เปิดใจผู้ประกอบการโรงแรม จ.ระยอง ในวันที่เจอโควิดรอบ 2 ซ้ำเติมธุรกิจ

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • “ระยอง” เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก ที่โดดเด่นทั้งเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ผลไม้ชั้นยอด ตลอดจนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่เศรษฐกิจดี มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
 
  • แต่ทันทีที่โควิด-19 มาเยือน ธุรกิจของจังหวัดกลับหยุดชะงัก หลายโรงงานปิดตัวลง ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องหยุดให้บริการชั่วคราว บางรายที่ไปต่อไม่ไหวต้องถอนตัวจากธุรกิจ ที่ยังอยู่ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตนี้
 
  • “โรงแรมพิมพิมานจ.ระยอง คือหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ความโชคร้ายของพวกเขาและชาวระยองคือต้องเจอกับโควิดถึง 2 รอบ พัดพาความหวังให้ดับสลาย รอเพียงวิกฤตร้ายผ่านพ้น และฟื้นความมั่นใจของทุกคนให้กลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง




      “ตอนนั้นทุกอย่างกำลังจะกลับมา เราเพิ่งเริ่มมีลูกค้าโทรจองเข้ามา มีหน่วยงานราชการจองที่จะเที่ยว รถบัสประมาณ 6 คัน ลูกค้า Walk-in อีกประมาณ 20-30 ห้อง ห้องเรามีกว่า 30 ห้อง ก็เรียกว่าจองเต็มหมด ตอนนั้นรู้สึกว่าคนไทยคงอั้นมา 3-4 เดือนแล้ว และระยองก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่หน่วยงานราชการจะมาศึกษาดูงาน คนมาเที่ยวสะดวกเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพ เลยมั่นใจว่าเราเจ็บปวดมาเยอะแล้วทุกอย่างคงกำลังดีขึ้น แต่ปรากฏหลังเกิดข่าวทหารอียิปต์ติดโควิด  ในช่วง 2-3 วันที่เกิดเหตุ ลูกค้า 95 เปอร์เซ็นต์แคนเซิลทันที เราต้องคืนเงินมัดจำลูกค้าไปไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท”





      นี่คือเสียงสะท้อนจาก “ณพล ผุดผ่อง” เจ้าของ “โรงแรมพิมพิมาน” หนึ่งในโรงแรมที่ตั้งอยู่บริเวณหาดแหลมแม่พิมพ์ จ.ระยอง ที่อยู่ในธุรกิจมากว่า 10 ปี และยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหนาที่สุดสำหรับพวกเขาและชาวระยอง  
การต้องเจอวิกฤตโควิด-19 ถึงสองครั้งสองครา ไม่ใช่เรื่องสนุก และสร้างรอยแผลที่เจ็บจุกมากๆ ให้กับพวกเขา
 


       พายุลูกที่ 1 : เมื่อโควิด-19 มาเยือนเมืองเศรษฐกิจระยอง


      ณพล คือคนระยอง เขาลงหลักปักฐานทำธุรกิจในจังหวัดบ้านเกิดเพราะเห็นศักยภาพของผืนดินแห่งนี้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่เรียกได้ว่าครบเครื่อง ทั้งธรรมชาติที่งดงาม มีทะเลสวยไม่แพ้ภาคใต้ มีสวนผลไม้ขึ้นชื่อ แถมยังอยู่ใกล้กรุงเทพทำให้เดินทางสะดวกสบาย เขาจึงทำธุรกิจโรงแรมขึ้นในชื่อ “พิมพิมาน” โดยเลือกทำเลใกล้ชิดธรรมชาติ ติดชายทะเลหาดแหลมแม่พิมพ์ จ.ระยอง ที่มีหาดทรายสีขาวทอดยาวถึงกว่า 4 กิโลเมตร ดำเนินธุรกิจมากว่า 10 ปี มีลูกค้าหลักคือหน่วยงานราชการ จนปัจจุบันขยายมารองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น แต่ยังเน้นคนไทยเป็นหลัก
 

      กิจการยังดำเนินไปได้ด้วยดี แม้มีวิกฤตเข้ามาบ้างแต่ก็ไม่ได้หนักหนา จนมาปีนี้ที่โลกได้เจอกับไวรัสตัวร้ายที่ชื่อโควิด-19





      “วิกฤตนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด โดยช่วงแรกที่เริ่มเห็นข่าวโควิดระบาดที่ประเทศจีน เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะมากระทบกับภาคการท่องเที่ยวของเรารุนแรงอะไร เข้าใจว่าประเทศจีนเกิดแล้วเขาก็คงจะดูแลจัดการได้ แต่กลายเป็นว่าไวรัสมันไปทั่วโลก ทุกพื้นที่ แต่ในประเทศไทยยังโชคดีที่เรามีการควบคุมไว้ได้ แต่ก็มีผลกับลูกค้าที่เดินทางมาท่องเที่ยวไม่ได้ อย่าง ลูกค้าที่เป็นโรงแรม 5 ดาว บนเกาะเสม็ดเขากระทบเต็มๆ เพราะลูกค้าหลักของเขาคือต่างชาติ แต่ของเราช่วงแรกๆ ยังพอมีลูกค้าอยู่บ้างเพราะเป็นหน่วยงานราชการ และลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แต่หลังจากล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เราไม่ได้ลูกค้าเลยประมาณ 3 เดือนเต็มๆ รายได้เป็นศูนย์ จริงๆ จ.ระยอง ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้ประกาศปิดโรงแรมแต่มันเหมือนกับเราโดนตัดแขนตัดขา เพราะชายหาดสั่งปิด สถานที่เที่ยวสั่งปิด ร้านอาหารสั่งปิด แล้วก็ไม่ให้เดินทาง พอเจอกับความยุ่งยากแบบนี้คนเลยเลือกที่จะไม่เดินทาง ไม่ออกนอกบ้าน ไม่มาท่องเที่ยว ซึ่งกระทบกับโรงแรมของเราไปด้วย”


       แม้จะเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ระยองก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถือว่าบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดี โดยไม่มีผู้ติดเชื้อเลยในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะมาเจอแจ็กพอตกับโควิดรอบสอง แต่หนึ่งในอุปสรรคของผู้ประกอบการในช่วงแรกคือ การที่ทางจังหวัดไม่มีประกาศปิด ทำให้ผู้ประกอบการยากที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ


      “ตอนนั้นทางพัทยา จันทบุรี และตราด ประกาศล็อกจังหวัด แต่ผู้ว่าฯ ระยองไม่ประกาศปิดจังหวัด ซึ่งมองว่า ถ้าสั่งปิดไปเลยอาจดีกว่าเพราะอย่างน้อยเราก็สามารถเอาคำสั่งนี้ไปบอกหน่วยงานที่เขาพร้อมจะช่วยเหลือเราได้ เช่น สถาบันการเงิน หรือนโยบายที่ช่วยเหลือลูกจ้างของเรา ตลอดจนมาตรการทางภาษีต่างๆ แต่นี่เรายังไม่ได้เนื่องจากไม่มีคำสั่งปิดจังหวัด แต่จริงๆ ก็เหมือนเราโดนตัดแขนตัดขา ต่อให้ไม่ปิดก็เหมือนปิดอยู่แล้ว ตอนนั้นทางธุรกิจโรงแรมจังหวัดระยองก็อยากจะมีคำสั่งปิดมากกว่าในรอบแรก” เขาเล่า
 




      สูตรรับมือพายุลูกแรก : ลดต้นทุน ไม่สร้างรายจ่าย ประคองธุรกิจให้อยู่รอด


      ถามว่าหลังเจอวิกฤตระลอกแรก พวกเขาหาทางออกอย่างไร ณพล บอกเราว่า ก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง ต้องหาทางรอด ลดแรงกระแทก ทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจพังน้อยที่สุด นั่นคือ การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และพยายามไม่สร้างค่าใช้จ่ายเพิ่ม ควบคู่กับฟื้นฟูตัวเองในรูปแบบ New Normal สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่โรงแรมไปพร้อมๆ กัน เพราะยังมีความหวังที่จะกลับมาเปิดให้บริการต่อ โดยทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พนักงานเรื่องการดูแลความสะอาด ความปลอดภัย ทั้งต่อตนเองและลูกค้า ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โรงแรมของพวกเขาก็พร้อมที่จะเปิดให้บริการได้ทันที


      
 




      พายุลูกที่ 2 : โควิดรอบสอง ทำฝันผู้ประกอบการระยองดับสลาย


      หลังสถานการณ์ไวรัสในประเทศเริ่มคลี่คลายลง รัฐบาลเริ่มมีนโยบาลปลดล็อก ผู้คนที่อัดอั้นมานานเริ่มออกมาท่องเที่ยว และระยองก็เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่หลายคนเลือกมาเยือนในตอนนั้น แต่ใครจะคิดว่าฝันของทุกคนต้องดับสลายเพราะการมาถึงของข่าวผู้ติดเชื้อในระยอง กลายเป็นจังหวัดที่ต้องเจอกับโควิดรอบสองในช่วงเวลาที่ฤดูท่องเที่ยวกำลังกลับมา ผู้คนมีวันหยุดยาวให้ออกเดินทางท่องเที่ยวกันอีกครั้ง
 

      “โควิดรอบสองน้ำตาท่วมกันทุกคน เพราะทุกอย่างกำลังจะกลับมาแล้ว เพิ่งจะมีลูกค้าโทรเข้ามาจอง หลังคนไทยอั้นมา 3-4 เดือน ไม่คิดเลยว่าจะเป็นแบบนี้ อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะช่วยจังหวัดระยองมากกว่านี้ ที่ผ่านมาแม้นายกรัฐมนตรีจะมาลงพื้นที่ แต่คนก็ยังมีคำถาม บางคนก็ยัง 50:50 ตัดสินใจไม่มาดีกว่ารอเดือนหน้าค่อยมาทีเดียว เอาให้แน่ใจก่อน สื่อก็ตีข่าว  อยากให้ภาครัฐช่วยกันออกข่าวว่าระยองปลอดภัย อยากให้ทำเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วน  ตัวที่หนักสุดเลยที่ทำให้ระยองเจ็บปวดที่สุด คือการที่ผู้ว่าราชการในจังหวัดต่างๆ ขอให้คนในจังหวัดไม่มาเที่ยวระยอง ใครไประยองกลับมาต้องกักตัว อยากให้กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงไปยังผู้ว่าฯ ว่าทำอย่างนี้ระยองจะได้รับผลกระทบ ทั้งที่มันไม่ใช่ ภาครัฐต้องอย่าไปซ้ำเติม ถ้าจะให้ระยองกลับมาเร็วกว่านี้ จะต้องช่วยกันกระตุ้นมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นระยองจะตายกันหมด” เขาย้ำ


      ในส่วนของผู้ประกอบการในพื้นที่เอง เขาบอกว่าที่ผ่านมามีความพยายามให้การเรียกความมั่นใจให้กับลูกค้า ทั้งการทำเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การปรับตัวสู่ New Normal และพยายามกระตุ้นความเชื่อมั่นในหลายๆ หนทางเพื่อบอกกับผู้คนว่าพวกเขากำลังพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะฟื้นความเชื่อมั่นและดึงดูดผู้คนให้กลับไปเที่ยวระยองกันอีกครั้ง


      “ต้องบอกว่าที่ผ่านมาระยองไม่เคยมีเคสผู้ป่วยโควิดเลย ระยองถือเป็นจังหวัดที่มีความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว เราไม่มีผู้ติดเชื้อเลยมา 50-60 วัน มีมาตรการในการทำความสะอาด ทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร มีการวัดไข้ เราทำกันในพื้นที่ทั้งหมด ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ทำอะไรที่เจอความเสี่ยงเลย ผู้ประกอบการ หรือประชาชนในจังหวัดก็ปฏิบัติได้ดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีผลกระทบจากตรงนี้ ความปลอดภัยในพื้นที่มีแน่นอน ขอแค่เขากล้ากลับมา และภาครัฐก็ต้อง Action เร็วกว่านี้ ระยองเหมือนเป็นจังหวัดโชคร้ายที่เกิดจากความผิดพลาดของคุณ คุณก็ต้องหาแนวทางมาช่วยเหลือเราด้วย ไม่อย่างนั้นระยองก็จะตายกันหมด ผู้ประกอบการก็จะล้มกันหมดในระยอง”


 





      เรียนรู้จากวิกฤต ปรับตัวรับมือความเสี่ยงในอนาคต



       เมื่อถามว่าวิกฤตทั้ง 2 ครั้งให้บทเรียนอะไร ณพล บอกเราว่า สอนให้ธุรกิจต้องปรับตัว และบริหารความเสี่ยงให้เก่งมากขึ้น


      “สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ 1.การตลาด เราคงจะไม่จับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป อย่างคนที่เน้นลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเดียว ก็ต้องกันมาอิงกับลูกค้าในประเทศด้วย เราเองที่เน้นลูกค้าคนไทยอยู่แล้ว ก็ต้องมีลูกค้าหลายๆ กลุ่มมากขึ้น ทั้งตลาดล่าง ตลาดกลาง ตลาดบน ต้องทำการตลาดกับลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงลูกค้าต่างประเทศด้วย  2.การสื่อสารออนไลน์สำคัญ มันช่วยเราได้ ยิ่งตอนโควิดเห็นชัดเลยว่า ออนไลน์อย่างเดียวเท่านั้นที่จะเหลือให้ผู้ประกอบการใช้ทั้งในการขายห้องพัก ขายวอชเชอร์ ซึ่งออนไลน์จะต้องอยู่ในแผนกลยุทธ์การตลาดต่อไปจากนี้ 3.ทำธุรกิจต้องกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น อย่างเดิมรายได้หลักคือโรงแรมอย่างเดียว ไม่มีรายได้จากช่องทางอื่นเลย บางทีก็อาจต้องมีธุรกิจอื่นคู่กันไปด้วย อย่าง ร้านอาหาร หรือบริการนำเที่ยวอะไรพวกนี้ 4.ต้องหาแนวทางทำอะไรที่เกี่ยวกับออนไลน์มากขึ้นเรียนรู้การทำ Digital Marketing ทำระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ พวกนี้ต้องคิด และต้องกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น”




      แม้จะเจอวิกฤตที่หนักหน่วง และกำลังดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด แต่ณพลบอกว่า ยังอยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกคน อยากให้เตรียมกลยุทธ์ทางการตลาดให้พร้อม ทำตลาดกับลูกค้าทุกกลุ่ม จะอิงกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ พยายามเรียนรู้เรื่องออนไลน์ จะทำธุรกิจอะไรก็ตามขอให้ประยุกต์ไปสู่ 4.0 ให้ได้ และต้องสู้กันต่อไป เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
              

      ขอแค่คนไทยยังเชื่อมั่น พวกเขาก็พร้อมกลับมาให้บริการอย่างเต็มที่และดีที่สุด เพื่อทุกคนอีกครั้ง
 
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​