‘รักษา – รับ – ริเริ่ม – รุก’ สูตรดำเนินธุรกิจให้พ้นวิกฤต สไตล์ “โชค บูลกุล”

TEXT : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea
 
  • โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมายในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่
 
  • ไม่เว้นแม้แต่ “ฟาร์มโชคชัย” อุตสาหกรรมเกษตรและฟาร์มโคนมระดับประเทศ ที่วันนี้มีอายุธุรกิจผ่านมาแล้วกว่า 63 ปี แต่ในความบู๊ ลุย และลึกจากการบริหารธุรกิจของฟาร์มโชคชัยนั้น ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างไรบ้าง ลองไปติดตามกัน
 




    “ฟาร์มโชคชัย” อุตสาหกรรมเกษตรและฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ของประเทศและระดับเอเชีย วันนี้กว่า 63 ปีมาแล้วที่ธุรกิจได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ซึ่งมิใช่เพียงธุรกิจด้านการเกษตรและปศุสัตว์รายใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังเป็นต้นแบบในหลายๆ ด้าน ทั้งปรัชญาการดำเนินธุรกิจ การทำงาน ไปจนถึงการดำเนินชีวิต


     มาในวันนี้จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อธุรกิจมากมาย ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการของฟาร์มโชคชัยอย่างไรบ้าง แนวคิดใดที่ใช้นำพาธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ลองไปฟังสูตรดำเนินธุรกิจจาก “โชค บูลกุล” กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ชายผู้สร้างนิยามบริหารจัดการธุรกิจของตัวเองขึ้นมาผ่าน 4 มิติ ‘รักษา – รับ – ริเริ่ม – รุก’ กัน

 


 
  • ภาพรวมของธุรกิจฟาร์มโชคชัยในวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

     โชค บูลกุล : ตอนนี้เรามีธุรกิจในนามของฟาร์มโชคชัยทั้งหมด 7 ตัวด้วยกัน ได้แก่ ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตร ปศุสัตว์ และฟาร์มโคนมครบวงจร, ธุรกิจด้านอาหารสัตว์ ยา และเวชภัณฑ์, ธุรกิจภัตตาคาร “โชคชัย สเต็กเฮ้าส์”,  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างโรงงานพื้นที่ให้เช่า, ธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและสินค้าในนามแบรนด์โชคชัย, ธุรกิจท่องเที่ยวและที่พัก และตัวสุดท้าย คือ บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ เพื่อแชร์ประสบการณ์ทำงานจากทั้ง 6 บริษัทของเรา นำไปต่อยอด พัฒนาให้ธุรกิจอื่นๆ ต่อไป
 
 
  • จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ได้รับส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ มากมาย การจะเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ได้ในแบบฉบับของฟาร์มโชคชัย จะต้องทำอย่างไร

     โชค บูลกุล : โลกทุกวันนี้มีการ Disrupt เกิดขึ้นมากมาย ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าวิธีการหนึ่งที่เราจะสามารถเอาชนะคำว่า Disrupt ได้ คือ เราจะต้องทำธุรกิจให้มีความเข้มแข็งในสิ่งที่เรียกว่า Sustainability หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เราสามารถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ไม่ว่ามีวิกฤตอะไรผ่านเข้ามาธุรกิจก็ยังอยู่ได้ มีความดีพร้อมที่จะสู้กับทุกสถานการณ์ ซึ่งโลกทุกวันนี้ทุกคนต่างตกอยู่ในกระแสที่พยายามอยากสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ มีเรื่องของสตาร์ทอัพเข้ามา แต่ผมกลับมองว่านั่นเป็นการกระตุ้นแค่ในมุมเดียวเท่านั้น แต่จริงๆ ยังมีธุรกิจที่อยู่มานานอีกมากมาย ซึ่งมีองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่จะเป็นต้นแบบและนำพาให้เราอยู่แบบยั่งยืนต่อไปได้ และมีความสำคัญไม่แพ้กันเลย


     โดยต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าก่อนที่วิกฤตจากโควิดจะเข้ามา เราเองได้มีดำเนินธุรกิจที่คิดขึ้นมาในรูปแบบของตัวเอง  โดยหลักการทำงานหรือบริหารจัดการของฟาร์มโชคชัยนั้น  เราจะแยกออกเป็น 4 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1. “รักษา” 2. รับ” 3. “ริเริ่ม” และ 4. “รุก” ธุรกิจโดยส่วนใหญ่มักจะคิดถึงแค่มิติริเริ่มและรุกเท่านั้น เพื่อขยับขยายฐานธุรกิจออกไป จนลืมมองอีก 2 ด้านที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ รักษา และรับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาเราให้ผ่านพ้นการ Disrupt หรือการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ไปได้ โดยปกติสมาธิของคนเราส่วนใหญ่เวลาทำอะไรส่วนใหญ่จะทำได้ทีละมิติ แต่ในการทำธุรกิจแล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญและจำเป็นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เวลามองธุรกิจแต่ละตัวหรือตัดสินใจทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราพยายามจะทำและมองให้ครบทั้ง 4 ด้าน และทำให้ดีไปพร้อมๆ กัน
 



 
  • ช่วยอธิบายในมิติรับและรักษาให้ฟังหน่อย ว่าสามารถช่วยให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างไร

     โชค บูลกุล : ผมขออธิบายในมิติรับก่อน ซึ่งก็เหมือนกับการเตรียมตัวตั้งรับ เหมือนเราซื้อโทรศัพท์มือถือมาสักเครื่องหนึ่ง จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้ขายแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์นะว่ามันทำอะไรได้บ้าง แต่เขาขาย Operating System หรือระบบปฏิบัติการต่างหาก ซึ่งก็คือแพลตฟอร์มระบบการทำงานที่ควบคุมทุกอย่างนั่นเอง ซึ่งในความหมายของผมกับโลกที่มีการ Disrupt มากมายเกิดขึ้น เราต้องพัฒนา Operating System ของเราให้ดีพอเพื่อรองรับแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น สำหรับฟาร์มโชคชัย เราพยายามอัพเกรดกระบวนการวิธีการทำงานของเราให้มีความใหม่และทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพราะเรามีแอปพลิเคชันในการทำธุรกิจที่ค่อนข้างหลากหลาย อย่างน้อยๆ ก็ 7 กลุ่มธุรกิจอย่างที่เล่าไป


     ในส่วนของมิติรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ คือ แนวทางที่จะทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน หลายคนอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่สำหรับฟาร์มโชคชัยเราทำธุรกิจมา 63 ปีแล้วจึงมีความเข้าใจในส่วนนี้ดี เราเป็นธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในความร่วมสมัย เป็นธุรกิจที่ทำแล้วเหนื่อยมาก แต่เงินน้อย ในขณะที่คนสมัยใหม่ชอบทำอะไรที่เหนื่อยน้อยๆ แต่เงินเยอะ แต่ในกลุ่มนี้ก็ต้องไปแข่งขันกันในกลุ่มตลาดที่เรียกว่า Red Ocean แต่ว่าพวกเหนื่อยมากอย่างผม รายได้อาจไม่มาก แต่คู่แข่งเราก็น้อยตามไปด้วย เป็นโอกาสให้เราได้มีเวลาพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา และไม่ว่าโลกจะเป็นยังไงต่อไป ทุกคนก็ยังต้องกิน และต้องการอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น หน้าที่ของเราก็คือ พยายามพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นมาได้ เราต้องพยายามมองให้ออกให้ได้ว่าในอีก 20 - 30 ปีต่อจากนี้เราอยากเป็นยังไงและยืนอยู่ตรงจุดไหน





     และจากแนวทางในการทำธุรกิจที่เราตั้งขึ้นมาในมิติต่างๆ ทั้ง 4 ด้าน ทำให้เราทำธุรกิจอย่างค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว ฉะนั้นเวลามีการ Disrupt หรือวิกฤตจากโรคระบาดอย่างโควิดเข้ามา ก็ทำให้เราสามารถวิเคราะห์และจำแนกธุรกิจออกเป็นส่วนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะมันมีระบบคอยช่วยวิเคราะห์จัดการอยู่แล้ว ทำให้เราสามารถตัดสินใจได้เร็วในการเปรียบเทียบธุรกิจว่าตัวไหนควรไปต่อ ตัวไหนควรชะลอ ตัวไหนควรระงับ ตัวไหนควรขยาย เป็นต้น
 
 
  • จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และยังไม่มีปลายทางบอกได้แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ฟาร์มโชคชัยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง และเราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

     โชค บูลกุล : จากใน 7 ธุรกิจที่เราทำอยู่ ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย เพราะต้องปิดตามมาตรการที่รัฐบาลออกมา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แต่หากจะมององค์รวมทั้งหมดของธุรกิจ การ ท่องเที่ยวเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นธุรกิจที่เกิดจากการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากตัวธุรกิจหลักที่มีอยู่ ดังนั้นถึงรายได้จะหดหายไป แต่ตัวธุรกิจหลักที่เป็นพื้นฐานก็ยังดีอยู่ไม่ว่าด้านปศุสัตว์ ฟาร์มโคนม หรือธุรกิจอาหารสัตว์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร ตอนนี้เรามีการทำเดลิเวอรีมากขึ้น ก็พอไปได้ แต่เรียกว่าประคองมากกว่า


     ถามว่าสถานการณ์ในประเทศตอนนี้ดูเหมือนจะดีขึ้น หลายธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดตัว แล้วเราจะกลับมาเปิดธุรกิจท่องเที่ยวไหม สำหรับผมในตอนนี้ คือ อย่างที่บอกว่าเราขอรอดูอะไรให้มั่นใจก่อน ถ้าเราจะกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในมิติรักษาและรับของเรานั้นมีความแข็งแรงและพร้อมไหม เปิดแล้วมันสามารถรันต่อไปได้ต่อเนื่องไหม สัญชาตญานนักธุรกิจหลายคนอาจเลือกที่จะเปิดขึ้นมาก่อน และค่อยไปตายเอาดาบหน้า ค่อยว่ากันทีหลัง แต่สำหรับผมถ้ามองแล้วว่ามันไม่ยืนยาว เปิดแล้วขาดทุนแน่ ได้ไม่คุ้มเสีย ผมสู้ไม่เปิดดีกว่า แต่เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เล่นเกม ขี่ม้า ผมสามารถยกเอามาไว้ข้างนอกฟาร์มได้ เพื่อให้ลูกค้าที่ผ่านไปมา แวะมาซื้อของเราก็ยังมีกิจกรรมให้เล่นผ่อนคลายได้
 



 
  • แล้วพนักงานที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนนี้เราดูแลและจัดการอย่างไร

     โชค บูลกุล : ต้องเล่าอธิบายให้ฟังก่อนว่า ตั้งแต่เริ่มแรกในการจ้างคนเข้ามาทำงาน 1 คน เราเองมีการคัดเลือกและทำความเข้าใจกับโปรไฟล์ของพนักงานทุกคนที่เข้ามาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว คือ เขาต้องสามารถทำอะไรได้มากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น ต่อให้มารีดนมวัว ก็ต้องจบปริญญาตรี และเขาต้องเป็นนักแสดงได้ ทำงานปศุสัวต์ได้ หรือเป็นนักโภชนาการได้ด้วย เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา มันก็ไม่ยากที่เราจะสามารถโยกย้ายเขาให้ไปทำในส่วนอื่นๆ ได้ เพราะแต่ละคนสามารถทำงานได้หลากหลายอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่านี่คือ สิ่งที่แต่ละบริษัทควรให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรเข้ามาทำงาน


     แต่ก็ต้องยอมรับว่าในวันหนึ่งที่ถึงเวลาที่เราต้อง Downsizing หรือลดขนาดลง เราก็ต้องประเมินบุคคลจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ ความสามารถและแอตติจูดหรือทัศนคติในการทำงานของเขาที่มีต่อบริษัท ว่าเขายินดีที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับองค์กรต่อไปไหม หลายคนทำงานมานานก็มักจะมีคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจและแก้ไขสถานการณ์ในยามคับขันเช่นกัน ถ้าถึงคราวจำเป็น เราก็ต้องตัดสินใจคัดเลือกเขาออกไป
 



 
  • เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ฟาร์มโชคชัยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงต่อไป และการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง

     โชค บูลกุล : จากในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมาก่อนที่โควิดจะเข้ามา ผมมีเวลามากขึ้น ทำให้เราสามารถมองออกได้ว่าธุรกิจตัวไหนมีอนาคต ตัวไหนน่าจะไปไม่รอด ตัวไหนต้องปรับ ตัวไหนควรเลิก ซึ่งหากสามารถจัดการตรงนี้ได้เสร็จ เราก็จะเข้าสู่มิติต่อไป คือ การรุกเดินหน้าอย่างเต็มตัว แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะทำให้คนในองค์กรมองเห็นภาพเดียวกัน และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น


     ตัวแรกที่เราคิดจะทำต่อไป คือ ผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ โดยเราจะพัฒนาให้เป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในเรื่องของร้านอาหารก็คงดูในเรื่องเดลิเวอรีมากขึ้น ส่วนการท่องเที่ยวผมอาจจะจำกัดให้มีขนาดเล็กลง อย่างที่บอกเราอาจโยกออกมาไว้ด้านหน้าให้คนมาซื้อของและได้มีกิจกรรมให้เล่นไปด้วย แต่ตัวธุรกิจที่คาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร และยังคงทำต่อไป คือ ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรฟาร์มโคนม การผลิตอาหารสัตว์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความต้องการใช้อยู่
 



 
  • ทำธุรกิจด้านเกษตรมานาน มีความคิดที่จะเบื่อบ้างไหม และยิ่งเป็นธุรกิจที่ทำเยอะ เหนื่อย แต่ได้น้อย อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณยังเลือกที่จะยืดมั่นและยืนหยัดอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป

     โชค บูลกุล : ถามว่าทำไมยังทำธุรกิจนี้อยู่ จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่โจทย์ของผม แต่เป็นของคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเห็นธุรกิจดำเนินไปต่อ ผมเพียงแค่เข้ามารับช่วงต่อ ฉะนั้นหน้าที่ของเราในฐานะคนเข้ามาช่วยรับผิดชอบ ก็คือ ทำยังไงให้มันอยู่รอดได้ และอยู่ย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นหนี้ ไม่ใช่ธุรกิจที่รวยมากมาย แต่ก็ไม่เอาเปรียบใคร


     ผมเชื่อว่าคุณค่าของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรวยมากแค่ไหน หรือคนจะชื่นชมเราต่อหน้าแค่ไหน ผมเชื่อว่ามีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องฝืนทำ เพราะต้องการรักษาสถานภาพในสังคมให้คนอื่นยังเรียกเราว่าเป็นนักธุรกิจพันล้าน แสนล้าน แต่นั่นไม่ใช่ Misson หรือพันธกิจของผม หน้าที่ผม คือ แค่ทำตามสิ่งที่เจ้าของซึ่งก็คือคุณพ่อคุณแม่ดำริไว้เท่านั้นว่าท่านอยากเห็นฟาร์มโชคชัยอยู่ไปอีกเป็นร้อยๆ ปี ที่สำคัญต้องไม่มีหนี้ เลยเป็นที่มาให้ผมต้องออกแบบมิติต่างๆ ในการทำธุรกิจ คือ รักษา, รับ, ริเริ่ม, รุก





     การทำธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอาจเหนื่อยกว่า ได้เงินน้อยกว่า แต่เราภูมิใจที่อาชีพเราเป็นอาชีพบนดินของพระเจ้าแผ่นดิน นี่คือ ความภาคภูมิใจของเราชาวฟาร์มโชคชัย และทุกวันนี้ผมยังสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในองค์กรอื่นเพื่อให้คำปรึกษาและใช้ระบบหรือเอาคำศัพท์เหล่านี้ที่เราใช้อยู่ในฟาร์มโชคชัยไปใช้กับองค์กรอื่น ได้เห็นคนองค์กรอื่นใช้คำศัพท์เดียวกันกับที่เราใช้ นั่นคือ ความสนุกของผม และผมเชื่อว่าประเด็นของผมมีแค่นี้
 

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​