เปลี่ยน Pain point ให้เป็นรอยยิ้ม! เตียง All in one นวัตกรรมคืนชีวิตให้ผู้ป่วย




Main Idea
 
  • เพราะเห็นความทุกข์ของผู้ป่วยติดเตียงที่ทำให้คนรอบข้างเหมือนป่วยตามไปด้วย ทำให้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่าเตียง All in one เพื่อหวังฟื้นคืนชีวิตแก่ผู้ป่วยติดเตียงให้ยิ้มได้อีกครั้ง
 
  • สำหรับเขาคนนี้คำว่านวัตกรรมเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว ที่สำคัญไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมแค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อไปทำให้ชีวิตคนในสังคมดีขึ้นด้วย และด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้เอง ทำให้ ควีน เมดิคัล กรุ๊ป ได้รับรางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 มาครอบครองได้อย่างไร้ข้อกังขา
 


               
     หากคุณมีคนที่บ้านเป็นผู้ป่วยติดเตียง คุณจะรู้ดีว่าความป่วยกำลังคืบคลานมาเยือนทุกคนในบ้าน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียง ทุกคนรอบข้างจะต้องทุ่มเท ดูแล เอาใจใส่ ทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ จนคล้ายกับป่วยไปตามๆ กัน และสิ่งนี่คือ Pain Point สำคัญที่บั่นทอนทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้าง นพดล ศุขศาสตร์ ผู้ก่อตั้งควีน เมดิคัล กรุ๊ป ชายหนุ่มที่ไม่ได้เรียนจบแพทย์ศาสตร์แต่เขามองเห็นปัญหาดังกล่าวมาจากคนใกล้ตัว จึงทำให้เขาได้คิดค้น ลงมือทดลองและสร้างสิ่งที่เรียกว่าเตียง All in one เพื่อหวังจะคืนชีวิตให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงได้อีกครั้ง
               




     โดยก่อนหน้าที่นพดลจะเริ่มต้นคิดค้นเตียง All in one เขาได้อยู่ในวงการวิศกรรมมาก่อน จึงทำให้เขามีทักษะของนักประดิษฐ์ติดตัวเป็นทุนเดิม จนวันหนึ่งเขากลับมาบ้านที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งนพดลมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาล ทำให้เขาเห็นโอกาสของธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะนำเข้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญยังมีราคาแพง ในฐานะวิศกรเขามองว่า เครื่องมือบางอย่างเราสามารถทำขึ้นเองได้ด้วยแนวคิดด้านวิศวกรรม อีกทั้งยังมีต้นทุนถูกกว่าและคุ้มค่ากว่าสำหรับการใช้ในโรงพยาบาล
               

     “ช่วงปี’40 ธุรกิจก็ตกฮวบ ลูกค้าไม่มีในขณะที่เรามีคนงานเยอะมาก พอตลาดล้มลง เราก็ไปต่อไม่ได้ ผมเลยตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นน้าก็ให้ไปช่วยดูเรื่องธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ซึ่งจะนำเข้าไปขายที่ภาคอีสาน จนทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปตามโรงพยาบาลและได้พูดคุยกับคุณหมอ พยาบาล นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าสู่การทำอุปกรณ์การแพทย์ของผม”
               



     สำหรับจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์เตียง All in one เนื่องจากเขาเคยมีประสบการณ์จริงด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียงจากการดูแลคุณพ่อคุณแม่ของตนเอง ทำให้นพดลเข้าใจถึงความยากลำบากของผู้ดูแลที่ต้องเสียสละทั้งเวลา แรงกายแรงใจอีกทั้งเขายังสังเกตเห็นปัญหาของพยาบาลที่ต้องหมุนเตียงคนไข้ตลอดทั้งวัน
               

     “ผมเคยดูเกี่ยวกับ Care Giver ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงทั่วโลก ประเทศอื่นเขาจะมีเตียง มีที่ยกตัว มีวีลแชร์ เตียงอาบน้ำ ที่ยกตัวเป็นราวแขวนแบบไฟฟ้า เลยคิดว่าที่จริงแล้วเราสามารถเอามารวมกันได้ เพราะอย่างตอนที่คุณพ่อคุณแม่ผมป่วย การยกท่านไปห้องน้ำคือเรื่องที่ใหญ่มาก จึงคิดว่าน่าจะทำเตียงที่เอาทุกอย่างมารวมกันไว้ในหนึ่งเดียว ตอนที่คิดว่าจะสร้างเตียงให้ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำบนเตียงได้ ผมก็ทดลองอาบด้วยตัวเอง แต่ปรากฏว่ามันเลอะเทอะ เราเลยทำตะแกรงขึ้นมา แต่มีตะแกรงอย่างเดียวเวลานอนก็เจ็บ เลยต้องมีเบาะรองและให้ตะแกรงอยู่ด้านล่าง คิดง่ายๆ ว่าก็เหมือนเวลาที่เขาล้างแอร์ ซึ่งจะมีผ้าใบคลุม เราเลยลองทำเหมือนเขา ทำง่ายๆ งานของผมเน้นความง่ายเป็นหลัก ไม่ได้สร้างทฤษฎีใหม่อะไรเลย”
               



     หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจสำหรับใครหลายคนอาจมองถึงเม็ดเงินหรือผลกำไรที่งอกงาม แต่สำหรับชายหนุ่มที่ชื่อนพดลเขากลับมองต่าง สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดไม่ใช่เรื่องของกำไรแต่กลับเป็นรอยยิ้มของผู้ป่วยติดเตียงที่จะได้ชีวิตของตัวเองคืนมาอีกครั้ง
               

     “เวลามองผู้ป่วยติดเตียงมันสะเทือนใจ ผมจึงเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น บางทีแค่อาบน้ำก็มีความสุขแล้ว เพราะอย่างเราแค่ไม่อาบน้ำ 3 วันก็แย่แล้ว แต่ผู้ป่วยบางคนเขาปัสสาวะ อุจจาระบนเตียง มันลำบากมาก โดยตอนนี้ผมมีภาระทางใจอยากช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งที่เขามีแค่ครึ่งตัว แต่แขนเขายังดีอยู่ เขาจะต้องใช้ลำตัวถัดไปกับพื้น ผมอยากทำวีลแชร์ไฟฟ้าและเหล็กยกตัวให้เขา เพื่อให้สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยคำสั่งเสียง เราอยากให้เขาขึ้นมากินข้าวกับเราได้ โดยไม่ต้องนั่งพื้นตลอดเวลา พอเห็นแล้วอยากช่วยแก้ปัญหาให้เขา เพราะชีวิตมันไม่ได้จบแค่นี้ แต่เขายังต้องใช้ชีวิตต่อไปได้ เวลาผมเห็นเด็กเหล่านี้แล้วเรามีเงินไปทำวีลแชร์ให้เขา ผมดีใจกว่านะ บางทีเงินทองมากมายอาจจะไม่ได้ตอบสนองเราเท่ากับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพวกเขาเหล่านี้”
               



     เพราะคำว่านวัตกรรมสำหรับผู้ชายคนนี้คือเรื่องง่ายและใกล้ตัว ที่สำคัญเขาไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อตัวเองแต่นวัตกรรมของเขาคือสิ่งที่จะเข้าไปฟื้นคืนชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและคนรอบข้างให้ยิ้มได้อีกครั้ง นี่แหละคือนวัตกรที่มีหัวใจยิ่งใหญ่จนได้รับรางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของการประกวดนวัตกรรมแห่งปี SME Thailand Inno Awards 2019 มาได้สำเร็จ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​