แต่งงานบนเกาะ ชมท้องฟ้า ดูพระอาทิตย์ตก ไอเดียสร้างจุดขายบนพื้นที่รกร้างในแบบ “อินเลญา”

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : อินเลญา





Main Idea
 
  • นี่ไม่ใช่แค่โรงแรมที่พัก หรือร้านอาหารที่มีวิวสวยๆ แต่ยังเป็นฟาร์มผักออร์แกนิก เป็นที่ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ว่ายน้ำ ชมพระอาทิตย์ตก  หรือแม้แต่จัดงานแต่งงานสุด Exclusive บนเกาะส่วนตัว
 
  • ที่นี่คือ “อินเลญา” หนึ่งในหมุดหมายของคนชอบเที่ยว ที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองราชบุรี ในวันที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่หลังการมาเยือนของวิกฤตไวรัส พวกเขายอมรับและปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจครอบครัว ให้ยังมีอนาคตสดใสหลังจากนี้


       พระอาทิตย์สีเหลืองทองค่อยๆ เคลื่อนหายไปหลังหุบเขา เปลี่ยนพื้นที่ริมน้ำให้เป็นบรรยากาศยามค่ำคืน ประดับประดาไปด้วยแสงไฟ มองเห็นสะพานทอดยาวไปยังเกาะเล็กๆ กลางน้ำ พื้นที่ตรงนั้นใช้จัดงานแต่งงานสุดพิเศษ เป็นความทรงจำดีๆ ของใครหลายคนเมื่อได้นึกถึง “อินเลญา” (Inlaya) หนึ่งในหมุดหมายของคนชอบเที่ยวที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองราชบุรี
               




       เราได้รู้จักกับที่แห่งนี้มากขึ้นเมื่อได้พูดคุยกับ “ฉกรรจ์ พุ่มนาค” ผู้จัดการ อินเลญา (Inlaya) ทายาทวัย 28 ปี ของอดีตเจ้าของโรงพิมพ์ ที่วันนี้ตัดสินใจเลิกกิจการเดิมหันหน้าเข้าสู่ธุรกิจใหม่ โดยเริ่มสร้างจุดขายและความแตกต่างขึ้นมาจากพื้นที่รกร้างขนาด 200 ไร่ ใน ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี  ที่เรียกได้ว่าใกล้ตัวเมืองกว่าสวนผึ้ง  
 



 
  • เปลี่ยนที่ดินรกร้าง 200 ไร่ ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว


        “เมื่อกว่า 10 ปีก่อน คุณพ่อท่านได้ที่ตรงนี้มา ซึ่งเป็นที่รกร้างประมาณ 200 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเราไม่ได้ขุดเองแต่เกิดจากการที่เจ้าของเก่าขุดหน้าดินไปขาย ตอนนั้นก็ไม่ได้แพลนว่าจะทำอะไร รู้แค่ว่ามันสวย ช่วงเย็นจะมีพระอาทิตย์ตกตรงมุมหลังเขาพอดี ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่ติดอะไรหลายๆ อย่าง เลยมาดูว่าน่าจะเป็นที่พัก พอมีที่พักถ้าไม่มีร้านอาหารให้ลูกค้าก็คงไม่เวิร์ก เลยทำมาพร้อมๆ กัน ปรากฏร้านอาหารเสร็จก่อนจึงเปิดให้บริการเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว จำได้ว่าอีก 2 อาทิตย์เป็นวันลอยกระทง เราก็โปรโมทผ่าน  Facebook ว่า ลูกค้าที่มาทานอาหารที่นี่สามารถมาลอยกระทงได้ และลูกค้าที่เช็กอินจะได้กระทงและเครื่องดื่มฟรี ซึ่งนั่นเป็นวันแรกที่ทุกคนได้รู้จักอินเลญา” เขาย้อนเล่าจุดเริ่มต้น


        ก่อนจะบอกที่มาของชื่อ “อินเลญา” ว่ามาจาก ทะเลสาบอินเลของประเทศพม่า ซึ่งเขาและครอบครัวเคยไปท่องเที่ยวแล้วเกิดประทับใจ  หลังได้นั่งเรือผ่านลำคลองเล็กๆ ก่อนจะเข้าสู่ทะเลสาบสุดลูกหูลูกตา เหมือนได้หลุดไปอยู่อีกโลกหนึ่งไม่ต่างจากพื้นที่ของพวกเขา พอมาตั้งเป็นชื่อที่พักก็เพิ่มคำว่า “ญา” เข้าไป เพื่อให้มีความนุ่มนวลขึ้น จนเป็นที่มาของชื่อ อินเลญา อย่างที่ทุกคนรู้จักกันในวันนี้  โดยมีจุดขายคือธรรมชาติ และมีแลนด์มาร์คเป็นภูเขา
 



 
  • ไม่ได้เริ่มจากสร้างของมันต้องมี แต่ใช้วิธีมอง Landscape แล้วสร้างจุดขายที่ใช่
               

         หลายคนที่ทำสถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรมที่พัก มักเริ่มต้นจากโจทย์ว่า ที่เที่ยวควรมีอะไรบ้างที่จะเติมเต็มหรือดึงดูดผู้คนให้มาเยือนได้ แต่กับอินเลญาพวกเขาคิดต่างออกไป โดยเลือกที่จะมองภูมิทัศน์ที่มีแล้วคิดว่าจะสร้างอะไรให้เกิดขึ้นบนพื้นที่นั้นได้บ้าง


        อย่างเช่น เพราะมีน้ำเลยมีเรือคายัค มีสะพานทอดยาว เช่นเดียวกับ การมองเกาะเล็กๆ แล้วเกิดไอเดียว่า สามารถใช้จัดงานแต่งงานได้ เลยต่อยอด กลายเป็นบริการจัดงานแต่งงานในเวลาต่อมา           





       “เราไม่ได้เริ่มจากว่าอยากจะทำอะไร แต่จะเริ่มจากดูว่าสถานที่นั้นเหมาะกับอะไรมากกว่า อย่างผมมองไปบนเกาะแล้วคิดว่าน่าจะจัดงานแต่งงานได้ เลยขยายมาทำบริการงานแต่ง เริ่มต้นคิดแค่เรามีสถานที่ให้ ลูกค้าเอาอาหารเข้ามาเองหรือจะกินกับเราก็ได้ ภายหลังเราเรียนรู้งานไปเรื่อยๆ ก็เริ่มดีลกับออแกไนซ์ที่โอเคมารวมอยู่ในแพ็กเกจของเรา เพื่อให้บริการแบบครบวงจร ซึ่งค่าบริการจะขึ้นกับความต้องการของลูกค้า บางคนอาจอยากประหยัดงบหรือคิดว่าเขามีออแกไนซ์ที่ทำได้ดีกว่า ก็สามารถใช้ได้ โดยพื้นที่บนเกาะจุคนได้ประมาณ 180-200 คน กำลังสวย”


        จาก Landscape ที่มี เลยเกิดเป็นการแต่งงานบนเกาะส่วนตัว ขยายโอกาสธุรกิจให้กับพวกเขา ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการ ได้จัดงานแต่งให้ลูกค้าไปแล้วหลายสิบคู่
   





       ในขณะที่ลูกค้าหลักยังเป็นกลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นที่แวะมาถ่ายรูปสวยๆ ไปอวดโฉมใน Instagram ยิ่งสร้างการเป็นที่รู้จักและจดจำให้กับพวกเขามากขึ้น          
               

       นอกจากวิวสวยๆ ให้ชื่นชม ที่นี่ยังมีกิจกรรมอย่าง ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค โต๊ะพูล กิจกรรมสำหรับหมู่เพื่อนฝูง และสระว่ายน้ำที่อยู่ในส่วนของโรงแรม แถมยังมีฟาร์มผักสำหรับส่งเป็นวัตถุดิบในร้านอาหาร ที่วันนี้กลายเป็นธุรกิจใหม่เมื่อกิจการต้องหยุดชะงักไปเพราะไวรัสโควิด-19
 


 
  • ธุรกิจท่องเที่ยวยุค New Normal ต้องพึ่งพาโลกออนไลน์
               

        หลังการมาเยือนของไวรัสโควิด-19 อินเลญาก็เหมือนธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไปที่ได้รับผลกระทบต้องปิดให้บริการไปชั่วคราว ทำให้รายได้หดหาย จากลูกค้าที่แวะมาเยือนโดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ ที่สูงถึง 400-500 ราย ห้องพัก 25 ห้อง ก็เต็มแน่น กลับกลายเป็นรายได้เท่ากับศูนย์ตลอด 2 เดือนของวิกฤต ขณะที่ต้นทุนแรงงานหลายส่วนยังมีอยู่ เช่น คนสวนและช่าง ทำให้ต้องหาทางสร้างรายได้เพื่อเยียวยาสถานการณ์ในครั้งนี้


         คำตอบของพวกเขาคือผลผลิตจากฟาร์มอินเลญา ที่มีไฮไลท์คือ มะเขือเทศ และเมล่อน โดยเอามาเปิดตลาดบนโลกออนไลน์





        “ช่วงนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวพอดี ก็โชคดีที่ทำให้พอมีรายได้เข้ามา ซึ่งลูกค้าที่มาทานที่ร้านก็พอรู้จักผลผลิตจากฟาร์มของเราอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อย่างมะเขือเทศพวกนี้จะค่อนข้างเป็นที่นิยม ซึ่งบทเรียนจากโควิดทำให้เราต้องมาปรับกลยุทธ์ โดยเพิ่มในส่วนของออนไลน์เข้ามามากขึ้น ที่รู้สึกว่าเป็นข้อผิดพลาดคือ เราโฆษณาผ่านออนไลน์ก็จริง แต่ไม่มีสินค้าอะไรที่อยู่บนออนไลน์เลย เรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพของออนไลน์ได้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ มาเริ่มเอาก็ตอนที่มีปัญหาแล้ว ซึ่งมองว่าถ้าเราปูทางออนไลน์ไว้ตั้งแต่แรก โควิดอาจจะไม่มีผลอะไรกับเราเลยก็ได้  เพราะฉะนั้นตอนนี้เราจึงจะเน้นออนไลน์ เรียนรู้ออนไลน์ให้มากขึ้น สร้างโปรดักต์ที่จะขายได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะไม่รู้ว่าในวันหนึ่งหากเกิดอะไรขึ้นกับร้านอาหารหรือโรงแรม ถ้าเรามีโปรดักต์ส่วนอื่นเช่นที่เราผลิตจากฟาร์มหรืออะไรอย่างนี้ ขายอยู่บนออนไลน์ ก็น่าจะมาช่วยได้เวลาที่จะเกิดปัญหาอะไรกับธุรกิจ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ร้านอาหารหรือโรงแรมที่พักเท่านั้น ถ้าต้องปิดตัวก็ควรมีอะไรที่ทำให้เราอยู่ต่อไปได้” เขาสะท้อนมุมคิด


        ส่วนเทรนด์ของธุรกิจที่พักในอนาคต เขาบอกว่า ผู้บริโภคจะเน้นท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นโอกาสของอินเลญา ที่มีจุดขายคือธรรมชาติ ส่วนโจทย์ท้าทายไม่ต่างกันคือเรื่องของราคา โดยผู้บริโภคจะกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องราคามากขึ้น โดยจากนี้ราคาจะมีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า นั่นหมายความว่า ต้องไม่แพงหรือดูไม่คุ้มค่ากับเงินในกระเป๋าของลูกค้าด้วย





        “ต้องบอกว่าลูกค้าจะเริ่มคิดกับเรื่องการใช้เงินมากขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก ซึ่งเราใช้จุดขายธรรมชาติที่ต้องมีการดูแลรักษาแต่ก็ขายแพงไม่ได้ เราจึงต้องมาดูว่า พอจะมีรายได้จากช่องทางอื่นมาให้คอฟเวอร์ตรงนี้ได้หรือเปล่า ขณะที่ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของเราก็ต้องรักษาไว้ด้วย เช่น เราจะไม่เน้นโปรโมชั่นเพราะไม่อย่างนั้นลูกค้าจะรอแต่โปรโมชั่น โดยเราจะจัดโปรโมชั่นแค่ 2 ปีครั้ง และลดหนัก แบบไม่มีเงื่อนไข คือจะพักวันไหนก็ได้รวมถึงเสาร์-อาทิตย์ และใช้ได้นานถึง 2 ปี  ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมาก” เขาบอกกลยุทธ์และแผนรับมืออนาคตที่ท้าทายมากขึ้นนับจากนี้
               

       อินเลญา คือหนึ่งในธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในโครงการ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash วงเงิน 1 ล้านบาท สำหรับธุรกิจนิติบุคคลการท่องเที่ยว ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ซึ่งโครงการหลายอย่างที่เกิดขึ้น แม้แต่ธุรกิจจัดงานแต่งงานบนเกาะ ก็มาจากเม็ดเงินที่สถาบันการเงินให้การสนับสนุน รวมถึงใช้ในการขับเคลื่อนกิจการ เพื่อให้อินเลญายังคงเดินหน้าต่อไปได้ แม้ในอนาคตอาจต้องพบเจอวิกฤตที่หนักหนากว่าไวรัส แต่การปรับตัวอย่างมีแผนจะทำให้พวกเขายังคงอยู่ ไม่ต้องเลือนหายไปหลังพายุร้ายผ่านพ้น
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​