอยแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของครูช่างสมศรี ให้ผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์และการใช้งานของคนยุคนี้มากขึ้น มีรูปแบบที่ตลาดต้องการ โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า  Craftroom (คราฟท์รูม) ให้ความหมายถึงห้องหรือพื้นที่ของงานหัตกรรมที่มาจากภูมิปัญญานั่นเอง
               




     “ผมเป็นกราฟฟิกดีไซน์ มีความครีเอทีฟเป็นอาชีพ โดยส่วนตัวชอบเรื่องหัตถกรรมไทยอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถต่อยอดหัตถกรรมไทยด้วยนวัตกรรม หรือดีไซน์ใหม่ๆ มีคอนเซ็ปต์ดีไซน์ดีๆ มาผสมกับวิธีการดีๆ แมททีเรียลดีๆ และยังคงรักษาความเป็นไทย ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย มันจะไปช่วยพัฒนางานให้กับชุมชนได้อีกเยอะมาก เพราะเขามีภูมิปัญญาดีๆ มีต้นทุนดีๆ อยู่แล้ว แต่ยังขาดการต่อยอดหรือว่าแนวคิดในเรื่องของดีไซน์คอนเซ็ปต์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบที่ตลาดต้องการ ซึ่งตรงนี้เราสามารถเติมเต็มให้ได้”


     การเติมเต็มที่ว่าไม่ใช่การทำลายล้างแบบเก่า  จิรวัฒน์ บอกเราว่างานของพวกเขาจะเน้นความเรียบง่ายและโชว์สัจจะ (ความเป็นจริง) ของวัสดุ โดยไม่ไปทำอะไรที่บดบัง เพราะเชื่อว่าวัสดุเดิมสวยงามอยู่แล้ว เช่น ลวดลาย ฝ้ายเส้นใหญ่ และการทอด้วยกี่เอวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร หน้าที่ของพวกเขาก็แค่ทำอย่างไรจึงจะโชว์ความโดดเด่นนี้ออกมาให้มากที่สุด จึงเป็นรูปทรงย่ามที่เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ซ่อนอยู่





     “เราพยายามเก็บเขารายละเอียดอย่างเส้นย่ามใหญ่ของเขาเอาไว้ หรือย่ามหางยาวที่ชาวปะกาเกอะญอ จะใช้ในพิธีสำคัญๆ หรืองานที่เป็นสิริมงคล ผ้าม้วนหนึ่งจะมีส่วนที่เป็นเหมือนปลายผ้าออกมา พอจะสร้างความรู้สึกเป็นเหมือนหางได้ เราก็รักษาตรงนี้ไว้ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ ความเชื่อ แนวคิด ศรัทธา หรือที่เขาใช้คำเท่ๆ ว่า จิตวิญญาณ ซึ่งถ้าเปิดใจดูจะเห็นว่ามันมีกลิ่นอายของความเป็นปะกาเกอะญออยู่ มันมีบางอย่างที่กำลังสื่อถึงเขา” จิรวัฒน์ บอก


     โจทย์ต่อมาคือการนำจิตวิญญาณเหล่านี้มาเชื่อมถึงคนรุ่นใหม่ วิถีชีวิตคนเมือง ตลอดจนชาวต่างชาติ จึงดีไซน์สีสันและรูปทรงให้ตอบโจทย์ตลาด ออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยนอกจากกระเป๋าแนวแฟชั่น ยังมีกระเป๋าใส่มือถือ กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าโน้ตบุ๊ก-ไอแพด และอื่นๆ  เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนยุคนี้ให้มากขึ้น


     สินค้าของ Craftroom วางขายอยู่ในร้านของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีออกงานแสดงสินค้าตามแต่โอกาส และเฟซบุ๊ก Craftroom (www.facebook.com/craftroombook) เมื่อถามว่าลูกค้าของพวกเขาคือใคร จิรวัฒน์ ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า เป็นไลฟ์สไตล์หรือแนวคิดของคนมากกว่าช่วงวัย


     “ลูกค้าของพวกผมมองว่ามันเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์หรือแนวคิดมากกว่า ไม่เกี่ยวกับช่วงวัย คือมีความหลากหลายมาก เขาซื้อด้วยแนวคิด ซื้อด้วยสไตล์ที่เขารู้ว่า หนึ่งมันมีคุณค่า ภูมิปัญญานี้น่าสนับสนุน ทุกคนมาด้วยความเคารพและให้คุณค่าในภูมิปัญญา และสอง เขามองว่ามันใช้งานได้ในชีวิตของเขา มันตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครอง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก มองว่าสินค้าของเราไม่ได้เพื่อการใช้งานเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตอบโจทย์เพียงทางกายภาพ แต่มันตอบด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก  เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการใช้ด้วย” เขาบอก
               




     วันนี้เริ่มที่ปะกาเกอะญอ แต่ในอนาคตพวกเขามุ่งมั่นที่จะเข้าไปช่วยกลุ่มอื่นๆ ซึ่งที่ทำมาแล้วคือ การเข้าไปช่วยพระอาจารย์ท่านหนึ่งต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นไหลของชาวบ้านในจังหวัดศรีสะเกษ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านที่เข้ากับโลกสมัยใหม่อย่างกลมกลืน รวมถึงชุมชนอื่นๆ ในอนาคต
               

     “Craftroom จะเป็นความภูมิใจ ส่วนแรกเลยคือการมีส่วนช่วยชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวปกาเกอะญอ เท่านั้น แต่ในอนาคตเรามองที่จะช่วยหลายๆ กลุ่ม จะพัฒนางานให้กับภูมิปัญญาในทุกที่ที่มีโอกาส เพื่อนำเรื่องราวดีๆ มาสู่วิถีชีวิตของคุณ มาสู่บ้านคุณได้อย่างกลมกลืน นี่เป็นหน้าที่ของเรา” เขาบอกในตอนท้าย
               

     ในการทำธุรกิจรายได้และการเติบโตคือสิ่งที่หลายคนปรารถนา แต่สำหรับชาว Craftroom พวกเขาบอกเราว่าสิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือ การได้ทำงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และเป็นความจริงที่สัมผัสได้มากกว่าหลายๆ งานที่ผ่านมา


     ซึ่งนั่นคุ้มค่าที่สุดแล้วในเส้นทางธุรกิจหัตถกรรมของพวกเขา  
         

      
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​