ฟังรุ่นพี่ “ส.ขอนแก่นฯ” แนะวิธีพลิกเกมธุรกิจ จับโอกาสโตในวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea           
 
 
  • ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจต่างประสบปัญหาด้านยอดขายที่ลดลง ทำให้ต้องมองหาจุดแข็งเพื่อสร้างโอกาสใหม่ที่จะผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแก่นของธุรกิจคือ อาหาร จะมาร่วมแชร์มุมมองการปรับตัว และการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ภายใต้การบริหารของผู้บริหารรุ่นใหม่ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ
 
  • ข้อดีของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีกว่า แต่การเป็น SME จะสามารถปรับตัวได้คล่องตัวมากกว่า จึงมีคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยเป็น SME มาก่อนว่า ในวิกฤต SME ควรต้องเริ่มต้นแก้ปัญหาจากจุดใด และจะสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตขึ้นมาได้อย่า 
               


 
        การมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตในยุคโควิด-19 นี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่สำหรับ บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สามารถใช้จังหวะนี้ตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจของตนเอง พร้อมมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้บริษัทฯ ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง






      “จรัญพจน์ รุจิราโสภณ”
CEO (Processed Foods & Support Function) บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในสองทายาทธุรกิจที่เข้ามารับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ “เจริญ รุจิราโสภณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)


      เขาเล่าถึงผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าช่วงนั้นยอดขายสินค้าของบริษัทฯ ตกลงไปมาก เช่น ข้าวกล่องแช่แข็ง มียอดขายลดลงเนื่องจากร้านสะดวกซื้อเปิดได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม  ส่วนธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถเปิดบริการให้ลูกค้านั่งในร้านได้ ทำให้ยอดขายของร้านอาหารลดลงไปเช่นกัน แต่ลดลงไปไม่มากเพราะมียอดขายจากธุรกิจเดลิเวอรี่เข้ามาทดแทน





       ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารพื้นเมือง อาทิ แหนม หมูยอ หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ใส้กรอกอีสาน พบว่ามียอดขายเติบโตขึ้นในช่วง 1 เดือนแรกที่ผู้บริโภคต้องการซื้อของกักตุนเพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้าน จนมาถึงช่วงเดือนพฤษภาคม สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ


      การปรับตัวในท่ามกลางวิกฤติเหล่านั้น ส.ขอนแก่นฯ ได้วางแนวทางไว้ 3 ขั้นตอน คือ ออกมาตรการควบคุมการติดเชื้อโควิดภายในองค์กรอย่างเคร่งครัด ถัดมาคือการแก้ปัญหายอดขายสินค้าที่ลดลงไป โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ และธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น และสุดท้าย คือการมองถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต





      “ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เราสร้างมา ทำให้โชคดีมากที่พนักงานทุกคนตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับบริหารให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจนไม่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการมีทีมงานที่ดี พร้อมรับกับความท้าทายในการแก้ปัญหา เมื่อมีการประชุมระดมสมอง และผมบอกความจริงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้รับรู้ ทุกคนจึงพร้อมใจกันช่วยและพยายามหาโซลูชั่นเข้ามาเพื่อเพิ่มยอดขาย


     กลายเป็นว่าเราได้มีโอกาสตรวจสุขภาพธุรกิจไปในตัวด้วยว่า 8-9 ธุรกิจที่บริษัทฯ มีนั้น มีความแข็งแรงหรือไม่ และใช้โอกาสนี้ในการสะสางปัญหาทุกอย่างตั้งแต่ต้นตอ และบอกถึงความคาดหวังของเราไป ซึ่งทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทำให้ตอนนี้ธุรกิจสามารถ recover กลับมาได้ ต้องยอมรับว่าปีนี้อาจจะไม่ดีนัก แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับคืนมาปกติได้อย่างสมบูรณ์” จรัญพจน์ กล่าว


      เขาบอกอีกว่า เมื่อห้ามเลือดและแก้ปัญหาได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำจากนี้คือการมองไปในอนาคต โดยมองหาว่า New Normal จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นได้สร้างความทุกข์ให้กับผู้คน แต่เราคิดว่าน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจมหาศาล และเราก็มองเห็นโอกาสในวิกฤติครั้งนี้ โดยมองเห็นเทรนด์ใหญ่ใน 3 เรื่อง


      เรื่องแรกคือทุกคนจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ต้องเน้นสะอาดและปลอดภัย บริษัทฯ จะมุ่งยกระดับและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตนี้ให้มากขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะครอบคลุมเทรนด์หลัก ๆ 6 ด้าน ประกอบด้วย อร่อย, ดีต่อสุขภาพ, สะดวกสบายมากขึ้น, ดีไซน์สวยงาม, ราคาเข้าถึงง่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม






     เรื่องที่สองคือการให้ความสำคัญกับธุรกิจออนไลน์ แม้ว่า ส.ขอนแก่นจะเติบโตมากจากออฟไลน์ แต่ในช่วงโควิด พบว่ามีฐานลูกค้าใหม่จากตลาดออนไลน์ที่เราจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้พัฒนาต่อได้ อย่างไรก็ดี มองว่าธุรกิจอาหารยังต้องให้ความสำคัญกับตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป และเทรนด์สุดท้ายที่เรามองเห็น จะเป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในระดับประเทศ ที่คาดการณ์ถึงอัตราการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นนับจากนี้ เราจึงกำลังพัฒนาโมเดลฟู้ดทรัค ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ด้วย


     “ตอนนี้เราพยายามหา นิว เอสเคิร์ฟ ซึ่งก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจฟู้ดทรัค ให้เป็นระบบแฟรนไชส์ที่ทุกคนสามารถใช้เงินลงทุนไม่สูงนักแต่สามารถคืนทุนได้เร็ว เพราะจะเป็นธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ทุกมื้ออาหาร” จรัญพจน์ กล่าว






       ทั้งนี้ นอกจากจะได้เห็นมุมมองและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจอาหารรายใหญ่อย่าง ส.ขอนแก่นฯ แล้ว ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยเป็นเอสเอ็มอีมาก่อน จนสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น จรัญพจน์ ชี้จุดแตกต่างว่า ข้อดีของการเป็นบริษัทจดทะเบียนคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่า และมีโอกาสได้คนดีและเก่งเข้ามาร่วมงาน แต่หากมองถึงความคล่องตัวในการปรับตัวนั้น เอสเอ็มอีมีจุดแข็งในเรื่องของความคล่องตัวสูงกว่า


       “ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี คือการโฟกัสในธุรกิจของตนเองให้ชัดเจน เริ่มจากการมองหาตลาดเล็ก ๆ ก่อนขยายออกไปให้เป็นแมสมากขึ้น และในท่ามกลางวิกฤตินี้ เอสเอ็มอีควรสำรวจตัวเองให้มาก ต้องมองหาธุรกิจที่เรารักให้ได้มากจริง ๆ เพื่อเราจะได้มีภูมิต้านทานเวลาเกิดปัญหาและจะมีความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่เรารัก” เขากล่าวทิ้งท้าย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​