ร้อนแรงสุด! 'คาเฟ่วีแกน' เปลี่ยนร้านอาหารไร้เนื้อสัตว์ รับตลาดคนไม่บริโภคเนื้อ

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : Veganerie Concept 





Main Idea
 
  • ในยุคหนึ่งที่ความนิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ หรือแม้แต่อาหารวีแกนของคนไทย ยังคงจำหน่ายอยู่ในรูปแบบร้านอาหารธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตกแต่งร้านให้สวยงาม น่าเข้า น่านั่งสักเท่าไหร่นัก  
 
  • จากการมองเห็นโอกาสช่องว่างดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นมาจากความต้องการส่วนตัว จึงทำให้ ณปภัสสร ต่อเทียนชัย เจ้าของร้าน Veganerie Concept ได้เลือกที่จะนำเสนอร้านอาหารไร้เนื้อสัตว์หรือวีแกนในมุมมองใหม่ในรูปแบบของคาเฟ่สุดชิก
 
  • ที่นอกจากจะเสิร์ฟอาหารสุขภาพดีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจัดแต่งพื้นที่ให้สวยงาม ไว้นั่งเล่น นั่งคุยได้ไม่ต่างจากคาเฟ่ทั่วไป กลายเป็นแหล่งชุมชนคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์หรือร้านอาหารอีกแห่งที่น่าเข้าที่สุดก็ว่าได้ในเวลานี้



     วันนี้กระแสวีแกนกำลังร้อนแรงไปทั่วโลก ในไทยเองก็ไม่แพ้กัน ทว่าหากย้อนไปเมื่อ 5–6 ปีก่อน วันนั้นกระแสอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารคลีนยังไม่เป็นที่นิยมและหาทานได้ง่ายอย่างทุกวันนี้ แต่มีหนึ่งธุรกิจที่เห็นโอกาสในตลาด พวกเขาคือ Veganerie Concept ผู้สร้างความแตกต่างด้วยการเป็นร้านอาหารวีแกนรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ชูคอนเซปต์ร้านอาหารและคาเฟ่สมัยใหม่เพื่อพลเมืองวีแกนโดยเฉพาะ
 



คาเฟ่วีแกนเจ้าแรกของไทย

 

     “เราไม่ใช่ร้านอาหารวีแกนร้านแรกของเมืองไทย แต่เป็นร้านวีแกนแรกๆ ที่นำเสนอออกมาในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เน้นบรรยากาศดี น่านั่ง ตกแต่งสวยงาม ไม่ต่างจากร้านคาเฟ่ทั่วไป ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีร้านอาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบนี้ออกมาเลย ครอบครัวของเราเป็นวีแกนกันทั้งบ้าน สมัยเรียนเวลาจะไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ อยากแวะร้านวีแกน หรืออาหารเจ-มังสวิรัติชิกๆ นั่งแทบจะไม่มีเลย จึงเกิดความคิดที่อยากทำร้านวีแกนและอาหารสุขภาพในรูปแบบใหม่นี้ขึ้นมา อีกเหตุผลคืออยากเปลี่ยนมุมมองและพิสูจน์ให้คนทั่วไปได้เห็นด้วยว่า อาหารวีแกนก็อร่อยเหมือนกัน แม้จะไม่ใส่นม ใส่ไข่ ฉะนั้นใครก็ตามที่อยากหาร้านนั่งชิลล์ๆ กินอาหารอร่อยๆ ก็สามารถเข้ามาร้านของเราได้ โดยไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นวีแกนเท่านั้น เพื่อเป็นทางเลือกอีกวิถีหนึ่งที่เรียบง่าย ไม่เบียดเบียนต่อสัตว์ และดีต่อสุขภาพของคุณเองด้วย” ณปภัสสร ต่อเทียนชัย เจ้าของร้าน Veganerie Concept เล่าที่มาของร้านให้เราฟัง
 

     หลังร้านของคนหัวใจวีแกนเปิดตัวขึ้น ก็ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากลูกค้า ณปภัสสร เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าเดิมที่ติดตามเธอมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ สมัยที่เธอเริ่มทำเบเกอรี่และอาหารวีแกนขายตามตลาดนัดเพื่อสุขภาพ แต่หลังจากได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น จนสามารถขยายสาขาเพิ่มเป็นสาขาที่ 2 ตั้งร้านสแตนด์อโลนออกมานอกห้าง ช่วง 2 – 3 เดือนแรก ร้านกลับเงียบๆ เพราะเป็นการขยายตลาดสู่ฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาหารวีแกนมากนัก ทว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงนั้นไปแล้ว อาหารวีแกนก็เริ่มเป็นที่รู้จักและกิจการของ Veganerie Concept ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเธอบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในร้านแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มที่เป็นวีแกนโดยตรง และกลุ่มคนรักสุขภาพน
 



     “หลังจากเปิดร้านครั้งแรก ผลตอบรับค่อนข้างดีเลย คนเริ่มมองวีแกนในมุมมองใหม่ ซึ่งลูกค้าของเรามีทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยเป็นต่างชาติประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ คนไทยอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องยอมรับว่าฝรั่งเขาคุ้นเคยกับการกินวีแกนดีอยู่แล้ว โดยจุดประสงค์ของลูกค้าคนไทยและต่างชาติที่เข้ามาในร้านเรา อาจแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยหากเป็นต่างชาติก็จะเข้ามากินเป็นหลัก เพราะเห็นว่าเราเป็นอาหารวีแกน ส่วนหนึ่งก็มากินเพื่อรักสุขภาพก็มี แต่สำหรับคนไทยอาจเริ่มจากการกินเพื่อรักสุขภาพก่อน ส่วนการไม่เบียดเบียนสัตว์ถือเป็นผลพลอยได้” เธอบอก
 

หัวใจสำคัญร้านอาหาร = สะอาด อร่อย ได้มาตรฐาน
 

     การทำร้านอาหารวีแกนกับร้านอาหารทั่วไป ณปภัสสร อธิบายว่าแทบไม่ได้แตกต่างกันเลย หากไม่นับเรื่องของวัตถุดิบที่ต้องไม่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ หรือแม้แต่รสชาติอาหารทุกอย่างเหมือนกันหมด คือ ต้องมีคุณภาพ สะอาด อร่อย และได้มาตรฐาน จึงจะสามารถมัดใจผู้บริโภคได้
 



     “ถึงจะเป็นอาหารวีแกน อาหารเพื่อสุขภาพ แต่หัวใจสำคัญ คือ ต้องทำออกมาให้อร่อย คุณภาพดี มีสารอาหารอย่างครบครัน ซึ่งร้านเรามีทุกอย่างทุกเมนูเหมือนร้านอาหารและคาเฟ่ทั่วไป รวมถึงเครื่องดื่ม เบเกอรี่ อาหารคาวหวาน เพียงแต่ไม่ใช้ส่วนผสมที่มาจากสัตว์เท่านั้น โดยเราอยากเป็น One Stop Service เพื่อชาววีแกนไปเลย ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช้เนื้อสัตว์ แต่เราก็สามารถได้สารอาหารบางอย่างจากพืชมาทดแทนได้ เช่น โปรตีนก็ได้มาจากผักโขม ผักใบเขียวต่างๆ รวมถึงถั่วเหลือง เป็นต้น สังเกตจากลูกค้าที่เข้าร้านส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คือมีรูปร่างที่ดีกันเกือบทุกคน” เธอบอก
 

ตลาดวีแกน อนาคตสดใส ครองใจผู้บริโภคหัวใจกรีน
 

     ในยุคที่กระแสอาหารเพื่อสุขภาพมาแรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ปลุกตลาดอาหารวีแกนให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสำหรับโอกาสในเมืองไทยณปภัสสรแสดงความเห็นว่า สามารถไปได้ดีกว่ายุคก่อนมาก ซึ่งปัจจุบันไทยเองก็มีร้านอาหารวีแกนรูปแบบทันสมัยเกิดขึ้นมากเช่นเดียวกัน
 



     “มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับวีแกนยังไปได้ดี เพราะเป็นเรื่องเชิงบวกและสร้างสรรค์ ซึ่งผู้คนทุกวันนี้ก็หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกกันมากขึ้น จากการที่เราเป็นคนวีแกนเองและได้คลุกคลีกับการทำธุรกิจตรงนี้ ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่หาอาหารวีแกนกินได้ง่ายรองจากอินเดีย ซึ่งมีการกินมังสวิรัติกันค่อนข้างมาก เพราะเรามีทรัพยากรอยู่มากมาย ผัก ผลไม้หารับประทานได้ง่าย แถมมีความเป็นมิตร ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นวีแกนนิยมเดินทางเข้ามาพักอาศัยอยู่ในเมืองไทยค่อนข้างเยอะมาก บางคนถึงกับย้ายมาอยู่ถาวร ทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เลยก็มี โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ชาววีแกนนิยมไปกันมาก ได้แก่ เชียงใหม่และเกาะพะงัน โดยเฉพาะเชียงใหม่ถือเป็นเบอร์ 1 ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีร้านอาหารวีแกน โรงแรมสำหรับชาววีแกนเกิดขึ้นมากมาย แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับผู้สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับวีแกนในบ้านเรา”
 

     ณปภัสสรได้ให้คำแนะนำทิ้งท้าย สำหรับคนที่สนใจอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับวีแกนว่า
 

     “อยากให้ลองศึกษาเยอะๆ อาจเริ่มจากการกินวีแกนด้วยตัวเองก็ดี เพื่อให้รู้มุมมองความต้องการของผู้บริโภค ไม่ถึงขั้นว่าต้องเป็นวีแกนถาวรก็ได้ แต่เป็นได้ก็ดี เพราะเราทำด้านนี้อยู่แล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่ชาววีแกนมักเริ่มจากการไม่กินอาหารที่มีส่วนประกอบจากเนื้อสัตว์ก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับขึ้นมาเป็นไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ หรือมีการนำสัตว์ไปทรมานหรือทดลอง ไปจนถึงการรักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อมตามมา เพื่อลดการเบียดเบียนสัตว์ เบียดเบียนโลกไปโดยอัตโนมัติ”
 



     ปัจจุบันร้าน Veganerie Concept ขยายไปถึง 5 สาขา เพื่อบริการชาววีแกนนิสตาร์ได้อย่างทั่วถึง โดยใช้หัวใจของคนวีแกนตัวจริง สร้างสรรค์ธุรกิจที่คนวีแกนยุคใหม่ต่างกดไลค์
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​