กะเทาะเปลือก “บ้านถั่วลิสง” Smart Farmer ผู้แปรรูปถั่วราคาหลักสิบให้เป็นหลักร้อย

TEXT & PHOTO : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
 
  • “บ้านถั่วลิสง” ร้านขายของฝากแห่งใหม่ในจังหวัดน่าน ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากถั่วลิสงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ สู่ปลายน้ำได้สำเร็จ
 
  • การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจบ้าง ปัญหาอุปสรรคจากปรับเปลี่ยนของคนต้นน้ำ สู่ปลายน้ำมีอะไร ไปติดตามพร้อมๆ กัน




      ถ้าพูดถึงสายงานการทำธุรกิจหนึ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ หน่วยธุรกิจที่ดูจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้มากที่สุด ก็คือ ธุรกิจปลายน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจกาแฟ จากการเพาะปลูกในภาคเกษตร ที่ขายได้กิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่เมื่อถูกส่งต่อมายังโรงคั่ว ต่อไปจนถึงคาเฟ่ร้านกาแฟ ราคาของกาแฟในถ้วยที่เสิร์ฟให้กับลูกค้ากับเมล็ดกาแฟที่เก็บจากยอดดอยค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมาก






       “บ้านถั่วลิสง” ผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากถั่วลิสงและพืชเกษตรต่างๆ และร้านขายของฝากแห่งใหม่ในจังหวัดน่าน คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่สามารถยกระดับพัฒนาธุรกิจของตนเอง จากการเป็นพ่อค้าขายถั่วและวัตถุดิบการเกษตรอื่นๆ แบบซื้อมาขายไป สู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากถั่วลิสง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าจากขายได้กิโลกรัมละไม่กี่สิบบาท ให้กลายเป็นหลายร้อยขึ้นมาได้
 


       เปลี่ยนวิกฤต ให้เป็นโอกาส


      “เราเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับซื้อและเป็นโรงงานผลิตถั่วลิสงต้มแห้ง เพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าภาคกลางที่จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อเริ่มรู้สึกว่าได้ราคาที่ไม่เป็นธรรม จึงหันมาจัดตั้ง ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัดซินกวงน่าน’ ขึ้น โดยเป็นโรงงานผลิตถั่วลิสงต้มตากแห้งเพียงแห่งเดียวของจังหวัดน่านและภาคเหนือของไทย”





      อารีย์ เพ็ชรรัตน์
หนึ่งในผู้บริหารบริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด และผู้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจดังกล่าวเริ่มต้นเล่าที่มาของธุรกิจให้ฟัง เธอบอกว่า  หลังเปิดโรงงาน มีตัวแทนจากภาคใต้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อถั่วไปส่งขายให้กับประเทศมาเลเซีย จึงได้เริ่มส่งออกถั่วลิสงนับแต่นั้นเป็นต้นมา  กระทั่งได้เจอเข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้กิจการได้รับผลกระทบอย่างหนัก


      “ช่วงนั้นสามี (วุฒิชัย แห่วตระกูลปัญญา) ซึ่งเป็นลูกชายคนโตและลูกคนอื่นๆ ถูกเรียกตัวกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้าน เพื่อแก้ไขวิกฤต ทำให้เราได้เริ่มเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การบริหารจัดการธุรกิจ การติดต่อกับลูกค้าต่างประเทศ ดูงบการเงินต่างๆ ติดต่อประนีประนอมกับธนาคาร จนทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้ จากครั้งนั้นทำให้เราเกิดแนวคิดว่า การค้าขายกับต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจเกิดความเสี่ยง จึงเริ่มหันมามองตลาดในประเทศมากขึ้น ด้วยการคิดแปรรูปสินค้าจากถั่วลิสงขึ้นมา” เธอเล่า


       และจากแนวคิดนั้นเอง ที่ทำให้ “บ้านถั่วลิสง” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2548 เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้าจากถั่วลิสง รวมถึงสินค้าการเกษตรต่างๆ โดยอารีย์มองว่าการแปรรูปสินค้าจากถั่วลิสงขายมักมีเจ้าใหญ่ๆ อยู่แล้วในตลาด ดังนั้นการจะทำให้สินค้าโดดเด่นฉีกตัวเองจากคู่แข่งได้ จำต้องมีจุดยืน  มีเรื่องราว และมีความเป็นมืออาชีพ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ออกมาหลากหลาย เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นตัวจริง โดยตั้งสโลแกนขึ้นมาว่า “บ้านถั่วลิสง เรื่องถั่ว...เราถนัด”






      “ในช่วงแรกการผลิตสินค้าแปรรูปของเราเริ่มต้นจากถั่วไม่กี่ตัว เช่น ถั่วคั่วเกลือ ถั่วกรอบแก้ว ตอนแรกก็ใส่ถุงพลาสติกใสธรรมดา  ติดสติกเกอร์เล็กๆ ขาย ยอดขายปีหนึ่งอยู่ที่ 3–4 แสนบาท จนได้มีโอกาสมาเจอผู้รู้จากการได้เข้าไปอบรมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ NEC ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และศึกษาดูงานกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เขาแนะนำว่าให้ลองปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ เราจึงมีการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งทำให้ขายดีมากขึ้น โดยในตอนแรกใช้ชื่อว่า “นันทบุรี” ซึ่งเป็นชื่อเก่าโบราณของจังหวัดน่าน และมีการทำตลาดโดยส่งออกขายไปยังนอกจังหวัดด้วย แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับดีเท่าที่ควร เพราะแสดงถึงความเป็นจังหวัดน่านเฉพาะเจาะจงเกินไป  ภายหลังเราจึงมีการเพิ่มแบรนด์ขึ้นมาใหม่ชื่อ บ้านถั่วลิสง เพื่อให้สื่อสารได้ง่ายและมีความเป็นสากลมากขึ้น” เธอเล่า
 





       สร้างจุดยืน สร้างพื้นที่ขายของตัวเอง



       เหมือนทุกอย่างจะสามารถแก้ไขผ่านไปได้ด้วยดี แต่การส่งออกไปขายยังนอกจังหวัดหรือฝากขายทำให้เกิดค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ซึ่งแทบจะไม่คุ้มกับที่ลงมือทำไป อารีย์และสามีรวมถึงผู้บริหารคนอื่นๆ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างแลนด์มาร์คเป็นร้านของฝากขึ้นมาตรงพื้นที่ด้านหน้าของโรงงานผลิต เพื่อให้เป็นสินค้าของฝากจังหวัดน่าน และดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ให้มาอุดหนุนกันมากขึ้น






      “เราพบว่าการฝากขายกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้ต้องโดนหักค่าจีพีถึง 40–50 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ทำให้เหลือกำไรอยู่ไม่เท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ คิดว่าหากเราเอาส่วนต่างที่ได้นี้กลับคืนมาให้พนักงานเรา รวมถึงนำไปปรับปรุงกิจการก็น่าจะดีกว่ามาก บังเอิญได้เข้าร่วมกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้นำเงินมาสร้างร้านของฝากบ้านถั่วลิสงขึ้นที่ด้านหน้าโรงงานผลิต เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากข้างนอกเข้ามาซื้อสินค้าในบ้านเราเหมือนกับที่โอทอปของญี่ปุ่นเขาทำกัน” เธอบอกที่มา


      โดยสินค้าที่มีขายในบ้านถั่วลิสง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิตจากโรงงานของพวกเขากว่า 20 ชนิด นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรแปรรูปจากผู้ประกอบการคนอื่นในจังหวัดน่านอีกกว่า 52 รายด้วยกัน ที่นี่จึงเป็นเหมือนร้านของฝากจังหวัดน่านที่รวบรวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้แวะเวียนเข้ามาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพกลับไป
ถึงแม้จะมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากถั่วลิสงผลิตออกมาจำนวนมาก แต่ในการพัฒนาสินค้าขึ้นมาแต่ละครั้ง อารีย์เล่าว่า ต้องนึกถึงหลักความเป็นไปได้ด้วย





      “แม้จะพยายามทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมามากมายเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงด้านถั่ว แต่การคิดสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาเราก็ต้องมาดูด้วยว่าจะกระทบกับไลน์การผลิตหลักของเราหรือไม่ หรือทำให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้นหรือเปล่า ซึ่งไอเดียต่างๆ เราก็ได้มาจากลูกค้าบ้าง คนที่เข้ามาเยี่ยมชมบ้าง ในการทดลองทำเราอาจทำ 10 อย่าง แต่อาจเหลือเป็นผลิตภัณฑ์จริงออกมาเพียง 2-3 อย่างก็ได้ เพราะเราต้องดูตามหลักความเหมาะสมและความเป็นจริงด้วยว่าสามารถผลิตขึ้นมาได้หรือไม่และต้องได้มากกว่าเสีย หัวใจสำคัญอีกข้อ คือ พนักงาน ที่ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันคิดช่วยกันผลิตขึ้นมา ทำให้เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาได้หลากหลาย” เธอบอก


      ปัจจุบันนอกจากการจำหน่ายที่ร้าน ฝากขายในร้านค้าอื่นๆ ในจังหวัดน่าน และขายผ่านออนไลน์แล้ว สินค้าจากบ้านถั่วลิสงยังได้รับคัดเลือกให้เป็นโอทอปทดลองวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น 5 สาขาในจังหวัดน่านอีกด้วย





      อารีย์บอกว่า แม้ปัจจุบันธุรกิจแปรรูปสินค้าจากถั่วของบ้านถั่วลิสง จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักของครอบครัวที่ยังเน้นการส่งออกเป็นหลัก แต่กิจการดังกล่าวก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคิดว่าต่อไปหากสามารถขยายตลาดให้ได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้อีกหลายเท่าตัว


      “จริงอยู่ที่ทุกวันนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตที่ได้เรายังเน้นส่งออกเป็นหลัก เพราะเป็น Volume ที่ใหญ่มีมูลค่ามากกว่า แต่ 20 เปอร์เซ็นต์ที่เราแบ่งนำมาผลิตเป็นสินค้าแปรรูปนั้น เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้หลายเท่าตัว อย่างจากปกติถั่วสดจะขายได้กิโลกรัมละกว่า 70 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปเราสามารถขายเพิ่มขึ้นได้มากถึงกิโลกรัมละ 200 บาทเลยทีเดียว ซึ่งเรามองว่าเป็นแนวทางในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ และอนาคตเชื่อว่าน่าจะขยายและเติบโตได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก”





 

      และนี่คือเรื่องราวของบ้านถั่วลิสง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถั่วที่สามารถต่อยอดธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบของตัวเองได้  เป็นอีกตัวอย่างและแนวทางที่ทำให้สามารถพัฒนาวงการเกษตรกรรมของไทย จากผู้ผลิตที่อยู่ต้นน้ำเพียงอย่างเดียวให้กลายมาเป็นผู้ผลิตกลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสามารถสร้างมูลเพิ่ม ที่พลิกธุรกิจให้ก้าวไกลไปกว่าเดิมได้
 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​