“ฟางไทย” ผู้เปลี่ยนฟางข้าวในนา ให้กลายเป็นแผ่นกระดาษหนึ่งเดียวในโลก

Text & Photo : นิตยา สุเรียมมา
 

 
 
Main Idea
 
  • การได้กลับไปอยู่อาศัย ใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิด เป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวหลายคนที่ต้องจากบ้านมาไกล ไม่ว่าจะเพื่อร่ำเรียนหนังสือ หรือทำงานก็ตาม
 
  • ทว่าการจะกลับไปได้อย่างสวยงามและเกิดการยอมรับได้นั้น ก็ต้องมีอาชีพหรือธุรกิจมารองรับด้วย และจะดีไม่น้อยถ้าได้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แรงงานในชุมชน ตลอดจนสิ่งของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างธุรกิจน้ำดี ที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง “ฟางไทย” กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากเศษฟางข้าว คือหนึ่งในตัวอย่างนั้น


 
     ทุกวันนี้มีหนุ่มสาวและผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดอยากกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวทำธุรกิจอยู่ที่บ้านเกิด อาจเพราะความผูกพันกับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส และไม่อยากแข่งขันกับคนในเมือง แต่ทว่าการจะกลับไปได้อย่างสวยงามและให้เกิดการยอมรับได้นั้น ต้องผ่านบทพิสูจน์หลายบทด้วยกัน





     เหมือนเช่นชีวิตของ “จารุวรรณ คำเมือง” หญิงสาวชาวจังหวัดลำปาง ที่คิดอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด โดยเริ่มต้นทำธุรกิจจากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน จนสามารถกลายเป็นผู้ผลิตกระดาษจากเศษวัสดุธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ และส่งออกไปขายยังหลายประเทศทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Fang Thai Factory” ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงหนึ่งเดียวในไทย หรือในโลก ณ ขณะนี้ก็ว่าได้ 


 
  • เริ่มจากศูนย์ ต่อยอดจากเศษ (ฟาง)

     จากชีวิตที่ต้องจากบ้านมาร่ำเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด จารุวรรณเล่าให้ฟังว่า เธอและแฟนหนุ่มจึงคิดอยากหาอาชีพมารองรับ ด้วยความที่เป็นเด็กรุ่นใหม่หากจะให้กลับไปทำไร่ทำนาเหมือนคนรุ่นก่อน ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถนัดนัก เธอจึงลองมองหาสิ่งที่พอจะทำได้ จนมาพบกับเศษฟางข้าวที่เหลือจากการทำนาในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยปกติหากไม่เก็บเอาไปขายเพื่อปลูกผัก ให้วัวกิน ก็จะถูกเผาทำลาย กลายเป็นปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมตามมา จึงคิดอยากนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยนึกไปถึงกระดาษ ซึ่งตอนเริ่มต้นเธอว่า ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย อาศัยแค่เรียนจากในอินเตอร์เน็ตและไปดูงานจากแหล่งผลิตกระดาษต่างๆ เท่านั้น จนทำให้ค้นพบว่าต้นทุนหลักของการทำกระดาษ ก็คือ สารเคมีและสีย้อม


     “ตอนนั้นที่ตัดสินใจเริ่มธุรกิจ เราไม่มีเงินทุนเลย พอลองไปศึกษาดูงานคนที่เขาทำกระดาษสากัน ไปถามเขาว่าต้นทุนหลักคืออะไรบ้าง เขาตอบว่าต้นทุนหลักมาจากสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตและสีที่นำมาย้อม กิโลกรัมหนึ่งตก 1,000 – 2,000 บาท ซึ่งเรามองว่าถ้าต้นทุนสูงขนาดนั้นเราทำไม่ได้แน่นอน อีกข้อที่สำคัญคือ ในเมื่อเราคิดอยากช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม คือลดการเผาฟางลง แต่หากเรากลับมาใช้สารเคมีในการผลิตอีกก็เท่ากับว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ช่วยอะไรโลกเลย จากสองข้อนี้เราจึงคิดกันว่าจะไม่ใช้สารเคมีในการผลิต พอดีแฟนเรียนมาทางด้านวิศวอุตสาหการเลยทดลองทำเครื่องมือมาใช้ทดแทนสารเคมี ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งเดียวและระยะยาว ไม่เหมือนกับใช้สารเคมีที่ต้องจ่ายใหม่ทุกครั้งที่มีการผลิต จริงๆ แล้วงานวิจัยที่นำฟางข้าวมาผลิตกระดาษนั้นมีอยู่หลายชิ้น แต่ส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีในการผลิตอยู่ แต่ของเราคือกระดาษจากฟางข้าวบริสุทธิ์ที่ทำมาจากธรรมชาติล้วนๆ เลย”


     ด้วยความที่ไม่ได้มีเงินทุนมากมายนัก การทำธุรกิจในช่วงแรกของจารุวรรณจึงเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่าอะไรทำได้ก็ทำ เพื่อหาเงินมาจุนเจือธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตขึ้นมาได้


     “ช่วงแรกยอมรับเลยว่าลำบากมาก เรียกว่าต้องกัดฟันยอมสู้กันเลยทีเดียว เพราะเราไม่ได้มีรายได้จากส่วนอื่นเลย อะไรที่ทำแล้วได้เงินเพื่อเอามาใช้ในธุรกิจเราทำหมดทุกอย่าง พอดีเรียนจบมาด้านภาษาอังกฤษธุรกิจ เลยไปรับจ้างสอนให้กับโรงเรียนพระในหมู่บ้าน ได้เงินมาเดือนละ 5,000 บาท ก็เอามาจ้างน้องคนหนึ่งให้คอยทำกระดาษให้วันละ 10 -20  แผ่นบ้าง ทำเก็บไว้เวลามีงานก็เอาไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ออกมาขาย เราใช้วิธีแบบนี้มาตลอด ซึ่งช่วงแรกโดนดูถูกเยอะมาก บางคนว่าจะกลับมาอยู่บ้านนอกทำไม อุตส่าห์ไปเรียนถึงกรุงเทพฯ แล้ว กลับมาทำงานลำบากทำไม ทำไมไม่ทำอยู่ห้องแอร์สบายๆ บางคนรู้ว่าเราอยากทำธุรกิจ ก็พูดว่าเป็นไปไม่ได้หรอก คนที่จะทำธุรกิจได้ คือ คนที่มีเงินแล้วรวยแล้ว แต่เราไม่มีจะทำได้ยังไง ครั้งแรกที่ได้ยินเรียกว่าจุกน้ำตาแทบตกเลย แต่เราก็ใช้คำพูดเหล่านั้นแหละเพื่อเป็นแรงผลักดันตัวเอง เพื่อวันหนึ่งจะได้ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันผิด และจะได้ไม่ไปใช้คำพูดแบบนี้กับใครอีก” เธอเล่า


     โดยในช่วง 1 – 2 ปีแรกนั้น สินค้าที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าแฮนด์เมด อาทิ โคมไฟ พวงกุญแจ ของที่ระลึก เนื่องจากกระดาษที่ผลิตได้ยังมีลักษณะค่อนข้างหยาบ ยังไม่เหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นแพ็กเกจจิ้งหรือใช้เขียนใช้พิมพ์ได้


     กระทั่ง 3  ปีผ่านไปเมื่อพัฒนากระดาษให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น มีความเรียบและละเอียดมากยิ่งขึ้น จึงเริ่มหันมาผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นวัสดุที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ทำให้เริ่มจับความต้องการของลูกค้าได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสสู่ตลาดต่างประเทศด้วย



 
  • ปั้นธุรกิจโตได้ด้วยคำถาม
     โดยจารุวรรณเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่เธอได้ไปออกงานแสดงสินค้านั้น นอกจากจะเป็นการเผยแพร่สินค้าให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ได้รับโจทย์ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจไปได้อีกด้วย 


     “สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในช่วงตลอด 3 ปีแรก ที่เราได้ไปออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ก็คือ คำถาม และKeyword  ต่างๆ จากลูกค้า โจทย์ที่เขาถามหรือให้เรามาเหมือนเป็นครูให้เรากลับมาคิด ประเมินถึงความเป็นไปได้ และทดลองทำ เคยมีครั้งหนึ่งจำได้เลยตอนออกบูธแรกๆ เราไม่รู้จะทำสินค้าอะไรดี เพื่อไปวางขาย เลยลองเอากระดาษมาวาดรูปพระธาตุ รูปวัด และรูปต่างๆ แล้วไปซื้อพวงกุญแจที่สมัยก่อนจะใส่รูปดารา และมาแกะออกเอากระดาษของเราใส่ลงไปแทน คนเดินผ่านมาเห็นนึกว่าแจกฟรี ก็เดินหยิบกันใหญ่ จึงทำให้เรากลับมาคิดว่าจะต้องทำอะไรที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระดาษของเราได้มากกว่านี้”




     ซึ่งกว่าจะทำให้ผู้คนเข้าใจและยอมรับในตัวสินค้าได้ จารุวรรณเล่าว่า มีอยู่หลายครั้งทีเดียวที่เธอต้องลงมือทำให้เห็นด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ


     “ในช่วงแรกที่เราจะทดลองทำแพ็กเกจจิ้ง ไม่มีโรงงานไหนกล้าเอาไปพิมพ์ผลิตให้เลย เพราะถ้าพูดถึงกระดาษจากฟางข้าว เขาก็จะนึกภาพไปถึงกระดาษสา และคิดว่ามันต้องไม่สามารถผลิตได้แน่ๆ และอาจทำให้เครื่องเขาเสียหายได้ เราก็เลยทดลองทำด้วยตัวเองให้เห็นเลย ลงทุนซื้อเครื่องปริ้นเตอร์มาเอาแบบบ้านๆ ธรรมดานี่แหละ ใส่กระดาษและลองปริ้นออกมา ปรากฏว่าสามารถทำได้ เราก็เลยเอากระดาษแผ่นนี้ไปให้ซัพพลายเออร์ดู เมื่อเขาเห็นว่าเราเองยังทำได้ ความกลัวขความกังวลต่างๆ ก็จะหายไปและกล้าที่จะทดลองผลิตให้


     “โดยหลังจากช่วงที่เราเริ่มผลิตภาชนะและบรรจุภัณฑ์ได้แล้ว ก็ได้รับคำแนะนำจากพี่คนหนึ่งว่าให้ลองประกวดโครงการ Unido ซึ่งเป็นโครงการขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ผลปรากฏออกมาว่าเราได้รางวัลที่ 2 ของประเทศ ทำให้มีสิทธิได้ไปแข่งต่อที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา จนในที่สุดก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมา พอกลับมาก็ทำให้เป็นที่รู้จักในองค์กรต่างๆ มากขึ้น รวมถึงโอกาสดีๆ ที่เข้ามา อาทิ การติดต่อเข้ามาของ TCDC เพื่อนำตัวอย่างวัสดุของเราไปจัดแสดงวางอยู่ในห้องสมุด 13 เมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งนับเป็นช่องทางการตลาดที่ดีกับแบรนด์มากทีเดียว หรือแม้แต่ล่าสุดที่ได้เข้าประกวดในโครงการ SEED Low Carbon Award 2019 และได้รับรางวัลชนะเลิศด้านบรรจุภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ก็ทำให้ชื่อเสียงของเราเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นในสายตาชาวโลก”



 
  • เศรษฐกิจแย่ แต่รักษ์โลกยังบูม
      ในขณะที่โลกกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเศรษฐกิจทรงๆ ทรุดๆ จารุวรรณเล่าจากประสบการณ์ที่เธอได้สัมผัสมากับตัวเองว่า ในตลาดสินค้ารักษ์โลกกลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยดูจากยอดของออร์เดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา จนทำให้ไม่สามารถผลิตได้ทันตามที่ต้องการ


     “เศรษฐกิจโลกอาจจะแย่ แต่สำหรับสินค้ารักษ์โลกแล้วกลับบูมขึ้นนะ อาจเพราะคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย ซึ่งทุกวันนี้สินค้าที่เราขายเป็นหลัก คือ เยื้อกระดาษ เพื่อส่งป้อนให้โรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกเลยที่อยากทำกระดาษ เพราะเรามองว่ามันสามารถสร้างให้เกิดอิมแพคสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในปริมาณมาก โดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังต่างประเทศมากกว่าขายในเมืองไทย กำลังการผลิตของเราทุกวันนี้อยู่ที่ 1 ตันต่อวัน แต่เรากำลังจะพัฒนาเพิ่มขึ้นให้เป็น 20 ตันต่อวันได้เร็วๆ นี้ เพราะมีความต้องการอยู่สูงมากในตลาดโลก ปัญหาตอนนี้ คือ ไม่สามารถผลิตให้ทันได้มากกว่า เพราะขาดกำลังการผลิตและเงินทุนในการต่อยอด”


     ณ ปัจจุบันฟางข้าวที่นำมาใช้ในกิจการของฟางไทย แฟคตอรี่  ได้แก่ หมู่บ้านในตำบลหัวเสือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจ และบางแห่งในตำบลแม่ทะ โดยนอกจากจะรับซื้อฟางข้าวจากในพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว อนาคตยังได้คิดรูปแบบโมเดลธนาคารฟางข้าวขึ้นมาด้วย เพื่อกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้เป็นจุดรวบรวมฟางข้าวจากชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จากนั้นทางบริษัทจะติดต่อเข้ามารับซื้อจากธนาคารอีกต่อหนึ่ง เงินก็จะหมุนเวียนกลับคืนมาสู่ชาวบ้าน เรียกว่าวินๆ ด้วยกันทุกคน
 

     “เรามองว่าสิ่งนี้น่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน การออกกฎข้อห้ามว่าช่วงเดือนนี้ห้ามเผานะไม่งั้นโดนจับ อาจทำให้ชาวบ้านกลัวมากกว่าที่จะเลิกทำเพราะจิตสำนึก และสุดท้ายเขาก็จะลักลอบเผาในช่วงอื่นอยู่ดี แต่หากเราชี้ให้เขาเห็นภาพได้ว่า ทำไมเขาจึงไม่ควรเผา เช่น ถ้าหยุดเผาเขาจะมีรายได้จากการขายฟางนะ ซึ่งไมใช่แค่สร้างกับชุมชนหรือชาวนา แต่พอเราส่งออก ก็สร้างรายได้กับประเทศชาติได้ด้วย สุดท้ายพอบริษัทจ่ายภาษี ภาษีก็กลับคืนไปสู่ชุมชนเหมือนเดิม ซึ่งเรามองว่า นี่คือ การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” เธอย้ำ




     ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น จารุวรรณและฟางไทย แฟคตอรี่ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น นั้นมีอยู่จริง ขอเพียงไม่หยุดคิดและพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีหนทางเดินไปต่อได้


     “สิ่งที่เราพยายามจะทำมาตลอด วันนี้เรียกได้ว่าสำเร็จไปได้ระดับหนึ่งแล้ว จากเริ่มแรกเรามีคนงานเพียงแค่ 6 คน ทำกันอยู่หลังบ้าน แต่ตอนนี้กำลังสร้างโรงงานผลิตเล็กๆ ขึ้นมา มีการจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 25 คน ช่วยสร้างงานให้กับชุมชนได้มากขึ้น ลดการเผาฟางลงได้จำนวนหนึ่ง โดยเรามองว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาและมีค่ามากที่สุด ก็คือ ได้สร้างคน การที่เรานำงานตรงนี้เข้ามานอกจากช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังช่วยให้เขาได้เพิ่มทักษะในชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงแนวคิดและทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้น จากที่ลองสังเกตด้วยตัวเอง แรกๆ ให้ทำอะไร เขาจะไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็น เดี๋ยวจะลองดู ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ติดตัวเขาไปตลอดจนถึงนำไปถ่ายทอดสู่ลูกหลานที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาใหม่ได้ด้วย”


     และสุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใดคือ เธอได้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้อย่างมีความสุข และทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
 
 

     สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งมาแชร์กับพวกเราได้ที่อีเมล sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​