มหัศจรรย์! สับปะรด เปลี่ยนใบให้กลายเป็นผืนผ้า จากของเหลือ สู่แฟชั่นหรูโกอินเตอร์

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : สุรางรัก
 


 
 
Main Idea
 
  • ด้วยกระแสของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ในวงการแฟชั่นที่มีการสรรหาเส้นใยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้ามากขึ้นเช่นกัน
 
  • หนึ่งในวัตถุดิบที่ถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้ คือ “เส้นใยสับปะรด” ใครจะคิดว่าจากใบสับปะรดที่เหลือทิ้งเป็นขยะ จะสามารถกลายเป็นเส้นใยที่มีราคาขายได้ถึงกิโลกรัมละเกือบ 2,000 บาท แถมยังส่งออกสู่ตลาดโลกชนิดที่ว่าผลิตไม่ทันกันเลยทีเดียว
 
 ___________________________________________________________________________________________

 
     ด้วยนวัตกรรมก้าวล้ำทางเทคโนโลยี โลกเราในทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้และมีเรื่องให้น่าเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ โดยเฉพาะในวงการอีโค่ (Eco) ก็ใครเลยจะคิดล่ะว่าอยู่ดีๆ สับปะรดผลไม้อมเปรี้ยวอมหวานยอดนิยมของคนไทยที่มีการปลูกกันมากเพื่อขายเป็นผลสดและป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จะสามารถนำส่วนประกอบอย่างใบมาผลิตเป็นเส้นใย เพื่อถักทอเป็นผืนผ้าและตัดเย็บเป็นแฟชั่นชุดสวยขึ้นมาได้


     เชื่อไม่เชื่อยังไง แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่นี่ “หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา” ชุมชนผู้ผลิตเส้นใยสัปปะรดที่สามารถแปลงวัสดุเหลือทิ้งให้กลายเป็นผืนผ้าสวยเฉิดฉายอยู่ในตลาดโลกได้ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่าตัว





     ปริยากร ธรรมพุทธสิริ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา เล่าที่มาให้ฟังว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้  ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งชื่นชอบสิ่งทอจากธรรมชาติ ทำให้ธุรกิจสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 ความต้องการสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติในยุโรปมีสูงถึง 31.51 ล้านตัน และเติบโตกว่าร้อยละ 39 ต่อปี


     ทั้งนี้ ตนเห็นว่าใยสับปะรดเป็นเส้นใยหนึ่งที่มีความน่าสนใจ และประเทศไทยเองก็มีการปลูกสับปะรดกันมากประมาณ 750,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันตก และตะวันออก ซึ่งในแต่ละรอบการผลิตจะมีใบสับปะรดที่ถูกทิ้งรวมกันมากกว่า 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ หรือบางพื้นที่อาจมากถึง 8,000 – 10,000 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้ถูกทิ้งเป็นภาระไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หากมีการนำมาแปรรูปให้กลายเป็นเส้นใยน่าจะมีศักยภาพในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจากการพัฒนาครั้งนี้ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยให้สามารถแข่งขันกับเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกาได้ สร้างให้เกิดการผลิตเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าและสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง





     กระบวนการผลิตเปลี่ยนใบให้กลายเป็นเส้นใย เริ่มต้นจากนำใบมาเข้าเครื่องรีดเพื่อเอาผิวออก จากนั้นจึงนำไปหมักในน้ำ 2 สัปดาห์เพื่อให้เนื้อเยื่อสีเขียวหลุดออกเหลือแต่เส้นใย เสร็จแล้วจึงนำไปตากแดดให้เห้งแล้วนำเส้นใยมาผูกรวมกัน เมื่อได้เส้นใยที่เป็นวัตถุดิบ จะมีการนำมาต่อด้ายหรือเส้นใยเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ความยาวที่เพิ่มขึ้นเหมาะสำหรับใช้ทอออกมาเป็นผืนผ้า โดยใบสับปะรดที่นำมาใช้ผลิตในตอนนี้นำมาจากหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ระยอง และพัทลุง และในพื้นที่เองก็เริ่มมีการหันมาปลูกแซมในร่องยางเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับทางกลุ่ม โดยใบสับปะรดที่นำมาใช้ คือ พันธุ์ปัตตาเวีย หรือพันธุ์อะไรก็ได้ที่มีความยาวของใบเกิน 50 เซนติเมตรขึ้นไป


     โดยว่ากันคุณสมบัติพิเศษของเส้นใยสับปะรดนั้นมีอยู่มากมาย และยังเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่มีความแข็งแรงทนทานอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย – เชื้อรา และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดีด้วย





     “ก่อนหน้าที่จะมาทำผ้าจากเส้นใยสับปะรด เราเคยทำผ้าขาวม้าเกาะยอมาก่อน ซึ่งทำไปแค่ไหนก็ขายได้เพียงผืนละร้อยกว่าบาท เราจึงอยากหันมาจับตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีความเป็น Niche Market มากขึ้น นี่คือ ที่มาที่ทำให้เราหันมาสนใจการทำเส้นใยจากธรรมชาติ ซึ่งในบ้านเราก็มีการปลูกสับปะรดกันมากเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ใบสับปะรดที่เรานำมาผลิตเป็นเส้นใยจึงเป็นการนำมาจากเศษวัตถุดิบที่เหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งของเสียเหล่านี้เป็นภาระต่อเกษตรกรผู้ปลูก แต่เราสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการแปรรูปออกมาเป็นเส้นใย และต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สามารถทำราคาได้ดี นอกจากนี้ยังสร้างอาชีพให้กับชุมชน โดยนอกจากชาวบ้านในพื้นที่เรายังนำเส้นใยดังกล่าวให้คนในเรือนจำได้ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพด้วย” ปริยากรกล่าวถึงความตั้งใจที่หนักแน่น





     ในวันนี้เส้นใยสับปะรดของ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา ถูกผลิตออกมาจำหน่ายใน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ คือ 1.เส้นใยต่อเกลียว ราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท 2.ผ้าทอ ราคาขายอยู่ที่หลาละ 950 บาท และ 3. เส้นใยที่เสียต่อเป็นเส้นยาวไม่ได้จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสา ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เส้นใยและผ้าทอจะถูกส่งออกไปขายให้กับลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเส้นใยที่มีความหนาจึงเหมาะที่จะใช้งานในเมืองหนาวมากกว่า โดยลูกค้าหลักจะอยู่ที่ตลาดยุโรปและญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ละเดือนสามารถผลิตได้ประมาณ 200 - 250 หลา ซึ่งความจริงก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด





     เพราะการผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังคงใช้แรงงานคนในการผลิตเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้า อีกทั้งคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้ก็มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ตลาดต้องการได้ จึงได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พัฒนาเครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 70 รวมถึงสามารถทอหน้าผ้าให้มีความกว้างมากขึ้นได้ ทำให้สามารถตอบความต้องการของตลาดได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น





     “เส้นใยที่ได้จากใบสับปะรดในบ้านเรา เนื่องจากเราต้องการนำเศษวัตถุดิบที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เส้นใยที่ได้ออกมาจึงมีลักษณะค่อนข้างสั้น ไม่เหมือนกับเส้นใยทางฟิลิปปินส์ที่เขามีการปลูกเพื่อนำใบมาใช้ผลิตเป็นเส้นใยโดยเฉพาะ แต่เราไม่ต้องการทำเช่นนั้น ดังนั้นขั้นตอนการทำของเราจึงค่อนข้างยุ่งยาก ต้องทำหลายขั้นตอนกว่าจะได้ออกมาเป็นเส้นใยที่สมบูรณ์หรือทอเป็นผืนผ้าออกมาได้ โดยใบที่ได้ในบ้านเราจะยาวเพียง 50 – 80 เซนติเมตร แต่ที่ฟิลิปปินส์ยาวกว่า 1.5 เมตรเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนาใน 2 ส่วน คือ 1.การต่อเส้นด้ายโดยใช้เครื่อง 2.การสร้างกี่ทอให้มีหน้ากว้างมากขึ้นและทอได้ในเวลาที่เร็วขึ้น นี่คือ สิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้ เรายังไม่ได้มองไปถึงการสร้างแบรนด์ เพราะต้องการวางพื้นฐานตรงนี้ให้ดีก่อน การผลิตเป็นวัตถุดิบออกมาขาย ทำให้เราได้เงินนำมาใช้พัฒนาหมุนเวียนรวมถึงกระจายได้สู่ชุมชนได้ในทันที เพราะมีความต้องการของตลาดรออยู่อีกมาก และในวันหนึ่งเมื่อมีพร้อมมากขึ้น ก็ค่อยต่อยอดพัฒนากันไปอีกก้าวหนึ่ง” ปริยากรกล่าวในตอนท้าย
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​