ใจสู้รึเปล่า ไหวไหมบอกมา? 4 วิธีเอาชนะวิกฤต COVID-19 ฉบับ SME

TEXT : พิมพ์ใจ พิมพิลา

 

 

Main Idea
 
  •  เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ซึ่งบางธุรกิจขาดทุนจนถึงขั้นต้องปิดกิจการ แต่ธุรกิจบางอย่างกลับรับมือได้อย่างรวดเร็ว
 
  • อีกทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีใครทราบว่าจะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่และเศรษฐกิจจะกลับมาดีเหมือนเดิมหรือไม่เพราะในหลายๆ ประเทศได้มีสัญญาณบ่งบอกถึงการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ประกอบการ จึงต้องหากลยุทธ์และวิธีรับมืออย่างชาญฉลาดเพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งนี้
 




     สภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจเกิดความหวาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพิ่งก่อตั้งหรือธุรกิจดั้งเดิม จากสถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศในขณะนี้ บ่งบอกว่าภาวะการถดถอยทั่วโลกจะผลักดันให้อัตราการล้มละลายและการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่า รวมถึงการลดลงของจำนวนธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย


     ถึงปัญหาจะมีมากมาย แต่ทุกคนก็ต้องมีความหวังเพราะว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอาจนำไปสู่การค้นพบใหม่ที่นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ยังอาจนำไปสู่ความสำเร็จรูปแบบใหม่ของธุรกิจคุณในอนาคตก็ว่าได้ ไม่ว่าจะด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและธุรกิจในรูปแบบการซื้อขายบนออนไลน์ เราจึงอยากนำเสนอ 4 วิธีการปรับตัวอย่างไรในวิกฤตการณ์ทางการเงินหรือภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกในครั้งนี้ มาแนะนำผู้ประกอบการ SME  ให้ได้ลองนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตกัน
 



 
  • หนึ่งกลยุทธ์ใช้ไม่ได้กับทุกธุรกิจ
 
     ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียมกัน เพราะธุรกิจบางแห่งประสบปัญหายอดขายตกต่ำ แต่ในขณะที่ธุรกิจอื่นกลับมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าแต่ละขนาดของธุรกิจก็ได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ธุรกิจขนาดเล็กไม่มีเงินทุนหรือทรัพยากรเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นกลยุทธ์ที่นำมาใช้กับธุรกิจจึงต้องมีการปรับใช้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าธุรกิจของคุณกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ คุณมีแผนรองรับอะไรบ้าง มีกำลังสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือเงินทุนที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นอาวุธในการต่อสู้ของคุณเพื่อเอาชนะนั่นเอง และที่สำคัญจงเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็น หาที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์และร่วมสร้างกลยุทธ์ใหม่ไปพร้อมกันดีกว่าสู้อยู่คนเดียว




 
  • จงเพิ่มความสามารถในการผลิตมากกว่าการลดต้นทุน
 
     จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อรายได้ลดลง จึงส่งผลให้หลายธุรกิจมีการปลดพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดต้นทุน โดยที่ไม่คำนึงปัจจัยความจำเป็นที่แท้จริงของธุรกิจ อย่างเช่นบางบริษัทก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด หรือเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีระบบระเบียบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาวะการถดถอยในอดีตที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ในการลดต้นทุนนั้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอนาคตข้างหน้า เพราะหลายๆ ครั้งที่ภาวะเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม ธุรกิจหลายธุรกิจมักจะสูญเสียประสิทธิภาพเดิมที่เคยมีและกว่าจะดิ้นรนเพื่อฟื้นความสามารถและกำลังในการผลิตก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งบางธุรกิจได้เสียไปแบบไม่ย้อนคืนเลยก็มี น่าจะดีมากกว่าที่คุณจะหันมาใส่ใจเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้นในเวลานี้ ไม่แน่คุณอาจได้ไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงโครงสร้างต้นทุนที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย




 
  • อย่าลงทุนเพิ่ม เพียงเพราะเห็นว่าต้นทุนถูก
 
     เชื่อว่าผู้ประกอบการบางท่านในตอนนี้กำลังสนใจวัตถุดิบ อุปกรณ์ สถานที่เช่าหรือพื้นที่เปล่าที่กำลังลดราคาในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนี้ แต่เราอยากให้คุณตั้งสติก่อน เพราะถึงแม้สินทรัพย์จะราคาถูกแต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการจะใช้จ่ายเงินไปกับตรงนี้เพียงเพราะเห็นว่าราคาถูก เพราะการซื้อขายที่เกิดขึ้นจะเป็นการระบายเงินสดหรือเงินทุนของคุณไปแบบเสียประโยชน์ หากคิดไตร่ตรองแล้วว่าไม่ได้มีความจำเป็นหรือเหมาะสมกับธุรกิจของเราจริงๆ ผู้ประกอบการจึงควรเก็บเงินตรงนั้นไว้ใช้กับการบริหารจัดการเมื่อเศรษฐกิจกลับมาจะดีกว่า เพื่ออัพเกรดตนเองในด้านต่างๆ อาทิ การลงทุนด้านเทคโนโลยี การเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองและพนักงานอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างให้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบธุรกิจที่เน้นอีคอมเมิร์ซเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมักจะปรับตัวและฝ่าฟันอุปสรรคได้เร็วกว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมเสมอ
 



 
  • การลงทุนด้าน R&D สามารถใช้ได้แต่ไม่ทั้งหมด

     การเลือกลงทุนด้านวิจัยและการพัฒนาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นความคิดที่ดีหากใช้อย่างชาญฉลาดและเหมาะสม แต่ถึงแม้การลงทุนนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดการเติบโตมากขึ้น แถมยังทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งก็ตาม แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง อย่างเช่นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ คุณอาจจะลงทุนงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาได้ในการสำรวจประเภทวัสดุและอุปกรณ์การผลิตใหม่ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนที่ถูกลงได้ แต่ทางตรงกันข้ามหากคุณเลือกที่จะวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุพรีเมียม อาจเป็นความคิดที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก เพราะจากสถานการณ์ที่ลูกค้าจะต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดก็คงจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาถูก หากแต่ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการและรักษาคุณภาพแบบดั้งเดิมไว้ได้ มากกว่าการเลือกซื้อวัสดุพรีเมียมแต่ราคาแพงอย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจึงต้องคิดให้ดีเสียก่อน
 




     เชื่อว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเจอในสภาวะเช่นนี้ค่อนข้างสาหัสและใช้ความอดทนอย่างมากกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่บางทีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ธุรกิจของเรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรในทางที่ดีขึ้นก็ได้ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาพักมีโอกาสในการสำรวจและปรับปรุงองค์กรให้ดียิ่งขึ้นซึ่งในอดีตที่ผ่านมาอาจไม่เคยมีเวลาเช่นนี้ และด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ประกอบการก็ควรใช้เวลาที่มีอยู่ไปพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเตรียมตัววางแผน เพื่อตั้งรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นมาได้อีกในอนาคตข้างหน้าไว้อย่างเข้มแข็ง และเติบโตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​