เช็คอิน 5 สูตรลับ โรงแรมเล็กบริหารยังไงให้รอดพ้นยุคโควิด

TEXT : นิตยา สุเรียมมา



 
 
Main Idea
 
  • โรงแรมที่พักขนาดเล็กถือเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรงและค่อนข้างมาก
 
  • ด้วยสายป่านที่ไม่ได้ยาวพอเหมือนกับธุรกิจใหญ่ทั่วไป การปรับตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้สำหรับโรงแรมขนาดเล็กพวกเขาจะต้องทำเช่นไร ลองไปเช็คอินหาคำตอบกับ 5 สูตรลับบริหารโรงแรมเล็กยังให้รอดพ้นยุคโควิดกัน
___________________________________________________________________________________________
 
 
     ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก นับเป็นอีกภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การออกกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มจะถดถอย ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งต้องขาดแคลนรายได้ บางที่ถึงขนาดตัดสินใจปิดกิจการลงไปอย่างน่าเสียดาย บางแห่งสายป่านยาวหน่อย ก็สามารถประคองตัวให้รอดพ้นไปได้ แต่กับโรงแรมที่พักขนาดเล็กที่ไม่ได้มีเงินทุนสำรองเอาไว้มากมาย การจะดำเนินธุรกิจให้รอดพ้นฝ่าวิกฤตไปได้นั้นจะต้องทำอย่างไร 


     ลองไปเช็คอินหาคำตอบ 5 สูตรลับบริหารธุรกิจและการเงินยังไงให้รอดพ้นยุคโควิด-19 กัน  


 
  • สำรวจรายจ่ายทั้งหมดที่มี

     อันดับแรกก่อนที่จะลงมือทำทุกอย่าง เราควรมาสำรวจค่าใช้จ่ายทั้งหมดของธุรกิจออกมาก่อน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของภาระทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่าปกติในแต่ละเดือนนั้น เรามีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เป็นค่าใช้จ่ายมาจากส่วนใดบ้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจโรงแรมค่าใช้จ่ายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าผ่อนชำระสินเชื่อธนาคาร และ 2.ค่าใช้จ่ายผันแปร ได้แก่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าซักผ้า สบู่ แชมพู น้ำดื่ม ฯลฯ โดยเมื่อคำนวณตัวเลขออกมาได้แล้ว จะทำให้เราสามารถตั้งรับ คิดหาทางออกได้ง่ายขึ้นกว่าที่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย


 
  • คำนวณหารายได้ล่วงหน้า

     หลังจากรู้แล้วว่าในแต่ละเดือนนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ ข้อต่อไปที่ต้องทำ คือ การประเมินศักยภาพรายได้ที่จะเข้ามา ซึ่งจะทำให้เรารู้ได้ว่ารายได้ที่เข้ามานั้นเพียงพอหรือขาดอยู่อีกเท่าไหร่ จึงจะสามารถครอบคลุมรายจ่ายที่เกิดขึ้นได้


     โดยควรคิดเผื่อไว้เป็นระยะๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน ว่าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นในแต่ละช่วงนั้นเราจะสามารถหารายได้หรือเงินทุนเข้ามาจากทางใดได้บ้าง โดยในเบื้องต้นของการประเมินหารายได้ เราอาจลองเปรียบเทียบกับข้อมูลรายได้และจำนวนห้องพักกับเมื่อปีก่อนๆ และลบออกไป 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ เพื่อให้ใกล้เคียงหรือตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด


 
  • ประเมินศักยภาพโดยรวมของธุรกิจ

     เมื่อเราสามารถประเมินภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและรวมถึงรายได้ล่วงหน้าของธุรกิจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การบูรณาการทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด เริ่มจากรายจ่ายที่เกิดขึ้น มีหนทางใดบ้างที่เราจะสามารถปรับลดหรือประหยัดให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม หรือจะมีช่องทางเพิ่มรายได้จากทางใดอีกบ้าง จะหาคอนเนคชันและเปิดช่องทางการขายใหม่ๆ ได้อย่างไรบ้าง ในส่วนของหนี้สินเองซึ่งถือเป็นรายจ่ายส่วนหนึ่ง เราจะสามารถเจรจาประนอมหนี้ได้อย่างไร และสุดท้ายหากต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไป จำนวนเงินที่เหลืออยู่จะสามารถพยุงตัวต่อไปได้อีกสักกี่เดือน หรือเราต้องหาเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมมาจากที่ใดได้บ้าง
 


 
  • ตรวจเช็คความสามารถในการก่อหนี้

     แน่นอนว่าเมื่อไม่สามารถหารายได้เข้ามาได้เพียงพอกับรายจ่ายจำเป็นที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักนึกไปถึงการขอสินเชื่อและแหล่งเงินทุนจากภายนอกเข้ามาเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้ก่อน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวิธีหาทางออกที่สามารถช่วยได้ และปัจจุบันเองหลายแบงก์ก็เตรียมความช่วยเหลือไว้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนตัดสินใจกู้เงินหรือต้องกู้ในปริมาณเท่าไหร่ ให้ลองคิดเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าด้วยว่าเมื่อถึงเวลาต้องผ่อนชำระคืนนั้น เราจะมีความสามารถในการผ่อนชำระได้มากน้อยเพียงใด ไม่ควรกู้เกินศักยภาพที่คิดว่าตัวเองจะรับผิดชอบได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือปัญหาเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง



 
  • เตรียมทุนสำรองสำหรับฟื้นฟูกิจการ

     ข้อสุดท้าย ในช่วงแรกนั้นแม้จะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติแล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ในทันที เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาในการปรับตัว ไม่ว่าจะลูกค้าเองที่ต้องปรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ระบบการเดินทางขนส่ง ไปจนถึงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่ทางโรงแรมเองก็เช่นกันที่อาจต้องมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสมเพื่อเตรียมตัวต้อนรับลูกค้า เช่น ที่พักบางแห่งหากเป็นห้องน้ำรวม ก็อาจต้องลองออกแบบพื้นที่การใช้งานเสียใหม่ โดยในช่วงระหว่างที่ทุกอย่างกำลังปรับจูนอยู่นี้ ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมทุนสำรองไว้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจอย่างน้อยสัก 1 - 2 เดือนเผื่อไว้ด้วย เพราะไม่แน่ใจว่ารายได้จะกลับมาสักเท่าไหร่ และในลักษณะรูปแบบใด
 

     และนี่คือ 5 ข้อที่อยากชวนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กเตรียมตัวเอาไว้แต่เนิ่นๆ สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรแน่นอน การพยายามสำรวจตัวเอง ทำความรู้จักกับธุรกิจให้มากที่สุดในทุกด้าน น่าจะพอช่วยให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดีพร้อมกัน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ