“เมธาวี อ่างทอง” นกฟีนิกซ์ที่ฟื้นธุรกิจได้ทุกวิกฤต

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
PHOTO : Black Sugar
 
 


 
Main Idea
 
  • ในภาวะวิกฤตมีหลายธุรกิจที่ต้องล้มลง “เมธาวี อ่างทอง” คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่เจอกับวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า ทว่าเธอลุกขึ้นมาใหม่ และแต่ละครั้งก็ได้เรียนรู้ข้อบกพร่องแล้วอุดช่องโหว่ไม่ให้ตัวเองต้องก้าวพลาดซ้ำในจุดเดิม
 
  • การลุกขึ้นใหม่ไม่จำเป็นต้องเดินไปในเส้นทางเดิม แต่ทางเส้นใหม่อาจเป็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้ และในวิกฤตคือโอกาสให้ธุรกิจได้เตรียมความพร้อมสำหรับเร่งเครื่องได้ในวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

___________________________________________________________________________________________
 
 

     ก่อนจะมาเป็น “Black Sugar” เสื้อผ้าขาว-ดำแบรนด์ดังที่กำลังเผชิญกับวิกฤต Covid-19 เหมือนกับธุรกิจจำนวนมากในตอนนี้ หน้าร้านที่อยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำต้องปิดดำเนินการทั้งหมดตามนโยบายของภาครัฐ “เมธาวี อ่างทอง” เจ้าของแบรนด์และดีไซน์เนอร์ที่ได้ผ่านการทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือแม้แต่วิกฤตการสู้รบในตะวันออกกลางในปี 2555 ก็ส่งกระทบกับธุรกิจของเธอเต็มๆ แต่ละครั้งทำให้ธุรกิจสะดุดถึงขั้นล้มพับ แต่เธอก็มักจะกลับมาใหม่พร้อมธุรกิจใหม่อย่างสง่างามไม่ต่างจากนกฟีนิกซ์ เพราะเธอเก็บเกี่ยวและคว้าโอกาสจากวิกฤตแต่ละครั้งมาไว้ในมือได้สำเร็จ



 
  • เรียนรู้ท่ามกลางวิกฤต

     ธุรกิจแรกของเมธาวีคือทำเสื้อผ้าเด็กส่งออกต่างประเทศ ในตอนนั้นธุรกิจทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจนเธออาจหาญไปชิมลางธุรกิจอื่นดูบ้างโดยนำเงินไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สะสมไว้ในมือจำนวนมาก ทว่าเมื่อเจอวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  ทำให้เธอต้องล้มเป็นครั้งแรก


     “ตอนที่เข้าไปจับธุรกิจอสังหาฯ ก็ไปได้ดี ทำให้เราไม่ได้เตรียมตัวและทุ่มเงินลงทุนโดยไม่กันบางส่วนไว้ จัดระบบการเงินไม่ดี เมื่อเกิดวิกฤตปุ๊บเรากระจายขายอสังหาฯ ในมือไม่ทัน หมุนเงินไม่ทันจนโดนยึดทรัพย์ ทำให้ต้องพลาดแรงแบบหมดตัว” เธอเล่า
 

     วิกฤตครั้งนั้นเธอโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง แต่เพราะมั่นใจในฝีมือการออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก เธอจึงลุกขึ้นมาทำธุรกิจเดิมอีกครั้งด้วยจักรเย็บผ้าเพียงตัวเดียว แต่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาดใหม่ เลือกลูกค้าที่ต่างไปจากเดิม


     “เรายังคงอยู่ในธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าเด็กเหมือนเดิม ก่อนหน้านั้นเราจับกลุ่มลูกค้ารายไม่ใหญ่นักแต่กระจัดกระจายหลายรายจนทำให้บริหารจัดการยากและเหนื่อยมาก ครั้งนี้เราเลือกหาลูกค้ารายใหญ่และรับลูกค้าน้อยรายลงแต่เป็นออเดอร์ที่สั่งต่อเนื่องยาวนาน เราก็บริหารจัดการงานได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อเสียคือพอเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาลูกค้าที่มีอยู่ไม่กี่เจ้าในมือก็ทำให้เรากระทบหนัก”


     เหตุการณ์ที่ว่าคือช่วงสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ทำให้ตะวันออกกลางปั่นป่วนไปหมด ลูกค้าส่วนใหญ่ของธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าเด็กคือรัสเซียและยูเครน รวมถึงซาอุดิอาระเบียทำให้เจอผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไปเต็มๆ หนักถึงขั้นต้องเลิกกิจการที่ทำมากว่า 30 ปีไปเลยทีเดียว 


     “ตอนแรกเราทำสต็อกเก็บเพราะว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤตเราสั่งวัตถุดิบมาเป็นปี เราก็ผลิตจนกระทั่งสินค้าที่ผลิตเต็มคลังไปหมด เราเริ่มคิดว่าเมื่อไรสงครามจะยุติ เมื่อไรจะเข้าที่ เมื่อไรลูกค้าจะกลับมามีเงิน จนสุดท้ายไม่ไหวต้องบอกกับครอบครัวว่ามันไปต่อไม่ได้แล้ว ต้องตัดสินใจหยุดแล้ว” เธอบอกความหนักที่ต้องเผชิญในตอนนั้น



 
  • เส้นทางใหม่รออยู่ที่ปลายอุโมงค์

     “เราคิดใหม่ทำใหม่ กลับมาดูตัวเองว่าที่สุดแล้วเราชอบอะไร อยากทำอะไร คำตอบก็คือเราชอบเสื้อผ้า ชอบงานศิลปะ” เธอบอกที่มาของการพลิกวิกฤตครั้งใหม่


     โดยเมธาวีเรียนจบจากสถาบันการออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ สาขา Fashion Design และจบปริญญาตรี สาขาวิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงปริญญาโท หลักสูตรเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสิ่งทอและการจัดการสินค้าแฟชั่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวัย 55 ปี แต่ในช่วงที่ธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าเด็กไปได้ดี ต้องทุ่มสรรพกำลังของบุคลากรทั้งหมดไปทำออเดอร์เพื่อการส่งออกจึงไม่มีโอกาสได้ทำแฟชันที่ชอบจริงๆ เลยสักครั้ง บางครั้งบางทีก็ขอตัวช่างสักคนมาตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เองหรือสำหรับโชว์ในแฟชันโชว์การกุศลเพียงเท่านั้นและได้ค่าตอบแทนเป็นคำชื่นชมว่าสวยและเก๋ ไม่ใช่ตัวเงิน การล้มครั้งนี้กลายเป็นโอกาสให้เมธาวีลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ชอบจริงๆ เสียที


     “โลกยุคใหม่เปลี่ยนไปมาก ด้วยสื่ออินเตอร์เน็ตและพฤติกรรมผู้บริโภค เมื่อก่อนสินค้าของเราคือเสื้อผ้าเด็กสำหรับออกงาน ไปงานปาร์ตี้ หรือไปโบสถ์ ถ้าเรายังอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าเด็กต้องปรับตัวมากเพราะว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ค่อยชอบใส่เสื้อผ้าแบบนั้นแล้ว และเขาอยากมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกเสื้อผ้าเอง พอเราตัดสินใจหยุดเราจึงขอครอบครัวทำในสิ่งที่เราชอบ ทำเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้”




     ในปี 2557 จึงสร้างแบรนด์ Black Sugar กับ Botanique ขึ้นมาทำตลาดในประเทศที่ไม่เคยแตะมาก่อน แต่เป็นการตัดสินใจที่เกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาดที่ผ่านมา เธอเปลี่ยนช่างที่เชี่ยวชาญการตัดเย็บเสื้อผ้าเด็กมาตัดเย็บเสื้อผ้าผู้ใหญ่ หลังการกำเนิดของแบรนด์เพียง 5 ปี แบรนด์ Black Sugar ก็ประสบความสำเร็จจนวางขายในศูนย์การค้าชั้นนำของประเทศได้จากการเดินตามแพสชันที่เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในวันนั้น พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสขึ้นมา
 
 
  • วิกฤตครั้งใหม่ที่ยังไม่จบสิ้น

     Black Sugar ในวันนี้ต้องเผชิญวิกฤตอีกครั้ง การปิดดำเนินการศูนย์การค้าอย่างไม่มีกำหนดส่งผลให้รายรับเป็นศูนย์ แต่รายจ่ายกำลังวิ่งไปทุกวันเช่นเดียวกับที่หลายธุรกิจกำลังเป็นในขณะนี้ แต่จากการเรียนรู้วิกฤตมาหลายครั้งทำให้สามารถจัดระเบียบเรื่องเงินเป็นสัดส่วนไว้อย่างดีทำให้ยังพอมีเงินหมุนเวียนหล่อเลี้ยงธุรกิจและพนักงานได้ 1-2 เดือนแม้ไม่มีรายได้เข้ามาก็ตาม 




     ในวันนี้ช่างฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้าของ Black Sugar กำลังนั่งเย็บหน้ากากผ้าในระหว่างที่ต้องหยุดไลน์ผลิตเสื้อผ้า ทั้งแจกจ่ายและวางขาย แม้รายได้ที่เข้ามาไม่มากนักแต่ก็ทำให้เหล่าพนักงานได้พอมีงานทำ


     “เราต้องดูแลพนักงาน ในที่สุดถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ จากที่เรายังสนับสนุนพนักงานได้ อาจจะต้องเข้าไปคุยกับธนาคารเพื่อหาหนทางไปต่อตามนโยบายที่รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการ”


     ระหว่างนี้เมธาวีกำลังคิดโปรเจคใหม่เพื่อแตกไลน์สินค้า จากที่ Black Sugar ที่เดิมทำเสื้อผ้าสีขาว-ดำเป็นหลัก ขณะที่ Botanique เน้นทำเสื้อผ้ามีสีสัน แบรนด์ใหม่จะเป็นเสื้อผ้าสำหรับสาวๆ นักท่องเที่ยวที่ไม่อยากสวมเสื้อผ้าเหมือนใคร โดยแต่ละชุดจะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น


     “จากการที่เราสะสมผ้าส่วนตัวไว้เยอะมากสำหรับเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะใส่เสื้อผ้าตามประเทศนั้นๆ ไปอินเดียก็ใส่ผ้าอินเดีย ไปเมืองจีนก็ใส่ผ้าจีน ไปเที่ยวทีหนึ่งก็จะตัดชุดใส่เป็นที่ฮือฮา ตอนนี้ว่างเราก็แบ่งช่างบางคนมาทำเสื้อผ้าพวกนี้ ออกแบบตัดเย็บแบบฟรีไซส์ให้ลูกค้ามาเลือกแบบที่เขาชอบไปใส่ ซึ่งจะมีเขาได้ใส่เพียงคนเดียว แต่ว่าขายในราคาไม่แพงมากเพราะในภาวะแบบนี้ต่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาแล้วมีคนที่อัดอั้นอยากเดินทาง แต่ด้วยสภาพทางการเงินก็คงยังไม่คล่องตัวเท่าเดิม เราจึงตั้งใจทำเป็นสินค้าที่ราคาจับต้องได้แต่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร”
ในภาวะวิกฤตครั้งนี้ จึงกลายเป็นโอกาสให้เมธาวีได้ซุ่มเตรียมตัวเพื่อเดินต่ออีกครั้งในวันที่เศรษฐกิจฟื้นตัว
 

     และนี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการนักสู้ ที่ไม่ต่างจากนกฟีนิกซ์ ต่อให้ต้องล้มและพ่ายอีกกี่ครั้ง ก็จะไม่ขอยอมแพ้ แต่จะรอวันฟื้นกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​