ของดีปีละครั้ง! ‘สาหร่ายไก’ ชาวเชียงของ วัตถุดิบถิ่นไทยที่กลายเป็นสินค้าส่งออกได้

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา
 

 

Main Idea
 
  • ผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ สิ่งที่สะท้อนความเป็นวิถีชีวิตมากที่สุด เช่นเดียวกับคนในชุมชนเชียง จังหวัดเชียงราย ของที่มีผลิตภัณฑ์อย่าง “ไก” สาหร่ายน้ำจืดที่เกิดขึ้นบริเวณหินที่ได้รับอากาศอย่างเพียงพอ มีแสงอาทิตย์ตกกระทบและการไหลผ่านตลอดเวลาของน้ำในแม่น้ำโขงที่ก่อให้เกิดสาหร่ายไกปีละหนึ่งครั้ง
 
  • จนนำมาซึ่งการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนอกเหนือจากอาชีพหลัก ซึ่งนอกจากสาหร่ายไกแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นโอกาสธุรกิจได้อีกมากมาย
 



     ผลิตภัณฑ์ชุมชนถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจใหญ่ของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมให้กับประชากรที่ยังไม่มีรายได้มั่นคงหรือกำลังว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนเหล่านี้ล้วนได้วัตถุดิบมาจากพื้นที่ของตนเอง เพียงแค่ใส่ใจและริเริ่มสร้างสรรค์ก็สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่า แถมยังสามารถสร้างรายได้และสร้างความภาคภูมิใจให้คนในชุมชนได้อีกด้วย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อย่างสาหร่าย “ไก” อีกหนึ่งสินค้าชุมชนที่มีความสำคัญและมีจุดเด่นไม่แพ้ใคร เพราะในชุมชนแห่งนี้ถือเป็นแหล่งน้ำที่พบไกที่เจริญที่สุดในประเทศไทย แต่ใช่ว่าจะหาทานกันได้ง่ายๆ เพราะไกนั้นเกิดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น





     พวงรัตน์ แสงเพชร์
รองประธานคลัสเตอร์ Thai Herb หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนสาหร่ายไกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสาหร่ายชนิดนี้ว่า


     “สาหร่ายไกคือสาหร่ายน้ำจืดที่มีลักษณะเป็นเส้นยาวสีเขียวเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติแต่ในหนึ่งปีจะเกิดเพียงแค่ครั้งเดียว ไกจะพบได้ในแหล่งน้ำไหลที่น้ำมีคุณภาพและมีความใส โดยเกิดจากการที่มีแสงแดดและอากาศกระทบหินใต้น้ำซึ่งจะพบไกเกาะอยู่บนก้อนหินใต้น้ำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พวกเราในชุมชนก็จะสามารถเก็บเกี่ยวสาหร่ายน้ำจืดนี้ได้เลย ซึ่งในช่วงนี้เราสามารถหาได้เยอะจากนั้นก็นำมาตากแดด อบแห้งเก็บไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี”





     พวงรัตน์เล่าว่า การถนอมอาหารสไตล์ชุมชนเชียงของมี 2 แบบ อย่างแรกคือการนำไกสดมาตากแห้งแล้วนำไปอบเพื่อฆ่าเชื้อโดยจะไม่มีการปรุงรสหรือใส่อะไรเพิ่มเติม และอีกรูปแบบคือการนำไกสดมาผสมกับสมุนไพรต่างๆ อย่างข่า กระเทียมหรืองา ก่อนที่จะนำไปตากและอบแห้งเพื่อฆ่าเชื้อ เท่านี้ก็จะได้ไกพร้อมทานหรือใครจะนำไปประกอบอาหารก็ได้เช่นกัน เพราะไกที่ผ่านการตากแห้งและอบฆ่าเชื้อก็ถือว่าเป็นการทำให้สุกเรียบร้อยแล้ว
 

     “วิธีการกินส่วนใหญ่จะกินแบบที่ปรุงสุกแล้วก็เอามาทำเป็นอาหารล้านนาอย่างห่อนึ่ง หรือจะเป็นรูปแบบใหม่ที่เอามาทำเป็นสแน็กหรืออาจจะทำเป็นคุกกี้ก็ได้ ซึ่งมันก็แล้วแต่ว่าเราจะแปรรูปเป็นอะไร เราอาจจะทำให้มันสุกแล้วนำมาขยี้ให้มันเป็นผงโรยบนข้าวหรือทำเป็นชาสาหร่ายไกก็ได้เช่นกัน” เธอเล่าเสริม





     ความโดดเด่นของสาหร่ายไกคือรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น โปรตีนสูงเทียบเท่าเนื้อสัตว์ มีเส้นใยอาหาร และแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะซีลีเนียม หนึ่งในแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง และพบซีลีเนียมในไกในปริมาณสูงกว่าที่พบในอาหารชนิดอื่นหลายเท่าตัว อีกทั้งยังมีแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับการบำรุงให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและชะลอความแก่ได้อีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์ว่าสาหร่ายไกสามารถนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอางได้อีกด้วย


     แม้ว่าไกจะดูเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ทว่ายังมีการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งออกไปยังประเทศใกล้ๆ เช่น ประเทศลาว เนื่องจากมีวัฒนธรรมการกินที่ใกล้เคียงกัน โดยพวงรัตน์เชื่อว่า ถ้ามีการทำแพ็กเกจจิ้งที่ดีบวกกับการสร้างมาตรฐานด้านการจัดเก็บหรือการถนอมอาหารให้ได้นานกว่านี้ก็สามารถส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้เพราะมีกลุ่มลูกค้าคนไทยในประเทศดังกล่าวที่เคยทานและติดใจสาหร่ายไกของเธอ
สิ่งที่ชุมชนยังขาดคือองค์ความรู้ในการพัฒนาสินค้าชุมชนให้กลายเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันสาหร่ายไกที่ทำอยู่ไม่ได้ใส่สารอะไรเพิ่มเติมเพื่อยืดอายุให้ยาวนานขึ้น ซึ่งเธอต้องการพัฒนาแต่ขาดเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้





     นอกจากสาหร่ายไกแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ น้ำมันหอมระเหยสกัดจากสมุนไพร ลูกประคบในรูปแบบครีมที่สามารถนำมาทาได้เลยทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนนึ่งหรืออบก่อนใช้ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าจากสมุนไพรที่นำนวัตกรรมในชุมชนมาสร้างสรรค์ หรือว่าจะเป็นโกโก้ที่ปลูกเองในชุมชน โดยมีการนำโกโก้ไปแปรรูปหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดล้วนได้วัตถุดิบที่อยู่ในชุมชนทั้งสิ้น





     ธุรกิจชุมชนเชียงของแห่งนี้ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจชุมชนที่มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบบ้านๆ ให้กลายเป็นสินค้าสุดสร้างสรรค์และมีเป้าหมายที่อยากพาสินค้าชุมชนไปให้ไกลในระดับสากล การพัฒนาตัวเองเสมอคือหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนควรให้ความสำคัญ อย่าคิดว่าสินค้าเราด้อยกว่าเพียงเพราะตนเองไม่พัฒนาสิ่งใหม่ให้แก่ธุรกิจ เชื่อเถอะว่าหากผู้ประกอบการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอก็จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​