‘Double A’ แบรนด์กระดาษของพ่อค้าข้าว ที่เปลี่ยนโลกผู้บริโภคไทย

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
 


 

Main Idea
 
  • ถ้าพูดถึงแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสาร หนึ่งในชื่อแบรนด์อันดับต้นๆ ที่คนไทยจะนึกถึง แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ ‘Double A’ รวมอยู่ด้วยแน่นอน
 
  • เพราะไม่เพียงแต่คุณสมบัติที่โดดเด่น เรียบ ลื่น พิมพ์งานไม่ติด ไม่สะดุดแล้ว รู้ไหมว่า Double A ยังเป็นแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทยที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย ตั้งแต่ยุคที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อ หรือเลือกใช้กระดาษแบบมีคุณภาพด้วยซ้ำ
 
               
               
     เคยคิดเล่นๆ ไหมว่ากับสินค้าบางอย่างที่เราเองอาจใช้งานจนเคยชิน โดยไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่า มันมีชื่อเรียกว่าอะไร ผลิตจากที่ไหน หรือใครเป็นผู้ผลิต แต่แล้ววันหนึ่งจากความเคยชินที่เราคุ้นเคย กลับมีผู้ลุกขึ้นมาสร้างความแตกต่างให้เห็นและรู้ว่าจากสินค้าที่เคยคิดว่าใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ เพราะคงออกมาเหมือนๆ กันหมด จริงๆ แล้วกลับมีความแตกต่างเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ จนทำให้เราต้องหันกลับมามอง
               

     ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เกิดขึ้นมาแล้วกับ “Double A” กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกที่หันมาสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง และชูจุดเด่นคุณภาพของกระดาษที่สามารถใช้งานได้ลื่นไหล ไม่ติดขัด ไม่สะดุด จนทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้กระดาษถ่ายเอกสารกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้คู่แข่งกระดาษถ่ายเอกสารอื่นๆ ตื่นตัวรุกทำตลาดกันมากขึ้นด้วย
 




จากโรงสีข้าว สู่ธุรกิจผู้ผลิตกระดาษครบวงจร

               

     แบรนด์กระดาษ Double A ก่อตั้งขึ้นมาโดย “กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์” พ่อค้าขายข้าวและเจ้าของโรงสีคนไทยเชื้อสายจีนที่มีการส่งออกข้าวไปยังหลายประเทศทั่วโลกในชื่อบริษัท “ซุ่นฮั่วเส็ง” อยู่มาวันหนึ่งเมื่อกิจการค้าข้าวเติบโตไปได้ด้วยดี จึงอยากบุกเบิกแตกไลน์ธุรกิจอื่นเพิ่มเข้ามา จนมาให้ความสนใจกับธุรกิจผลิตกระดาษครบวงจร ซึ่งในขณะนั้นไทยเองมีการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้จำนวนมาก จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
               

     โดยเริ่มจากดำเนินการทดลองวิจัยผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษขึ้นมาเมื่อปี 2532 พร้อมกับการปลูกสวนยูคาลิปตัส ซึ่งได้เริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว และจัดตั้งบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด ขึ้นมาในปี 2534 (เปลี่ยนเป็นมหาชนจำกัดปี 2537) และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เมื่อ 3 พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบันนี้
               




     ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หากจะทำให้ครบวงจรได้ ตั้งแต่การเพาะปลูกวัตถุดิบหรือต้นยูคาลิปตัส การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษสำเร็จรูปออกมา จึงไม่ค่อยมีผู้ใดลงมาเล่น เพราะกว่าจะตามทันต้องใช้เวลาในการเพาะปลูกวัตถุดิบอยู่หลายปี จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ แต่หากสามารถทำได้และเริ่มต้นก่อน ก็จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ในระยะยาว โดยว่ากันว่าหลังจากที่ดั๊บเบิ้ล เอ ได้มีการจัดตั้งธุรกิจขึ้นมา ก็ช่วยให้ไทยมีปริมาณกระดาษใช้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ช่วยให้ลดการนำเข้า จึงทำให้กระดาษมีราคาถูกลง ขณะเดียวกันยังส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศกลับเข้ามาด้วย
 

สร้างแบรนด์กระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทย
               

     โดยดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษเพียงเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ด้วย โดยในปี 2543 ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์กระดาษ Double A ขนาด A4 80 แกรมขึ้นมาครั้งแรก พร้อมกับการลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง





     โดยชูจุดเด่นของการเป็นกระดาษถ่ายเอกสารคุณภาพที่มีความเรียบ เนื้อกระดาษไม่บางจนเกินไป จึงสามารถพิมพ์ออกมาได้ลื่นไหล ไม่สะดุด หรือติด เวลาเขียนหรือลบก็ไม่เป็นขุย และเมื่อนำมาบวกกับการทำตลาดรูปแบบแหวกแนวไม่เหมือนใคร ทั้งในมุมของฟังก์ชั่นการใช้งานและการบอกเล่าที่สนุก ตลก เข้าใจง่าย จึงทำให้คนส่วนใหญ่จดจำภาพของกระดาษ Double A ได้ไม่ยาก


     ซึ่งจริงๆ แล้วก็นำมาจาก Pain Point ในการใช้งานของผู้บริโภคที่มีมานาน แต่ไม่ใครหยิบขึ้นมาพูด จากจุดนี้เองจึงทำให้ Double A กลายเป็นกระดาษถ่ายเอกสารรายแรกของไทย ที่มีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาอย่างจริงจัง และทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อและเลือกใช้กระดาษถ่ายเอกสารกันมากขึ้น โดยจากการเปิดตัวสร้างแบรนด์ครั้งแรกไปแล้วนั้น Double A ได้มีการรุกตลาดสร้างแบรนด์เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีการจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกหลายคน เพื่อขยับสู่โกบอลแบรนด์ อาทิ การร่วมทำ MV กับวง “OK Go” วงดนตรีอินดี้แนว  Alternative Rock จากอเมริกา โดยใช้เครื่องปริ้นต์กว่า 567 เครื่อง เพื่อสั่งพิมพ์กระดาษออกมาพร้อมกันให้ลื่นไหล ไม่สะดุด
 



จากต้นกระดาษคันนา สู่ตลาดโลก
               

     นอกจากการเป็นผู้ผลิตกระดาษครบวงจรรายใหญ่ของไทยแล้ว Double A ยังได้มีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งการส่งออกเพื่อจำหน่าย รวมถึงการเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิต เพื่อกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ที่โดดเด่น คือ การเข้าไปซื้อกิจการโรงงานกระดาษ Alizay (อลิเซ่) ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2556 ซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตกระดาษขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสมาก่อน ภายหลังเกิดวิกฤตจึงต้องขายให้กับรัฐบาล
จากการเข้าไปบริหารดูแลจัดการของ Double A ครั้งนั้น นอกจากเป็นการช่วยเหลือแรงงานคนฝรั่งเศสเองให้มีงานทำ ยังเป็นการวางฐานการผลิตสำคัญ เพื่อกระจายไปยังตลาดแอฟริกา ตะวันออกกลาง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งที่มากขึ้นด้วย ปัจจุบัน Double A มีการจำหน่ายแล้วกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
               

     โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตกระดาษนั้น นอกจากจะได้มาจากการไร่เพาะปลูกของบริษัทเองแล้ว ดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้สร้างโมเดลการทำธุรกิจที่แตกต่าง ซึ่งมีหลายประเทศให้ความสนใจกับโมเดลนี้ นั่นคือ การให้เกษตรกรชาวไทยได้ใช้พื้นที่ว่างจากการเพาะปลูก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เช่น คันนา ริมบ่อน้ำ ทางเดิน ฯลฯ มาปลูกต้นยูคาลิปตัส หรือเรียกกันขึ้นมาว่า “ต้นกระดาษ” ยนอกจากจะเป็นแนวทางในการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังได้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน รวมถึงมีวัตถุดิบป้อนเข้ามามากพอ โดยที่บริษัทไม่ต้องบริหารจัดการดูแลเองทุกอย่าง ซึ่งอายุ 4 – 5  ปีก็สามารถตัดขายให้กับโรงงานได้แล้ว





     ปัจจุบันนี้บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ ไม่ได้ดำเนินธุรกิจในรูปแบบของผู้ผลิตกระดาษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการขยายต่อยอดธุรกิจออกไปอีกหลายส่วนด้วย อาทิ การเปิดแฟรนไชส์ร้านถ่ายเอกสาร ‘ดั๊บเบิ้ล เอ ก๊อปปี้ เซ็นเตอร์’, ร้านขายเครื่องเขียนอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ‘ดับเบิ้ล เอ สเตชั่นเนอรี่’ ซึ่งบางส่วนได้มีการผลิตสินค้าขึ้นมาเอง อาทิ กาวแท่ง, โพสต์-อิท, บริการพิมพ์งานผ่านมือถือ ‘Double A Fastprint’ รวมถึงการแตกแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ Quality และShih-Tzu


     โดยในปี 2561 บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) มีรายได้อยู่ที่ 21,992 ล้านบาท กำไร 2,320 ล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่กว่า 60 -70 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังคงมาจากกระดาษ 80 แกรม หรือกระดาษถ่ายเอกสารนั่นเอง


     ไม่น่าเชื่อว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา ดั๊บเบิ้ล เอ จะบันทึกเรื่องราวการทำธุรกิจได้อย่างน่าสนใจเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างตัวตนของแบรนด์ ใครจะคิดว่าจากกระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้กันทั่วไป โดยไม่สนใจว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไร วันหนึ่งเมื่อถูกนำเสนอให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเห็นความแตกต่าง จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้กระดาษได้มากขึ้น ซึ่งหากย้อนกลับไปในวันนั้นถ้าไม่มีการสร้างแบรนด์ Double A ขึ้นมา ทุกวันนี้เราอาจยังใช้กระดาษถ่ายเอกสารรูปแบบเดิมๆ อยู่ก็ได้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​