SEEDA ชาดาวอินคา ปรับลุค Cool Cool ตอบโจทย์ความ “ใช่” ผู้บริโภคยุคใหม่

Text : เจษฎา      
 
 

 
Main Idea
 
  • ถ้ายังทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่คิดพัฒนาตัวเอง วันหนึ่งก็คงเลือนหายไปจากตลาด แต่ถ้ารู้จักพัฒนาต่อยอดจากสินค้าธรรมดาๆ ก็อาจกลายเป็นอย่างแบรนด์ SEEDA (สีดา) เครื่องดื่มสมุนไพรชาดาวอินคา ที่ปรับลุคตัวเองให้สดใหม่ น่าสนใจ จนสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้เกินเท่าตัว
 
  • พวกเขาใช้กลยุทธ์สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น ปรับจูนการตลาดให้ใช่ให้โดน และต่อยอดช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ สู่โลกออนไลน์ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ใช่ของผู้บริโภคยุคนี้
 
 
               
     จากผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคา แบรนด์ไร่ครูชื่น ของ ปัทมา  สีดาวงษ์ ที่เน้นขายผ่านช่องทางการจำหน่ายออฟไลน์อย่างงานแสดงสินค้าเป็นหลัก พัฒนาสู่เครื่องดื่มสมุนไพรดาวอินคา แบรนด์ SEEDA (สีดา) ซึ่งปรับลุคผลิตภัณฑ์เดิมให้มีความใหม่ น่าสนใจ และขยายช่องทางการจำหน่ายจนสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเดิมเกินเท่าตัว เขามีเคล็ดลับหรือแนวทางในการชูจุดเด่นและสร้างจุดขายอย่างไรให้ลูกค้าต้องบอกว่า “ใช่เลย” มาพบคำตอบเหล่านี้โดยเริ่มต้นรู้จักผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคากันดีกว่า
               



     เดิมที ผลิตภัณฑ์ชาดาวอินคา ผลิตจากใบชาดาวอินคาที่นำไปผ่านกระบวนการผลิต ทำความสะอาด ตากให้แห้ง คั่วอบด้วยความร้อน ก่อนจะนำมาบรรจุในซองพลาสติกเพื่อจำหน่าย เรื่องคุณประโยชน์นั้นมีมากมาย แต่สิ่งที่กลุ่มเป้าหมายมีความกังวลกันก็คือหากซื้อผลิตภัณฑ์ไปชงดื่มแบบชาแล้วจะพบ สารไซยาไนด์ จากดาวอินคาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ดีต่อร่างกายและสุขภาพหรือเปล่า ความสงสัยนี้เองที่ส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องถึงช่องทางการจำหน่าย และยอดขายไปพร้อมๆ กัน
               

     แนวทางการแก้ไขของปัทมา ก็คือ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อด้วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ปรับจูนแนวคิดผลิตภัณฑ์กับกลุ่มเป้าหมายด้วยการตลาด และปิดท้ายด้วยการขยายช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทุกอย่างทำอย่างเป็นขั้นตอนจนสามารถตอบโจทย์ความ “ใช่” ให้กับกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ ใน 4 เรื่อง นั่นคือ
 
     
      

     1. สร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์

                 

     โดยผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายในยุคนี้ มีความต้องการในเรื่องของความสะอาด และความปลอดภัยสูงมาก ปัญหาเดียวที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายคาใจกับผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องสารไซยาไนด์ ปัทมาจึงส่งผลิตภัณฑ์ (ที่ชงด้วยน้ำร้อนแล้ว) ไปตรวจหาสารไซยาไนด์กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จนได้รับรายงานผลการทดสอบว่า “ไม่พบสารไซยาไนด์” ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และแบรนด์ รวมถึงสามารถนำไปประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างจุดขายได้อีกด้วย
 
           



     2. พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่น

               

     สำหรับบรรจุภัณฑ์เก่าจะเป็นถุงชงชาซีลความร้อนด้วยถุงพลาสติกใส และบรรจุ 20 ซองภายในถุงซิปล็อก แต่ถูกแทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์ใหม่แบบกล่องขนาดเล็กสีขาวลุค Clean and Clear มีความเป็นธรรมชาติ และดูโดดเด่นแต่ไกล พร้อมกันนั้นบนกล่องบรรจุภัณฑ์ยังมีรายละเอียดจุดขายที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่คุณประโยชน์ วิธีการชง วิธีการเก็บรักษา เรียกได้ว่าใครหยิบขึ้นมาดูก็ต้องอยากได้กลับบ้านไปชงดื่มอย่างแน่นอน
      

      

     3. ปรับจูนการตลาด

               

     ทุกวันนี้เราจะพบว่าบนซองผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีรายละเอียดบอกว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ รับประทานคู่กับอะไรได้บ้าง  เช่น มันฝรั่งแบบแผ่นทอดรับประทานคู่กับแยมผลไม้หรือทูน่ามายองเนส หรือโอริโอ้ที่เคยบอกว่าให้ลองบิด ชิมครีม แล้วจุ่มนม หรือพวกคอร์นเฟล็กที่อธิบายตัวเองว่าเหมาะสมกับการรับประทานคู่กับนมหรือโยเกิร์ต ซึ่งตัวชาดาวอินคาแบรนด์สีดา ก็ใช้การตลาดแบบเดียวกันนี้ นอกจากนั้นยังเพิ่มดีกรีความน่าสนใจเข้าไปอีกนิดด้วยการบอกว่า ควรซื้อในช่วงเทศกาลไหนเพื่อส่งมอบความสุขให้กับใครบ้าง รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Gift Set สังฆทานเพื่อให้เหมาะสมต่อการนำไปทำบุญที่วัด เป็นต้น การตลาดจากซื้อไปชงดื่มเองจึงเพิ่มเป็นการซื้อไปฝาก ซื้อไปเพื่อส่งมอบความสุขให้คนรอบตัว แถมยังซื้อไปทำบุญได้อีกต่างหาก
 
         



     4. ต่อยอดช่องทางการจัดจำหน่าย

               

     แรกเริ่มเดิมที แบรนด์สีดา ขายเฉพาะช่องทางออฟไลน์ แต่หลังจากปรับลุคตัวเองใหม่ทั้งข้อมูล สร้างความน่าเชื่อถือด้วยผลทดสอบ และบรรจุภัณฑ์ ก็สามารถเชื่อมต่อแบรนด์กับผลิตภัณฑ์เข้าสู่การตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่ที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ ทำให้ช่องทางอย่าง Facebook และ Line กลายเป็นช่องทางหลักที่เข้ามาเติมเต็มรายได้ได้เป็นอย่างดี
 
           



     นี่คือตัวอย่างของ SME นักคิดและลงมือทำที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราทันเกม ทันโลก และอยู่ในวงจรธุรกิจนี้ได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง     
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​