เปิดวิชั่น “จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” พลิกเกมเฟอร์นิเจอร์ไทย ผงาดในโลกยุค New Normal

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
 
  • วันนี้ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไทยอาจกำลังบาดเจ็บจากวิกฤตไวรัส แต่ในวันที่ทุกอย่างสงบลง นั่นคือโอกาสที่จะได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ด้วยกลยุทธ์ใหม่ และ Mindset ที่แปรเปลี่ยน จากเคยกินอิ่ม อาจต้องสมถะลง อยู่แบบพอเพียงและรักษาสมดุลมากขึ้น และคำนึงถึงโจทย์ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจยุค New Normal
 
  • SME Thailand พูดคุยกับ “จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรม ดีสวัสดิ์ ผู้บริหารแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ “ดีสวัสดิ์” (DEESAWAT) ประธานสมาคมกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทย และนายกสมาคมธุรกิจไม้ เพื่อร่วมสะท้อนอนาคตและหนทางอยู่รอดของธุรกิจไทยในวันโลกเปลี่ยน 





      หลังโควิด-19 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างไร?


       จิรวัฒน์ : ที่ผ่านมาตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับต้นๆ ของบ้านเรา คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ รวมถึงตลาดอื่นๆ อย่างเพื่อนบ้าน ก็น่าสนใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีชายแดนติดกับเรา อย่าง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา รอบๆ นี้ เพราะประเทศเขาโตขึ้น เฟอร์นิเจอร์ในประเทศก็ยังไม่แข็งแรง โลจิสติกส์เราก็ถูก ฉะนั้นเรายังใช้ประโยชน์จากตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้อยู่ รวมถึงตลาดภายในประเทศเองก็ยังมีโอกาส เนื่องจากสินค้าเรามีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม ผมไม่ได้บอกว่าถูกที่สุดนะ แต่เหมาะสม นี่จึงยังเป็นโอกาสอยู่


       แต่หลังโควิดผมเชื่อว่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปยังประเทศอย่าง  อเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น จะเติบโตในระดับที่เล็กลงมาก แน่นอนว่าเราจะไม่กินอิ่มเหมือนเดิม จากเคยกินเยอะๆ ในช่วงนี้อาจจะต้องหัดสมถะลง อยู่แบบพอเพียงมากขึ้น เพราะว่าตลาดจะเล็กลงมาก ธุรกิจจะต้องมีสมดุลมากขึ้น ไม่ใช่แย่งกันโตเหมือนที่ผ่านมา โดย KPI ที่ใช้วัดการเติบโตในอนาคตมันจะไม่ใช่ในเรื่องของยอดขายหรือการขยายตัวของธุรกิจ แต่จะเป็นเรื่องของการจัดสมดุล ความเหมาะสม มีขนาดธุรกิจกำลังดี สามารถบริหารจัดการคนของตัวเองได้ดี มีศักยภาพในเรื่องของการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย พวกนี้จะเป็นโจทย์ที่สำคัญมากในอนาคต
 




      หมายความว่าโมเดลการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หลังจากนี้อาจจะเปลี่ยนไป?


       จิรวัฒน์ : โมเดลเปลี่ยนแน่นอน ขนาดสังคมไทยในปัจจุบันยังเปลี่ยนเลย ดูได้จากการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ไม่น่าเชื่อว่าสังคมไทยจะสร้างระบบระเบียบขึ้นมาได้ดีขนาดนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤต อาจจะเซอร์ไพรส์ว่าดีกว่าญี่ปุ่นช่วงนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการทำธุรกิจโมเดลเปลี่ยนแน่นอน


      ผมคิดว่าคนจะกลับมาสู่สมดุลมากขึ้น มองเรื่องของการใช้ชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Friendly) ความสมถะ ความพอเพียง ความเหมาะสม ความสะอาด การตระหนักถึงสุขภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกลับเข้ามาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการจัดการ และการทำธุรกิจให้เหมาะสมมากขึ้น


       ในส่วนของธุรกิจสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การหันมาศึกษาเรื่องของออนไลน์มากขึ้น เพราะว่าในช่วงโควิดจะเห็นเลยว่าธุรกิจที่ไปต่อได้ก็คือออนไลน์เท่านั้น ฉะนั้นเห็นแล้วว่าออนไลน์มีประโยชน์ ซึ่งตอนนี้มันมีแอปพลิเคชัน เครื่องมือใหม่ๆ มีเว็บไซต์ และเรื่องของออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก เราก็มีหน้าที่ศึกษา และวางแผนการขายทางออนไลน์ให้มากขึ้น มีระบบระเบียบเรื่องออนไลน์ที่ชัดเจนขึ้น


      อีกเรื่องหนึ่งคือการสร้างชุมชน (Community) ให้เกิดขึ้น อย่างวันนี้จะเห็นเลยว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีแพลตฟอร์มของตัวเอง อนาคตจะเป็นเรื่องของธุรกิจที่จะเชื่อมโยงกันเองมากขึ้น ผมรู้จักคุณในฐานะเป็นพี่น้องที่มหาวิทยาลัย หรือรู้จักกันเพราะเคยไปลงเรียนด้วยกัน ไปร่วมโครงการต่างๆ ด้วยกัน สิ่งนี้จะทำให้เกิดเป็น Community เล็กๆ และแต่ละคนจะซัพพอร์ทกันใน Community นี้


      นอกจากนี้การตลาดทางตรง (Direct Marketing) หรือการตลาดที่ไปสู่ผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านคนกลางจะมีมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราจะเห็นว่ามีคนกลางเต็มไปหมด แต่วันนี้แม้แต่คนที่ปลูกต้นมะม่วงขายก็ขายตรงให้ลูกค้าได้เลย ฉะนั้นมันเกิดช่องทางการขายใหม่ๆ ซึ่งในอดีตอาจจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เราก็ต้องอยู่กับระบบใหม่นี้ให้ได้ โจทย์คือธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จะสร้าง Community ใหม่นี้ขึ้นมาอย่างไร สร้างแพลตฟอร์ม หรือโอกาสจากตรงนี้อย่างไร
อย่างดีสวัสดิ์เอง เราเป็นผู้ผลิต ก็สามารถที่จะสร้างจุดเชื่อมไปยังผู้บริโภคโดยตรงได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องพวกนี้ถ้าคุณไม่สนใจ หรือไม่พยายามพัฒนาตัวเอง ก็อาจเสียโอกาสไปได้
 





      วันนี้ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เจอวิกฤต มองว่าจะใช้เวลาฟื้นตัวนานหรือไม่ และอนาคตของเฟอร์นิเจอร์ไทยจะเป็นอย่างไรในวันที่คนเข้าสู่วิถีใหม่
New Normal?


      จิรวัฒน์ : ผมยังมองในมุมบวกนะ อย่างที่บอกว่า พอตีโจทย์เรื่องของความสะอาดหรือสิ่งที่คนตระหนักในอนาคต ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็ยังตอบโจทย์อยู่ แต่ในอนาคตธุรกิจจะกลับไปสู่ความสมถะและสมดุลมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราอาจออกแบบให้ฟุ้งเฟ้อ แต่จากนี้โปรดักต์จะกลับมาสู่ความเรียบง่ายมากขึ้น ใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าขึ้น ผมเชื่อว่าคนจะมองถึงความสูญเสียต่างๆ มากขึ้น แต่อย่างไรเขาก็จะยังใช้อยู่ดี จึงเชื่อว่าตลาดไม่ได้เล็กลง และยังมีโอกาสเติบโตได้อยู่


      เพียงแต่ตอนนี้เราเจอวิกฤต ตลาดเลยอาจจะหยุดนิ่งไปสักพัก  แต่พอผ่านไปทุกอย่างจะกลับมาเอง ผมให้เวลาไว้ 2 ปี 1 ปีแรกคือให้อุตสาหกรรมฟื้นตัวก่อน เพราะเฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่สิ่งแรกที่คนจะนึกถึง แต่จะเป็นสิ่งที่ 2  อย่างเขาสร้างบ้านขึ้นมา บ้านเสร็จแล้ว 1 ปี เฟอร์นิเจอร์ถึงจะเข้าไป เพราะฉะนั้นผมมองว่า กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้จะเป็นเฟสที่ 2 ที่จะฟื้นกลับมา เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้เราต้องประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้ใน 2 ปี คือปีนี้ถึงสิ้นปี แล้วปีหน้าทั้งปี ถ้าสามารถประคับประคองไปได้ ผมเชื่อว่าหลังปี 2022  ธุรกิจน่าจะกลับมาเป็นปกติในรูปแบบใหม่ของมัน แบบที่เหมาะสมขึ้น สมดุลขึ้น ซึ่งคนที่อยู่ตรงนั้นในวันนั้นก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้
 




       จากวิกฤตที่ต้องเจอ ธุรกิจได้บทเรียนอะไร?


       จิรวัฒน์ : อย่าวัดการบินของนกอินทรีกับนกกระจอกว่าใครเหินบินได้สูงกว่ากัน เพราะนกกระจอกก็ไม่รู้ความสวยบนภูผา ขณะที่นกอินทรีก็ไม่รู้ไอดินกลิ่นหญ้า และความสุขเหนือต้นไม้เตี้ยๆ วันนี้บางคนอาจจะมีเป้าหมายเป็นนกอินทรี อยากจะบินไกล แต่บางคนอยากเป็นแค่นกกระจอก ผมว่าทุกบริบทของอุตสาหกรรม เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ อยู่อย่างสมถะในบริบทของตัวเอง ไม่ได้แย่งพื้นที่กัน


      ผมว่า SME ช่วงนี้เป็นช่วงที่ท้าทาย เป็นช่วงที่จะบอกตัวเองว่าเราจะไปรอดไหม เป็นช่วงเวลาที่จะได้กลับมาสะท้อนตัวเองว่าเรายังขาดอะไรอยู่ อะไรที่ต้องหามาเติมเต็ม ถ้าเป็นธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ อาจใช้เวลานี้ตกแต่งโชว์รูมใหม่ เลือกสินค้าใหม่อีกรอบ จัดโกดังใหม่ จัดสะต๊อกใหม่ เวลาเกิดวิกฤตแม้ไม่มีลูกค้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้ลูกน้องหยุดทำงาน ยังทำได้อยู่ ผมเห็นบางคนนั่งบ่น ไม่มีลูกค้าเข้ามาเลย ซึ่งการไม่มีลูกค้าไม่ได้หมายความว่า คุณไม่มีงานนะ เพราะคุณสามารถสร้างงานขึ้นมาเองได้ และงานพวกนี้ตอนจบมันช่วยให้ธุรกิจของคุณคล่องตัวขึ้น เมื่อโควิดหมดไปและทุกอย่างกลับมาสู่สภาพที่บริหารจัดการได้แล้ว


      และอยากฝากรัฐบาลในเวลานี้คือเรื่องของสินเชื่อ Soft Loan  อยากให้เตรียม Soft Loan ต่อยอดให้ SME กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ด้วย เพราะมี SME อยู่จำนวนมากทั่วประเทศ  อยากให้ SME เข้าถึงได้จริง ถ้าเข้าถึงได้แล้วทุกคนยังรู้สึกว่าเขายังอยู่ต่อไปได้ มีกระสุนที่จะเดินต่อ มีพลังที่จะไปต่อได้อีกระยะหนึ่ง และพอพ้นปีหน้าไป ผมเชื่ออย่างมั่นใจว่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จะกลับมาแข็งแรงอย่างแน่นอน และจะแข็งแรงมากกว่าเดิมด้วย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​