ชีวิตคนทำธุรกิจ หมู หมู .. ที่ไม่มีอะไรหมูเลยสักนิด




 
 
 
Main Idea
 
  • เกือบ 40 ปีก่อน ร้านข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ นายตง บางยี่ขัน หรือในปัจจุบันที่คนรู้จักกันในชื่อ “หมูทำอะไรก็อร่อย” ถือกำเนิดขึ้น พร้อมวลีง่ายๆ ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น สืบสานความอร่อยให้คงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
 
  • แต่ธุรกิจหมูๆ กลับไม่ได้หมูเลยสักนิด เมื่อวันนี้ยุคสมัยเปลี่ยน ร้านหมูทำอะไรก็อร่อยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อคนยุคนี้ไม่ออกจากบ้านและมีตัวช่วยให้สั่งอาหารทานได้ง่ายขึ้น ถึงเวลาที่ทายาทรุ่นใหม่จะมานำพาธุรกิจครอบครัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและการรู้ทันพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้


 
 
      พูดถึง หมู .. ถ้าใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่คิดในหัวสมองอย่างแรกๆ  คือคำว่า ง่าย ไม่มีอะไรที่ยาก
แต่ถ้าพูดถึงอาหาร “หมู” คือ อาหารของมนุษย์ ที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้ทุกส่วน ตั้งแต่หัวไปถึงส่วนหาง ... เคยมีคนถามเล่น ๆ ว่ามีส่วนไหนของหมูบ้างที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ก็คงมีแต่ ตดหมู นั่นหล่ะมั้งที่ทำอะไรไม่ได้


     Street Food ในบ้านเมืองเรามีมากมายหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อและเลือกรับประทาน เรียกว่ามีทุกตรอกซอกซอย ทุกร้านมีประวัติ มีเรื่องราวเป็นของตัวเองทั้งนั้น เจ้าดังๆ ก็จะมีใบการันตีแปะตามฝาบ้าน เพื่อแสดงถึงความอร่อย เชิญชวนให้ลูกค้าได้ไปสัมผัสและลิ้มลองต่อๆ กัน





     ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2526-2527 หรือเกือบๆ 40 ปีที่แล้ว ร้านข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ นายตง บางยี่ขัน ..หรือในปัจจุบันที่คนรู้จักกันในชื่อ “หมูทำอะไรก็อร่อย” ถือกำเนิดขึ้นพร้อมวลีง่ายๆ ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ...สืบสานความอร่อยให้คงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้


     แต่กว่าที่ธุรกิจจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้ไม่ได้ง่ายเหมือนชื่อเลย เขาถึงบอกว่า การค้าขาย ไม่มีอะไรที่แน่นอน อยู่ที่เราจะแก้ไขแล้วก้าวผ่านมันไปได้อย่างไรเท่านั้น



 

     ผมชื่อ เอ ครับ (วัฒนพงษ์ ตั้งร่ำรวย) บุตรชายคนโต จากพี่น้อง 3 คน (เอ เอก แหม่ม) เดิมทีก่อนหน้านี้ ป๊ากับม๊าของพวกผมก็ค้าขายมาหลายอย่าง ตั้งแต่ ของหวาน กวยจั๊บ (ตึกใบหยก) ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ (ปากคลองตลาด) ก่อนจะย้ายถิ่นฐานมาปิ่นเกล้า และขายข้าวหมูแดงมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าวหมูแดงที่เริ่มตั้งแต่จานละ10-12 บาท สมัยนั้นย่านนี้มีสถานบันเทิง อาบ อบนวด หลายที่ อย่าง กรีนแอปเปิล วิลล่า(ไนท์ คลับ) โรงเรียนลีลาศ และอู่รถ ปอ.11 คนเลยผ่านไปผ่านมาเยอะมาก มีพี่ๆ แท็กซี่ สามล้อ และมอเตอร์ไซค์วิน มากินที่ร้านของเรากันเยอะ ก็พอที่จะขายได้ ผมยังจำภาพตอนนั้นได้ดี เช้ามาก็โดนเรียกให้มาช่วยงานก็มีงอแงบ้างตามประสาเด็ก ป๊าปิ้งหมูหน้าบ้าน ม๊าอยู่หน้าแผง ทำของไปด้วย ลูกๆ ทั้ง 3 คน ช่วยเสิร์ฟบ้าง นั่งแกะไข่บ้าง จนปี พ.ศ. 2533-2534  เราติด 1 ใน 3 ร้านข้าวหมูแดงที่ได้รับการโหวตจากพี่ๆ แท๊กซี่ว่าเป็นร้านที่อร่อยและได้ป้าย ของ จส.100  ในปีนั้นในหมวดร้านข้าวหมูแดง มาการันตีความอร่อยด้วย


     จากเงินทุนเล็กๆ ที่หยิบยืมผู้มีพระคุณ จากเพิงเล็กๆ ข้างถนน จนไปเช่าตึกแบ่งขายของ ในที่สุดป๊าม๊าก็เซ้งตึกได้ และกว่าจะซื้อบ้านและขายได้ต้องใช้ความขยันและอดทน สู้ชีวิตกันมาตามประสาสามีภรรยา ป๊าจบแค่ป.4 ส่วนม๊าไม่มีความรู้ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือ ไม่ได้ .. แต่พวกท่านก็ส่งลูกหมู 3 ตัว ให้เรียนจนจบปริญญาได้นะ





     ในยุคสมัยของป๊าม๊า ท่านไม่มีเงินทองไปจ้างสื่อที่ไหน แต่ท่านใช้สิ่งที่ท่านมีคือทักษะในการทำอาหารที่ถูกปากและสร้างชื่อเสียงจากอาหารที่ท่านรัก คือ ข้าวหมูแดงและกระเพาะปลา การโฆษณาส่วนใหญ่ก็คือ “ฝาบ้าน” เรามีคำสอนดีๆ คติเตือนใจรวมถึงปรัชญาชีวิตที่ลูกค้ามาทานก็จะได้มุมมองและแง่คิดดี ๆ กลับไป .. (ถ้านึกภาพตามก็คงเหมือนการโพสต์อะไรซักอย่างในเฟซบุ๊กสมัยนี้ให้คนได้อ่านข้อความดีๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจนั่นแหล่ะ... ป๊าผมทำมาก่อน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซะอีก!) 


     เลยเป็นที่มาของคำว่า “ปากต่อปาก” เหมือนกลยุทธ์การตลาด Word of  Mouth  ที่เขาว่ากัน ทำให้ร้านเราขายดิบขายดี ในสมัยนั้นไม่ว่าคนระดับไหน ตั้งแต่คนหาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรี ก็เคยแวะเวียนมากินที่ร้านของเราทั้งนั้น





     ทว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปคนเราก็เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมการกินก็เช่นกัน  วันนี้มีแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น  ซึ่งธุรกิจบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ต่างได้รับความนิยม แต่เพราะด้วยความใหม่และความไม่ชอบในเทคโนโลยีของป๊าม๊า ท่านจึงไม่ค่อยเปิดรับและไม่เข้าใจเท่าไรว่าทำไมสิ่งพวกนี้ถึงจำเป็นสำหรับยุคนี้


     แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจ และยอดขายที่ลดลง บวกพฤติกรรมคนที่ไม่ค่อยออกจากบ้าน คนทำงานไม่ออกจากออฟฟิศ ด้วยปัจจัยต่างๆ นานา ร้อนบ้าง ไม่มีที่จอดรถบ้าง เราจะทำยังไงให้ยอดขายของร้านเราเพิ่มขึ้นท่ามกลางความยากลำบากนี้ ตอนนั้นพวกเราพี่น้องในฐานะทายาท เริ่มมองหน้ากันและคิดถึงมุมมองใหม่ๆ ว่าเราควรจะทำยังไง จะรับมือแบบไหนดี เมื่อสื่อโซเชียลเริ่มเข้ามามากขึ้น มีการมาถ่ายรีวิวร้าน รายการต่างๆ ก็เริ่มติดต่อมาขอนำเสนอร้านเราไปในวงกว้าง แอปพลิเคชั่นจัดส่งอาหารหลายๆ ที่ก็เริ่มเข้ามา ขับรถมารับสินค้าและจัดส่งให้ ซึ่งเป็นช่องทางการขายใหม่ๆ ที่ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น  พวกเราจึงค่อยๆ เริ่มเปิดตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าช่วงแรกๆ ป๊าม๊าก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ต้องค่อยๆ ทำให้ท่านเห็น จนพอเห็นยอดขายที่เพิ่มขึ้น ท่านก็เริ่มยอมรับและยอมให้มาปรับใช้กับร้านของเราในวันนี้
 

     ในการทำธุรกิจความต่างของความคิดก็สำคัญ เราต้องละลายเรื่องนี้ให้ได้ โดยมุมมองของป๊าม๊า ท่านไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นนี้หัวแข็งชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เชื่อว่าหลายๆ ครอบครัวก็คงเป็นเช่นกัน คนไทยเชื้อสายจีนขยันและสู้ชีวิต เหมือนเป็นมรดกตกทอดกันมา ซึ่งมันก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยเรื่องปัญหาสุขภาพ และหลายๆ อย่าง ปัจจุบันพวกเราต้องบังคับหยุดงานบ้าง ไม่อย่างนั้นป๊ากับม๊าก็จะทำแต่งาน จนลืมเรื่องอายุว่ากว่า 70 ปีกันแล้วทั้งคู่ จะทำแบบวัยรุ่นคงไม่ได้ เราก็ค่อยๆ ละลายพฤติกรรมท่านทั้งสองและให้หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น





     การเริ่มต้นจากยุคเก่าสู่การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ถูกนำมาหลอมรวมกันและปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ มันเป็นทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาเสมอ วันนี้โลกหมุนเร็วเราก็ต้องหมุนตาม การค้าขายก็เช่นกัน ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โทรศัพท์มือถือและสื่อโซเชียล มีอิทธิต่อการค้าขายอย่างมาก อยู่ที่เราจะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจเรายังไง ความรู้และการพัฒนาก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเปิดรับและก้าวออกไป กล้าที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นและต่อยอดออกไปให้ไกลกว่าเก่า


     นี่คือเรื่องราวของพวกเรา “หมูทำอะไรก็อร่อย” เรื่องหมู หมู .. ที่กว่าจะหมูมันผ่านจุดยากมาก่อนทั้งนั้น การค้าขายไม่มีอะไรง่ายเลย ทุกอย่างมีขั้นตอนจากจุด สู่จุด จากรุ่น สู่รุ่น .. ก็จะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเสมอ อยู่ที่เราจะเปิดกว้างและรับที่จะนำมาปรับใช้หรือไม่เท่านั้นเอง


     ป๊ามักจะพูดเสมอว่า เพราะพวกท่าน .. เราถึงมีทุกวันนี้  ฉะนั้นต้องรักษามาตรฐานเหมือนที่ท่านเคยทำมา ลูกค้าก็จะกลับมาหาเราอีก ซึ่งแนวคิดนี้ยังใช้ได้ผลในทุกยุคทุกสมัย



 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​