พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เสเพล ซึมเศร้า อยากตาย แต่พลิกธุรกิจได้ด้วยธรรมะ




Main Idea
 
  • ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านเรื่องแย่ๆ มาแล้วทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีเจอจุดเปลี่ยนชีวิต จนพลิกมาสู่ทางรอดและทางเลือกใหม่ในโลกธุรกิจได้ เช่นเดียวกับ  “พิเชษฐ โตนิติวงศ์ผู้ค้นพบแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจเพราะบวชเรียน
 
  • ถ้าต้องมาสืบทอดธุรกิจครอบครัวโดยที่ไม่ได้บวชเรียนมาก่อน เขาก็คงจะเหมือนกับคนทั่วไปที่ใช้กิเลสเป็นตัวนำธุรกิจ คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองร่ำรวยขึ้น
 
  • แต่เมื่อได้ก้าวสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์จึงค้นพบคำตอบว่า “ธรรมะ” และ “ธุรกิจ” สามารถไปด้วยกันได้ เมื่อใช้หลักธรรมมานำธุรกิจ เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิตแม้ไม่ได้ห่มผ้าเหลือง




     ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านเรื่องแย่ๆ และหนักหนามาแล้วทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีเจอจุดเปลี่ยนชีวิต จนพลิกมาสู่ทางรอดและทางเลือกใหม่ในโลกธุรกิจได้
               


     


      หนึ่งในคนที่ว่ามีชื่อของ “พิเชษฐ โตนิติวงศ์แห่ง “ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม” ผู้ใช้หลักความพอเพียงมาสร้างระบบธุรกิจที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่รวมอยู่ด้วย
           

     ถามว่าชีวิตวัยหนุ่มเขาเป็นคนยังไง พิเชษฐ เป็นทายาทเจ้าของโรงสี ที่ใช้ชีวิตเฮฮากินเหล้า เที่ยวกลางคืน ไม่ได้สนใจพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด แถมยังเคยเป็นซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายมาแล้ว เพราะเครียดหนักกับเรื่องเรียน ความรัก เพื่อน และสังคม
               

     ถ้าต้องมาสืบทอดธุรกิจครอบครัวโดยที่ไม่ได้บวชเรียนมาก่อน เขาก็คงจะเหมือนกับคนทั่วๆ ไป ที่ใช้กิเลสเป็นตัวนำธุรกิจ คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองร่ำรวยขึ้น
               

     แต่ใครจะคิดว่าชีวิตเด็กเสเพล เป็นซึมเศร้า และเคยอยากตาย จะพลิกชีวิตได้หลังเดินเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
               

     การได้บวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่ที่วัดป่านาคำน้อย เป็นศิษย์หลวงพ่ออินทร์ถวายสายหลวงตามหาบัว นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ถึงขนาดที่เขาบอกว่า


     “บวชแล้วไม่อยากสึกเพราะชีวิตในผ้าเหลืองแสนจะมีความสุข สงบ ความสุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบเป็นไม่มี”
               

     ท่ามกลางบรรยากาศสงบเงียบของวัดป่านาคำน้อย กุฏิแต่ละหลังตั้งโดดเดี่ยวห่างกันโดยสิ้นเชิง เอื้อต่อการปฏิบัติภาวนาของพระสงฆ์แต่ละรูป โดยมีพระอาจารย์คอยให้คำชี้แนะ พิเชษฐทำตัวเป็นเจ้าหนูจำไมถามทุกสิ่งที่ตัวเองพบเจอ จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ภพชาติ การเวียนว่ายตายเกิด ได้รู้ว่าวิชาทางโลกไม่มีสิ้นสุดยังต้องสงสัยต่อไปเรื่อยๆ แต่วิชาทางธรรมมีทางสิ้นสุดที่นิพพาน ซึ่งการจะไปให้ถึงจุดนั้นต้องฝึกจิตภาวนาจนเกิดเป็นมหาสติ มหาปัญญา ดังที่หลวงตามหาบัวเคยบอกไว้


     จากที่ก่อนบวชเคยคิดฆ่าตัวตาย หลังจากบวชเขาได้ทบทวน และพบคำตอบว่าศาสนาพุทธสอนให้เชื่อในเรื่อง “กรรมและผลของกรรม” เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหากยังไม่หมดกิเลส และนั่นคือเหตุผลที่การฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออก
               

     ในตอนนั้นพิเชษฐอยากครองผ้าเหลืองไปตลอดชีวิต แต่เมื่อรู้ตัวว่าอย่างไรก็ต้องออกมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว เขาจึงต้องหาคำตอบให้ได้ว่า หากสึกออกไปแล้วจะทำอะไร? และทำอย่างไร?


     คำตอบสุดท้ายของการคิดใคร่ครวญในครั้งนั้นตกผลึกว่าต้องใช้ “ธรรมะไปทำธุรกิจ” เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิตแม้ไม่ได้ห่มผ้าเหลือง เพื่อสั่งสมบารมีให้เหลือชาติภพที่กลับมาเกิดน้อยที่สุด


     นั่นเองที่เป็นที่มาของ “บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม” หลังจากนั้น
               






     สิ่งที่คนมีธรรมะใส่เติมลงไปในธุรกิจ คือการใช้หลักธรรมมายึดเหนี่ยวในการทำงาน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอใจกับทุกสิ่งที่ทำ แต่ก่อนจะทำต้องใช้สติ สมาธิ ปัญญา ต้องทำจิตให้นิ่งก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป และมีธรรมมากกว่ากิเลสนำไปสู่การตัดสินใจ เพื่อให้เกิดปัญหาตามมาน้อยที่สุด ซึ่งเป็นวิธีคิดของการทำธุรกิจในแบบเขา
               

     ถึงแม้ทุกวันนี้จะยังปฏิบัติธรรมอยู่ทุกขณะจิต แต่พิเชษฐก็ตั้งใจว่าสักวันจะวางมือจากธุรกิจแล้วกลับไปอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง เพียงรอให้ถึงวันหนึ่งที่มีคนมาสานต่อธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นธุรกิจครอบครัว แต่สืบทอดโดยคนที่มีแนวคิดเดียวกัน และมีความมุ่งมั่นเดียวกัน แล้ววันนั้นเขาก็จะไปตามหาความสงบสุขของชีวิตที่เคยตั้งใจไว้อีกครั้ง
               

     ทุกธุรกิจมีเรื่องราวและเบื้องหลัง และจุดเปลี่ยนบางอย่างในชีวิตก็สร้างธุรกิจที่ดีขึ้นได้ในวันนี้




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​