จับ AR มาสร้างแบรนด์ของฝาก “Siam Tee Ruk” พลิกตลาดของที่ระลึกยุค 4.0

Text / Photo sir.nim




Main Idea
 
  • “Siam Tee Ruk” (สยามที่รัก) แบรนด์สินค้าของที่ระลึกมิติใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือการสร้างภาพเสมือนจริงสู่โลกจริงในรูปแบบ 3 มิติ ด้วยการสแกนผ่านคิวอาร์โค้ด
 
  • นับเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม ในรูปแบบที่แตกต่าง สร้างมิติใหม่ให้กับสินค้าของที่ระลึกที่อาจยังไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน



                 
     เวลาเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่เรามักเก็บกลับมาเสมอนอกจากความทรงจำที่สวยงาม ภาพถ่าย ก็คือ เหล่าบรรดาของฝากของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด สมุดโน้ต หรือเสื้อยืดสักตัวหนึ่ง แต่บางครั้งก็อาจยังไม่เพียงพอ จะดีกว่าไหมถ้ามีโปสการ์ดสักใบ เสื้อยืดสักตัวหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพียงภาพนิ่งหรือลวดลายสกรีนเฉยๆ แต่มีลูกเล่นเป็นภาพเคลื่อนไหวที่น่าดึงดูด แถมยังสามารถบอกเล่าเรื่องราว รวมถึงอาจพาคุณเดินทางไปสู่สถานที่นั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง
               



     “Siam Tee Ruk” (สยามที่รัก) แบรนด์สินค้าของฝากของที่ระลึกยุคใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือการสร้างภาพเสมือนจริงสู่โลกจริงในรูปแบบ 3 มิติ ผ่านกล้องถ่ายรูปหรือการสแกนคิวอาร์โค้ดเข้ามาใช้ โดยเกิดขึ้นมาจากแนวคิดของ เกศกนก แก้วกระจ่าง ที่อยากสร้างของที่ระลึกมิติใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว จุดเด่น รวมถึงเอกลักษณ์ของสถานที่นั้นๆ ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ผ่านแอปพลิเคชันและระบบที่ได้ออกแบบและคิดค้นขึ้นมาเอง โดยทำออกมาในรูปแบบของโปสการ์ด สมุดโน้ต เสื้อยืด ในราคาที่ใครๆ ก็จับต้องได้
               

     “จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราเองเป็นคนชอบท่องเที่ยวมาก่อน ทีนี้พอมาเห็นสินค้าที่ระลึกตามที่ต่างๆ ก็รู้สึกว่าดูซ้ำๆ กันไปหมด เสื้อยืดลายแบบนี้ไปที่ไหนก็เจอ เปลี่ยนแค่ชื่อสถานที่เท่านั้น เลยคิดว่าอยากให้มีสินค้าของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถานที่แห่งนั้นจริงๆ และด้วยความที่ตัวเองเป็นคนวาดรูปได้ จึงลองวาดรูปจากสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และนำไปทำต้นแบบสกรีนขายลงบนเสื้อยืด ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างมาก เพราะสถานที่บางแห่งเขาก็ไม่รู้จัก แต่พอเราได้แนะนำก็ทำให้เขาเกิดสนใจอยากไปเที่ยว แต่จะให้ไปบอกทุกคนก็คงไม่ได้ เผอิญตอนนั้นได้ไปเห็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับพิเศษมีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ เห็นว่าน่าสนใจดี ถ้าเอามาใช้กับของที่ระลึกได้ก็น่าจะดี เลยเข้าไปทำโปรเจกต์กับบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง ไปเล่าไอเดียให้เขาฟัง โดยช่วงแรกทดลองทำให้เขาเห็นก่อน ทำสมุดออกมา 200 เล่ม โปสการ์ด 200 ใบ โดยไม่โปรโมตอะไรเลย เพราะอยากลองวัดฟีดแบ็กด้วย เลยปล่อยให้สินค้าเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จนในที่สุดก็ได้เป็นพาร์ทเนอร์ทำงานร่วมกัน”
 


               
     จากไอเดียที่คิดจะทำแค่ของที่ระลึก ก็แตกไลน์สู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เป็นของฝากของที่ระลึกมิติใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เก็บภาพความทรงจำในรูปแบบที่เคลื่อนไหวได้


     ความพิเศษของสินค้าที่ระลึกจาก Siam Tee Ruk ที่แตกต่างจากสินค้าของที่ระลึกอื่น มีอยู่ 3 ข้อเด่นๆ คือ 1.สามารถเล่น AR ในรูปแบบ 3 มิติได้ 2.บอกเล่าเรื่องราวของชุมชน 3.เชื่อมต่อกับ Google Map ทำให้สามารถนำพานักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้


     โดยขั้นตอนการทำงานจะเริ่มจากการลงสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เพื่อค้นหาเอกลักษณ์และจุดเด่นที่มีอยู่ เพื่อนำมาถ่ายทอดออกเป็นภาพวาด จากนั้นจึงจะนำภาพที่ได้ดังกล่าวมาผ่านกระบวนการเขียนแบบ เพื่อสร้างระบบ ฝั่งจุดสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อให้เวลาส่องกล้องแล้วสามารถแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยี AR ขึ้นมาได้ และสุดท้ายจึงนำภาพที่ได้ดังกล่าวไปผลิตเป็นสินค้าของที่ระลึกต่างๆ อาทิ โปสการ์ด สมุดโน้ต เสื้อยืด โดยในเบื้องต้นเป็นการลงทุนทำขายเองในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในอนาคตอันใกล้ได้วางแผนเปิดแฟรนไชส์ เพื่อขยายออกไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
               



     “ยกตัวอย่างถ้าเป็นเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงประตูท่าแพ เราก็วาดประตูท่าแพ และรถสองแถววิ่งผ่าน เวลาสแกนก็จะเห็นรถวิ่งผ่านประตูท่าแพ อย่างที่นครศรีธรรมราช อาจเป็นภาพวัดพระธาตุและทำเป็นนกบินผ่านก็ได้ โดยเรามีศิลปินในสังกัดสามารถวาดให้ได้ หรือถ้าอยากวาดเองก็วาดได้ แต่สุดท้ายระบบหลังบ้านที่ทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้ ก็ต้องกลับมาที่เราอยู่ดี”


     สำหรับราคาที่จำหน่ายนั้น เรียกว่าแทบจะไม่ได้แตกต่างจากราคาสินค้าของที่ระลึกทั่วไปสักเท่าไหร่เลย อาทิ โปสการ์ดแผ่นละ 15 บาท สมุดโน้ต 39 – 49 บาท กระเป๋าผ้า 59 -159 เสื้อยืดเริ่มต้นที่ 250 บาท
               

     “ความจริงของที่ระลึกที่มีการใช้เทคโนโลยีแบบนี้น่าจะมีราคาแพงไม่ใช่แค่หลักสิบ แต่เรามองเรื่องการกลับมาซื้อซ้ำมากกว่า และอยากให้กระจายออกไปได้เยอะๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันด้วย สมมติซื้อกลับไปได้ 5 แบบ เขาก็ได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่งแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจไม่ได้มีแค่ที่ท่องเที่ยวยอดนิยมเท่านั้น ในชุมชนต่างๆ ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมายหลายพันแห่ง ถ้าเราทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงได้ ก็ได้ช่วยส่งเสริมชุมชนต่างๆ ช่วยส่งเสริมชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการได้ด้วยกันทุกฝ่าย โรงงานผลิตก็ได้ แฟรนไชส์ที่ดูแลอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้ด้วย ซึ่งสุดท้ายก็ย้อนกลับมาถึงธุรกิจของเราเอง  ต่อไปถ้าสามารถกระจายออกไปได้มาก ไม่ว่าเขาจะไปเที่ยวที่ไหน ถ้าโหลดแอปพลิเคชันของเราไว้ และเจอสินค้าของที่ระลึกจากเราที่ไหน เขาก็สามารถหยิบมือถือมาสแกนเพื่อดูรูปภาพ ดูข้อมูล และเส้นทางเพื่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง”
               



     นอกจากจะผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกแล้ว เทคโนโลยีของ Siam Tee Ruk ยังสามารถนำไปปรับใช้กับรูปแบบบริการและการทำธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย เช่น นำมาใช้กับโลโก้ธุรกิจ เพื่อสร้างความโดดเด่น ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเก็บข้อมูลลูกค้าที่เข้ามาสแกนได้เช่นกัน เช่น มาจากพื้นที่ใด รูปที่ได้รับความนิยมในการสแกนมากที่สุดคืออะไร ในกรณีที่เป็นร้านอาหาร ก็สามารถทราบเมนูที่ขายดีได้เลย ฉะนั้นสิ่งที่ Siam Tee Ruk คิดขึ้นมาจึงไม่ใช่เพียงแค่การโชว์รูปสนุกเฉยๆ แต่ยังเป็นการเก็บข้อมูลที่ซ่อนอยู่ได้อีกด้วย


     จากไอเดียการทำธุรกิจที่แตกต่าง และนำนวัตกรรมเข้ามาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม จึงไม่แปลกที่ Siam Tee Ruk จะสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศผู้นำธุรกิจชุมชนต้นแบบระดับจังหวัด จาก 12 โมเดลธุรกิจชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายในโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (SMEs & OTOP Transformation) มาครองได้ ในโมเดลธุรกิจที่ชื่อว่า “Travelers Souvenir AR สินค้าที่ระลึกพาเที่ยวนวัตวิถี” นั่นเอง
               



     “เราเองก็ไม่คิดว่าจะมาไกลถึงจุดนี้ เริ่มต้นจากแค่อยากผลิตของที่ระลึกดีๆ สักชิ้นเพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำของสถานที่นั้นๆ ได้ แต่ในวันนี้เรากลายเป็นผู้สร้างระบบ ซึ่งมันสามารถนำมาปรับใช้กับอะไรได้ตั้งมากมาย ถามว่ากลัวการก๊อปปี้ไหม เราเชื่อว่าสิ่งที่เราอยู่ เราไม่ใช่แค่เพียงบริษัทไอทีบริษัทหนึ่ง หรือแค่ศิลปินวาดรูป ผู้ผลิตสินค้าที่ระลึก แต่เรารวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน วันหนึ่งเรื่องระบบอาจมีคนคิดขึ้นมาได้ แต่ถามว่าในความลึกซึ้งเข้าใจชุมชน เพื่อค้นหา    อัตลักษณ์จุดเด่นที่แท้จริงของแต่ละชุมชนและตีเป็นภาพวาดออกมา เขาสามารถเข้าใจได้อย่างเราไหม เราจึงเชื่อในจุดเด่นที่เรามี และถึงแม้วันหนึ่งอาจมีคนทำขึ้นมาจริงๆ แต่ในวันนี้เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ทำออกมา ยังไงชื่อที่เขาจดจำได้ก็ต้องเป็นเราอยู่ดี” เกศกนก กล่าว
           

     และนี่เอง คือ เรื่องราวที่มาของสินค้าที่ระลึกมิติใหม่ ที่นอกจากจะช่วยเก็บภาพความทรงจำในรูปแบบใหม่ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศอีกด้วย

 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​