ถอดไอเดีย SME ปลายด้ามขวาน ปั้นธุรกิจให้ฉายแสงด้วยนวัตกรรม




Main Idea  
 
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้เมืองปลายด้ามขวานมีอะไรน่าสนใจกว่าที่คิด เพราะผู้ประกอบการ SME ของที่นี่หันมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ  กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างให้เกิดการลงทุน ในเมืองที่ใครๆ เคยหมางเมิน
 
  • ดินแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตผู้คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
 
  • จากสินค้าและบริการธรรมดาๆ กลับน่าสนใจขึ้น ด้วยนวัตกรรมอุตสาหกรรมฮาลาล นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นวัตกรรมด้านช่องทางการค้า และนวัตกรรมด้านการเกษตร พลิกธุรกิจให้ฉายแสงยิ่งกว่าเก่า




     จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจอยู่นอกสายตาใครหลายคน หลังเหตุการณ์สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แต่วันนี้ผู้ประกอบการในดินแดนแห่งปลายด้ามขวานจะเปลี่ยนภาพความน่ากลัว ให้ฉายแสงขึ้นด้วยธุรกิจนวัตกรรม จากผลงานความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้ (ศอบต.) ที่เข้าไปส่งเสริมนวัตกรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ด้วยกิจกรรม Southernmost Technology and Innovation Festival งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ที่กระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น




     วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บอกเราว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงโดดเด่นในแง่ของศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เนื่องด้วยความตื่นตัวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งยังมีการแพร่กระจายงานวิจัยและองค์ความรู้จากกลุ่มองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนไลฟ์สไตล์และวิถีการดำเนินชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
 

     สำหรับประเภทของกลุ่มธุรกิจหรือรูปแบบนวัตกรรมที่มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ได้แก่
 

Halal Innovation หรือนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล


     สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชากรในพื้นที่ภาคใต้ และประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าและเติบโตสูง โดยในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้ง ธุรกิจอาหาร ธุรกิจด้านการแพทย์ ธุรกิจแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่ง SME ในพื้นที่มีความเชี่ยวชาญและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพและธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว แต่ยังขาดเพียงกระบวนการสร้างความแตกต่างและการเติมนวัตกรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น นวัตกรรมเชิงสุขภาพ ระบบบริการใหม่ๆ การพัฒนาสินค้าที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงการออกแบบและเพิ่มความทันสมัยให้สอดคล้องกับผู้บริโภค เป็นต้น
 



Culture & Tourism Innovation



     เป็นการหยิบเอาความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมาผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและดึงดูดใจมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มเพื่อการเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติ บริการนำเที่ยวชุมชน ระบบจองที่พักและโรงแรม บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบจองตั๋ว ระบบจ่ายเงิน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ผู้คนในชุมชน พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วไปได้ทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชายแดนใต้ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการหันมาพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว เช่น ยี่เทียนทัวร์ แพลตฟอร์มนำเที่ยวเพื่อลดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนและช่วยให้ชาวจีนเข้าถึงการท่องเที่ยวไทยได้ง่ายมากขึ้น หรือ Hotel Hub บริการซื้อขายสินค้าในธุรกิจโรงแรมด้วยแอปพลิเคชั่น เป็นต้น
 

Market Place and E-Commerce ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการค้าใหม่ๆ


     โดยเฉพาะที่ผ่านระบบออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือผู้ทำการค้าจึงต้องสร้างระบบการค้าออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าหรือบริการท้องถิ่นที่หาไม่ได้ทั่วไป เช่น สินค้าฮาลาล วัตถุดิบท้องถิ่น อาหารแปรรูป ของฝาก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น พร้อมลดปัญหาการตลาด การกระจายสินค้า ต่อเนื่องถึงการสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางจำนวนมากในอนาคต
 



Smart Farming หรือการทำเกษตรอัจฉริยะ



     ในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ยังมีประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก การนำแนวคิดสมาร์ทฟาร์มเข้ามาใช้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรยุคใหม่ โดยเฉพาะการรับรู้ข้อมูลที่แม่นยำ การลดอุปสรรคการทำเกษตรกรรม เช่น การกำจัดศัตรูพืช การควบคุมสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการพื้นที่ และยังจะช่วยลดต้นทุนกระบวนการผลิต สร้างมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ตลอดจนช่วยให้ผลผลิตมีราคาที่สูงกว่าฟาร์มทั่วไป
 

                มาดูตัวอย่าง 3 ธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่ที่น่าจับตา




     1.ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT ที่เข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการดูแลและเลี้ยงให้ได้มาตรฐานที่ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT – Internet of Thing) เข้ามาเป็นสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยง มายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรง ซึ่งมีทีมสัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงและด้านอุปกรณ์ช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบสถานการณ์สถานะการำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะคอยเฝ้าระวังเหตุไม่ปกติในระบบโรงเรือนการเลี้ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายต่อเจ้าของกิจการได้เป็นอย่างดี เกิดเป็นระบบการแบ่งปันบุคคลากรที่สามารถรองรับลูกค้าฟาร์มสัตว์เลี้ยงได้เป็นจำนวนมากทำให้ต้นทุนทางด้านบุคคลากรถูกลง เป็นทางเลือกที่ทำให้เจ้าของกิจการมีกำลังความสามารถในการใช้บริการนวัตรกรรมดังกล่าวได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจด้านการบริการ ลักษณะเช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย จึงถือเป็นนวัตรกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้เป็นอย่างดีในอนาคต และมีโอกาสขยายตัวไปในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน




     2.ร้านเตมเป ปัตตานี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเตมเป อาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยเชื้อรา Rhizopus oligosporus  เป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยผู้บริโภคนิยมนำเตมเปสดไปประกอบเป็นอาหารชนิดต่างๆ  พวกเขาแปรรูปเตมเปให้เป็นขนมอบกรอบ (Tempe snack) โดยอาศัยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน (Extrusion) โดยมีนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้พัฒนากรรมวิธีการแปรรูปดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นยีสในเนื้อถั่วเตมเป และปรับปรุงเนื้อสัมผัสโดยการพัฒนาสูตรส่วนผสมต่างๆ โดยมีเตมเปเป็นส่วนผสมหลัก ปรุงรสชาติให้ถูกปากคนไทย มีการผสมข้าวสังข์หยดเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทำให้ทางร้านฯ สามารถขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วประเทศ และสามารถขยายตลาดไปสู่บุคคลทั่วไปเพิ่มเติมจากผู้รับประทานมังสวิรัติด้วย 
               



     3.หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา ที่ได้ดำเนินกิจการด้านการผลิตเส้นใยสับปะรด โดยการผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บ้างชนิดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเส้นใยให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและมีคุณสมบัติของผ้าทอที่ตรงต่อความต้องการของตลาด จึงพัฒนาเครื่องต่อเกลียว


     เส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.6 และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติ
ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 71.43 ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยสับปะรดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยให้แข่งขันได้กับเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกา สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าแล้วยังสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง
 

ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​