‘Guss Damn Good’ ผู้เสิร์ฟความสุขผ่านไอศกรีม ให้ลูกค้ายิ้มได้ในช่วงเปลี่ยวเหงา

TEXT : ยุวดี ศรีภุมมา





Main Idea
 
  • สถานการณ์โควิดอาจเป็นฝันร้ายสำหรับใครหลายคน แต่ก็ยังมีอีกหลายมุมให้คุณได้เลือกมอง อย่าง Guss Damn Good แบรนด์ไอศกรีมสุดคราฟท์ที่ได้เปลี่ยนช่วงเวลาเคร่งเครียดให้กลายเป็นความสนุกด้วยการเสิร์ฟไอศกรีมแสนอร่อยให้ลูกค้าเพื่อเยียวยาหัวใจ
 
  • นอกจากนี้พวกเขายังได้ออกไอศกรีมรสชาติใหม่ที่จะให้กำลังทุกคนด้วยการบอกว่า ‘This too shall pass’ ทุกอย่างจะผ่านไปในไม่ช้า แล้วท้องฟ้าจะกลับมาสวยงามดังเดิม ไปติดตามเรื่องราวดีๆ ของพวกเขาในช่วงโควิดว่าทำอย่างไรถึงมียอดขายโตพุ่งสวนกระแสวิกฤต




      คนหนึ่งชอบกินขนมหวาน อีกคนหนึ่งชอบทานไอศกรีม กลายเป็นจุดร่วมของ 2 พาร์ทเนอร์ผู้สร้างแบรนด์ Craft ice-cream แสนสนุกอย่าง ‘Guss Damn Good’ คุณอาจจะไม่เจอรสวานิลลาหรือรัมเรซิ่นภายในร้านนี้แต่กลับเจอไอศกรีมชื่อแปลกหูอย่าง Don't give up #18, B-Cube หรือ Crunch Me Crazy
              




       “ระริน ธรรมวัฒนะ” (Chief Icecream Artist) และ “นที จรัสสุริยงค์” (Chief Icecream Scientist) สองผู้ปลุกความสนุกให้วงการไอศกรีมไทย พวกเขาเจอกันที่ Boston, USA เมืองที่หนาวเหน็บแต่กลับมีคนมากมายที่มาต่อคิวซื้อไอศกรีมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ช่วงที่หิมะโปรยปราย หนาวขนาดนี้ ทำไมยังกินไอศกรีมกันอยู่? คำถามชวนสงสัยผุดขึ้นในใจของคนทั้งคู่ จนได้รับคำตอบจากเพื่อนชาว Boston ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้มองไอศกรีมเป็นแค่ขนมหวานทานเล่นเพียงอย่างเดียว แต่ไอศกรีมสำหรับพวกเขาเป็นมากกกว่านั้น เพราะเมื่อไหร่ทีทานไอศกรีมก็จะทำให้นึกย้อนไปถึงช่วง Summer ที่มีแดดจ้า ทุกอย่างดูสดใส
              




      “เหมือนไอศกรีมเป็นมากกว่าขนมสำหรับพวกเขา ทำให้คิดถึง Moment ที่อยากให้เกิด เป็น Good Reminder สำหรับพวกเขา เราเลยอยากลองทำไอศกรีมที่มีความรู้สึก กลายเป็น Feeling-Crafted Icecream ทุกรสชาติของเราจะเริ่มต้นคิดค้นจากเรื่องราวดีๆ รอบตัว เราเรียกว่า Story to Flavor จาก Story แปลงให้เป็น Feeling จาก Feeling กลายเป็น Flavor เพราะไอศกรีมคือตัวส่งสารบางอย่างจากเราไปให้ลูกค้า” ระริน ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Icecream Artist แห่ง Guss Damn Good เล่าถึงที่มาที่ไปของรสชาติในร้าน
              

      ตัวอย่างเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังความอร่อยของไอศกรีม เช่น รส Don't give up #18 ไอศกรีมรสชาติแรกแห่ง Guss Damn Good ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ถูกพัฒนามาถึง 30 กว่าครั้งก่อนที่จะวางขาย แต่ทำไมถึงต้องเป็น Don't give up #18? 
              




      “จุดเริ่มต้นของรสชาตินี้มาจากการที่ระรินหรือนทีไม่ได้มีใครเป็นเชฟหรือทำเกี่ยวกับอาหารเลย เราเป็นแค่เด็กสองคนที่ชอบกินไอศกรีม ตอนที่เราเริ่ม สิ่งที่เราทำคือการไปตระเวนกินไอศกรีมทั่ว Boston และอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ไอศกรีมอย่างหนัก นทีจะคำนวณสูตรทุกอย่างใส่ไว้ใน Excel เราก็ไปตระเวนหานมสดที่เราชอบ ครีมที่เราชอบมาวางรวมกันแล้วหา Combination ว่าอะไรคู่กับอะไรถึงจะอร่อย ทดลองไปเรื่อยๆ จนครั้งที่ 18 เราทำออกมาใกล้เคียงกับไอศกรีมที่อยากให้เป็นมากที่สุด ก่อนหน้า 18 ที่เราทำมันเฟลมาก จนพอมาถึงครั้งที่ 18 มันรู้สึกว่าใกล้แล้ว เราก็ทำต่อไปจนประมาณ 30 กว่าครั้ง กลายเป็นรสชาติที่ขายอยู่ตอนนี้” เธอพูดถึงเบื้องหลังไอศกรีมรสชาติแรกของแบรนด์
              

       ไอศกรีมคือสัญลักษณ์แห่งความสุข ความสนุก ความสดชื่น แบรนด์ Guss Damn Good เองก็เป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วยพลังงานแห่งความสนุก แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัส Covid-19 มาเยือน ความเครียดต่างๆ เริ่มครอบงำ พวกเขาจะมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไรจนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงที่ทุกอย่างดูยากลำบากเหลือเกิน
              

      โดยนทีเล่าว่าก่อนสถานการณ์โควิดมาเยือน ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งยอดขายที่ไปได้สวยจากปลายปีมาจนถึงช่วงต้นปี แต่หลังจากที่โควิดมาเยือน รัฐบาลสั่งปิดห้างร้านต่างๆ ยอดขายเดือนมีนาคมจึงตกลงไปอย่างเห็นได้ชัดและพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน
              




       “ช่วงเดือนมีนาคมที่เริ่มมีโควิด ห้างสรรพสินค้าเริ่มปิด ยอดเราตกลงไปจากปกติ พอมาเมษายนกลายเป็นยอดเราขึ้นจากปกติ ทั้งที่มีแค่ 7 สาขาจาก 9 สาขาในตอนนี้ อย่างแรกเลยผมว่าเราอาจจะโชคดีที่อยู่ในหมวดไอศกรีม เพราะมันเก็บได้นาน ลูกค้าค่อนข้างเต็มใจที่จะซื้อในปริมาณค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น Big Size ในช่วงนี้จะเยอะและลูกค้าซื้อต่อบิลเยอะขึ้น จากเดิมที่ซื้อกินที่ร้าน 1-2 ถ้วย แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นเดลิเวอรีและ Take Home ซื้อต่อครั้ง 5-10 ถ้วยเป็นอย่างน้อย ทำให้ยอดเราเยอะขึ้น นอกจากนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เราเป็นลูกค้าประจำ เขากิน Guss เป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว ยิ่งพอมัน Lockdown เขาก็ยังต้องซื้อ Guss อยู่ดี จากเดิมที่เขาคาดไว้ว่าไอศกรีมอาจจะแย่แน่เพราะไม่ได้ปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต คนอาจจะไม่ซื้อ แต่เรามองปิดไปเพราะว่าไอศกรีมกลายเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจให้เขาได้ดีขึ้น เวลาเครียดๆ คนยิ่งต้องการไอศกรีม” เขาเล่า
              




      สิ่งที่ทำให้ Guss Damn Good คว้าใจลูกค้าในช่วงนี้ได้เป็นเพราะการสื่อสารในรูปแบบที่ตรงไปตรงมา เป็นมิตรและพร้อมอยู่เคียงข้างลูกค้าเสมอ ล่าสุดพวกเขาได้ออกรสชาติใหม่ในช่วงวิกฤตนั่นคือ ‘This too shall pass’ เพื่อเป็นการส่งสารให้ลูกค้าได้รับรู้ถึงกำลังใจที่บอกพวกเขาว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็จะผ่านไป กลายเป็นไอศกรีมรสชาติสดชื่นและหอมหวานด้วยน้ำผึ้งและเลมอนออย ให้ทุกคนได้หลับตาแล้วนึกภาพถึงความสุขที่จะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง แต่ก็ยังมีการกระตุกความรู้สึกเล็กๆ ด้วยเปลือกส้ม Yuzu ที่มีรสชาติฝาดเล็กน้อยแฝงอยู่ในซอส
              

      “เพราะ Guss Damn Good เป็นแบรนด์ที่สนุก เอาความสนุกเป็นที่ตั้ง แต่พอโควิดมา ทุกคนเครียดมาก รู้สึกว่าสนุกได้ไม่เหมือนเดิม เลยอยากให้กำลังผู้ประกอบการและคนทั่วไปด้วยการทำไอศกรีมที่ทำให้คนรู้สึกดีขึ้น กลายเป็น This too shall pass พอเป็นรสชาตินี้ ลูกค้าได้กินก็จะมีความสุข ได้รับกำลังใจหรือจะส่งต่อกำลังใจไปให้เพื่อนเขา เป็นข้อความที่บอกต่อว่า This too shall pass แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เราทำได้แต่แค่นี้ก็แฮปปี้แล้ว” ระรินเล่า
              

      อีกหนึ่งความสนุกที่พวกเขาทำในช่วงนี้นั่นคือการออกไอศกรีมไซส์ใหญ่ขนาดประมาณ 20 Scoops ชื่อว่า ‘Guss Big Fan’ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นแฟนประจำของรสชาติใดรสชาติหนึ่งของ Guss ให้ซื้อได้รับประทานที่บ้านได้อย่างจุใจแถมยังได้แปลงกายเป็น Home Scopper แบบที่ใครหลายคนใฝ่ฝันในช่วงวัยเด็กอีกด้วย
              

      เชื่อว่าท่ามกลางวิกฤตยังมีแง่มุมที่หลากหลายให้คุณได้เลือกมอง ทางด้าน Guss Damn Good ที่เต็มเปี่ยมด้วย DNA ของความสนุกก็ยังพลิกวิกฤตให้กลายเป็นความท้าทายที่ทำให้การทำงานของพวกเขาสนุกได้ยิ่งขึ้น
              



      “ถ้ามองจากปัจจัยภายนอก นี่ก็เป็นวิกฤตหนักสุดที่เคยเจอมา แต่เป็นช่วงเวลาที่ผมสนุกที่สุดในการทำงานเหมือนกัน เพราะว่าหลายอย่างที่เราไม่มีโอกาสได้ลองก็ลองเลย เหมือนเราหลังชนฝา ไม่มีโอกาสไหนที่ดีไปกว่านี้แล้วในการทดลองอะไรใหม่ๆ ในเวลาอันสั้น อยู่ดีๆ รัฐบาลสั่งปิดวันนี้ พรุ่งนี้ต้องปิดร้านเลย เราต้องปรับแผนกันแบบอลหม่าน Business Model ของเราจากที่ยอดขาย 80-90 เปอร์เซ็นต์มาจากหน้าร้าน กลายเป็นเหลือแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เราปรับเรื่องของ Operation แบบสนุกมาก ประชุมทุกวัน พลิกกันวันต่อวันเลย มีบางคนถามว่าทำไมไม่ปิดร้านไปเลย ทั้งที่ปิดร้านอาจจะรับความเสี่ยงน้อยกว่า ผมอยากบอกว่าวิกฤตโควิด ผมไม่อยากให้น้องๆ ที่ร้านทุกคนพลาดที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปพร้อมกับเรา มองว่าเป็นเรื่องที่ดีในการทำงานกับน้องๆ ทุกคนในวิกฤตแบบนี้ ถ้าผ่านไปได้ อนาคตจะไม่มีปัญหาอะไรใหญ่เท่านี้อีกแล้วและผมว่าตอนนี้เป็นการทดสอบทัศนคติของผู้ประกอบการเยอะเหมือนกัน อย่างพวกเราเองก็อยากดูแลน้องๆ ไม่อยากหวังพึ่งใคร จุดประสงค์หลักคือการจ่ายเงินให้ทุกคนเต็มเหมือนเดิม กระทบน้องน้อยที่สุด เราหวังว่าทำธุรกิจให้ยอดขาครอบคลุม Operation Cost ก่อน พอเราประกาศออกไป ทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจ ทำให้ยอดขายเราดีขึ้นกว่าที่คาดไว้เยอะมาก” นทีเล่าถึงการทำงานของพวกเขาในช่วงเวลาวิกฤต
              

      แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่สนุกสนาน แต่วิกฤตเกิดขึ้นก็พาความเครียดมาให้พวกเขาไม่น้อยกว่าผู้ประกอบการคนไหน โดยพวกเขาปิดท้ายถึงเคล็ดลับการจัดการความเครียดของแต่ละคน เริ่มต้นจากระรินที่เล่าว่าตัวเธอเองเป็นคนเครียดง่าย ซึ่งเธอได้นทีที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีช่วยผลัดกันฉุดขึ้นมาจากความเครียดและการได้ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อให้แบรนด์ Guss Damn Good หมุนไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นการจัดการความเครียดได้อย่างหนึ่ง เราจึงได้เห็นไอศกรีมแบรนด์นี้มีอะไรสนุกๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
              

      ทางด้านนทีเองปิดท้ายว่าสิ่งสำคัญคือการจัดการกับตัวเอง เมื่อไหร่ที่ต้องเจอความเครียดจะยิ่งทำให้คิดงานไม่ออก อีกทั้งยังใช้หลัก This too shall pass ทุกอย่างจะผ่านไป อยู่ที่เราจะปรับตัวอย่างไรให้ได้มากที่สุดในสถานการณ์นี้
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​