Raming’s School of Tea โรงเรียนสอนทำชาแห่งแรกของไทย ใบเบิกทาง ‘ชา’ ให้ฮิตตามรอยกาแฟ

Text & Photo : นิตยา สุเรียมมา






Main Idea

 
  • แม้ตลาดธุรกิจร้านกาแฟจะเติบโตเพิ่มมากขึ้น แต่ในมุมหนึ่งของผู้บริโภค แม้จะเดินเข้าร้านกาแฟ ก็ใช่ว่าทุกคนจะเลือกดื่มกาแฟเสมอไป ‘ชา’ คือ หนึ่งในครื่องดื่มที่อยู่ในความสนใจไม่แพ้กัน แต่เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากนัก ตลาดชา จึงยังคงเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่พ่วงอยู่ในร้านกาแฟทั่วไป
 
  • ด้วยเหตุนี้ “ชาระมิงค์” แบรนด์ชาไทยที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 77 ปี จึงมองเห็นโอกาสและอยากสร้างมิติใหม่ให้กับการบริโภคเครื่องดื่มชาในเมืองไทย ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนทำชาแห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทยขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น



                
     เพราะพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้คนยุคปัจจุบันนี้มักมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลต่อการแข่งขันที่เพิ่มสูง แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นโอกาสให้สามารถมองหาช่องว่างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้


     เหมือนเช่นธุรกิจเครื่องดื่มในปัจจุบันนี้ หากพูดถึงเบอร์หนึ่งต้องยกให้กับกาแฟ มีการเปิดคาเฟ่ร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่ในมุมหนึ่งของความต้องการเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ คนเข้าร้านกาแฟ ก็ไม่ใช่เพราะต้องการดื่มกาแฟทุกคนเสมอไป เพียงแต่ยังไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจนำเสนอออกมาอย่างโดดเด่นเท่านั้น ซึ่งหากพูดถึงเครื่องดื่มที่พอจะสูสีแข่งขันกันได้ ชา คือ หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

               



     แต่จากการสร้างการรับรู้วัฒนธรรมการดื่มชาในสังคมไทยเอง ที่อาจมีอยู่น้อยเกินไป จึงทำให้ถึงแม้มีความต้องการอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงออกที่ชัดเจนออกมา บวกกับตัวเลือกของร้านชาเองที่ไม่ได้มีอยู่มากนักหรือแทบจะมีน้อยมากๆ การเติบโตของตลาดบริโภคเครื่องดื่มชาจึงยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ทั้งที่ควรจริงแล้วทั้งชาและกาแฟต่างเป็นเครื่องดื่มระดับสากลของโลกด้วยกันทั้งคู่
               

     ด้วยเหตุนี้ “ชาระมิงค์” แบรนด์ชาไทยที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 77 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 จึงมองเห็นโอกาสและอยากสร้างมิติใหม่ของการบริโภคเครื่องดื่มชาในเมืองไทยและตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น จึงได้จับมือร่วมกับ Asian School of Tea สถาบันผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาจากประเทศอินเดียเปิดหลักสูตรสอนการเรียนรู้การบริโภคชา ชงชา และทำธุรกิจเกี่ยวกับชาขึ้นครั้งแรกในเมืองไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
               







     วงเดือน วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาระมิงค์ จำกัด ได้เล่าถึงการจัดทำโครงการดังกล่าวว่า
               

     “เดี๋ยวนี้คนนิยมบริโภคดื่มชากาแฟกันเยอะขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกาแฟที่เติบโตขึ้นมาก มีร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เรามองเห็น คือ ชาเหมือนเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค สัดส่วนการขายกาแฟมีเยอะกว่าชามาก  ร้านชาเฉพาะที่มีการพรีเซนต์ชงชาดื่มชาแบบจริงจัง ก็แทบจะไม่มีเลย เราจึงอยากค้นหาจิ๊กซอว์บางอย่าง เพื่อมาเติมเต็มให้กับวงการอุตสาหกรรมชาไทย ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มชาอยู่มาก เพียงแต่ยังไม่มีร้านไหน หรือใครมาจุดประกาย แนะนำ สร้างให้เกิดพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา เราเองในฐานะผู้ผลิตที่อยู่กับวงการชามานาน จึงอยากเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางด้วยการเปิดโรงเรียนสอนเกี่ยวกับทำชาขึ้นมา ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้บริโภคปลายน้ำได้รู้เรื่องราวของชาและดื่มชาเป็นมากขึ้น มูลค่าของตลาดก็จะขยับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้ช่วยแค่เรา แต่คือ วงการชาทั้งหมด"
               

     โดยให้เหตุผลว่าที่เลือกจับมือร่วมกับสถาบันจากประเทศอินเดีย เป็นเพราะว่าที่นี่ คือ แหล่งต้นกำเนิดชาอัสสัม ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ทางชาระมิงค์นำมาใช้ทำชาดำ (Black Tea) ที่สำคัญเนื้อหาของการเรียนการสอนก็ตรงกับที่ต้องการ คือ เน้นทั้งองค์ความรู้พื้นฐาน วัฒนธรรมการดื่มชาที่ถูกต้อง ชุมชนแหล่งปลูกชา มีครบหมดทุกอย่าง ขณะที่ทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาจะเน้นที่ทฤษฏีมากกว่า
 




     “เราไม่ได้ต้องการเป็นสถาบันที่เน้นความเชี่ยวชาญ แต่เราอยากให้คนได้รู้จักเรื่องราวของชามากยิ่งขึ้น ทั้งผู้บริโภคทั่วไป คนที่สนใจดื่มชา ไปจนถึงผู้ที่ต้องการทำธุรกิจเกี่ยวกับชา เพื่อนำความรู้ตรงนี้ไปต่อยอด ไปบอกต่อ ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการทำชา แหล่งผลิต ชุมชนในพื้นที่ปลูกชา จนถึงการบริโภคชาที่ถูกต้อง ชาตัวไหนต้องกินเวลาไหน กินคู่กับขนมหรืออาหารอะไรถึงจะอร่อยและได้สุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งชา กาแฟ และไวน์ต่างก็มีศาสตร์และศิลปะในการดื่มที่ไม่ได้แตกต่างกัน แต่สำหรับชากลับมีการนำมาเผยแพร่ให้ความรู้น้อยมากในบ้านเรา ทั้งที่ผู้บริโภคบางส่วนก็ชื่นชอบการดื่มชา เพียงแต่มีตัวเลือกให้เขาน้อย และไม่มีพื้นที่แสดงเอกลักษณ์ ความพิเศษของชาที่เกิดขึ้นจริงๆ ได้”


    หลักสูตรที่ทางชาระมิงค์ หรือ Raming’s School of Tea เปิดขึ้นมา มีทั้งหมด 3 หลักสูตรด้วยกัน ได้แก่


     1.Tea Sommelier สอนเกี่ยวกับภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผู้เรียนจะได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำชาตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ วิธีการปลูก การผลิต การเก็บรักษา การ Blending การชงชา การชิมชา เรียกว่าศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับชาทั้งหมดที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อที่จะนำไปแนะนำหรืออธิบายบอกต่อได้ว่า ชาประเภทไหน ควรดื่มเวลาไหน กินกับขนมหรืออาหารอะไร เป็นคอร์สที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจอยากรู้จัก เรียนรู้เรื่องราวของชาแบบจริงจังมากขึ้น โดยผู้ที่เรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร Tea Sommelier Certificate กลับไปด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการเรียนประมาณ 3 – 4 วัน





     2. Raming’s Art School of Tea เป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาเรื่องราวของชาและได้ท่องเที่ยวในแหล่งกำเนิดชาจริงด้วย เป็นหลักสูตร 2 วัน 1 คืน โดยผู้เข้าร่วมจะได้เดินทางท่องเที่ยวไปลองเก็บใบชาด้วยตนเอง ได้เยี่ยมชมชุมชนชาวเขาที่มีวิถีชีวิตในการปลูกและเก็บชา จนถึงการได้ลองเพนต์เครื่องปั้นดินเผาศิลาดล เรียนชิมชา ชงชา และเบลนด์ชาด้วยตัวเอง


     3. Personalized สำหรับกลุ่มบุคคล ธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหารที่ต้องการให้จัดสอนพิเศษในหลักสูตรเฉพาะของตนเอง เพื่อฝึกอบรมพนักงาน หรืออยากได้องค์ความรู้เฉพาะเจาะจงเป็นเรื่องๆ ไป
โดยหลักสูตรทั้งหมดจะเริ่มเปิดสอนในต้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า ตรงกับฤดูกาลแรกของการเก็บชาพอดี
               

               




     วงเดือนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงช่วยเชื่อมให้ชื่อของชาระมิงค์กลับเข้ามาใกล้ชิดผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการบริโภคชาของคนไทยให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น เปิดพื้นที่สำหรับคนชอบดื่มชา ไม่ดื่มกาแฟให้มีทางเลือกมากขึ้นด้วย


     และนี่คือ เรื่องราวมิติใหม่ของวงการธุรกิจเครื่องดื่มไทยที่จะเติบโตไปอีกก้าวหนึ่ง และทำให้เราได้รู้จักกับเครื่องดื่มสุดคลาสสิกของโลกชนิดนี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดชาให้เติบโตในแบบที่ควรจะเป็นได้ทัดเทียมไม่แพ้กับกาแฟเลย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​