ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ! PAD.Banana Leaf Product เสกใบตองแห้งไร้ค่าให้เป็นสินค้ารักษ์โลก

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา
 
 
 
 
 
Main Idea
 
 
  • ใบตองแห้ง ดูเหมือนจะเป็นส่วนที่ด้อยค่าที่สุดในต้นกล้วยเมื่อเทียบกับกาบกล้วย ใบตองสด หัวปลี ไปจนถึงผลกล้วย
 
  • แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีนักออกแบบสาวชาวอุตรดิตถ์ได้หยิบเอาวัสดุไร้ค่าอย่างใบตองแห้งมาแปลงโฉมเสียใหม่ ในที่สุดก็กลายเป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้หลายเท่าตัว
 

 
 
      ‘PAD.Banana Leaf Product’ คือแบรนด์ที่อยากจะชูเสน่ห์ของใบตองให้ชาวโลกได้รับรู้ ก่อตั้งโดย พัชรียา แฟงอ๊อด และ ชนากานต์  มูลเมือง เธอได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นต้นกล้วยในสวน ซึ่งส่วนต่างๆ ของต้นกล้วยถูกนำไปใช้งานได้หมด ยกเว้นแต่ “ใบตองแห้ง”








      “เราหยิบใบตองแห้งมาทำให้มีชีวิตอีกครั้ง โดยจะเพิ่มความคงทน แข็งแรงและพัฒนาออกมาให้กลายเป็นสินค้าใหม่ เป็นของใช้ ของตกแต่งบ้าน เริ่มจากใบตองที่บ้านที่ห้อยลงมา ส่วนที่แห้งจากการตากแดด ถูกแดดเผาจนแห้ง พอเราจับแล้วมันกรอบ แตกหักไป เราก็พยายามที่จะทำให้ใบตองกลายเป็นแมททีเรียลชิ้นหนึ่งที่แข็งแรง เลยทำการทดลอง คิดตัวผสานระหว่างผิวใบตองกับวัสดุที่เป็นผ้าเพื่อให้สามารถตัดเย็บได้ จากนั้นก็ทำเป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์ตอนปี 3 ทีนี้เราอยากรู้ว่าแมททีเรียลของเรามีความแข็งแรงมากแค่ไหน เลยส่งไปประกวดงาน Thailand Green Design Award 2016” พัชรียา เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็น PAD.Banana Leaf Product





     ด้วยความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้งานของเธอคว้ารางวัลที่ 2 ในงาน Thailand Green Design Award 2016 มาครอบครองได้สำเร็จ และเมื่อเวลาผ่านไปจนพัชรียาเรียนจบ จึงได้เริ่มต้นแบรนด์อย่างจริงจังร่วมกับชนากานต์


     สำหรับสินค้าของ PAD.Banana Leaf Product ที่สร้างสรรค์จากใบตองแห้ง มีทั้ง สมุด กระเป๋าหลายไซส์ ซองใส่การ์ด ที่ใส่โทรศัพท์ไปจนถึงของแต่งบ้านอย่างหมอนอิง โคมไฟ แจกัน เป็นต้น ซึ่งเสน่ห์ของใบตองแห้งนั้นมีความแตกต่างจากวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ทั้งเรื่องของกลิ่น ผิวสัมผัสไปจนถึงลวดลายที่ยากจะเลียนแบบ





     “เสน่ห์ของใบตอง มีทั้งเรื่องของสีสันและเทกเจอร์ เพราะกลิ่นของใบตองพอเรานำไปรีดจะมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว จะมีน้ำมันระเหย กลิ่นจะหอมแบบธรรมชาติเหมือนเราทำขนม ส่วนเฉดสีและลวดลายของใบตองที่เราได้แต่ละใบจะไม่เหมือนกัน นี่คือเสน่ห์ที่ไม่สามารถเอาสารเคมีมาเจือปนได้หรือเราจะตั้งใจให้เหมือนกันไม่ได้เลย” เธอเล่า








     มากกว่าเรื่องของวัสดุจากธรรมชาติที่ทางแบรนด์พยายามผลักดันแล้ว อีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านจนกลายเป็นธุรกิจที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน


     “ชุมชนมีส่วนร่วมเรื่องของวัสดุ ซึ่งทางเราจะรับซื้อจากคนในชุมชน แต่ละบ้าน ใครมีใบตองที่แตกต่างกันเราก็จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดปกติ โดยเราจะรับซื้อทั้งใบตองแห้งและใบตองสด เพราะอย่างใบตองสดบางใบที่แตก เขาก็ขายไม่ได้แต่เรารับซื้อ เพราะเราเห็นว่าทุกใบสามารถนำมาทำงานตรงนี้ได้หมด ไม่ต้องคัดใบสวยๆ ใบตองในสวนสามารถขายได้ทุกใบ เป็นการช่วยสร้างรายได้ในชุมชน ทำให้เขาขายได้มีมูลค่ามากขึ้น” เธอพูดถึงการเข้าไปมีบทบาทกับชุมชน








     ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ได้ขยับขึ้นจากเดิมที่ทำสินค้าขายในกลุ่มของใช้ ของฝากสำหรับคนทั่วไป แต่ตอนนี้มีกลุ่มลูกค้าโรงแรม รวมถึงห้างสรรพสินค้าที่เลือก PAD.Banana Leaf Product เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา


     “ตอนนี้เรามีวางจำหน่ายหน้าร้านมากขึ้น เช่น แกลเลอรี่ของโรงแรมบันยันทรี 3 สาขา มีที่ไอคอนสยาม ทำสินค้าให้เป็นของใช้ในโรงแรมรายาเฮอริเทจ เรารู้สึกว่าตอนนี้ทำการตลาดหลากหลายกลุ่มมากขึ้น เมื่อก่อนจะเป็นลูกค้าซื้อใช้เองหรือซื้อเป็นของขวัญ เรามองว่าเราประสบความสำเร็จในการใช้วัสดุพอสมควรในแง่ที่ว่าแม้แต่โรงแรมใหญ่ๆ ยังเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ทำให้เราสามารถต่อยอดได้อีกเยอะ”


     ด้วยกระแสรักษ์โลกในปัจจุบันเป็นโอกาสสำคัญสำหรับแบรนด์ที่เลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่าง PAD.Banana Leaf Product เพราะผู้บริโภคยุคนี้พยายามมองหาแบรนด์จากธรรมชาติมากกว่าพลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ


     “ตอนที่เราเริ่มคิดจะทำเรื่องวัสดุธรรมชาติ โดยเราได้ศึกษาเทรนด์การเลือกใช้ของแต่งบ้านจากเวทีโลก ในแต่ละปีจะมีการประกาศเทรนด์ เหมือนแฟชั่นเลย ทำให้ได้ลองดูทิศทางก่อนที่จะทำ เรามองเห็นทิศทาง 5 ปีย้อนหลัง จะเริ่มมีการใช้ของเลียนแบบธรรมชาติแต่ยังเป็นพลาสติกอยู่ ถัดมาก็เริ่มเป็นวัสดุธรรมชาติจริงๆ มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าปัจจุบันไม่ต้องเลียนแบบธรรมชาติอีกแล้ว แต่มีการใช้ธรรมชาติเข้ามาในการทำสินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการมองว่าตอนนี้ธุรกิจมีการพัฒนามากขึ้น หนีจากปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น การที่คนให้ความสนใจและโฟกัสเรื่องวัสดุธรรมชาติ ทั้งคนคิดค้นและคนที่เปิดใจใช้งาน มองว่าปัญหาต่างๆ จะถูกแก้ไขและพัฒนาขึ้นได้” เธอเล่าในมิติของสิ่งแวดล้อม





     พัชรียาปิดท้ายว่า ในอนาคตอยากที่จะพัฒนาใบตองให้กลายเป็นสินค้าในรูปแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น อาทิ การทำให้ใบตองกลายเป็นแมททีเรียลแผ่นใหญ่รองรับการใช้งานที่มีความหลากหลายเพื่อขยายขีดจำกัดของวัสดุ เนื่องจากปัจจุบันทางแบรนด์ยังมีการนำใบตองมาใช้งานได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนใบตองที่มีมาก จึงเกิดความไม่สมดุล ทว่า ความเป็นงานคราฟท์ของการผลิตยังคงถูกดำเนินต่อไปเพื่อรักษาหัวใจสำคัญของแบรนด์เอาไว้ 
 

     เพียงใช้พลังความคิดและหัวใจที่รักและห่วงใยโลก จากใบตองแห้งหลังบ้านก็กลายเป็นสินค้าดีไซน์เก๋ที่เพิ่มมูลค่าได้อีกหลายเท่าตัว ที่สำคัญยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 


สำหรับใครที่มีไอเดียรักษ์โลกดีๆ สามารถส่งเมลมาแบ่งปันกับพวกเราได้ที่ sme_thailand@yahoo.com  โดยวงเล็บมาด้วยว่า (แชร์ไอเดียรักษ์โลก) เพื่อร่วมในพันธกิจ SME Save The World Project ไปพร้อมกับพวกเราทุกคน
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​