อดีตเด็ก MIT เปิดโรงแรมช่วงโควิด พลิกสู่ Food Delivery เจ้าแรกในอัมพวา

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • เมื่อวิศวกรหนุ่มอดีตนักศึกษา MIT สหรัฐอเมริกา กลับมาสานต่อกิจการรีสอร์ทของครอบครัว ที่อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เกมธุรกิจบทใหม่จึงเริ่มขึ้น ด้วยการแจ้งเกิดโรงแรมน้องใหม่ “ริเวอร์ตัน อัมพวา” หวังเจาะตลาดสัมมนาที่สามารถรองรับได้ถึง 600 คน
 
  • แม้จะเตรียมการมาอย่างดีตลอด 5 ปี แต่ในวันที่ต้องเปิดโรงแรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับต้องเจอกับสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด-19 ล้มพับฝันหวานตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดให้บริการ
 
  • ในเวลาไม่นานหลังตั้งสติได้ เขาสามารถแก้เกม พลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยเปิดตัว “ริเวอร์ตัน Delivery” ขึ้น ซึ่งเป็น Food Delivery จากโรงแรมส่งตรงถึงบ้าน ด้วยบริการระดับโรงแรม เป็นเจ้าแรกของอัมพวา




      กว่าที่ธุรกิจหนึ่ง หรือความฝันของคนๆ หนึ่ง จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้สำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนรอคอยวันเปิดกิจการและหวังจะให้เป็นวันเริ่มต้นที่ดี มีอนาคตที่สดใสรออยู่ในวันข้างหน้า


      แต่ถ้าวันเปิดตัวดันมาพร้อมกับวิกฤตครั้งใหญ่ล่ะ? คุณจะตั้งรับมันแบบไหน





      นี่คือเรื่องราวของทายาทธุรกิจคนหนึ่งที่ชื่อ “ชินรัตน์ พงศ์พรรณากูล" คนหนุ่มที่อยู่เมืองนอกมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา ที่ University of Auckland นิวซีแลนด์ ก่อนไปต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) สถาบันที่มีชื่อเสียงของโลก


       เขากลับมาเมืองไทยเพื่อสานต่อกิจการรีสอร์ทของครอบครัว ชื่อ “กนกรัตน์ รีสอร์ท”  ในอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก่อนมีความฝันอยากทำธุรกิจของตัวเอง จึงได้คิด วางแผน และริเริ่มก่อสร้างโรงแรมน้องใหม่ชื่อ “ริเวอร์ตัน อัมพวา” (Riverton Amphawa)  ขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน โดยเป็นคนที่ดูแลเรื่องการออกแบบโรงแรมด้วยตัวเอง และมุ่งไปที่ตลาดงานสัมมนาเป็นหลัก ด้วยห้องสัมมนาขนาดใหญ่ที่จุคนได้ถึงประมาณ 600 คน ซึ่งใหญ่ที่สุดในอัมพวา ณ ปัจจุบัน และมีจำนวนห้องพักที่รองรับได้ถึงประมาณ 200 คน





      ริเวอร์ตัน อัมพวา ใช้เวลาก่อสร้างอยู่หลายปี ก่อนทดลองให้บริการห้องสัมมนาเมื่อ 1-2 ปีก่อน จนมา 1 มีนาคม 2563 ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวโรงแรมอย่างเป็นทางการ โดยมียอดจองคึกคักชนิดเต็มยาวตลอดทั้งเดือน เฉพาะห้องสัมมนามีถึง 14-15 งาน ภายในเดือนเดียว


      แต่ทว่าภาพหวานนั้นก็ต้องดับสลายลง เมื่ออีกไม่กี่วันต่อมาวิกฤตโควิด-19 ก็ทวีความรุนแรงขึ้น ตามมาด้วยมาตรการในการรับมือ ตลอดจนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส กระทบต่อธุรกิจโรงแรมที่พักอย่างเลี่ยงไม่ได้





      นาทีนั้นหลายคนอาจกำลังจมอยู่กับวิกฤตจนมองไม่เห็นทางออก บางคนอาจเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ยอมรับชะตากรรม แต่กับชินรัตน์ เขาเลือกที่จะพลิกกลยุทธ์ให้เป็นโอกาส โดยมองต้นทุนรอบตัวและศักยภาพที่พอมี เพื่อแก้เกมในครั้งนี้


       และนั่นคือที่มาของ “ริเวอร์ตัน Delivery” ซึ่งเป็น Food Delivery จากโรงแรมส่งตรงความอร่อยถึงบ้าน บริการโดยพนักงานโรงแรม เจ้าแรกในอัมพวา





      การที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน หรือสถานที่ทำงาน ลดการออกมาสัมผัสเชื้อข้างนอก ส่งผลให้ชาวอัมพวาที่ก่อนหน้านี้ยังใช้บริการของ Food Delivery ไม่มากนัก กลับมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เป็นจังหวะเดียวกับที่ ริเวอร์ตัน Delivery เปิดตัว จึงได้รับการตอบรับที่ดีตามมา


      โดยวิธีคิดของพวกเขาไม่ได้เน้นทำอาหารที่เลิศหรูอลังการหรือทานยาก แต่กลับคิดบนพื้นฐานที่เรียบง่าย คือขายอาหารที่คนจะทานได้บ่อยๆ ในราคาไม่แพง กินได้ทุกวัน เพื่อให้ตลอดเดือนแห่งการกักตัว พวกเขาจะยังมีลูกค้าที่สนับสนุนต่อเนื่อง


      ริเวอร์ตัน Delivery ไม่ได้ผูกกับ Food Delivery เจ้าใด แต่พวกเขาเลือกทำระบบนี้ขึ้นมาเอง โดยเอาพนักงานโรงแรมทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 35 ชีวิต มาให้บริการ ทั้งเป็นฝ่ายขาย คนรับออเดอร์ คนทำอาหาร กระทั่งพนักงานจัดส่งก็เป็นคนของโรงแรมทั้งสิ้น





      จึงสามารถควบคุมคุณภาพของอาหารตั้งแต่เดินทางออกจากโรงแรม และยังควบคุมบริการในแบบฉบับพนักงานโรงแรม ทั้งการไหว้ ทักทาย และขอบคุณ ไปจนถึงมือลูกค้าอีกด้วย


      วันที่เริ่มทำอาจคิดเป็นเจ้าแรก แต่วันนี้หลายๆ โรงแรมก็ลุกมาทำ Food Delivery กันทั้งนั้น แต่พวกเขาก็ยังมีแต้มต่อที่สำคัญอยู่ นั่นคือเรื่องของ “โลเคชั่น”


      ด้วยพิกัดของริเวอร์ตัน อัมพวา ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง ทำให้ได้เปรียบเรื่องการขนส่ง โดยพวกเขาสามารถจัดส่งอาหารได้เร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง พนักงานสามารถทำรอบได้มากขึ้น และนี่คือแต้มต่อของพวกเขา  





      ริเวอร์ตัน Delivery มีกลุ่มลูกค้าหลักคือข้าราชการในพื้นที่ประมาณ50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกลุ่มผู้ประกอบการซึ่งเปิดร้านทำกิจการ และใช้บริการสั่งอาหารมาทาน  เขาบอกว่าการขายอาหารก็เหมือนกับการประชาสัมพันธ์ตัวเอง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าแค่ภาพและเสียงในสื่อโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ เพราะคนได้สัมผัส และรู้จักโรงแรมน้องใหม่อย่างพวกเขาได้มากขึ้น โดยหวังว่าหลังไวรัสผ่านพ้น อย่างน้อยๆ คนในจังหวัดก็อาจจะกลับมาเป็นลูกค้าของโรงแรม ไม่ว่าจะกลุ่มงานสัมมนา หรืองานแต่ง งานเลี้ยงในพื้นที่ก็ตาม


      ความคิดที่เฉียบคม บวกความพร้อมในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้ ริเวอร์ตัน อัมพวา ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ผ่านโครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการในช่วงวิกฤตเช่นนี้ด้วย


       กลยุทธ์ธุรกิจจะเปลี่ยนไปไหมในยุคหลังไวรัส ชินรัตน์ บอกเราว่า เขาไม่เชื่อว่า New Normal จะมีอยู่จริง ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนได้ในเวลาเพียง 3 เดือน แต่เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คนจะไม่ผูกติดชีวิตอยู่แต่กับออนไลน์เหมือนช่วงกักตัว  แต่ยังต้องการประสบการณ์ในการเดินทาง ไปเที่ยว ไปพักผ่อน ไปทานอาหารดีๆ ที่ร้าน นั่นจึงทำให้ Food Delivery จะกลายเป็นเพียงตัวเสริมของธุรกิจที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้คน แต่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของพวกเขาในอนาคต





       แต่หมากรุกต้องเปลี่ยน โดยจากโรงแรมที่เคยคิดจะรับตลาดสัมมนาเป็นหลัก ก็จะมามุ่งเพิ่มสัดส่วนผู้เข้าพักให้มากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์ขายซีฟู้ดบวกห้องพัก เปลี่ยนภาพคนมาอัมพวาที่มีแต่ตลาดน้ำและเดินชมสวน มาเป็นกินซีฟู้ดรสเด็ด ในราคาแพงไม่แพง สร้างความแตกต่างให้กับโรงแรมน้องใหม่อย่างพวกเขา


      คนอื่นอาจมองว่า โควิด-19 เป็นวิกฤต เป็นความโชคร้ายที่ไม่อยากพบเจอ แต่สำหรับชินรัตน์เขากลับมองว่านี่เป็นเหมือนของขวัญ และโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในชีวิต  


      “ผมมองว่าโควิดเป็นเหมือนของขวัญชิ้นใหญ่ ที่ทำให้ผมเห็นโอกาสในหลายๆ เรื่อง กลายเป็นว่าผมทำงานได้เต็มที่ 40 วัน ไม่หยุด ตื่นขึ้นมาคิดกลยุทธ์ใหม่ทุกวัน กลายเป็นทำธุรกิจใหม่ได้ภายใน 40 วัน จากไม่เคยทำ Food Delivery เราทำรูป ทำการตลาด เซ็ตระบบ และทำออเดอร์ได้ภายในวันเดียว มันสอนให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้ว เราไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้มันมีมูลค่ามากกว่าการทำกำไร 2 เดือนนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งหากเราทำให้ทีมงานปรับเปลี่ยนไปกับเราได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนได้ดีขึ้น ในอีก 30 ปีข้างหน้า ผมจะมีมากกว่าตอนนี้”
 




      Did you know


      “ชินรัตน์ พงศ์พรรณากูล" ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาเรียนรู้การเอาตัวรอดในต่างแดน การใช้ชีวิตตัวคนเดียว พยายามเอาชนะอุปสรรคทางด้านภาษาและการเรียน ตั้งใจและต่อสู้ จนสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา ที่ University of Auckland นิวซีแลนด์  มาได้ ก่อนจะมีโอกาสเข้าเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง MIT (Massachusetts Institute of Technology) ในเวลาต่อมา


      ชินรัตน์ เป็นเด็กวิศวะ วิธีคิดหลายอย่างของเขาจึงเป็นการคิดในเชิงระบบ มองเป็นห่วงโซ่ เป็นชุดความคิดที่แตกต่างจากเด็กสายธุรกิจทั่วไป ระหว่างอยู่ MIT เขามีโอกาสเรียนกับอาจารย์ด้านบริหารธุรกิจนวัตกรรมเบอร์ต้นๆ ของโลก จึงเก็บเกี่ยวความคิดอีกด้านมาใช้ในการทำธุรกิจในวันนี้ ส่วนประสบการณ์ในต่างแดนก็สอนให้มีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้การเจอวิกฤตโควิดตั้งแต่เดือนแรกของการทำธุรกิจ จึงไม่สามารถบั่นทอนความมุ่งมั่นที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวเขา
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​