‘แหล่งท่องเที่ยว-แมลงศัตรูพืช-พืชท้องถิ่น’ สู่เครื่องสำอางนวัตกรรมสุดว้าว! ที่ไทยทำได้

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 
 
Main Idea
 
 
  • นวัตกรรมทำอะไรได้มากกว่าที่คิด แม้แต่การหยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แมลงศัตรูพืช วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือแม้แต่พืชท้องถิ่นที่เคยเป็นจุดขายในสินค้าแฟชั่น ก็สามารถสร้างสรรค์เป็นเครื่องสำอางสุดว้าวได้
 
  • การทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยุคใหม่ นอกจากจะต้องมีจุดขายที่น่าสนใจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับต้นทางของวัตถุดิบด้วยว่า มีคุณภาพ มีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน และยังต้องมีส่วนเกื้อหนุนชุมชนและสังคมไปพร้อมกันด้วย




 
 
     น้ำพุร้อนเค็ม ในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก วันนี้พวกมันถูกนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้าแบรนด์ “Thara”  ที่มีทั้ง สเปรย์น้ำแร่ ซีรัมบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย สะท้อนความไม่ธรรมดาของนวัตกรรมเครื่องสำอางไทยยุค 4.0  ที่กำลังไปได้ไกลกว่าที่ใครๆ คิด 




     นี่คือหนึ่งในผลงานจากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia)  โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร  เพื่อใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างคุณค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ และอัตลักษณ์ในชุมชน เนรมิตเป็นสินค้าต้นแบบระดับพรีเมียม พร้อมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน 


     “วันนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของ พืช สัตว์ และวัสดุทางธรรมชาติ แต่จากการที่เราทำงานวิจัยมา พบว่า เวลาที่ผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีไปผลิตมักจะติดปัญหาเรื่องของวัตถุดิบ คือคุณภาพวัตถุดิบไม่มีความสม่ำเสมอ มากไปกว่านั้นคือวัตถุดิบบางตัวที่นักวิจัยใช้ในทำการวิจัย ยังเป็นพืชหายาก ต้องไปเก็บมาจากป่าซึ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้หมดไป เป็นไปได้ไหมที่เราจะนำพืชป่ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและขยายพันธุ์ได้ โดยใช้วิทยาการทางการเกษตรเข้ามาช่วย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ๆ มาทดแทนพืชที่มีปัญหาในเรื่องตลาด เพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็จะมีอาชีพสร้างรายได้ เวลาเดียวกันก็ทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย”





     “สายันต์ ตันพานิช” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บอกจุดเริ่มต้นของแนวคิด ก่อนจะมาเป็นโครงการ Thai Cosmetopoeia จาก วว. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ 
 
 
  • น้ำพุร้อนเค็ม สู่เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้าสุดปัง  

     ความน่าสนุกของการเชื่อมโลกเครื่องสำอางเข้ากับนวัตกรรม คือการคิดโจทย์จาก “เอกลักษณ์ชุมชน” ในแต่ละท้องถิ่น จังหวัดไหนมีอะไรเป็นของดีของเด่น ที่พื้นที่อื่นไม่มี ก็จะเริ่มทำการวิจัยสรรพคุณจากจุดนี้ 


     “อย่าง น้ำพุร้อนเค็ม เราเริ่มจากหาเอกลักษณ์ของพื้นที่ก่อน  โดยเรามองว่าถ้าเป็นพืชส่วนใหญ่จะแย่งกันเยอะ  แต่น้ำพุร้อนเค็มของกระบี่ จากการไปรีวิวเราพบว่า นี่คือแหล่งน้ำพุร้อนเค็มแห่งที่ 2 ของโลก และแหล่งเดียวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นมันขายได้ มันยูนีค เราก็เอาความยูนีคนี้ขึ้นมาดูแล้วไปทำการวิจัย เพื่อดูว่ามีสรรพคุณอะไรที่เอามาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางได้ จนเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้าในเวลาต่อมา”




     ในเชิงวิทยาศาสตร์ น้ำพุร้อนเค็ม มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีผลดีต่อผิวในด้านการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และให้ความชุ่มชื้นต่อผิว มีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ดีกว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้  เมื่อมาพัฒนาสู่เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า  หลังทำการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาพผิวหน้าสามมิติที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน เช่น VISIA และ ANTERA 3D ทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่า ริ้วรอยลดลงและสีผิวเรียบเนียนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำพุร้อนเค็มอย่างชัดเจน 


     และนี่คือผลลัพธ์จากการเชื่อมโลกนวัตกรรมเข้ากับเอกลักษณ์ในชุมชนที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นในวันนี้


 
  • เครื่องสำอางจากศัตรูพืชอย่างหอยทาก   

     นอกจากน้ำพุร้อนเค็ม ในปีที่ผ่านมา วว. ยังลงพื้นที่ในจังหวัดนครนายก เพื่อศึกษาหอยทากพันธุ์เม็กซิกัน ในการสกัด “เมือกหอยทาก” ที่นิยมกันในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยุคนี้


     “เราเริ่มจากไปพัฒนาโปรดักต์จากเมือกหอยทาก ซึ่งเป็นการคิดร่วมกับผู้ประกอบการ โดยทำออกมาเป็นเซรัม จากเมือกหอยทาก โดยหอยทากนั้นเป็นศัตรูพืช มันกัดกินพืชของเกษตรกร จะทำอย่างไรที่ไม่ใช่ไปฆ่าทิ้งเฉยๆ แบบนั้นก็เปล่าประโยชน์ เราจึงเอาจุดตรงนี้มาพัฒนาต่อ โดยเราสามารถแก้ปัญหาการทำลายพืชเกษตรของเกษตรกรได้ อีกอันที่สำคัญคือ เรานำหอยทากมาเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้วให้เกิดลูก ให้ลูกกินพืชที่ปลอดสารเคมีเป็นอาหารเพื่อให้ได้ตัววัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมาใช้ ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่ที่เป็นงานที่ไม่หนัก ทำให้คนเฒ่าคนแก่ที่เกษียณอายุแล้วในชุมชนที่เขาไม่สามารถทำไร่ทำนาได้ สามารถมาทำงานตรงนี้ได้ จึงเป็นการแก้ปัญหาไปถึงต้นน้ำได้ด้วย” เขาบอก


 
  • ขยะทางการเกษตร ก็เป็นสรรพคุณในเครื่องสำอางได้

      หลายคนเมื่อนึกถึงเพชรบูรณ์อาจจินตนาการถึงมะขามหวานแสนอร่อย ซึ่งในอดีตนิยมขายเป็นฝัก แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการจะใช้วิธีแกะเปลือกเทาะเมล็ดแล้วเรียงเป็นเนื้อนวลสวย สิ่งที่เหลือเป็นขยะก็คือ “เม็ดมะขาม” ที่ถ้าไม่ทิ้งเป็นขยะก็ต้องขายไปในราคาที่ถูกแสนถูก


     “ที่ผ่านมาเม็ดมะขามเป็นของเหลือทิ้ง ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทญี่ปุ่นมารับซื้อเกษตรกรกิโลกรัมละ 5 บาท เราก็ตามไปดูว่าเขาเอาไปทำอะไร พบว่าเขาเอาไปสกัดสารจากเม็ดมะขาม เหมือนที่เราทำอยู่ จากที่รับซื้อไปกิโลกรัมละ 5 บาท  เขาไปสกัดสารปรากฏว่าขายได้กิโลละ 3 หมื่นถึงแสนบาท มูลค่ามันเพิ่มขึ้นมาขนาดนี้ แล้วที่เราทิ้งไปอีกเท่าไร”


     สายันต์ บอกเราว่า สารสกัดจากเม็ดมะขาม  สามารถทำเป็นเซรัมบำรุงผิวหน้า ที่มีสรรพคุณดีกว่าหรือเทียบเท่ากับเม็ดองุ่นที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด เพียงแต่เม็ดองุ่นหายาก ทว่าเม็ดมะขามบ้านเรามีจำนวนมากมายมหาศาล 


     “แน่นอนว่าเม็ดมะขามหวานก็ต้องเพชรบูรณ์เท่านั้น และสองมันเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า เป็นการจัดการขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้” เขาบอก


 
  • ครามจากฮ่อมสู่เฉดสีในเครื่องสำอาง

     ในวันนี้โลกของเครื่องสำอางไทยก้าวไปไกลกว่าที่คิด โดยปีนี้ วว. ลงพื้นที่จังหวัดแพร่เพื่อศึกษาพืชท้องถิ่นอย่างฮ่อม สู่การพัฒนาเป็นสารสีในเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า หรือคัลเลอร์เมคอัพ 


     “จากฮ่อมที่จังหวัดแพร่ซึ่งส่วนใหญ่ก็นึกถึงแค่เอาไปทำเสื้อผ้า ซึ่งเขาทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เราสามารถทำเป็นเครื่องสำอางแต่งหน้าได้ ซึ่งมันมีความแปลก และขายได้ ซึ่งทุกคนน่าจะได้เห็นในไตรมาสสองของปีนี้” 


     สายันต์ บอกเรื่องสนุกๆ ที่ วว. กำลังทำ หลังปีที่ผ่านมา ดำเนินโครงการไปแล้ว 4 จังหวัด เซ็น MOU ไปแล้ว 22 หน่วยงาน โดยในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเฟ้นหาเอกลักษณ์ชุมชนสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ที่ 10 ผลงาน เพื่อยกระดับความพร้อมของเครื่องสำอางไทย ให้มีศักยภาพก้าวไกลในระดับโลก


     “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะเปลี่ยนตัวเองจากการทำเครื่องสำอางเคมีมาสู่ธรรมชาติ โดยใช้วิธีประสานงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยว่าพืชตัวไหนดีก็เอามาทำ ซึ่งตลาดต้องการไหมไม่รู้ และพืชพวกนี้มีซัพพลายเชนที่ดีไหมก็ไม่ทราบ บางทีสรรพคุณดีมากเลย แต่พอไปสืบต้นตอพบว่า หายากมาก ทำให้ต้องกลับมาคิดใหม่ วว.พยายามพลิกวิธีคิดให้ผู้ประกอบการ โดยเขาอาจมาทดสอบกับเราก็ได้ แต่เราก็จะคุยปัญหากับเขาต่อว่า ที่มาของวัตถุดิบเหล่านี้คุณต้องคอนเซิร์นด้วยนะ ถ้าคุณมีอยู่แล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีเรายินดีประสานต่อให้ เพราะว่า วว. เราร่วมมือกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติอยู่แล้ว เพื่อให้ต้นน้ำได้ด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่อยากนำนวัตกรรมไปใช้พัฒนาสินค้าของตัวเองจริงๆ ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเดินเข้ามาหา วว.เท่านั้น เพราะมีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อยู่ แต่ในส่วนของ วว. เราพยายามพัฒนาแต่ละโปรเจ็กต์ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อที่จะนำพาทุกภาคส่วนให้โตไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิจัย บริษัทก็ขายของได้ และหน่วยงานก็ตอบโจทย์นโยบายรัฐได้อย่างครบถ้วน ที่สำคัญเป็นโครงการที่ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงด้วย เพื่อยั่งยืนไปทั้งซัพพลายเชน เราอยากมองไปข้างหลังแล้วเห็นว่ามันงอกงาม” สายันต์ ย้ำเป้าหมายของพวกเขาในตอนท้าย


     ในโลกยุคใหม่ การใช้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจ SME ได้ แม้แต่อัตลักษณ์ในท้องถิ่นที่หลายคนมองข้ามไป ก็สามารถนำมาพลิกโฉมสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่สร้างโอกาสเติบโตไม่รู้จบให้กับธุรกิจ SME ในยุคนี้ 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​