Penguin Eat Shabu จากชาบูสู่เดลิเวอรี! ส่งออเดอร์ความสนุก ปลุกความสุขลูกค้า

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา 
 

 
 
Main Idea
 
  • เมื่อวิกฤตคือความทุกข์ใจสำหรับใครหลายคน แต่ถ้าเราต้องอยู่กับวิกฤตไปนานๆ บางทีเราอาจจะต้องพลิกมุมกลับ ปรับมุมมองและทำให้ปัญหาที่เจอกลายเป็นเรื่องสนุกเหมือนการเล่นเกม! 
 
  • อย่างร้าน Penguin Eat Shabu ที่ต้องผันตัวเองแบบฉับพลันจากร้านชาบูมาสู่เดลิเวอรีและคิดค้นแคมเปญสนุกๆ คว้าใจลูกค้าในช่วงกักตัวจนทำให้ออเดอร์พุ่งและ Sold out เร็วที่สุดเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้น! 

___________________________________________________________________________________________
 
 

     ช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ร้าน Penguin Eat Shabu (เพนกวินกินชาบู) เข้ามาสร้างสนุกในวงการอาหารด้วยตัวแบรนด์ที่มีความชัดเจน มีโลโก้เพนกวินสุดน่ารักพร้อมกับชื่อร้านที่จำง่าย นอกจากนี้ยังมีการผูกมิตรกับลูกค้าด้วยความเป็นกันเอง เน้นความสนุกสนาน ทำให้พวกเขาเป็นร้านชาบูที่อยู่ในใจของใครหลายคนและขยายตัวมาเรื่อยๆ ด้วยตนเองโดยไม่ขายแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 9 สาขา ด้วยกันอีกทั้งยังมีแผนการเปิดสาขาใหม่ 3 สาขาในปีนี้ 
ทว่า..พิษโควิดจึงทำให้แผนการต่างๆ ต้องพับใส่กระเป๋าไปเสียก่อน


     “ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu ได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของธุรกิจในช่วงเวลาวิกฤต ณ ขณะนี้ ซึ่งทางร้านเองเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากเป็นร้านบุฟเฟต์ ส่งผลให้ต้องปรับตัวอย่างหนัก


     “สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างหนัก เพราะเราต้องมีการปรับตัวหมดทุกอย่างเลย จากที่ไม่เคยทำเดลิเวอรีก็ต้องทำ ประมาณ 5 วัน หลังจากที่มีนโยบายห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน เราก็เริ่มคิดเดลิเวอรีขึ้นมาทดลองเอง เอาพนักงานมาส่งเองก่อน” เขาเล่า 




     Penguin Mystery Box เป็นแคมเปญสุดเก๋ที่ทาง Penguin Eat Shabu ได้ริเริ่มหลังจากคิดทำเดลิเวอรี ซึ่งแคมเปญดังกล่าวเป็นเมนูข้าวกล่องแบบสุ่มที่ลูกค้าจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองจะได้รับเมนูอะไร โดยทางร้านจะเปิดรับออเดอร์เป็นรอบ สร้างความสนุกและตื่นเต้นให้ลูกค้าจน Sold out เร็วที่สุดเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้นเอง! 


     “ที่เราทำตัวนี้เพราะอยากทดลองเป็นระบบ Pre-order ก่อน เพื่อให้เราสามารถวางเส้นทางในการส่งได้ แล้วก็มาดูทีมงานของเราว่ามีกี่คนที่พร้อมจะส่ง เพราะถ้าเราทำแบบสั่งปุ๊บได้ปั๊บ แล้วเราทำไม่ได้ เดี๋ยวจะพัง เราเลยทำแคมเปญเป็นกล่องปริศนาขึ้นมาเพื่อให้เรามีโอกาสได้วางคิวการส่งล่วงหน้า ลูกค้าเองก็จะรู้สึกสนุกด้วยเพราะเขาไม่รู้ว่าจะได้รับเมนูอะไร แต่ละรอบเราจำกัดอยู่ที่ 300-500 ออเดอร์ ซึ่งหมดเร็วสุดอยู่ที่ 1 นาที แต่ว่าตอนนี้เราไม่ได้ทำตัวนี้แล้ว เราพยายามที่จะเล่นอะไรสนุกๆ แปลกๆ ไปเรื่อยๆ” ธนพงศ์เล่าถึงสิ่งที่ทำในช่วงเริ่มต้นเดลิเวอรี







     หลังจากการเกิดขึ้นของแคมเปญ Penguin Mystery Box ก็ได้มีแคมเปญอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ชาบูพร้อมหม้อ ซึ่งจัดเป็นเซ็ตชาบูมาพร้อมกับเนื้อสัตว์ น้ำซุป ชุดผักและหม้อชาบู นอกจากนี้ยังมีแคมเปญล่าสุดนั่นคือชาบูคนโสด เป็นชาบูที่สามารถรับประทานได้คนเดียวมาพร้อมกับหม้อไซส์เล็ก แถมยังพ่วงความสนุกด้วย Tinder Plus แอปพลิเคชันหาคู่ยอดฮิตที่มอบให้ลูกค้าฟรี 100 ออเดอร์แรก  


     “ตัวชาบูคนโสด พอดีเราได้หม้ออันเล็กมา เราเลยต้องหาแคมเปญอะไรที่เหมะสำหรับการกินคนเดียว เลยคิดทำเป็นชาบูคนโสดขึ้น เราอยากให้ลูกค้าเขาสนุก อยากมีส่วนร่วม เป็นการสร้างความสนุกบนโลกโซเชียล เกิดกระแสการบอกต่อ เรื่องของ Feedback ก็ดีขึ้น ยอดขายดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่อยู่ในจุดที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายขนาดนั้นเพราะเราดูแลพนักงานค่อนข้างเยอะ”


     ในปัจจุบัน ร้าน Penguin Eat Shabu คงเหลือพนักงานเกือบ 100 คนจากประมาณ 200 คน ซึ่งหนึ่งในการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่จำเป็นต้อง Lean ธุรกิจให้คล่องตัวที่สุดเพื่อประคองตัวได้ในช่วงวิกฤต 
“เราก็เหมือนร้านทั่วไป ใครที่ยังไม่ผ่านโปรหรือว่าทำพาร์ทไทม์ก็ต้องหยุดจ้างก่อน มีใครจะกลับบ้านไหม แล้วดูว่าพนักเหลือกับเราเท่าไหร่ เราก็ดูแลกันต่อไป” เขาเล่า




     ซึ่งทางร้านเองก็มีนโยบายดูแลพนักงานในช่วงโควิดที่น่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอาหาร ของใช้และดูแลที่พักให้แก่พนักงานแล้ว ล่าสุดมีบริการใหม่สำหรับพนักงานโดยเฉพาะ นั่นคือ Penguin Barber ตัดผมให้แก่พนักงาน เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลพนักงานแบบน่ารักที่ธุรกิจต่างๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ยาก 


     โดยธนพงศ์ได้ปิดท้ายถึงหัวใจสำคัญที่จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้


     “เราต้องมองให้เป็นเรื่องสนุก เพราะว่าเราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน ต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ทดลองอะไรที่ไม่เคยทำ อย่ามีกรอบให้กับตัวเอง” 
เขาปิดท้ายไว้เช่นนั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ SME ท่านอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองได้ เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​