ความลับของธุรกิจครอบครัว กับภาพที่มองไม่เห็น โดย ชนรรค์ สมบูรณ์เวชการ




Main Idea

 
  • ทำไมตอนเป็นเด็กพ่อและแม่ถึงทำอะไรหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจ อย่างการให้ความสำคัญกับคนบางคน ไปต่างประเทศในเมืองเดิมๆ หลายมื้อไม่เคยได้กินข้าวกับที่บ้าน ปิดเทอมต้องนั่งพับกล่องอยู่ในโรงงาน นานๆ ทีถึงจะได้ไปเที่ยวอย่างคนอื่นเขา หลายคำถามที่ไม่กล้าแม้แต่จะถามเมื่อยังเยาว์วัย
 
  • การได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “ธุรกิจครอบครัว” และมีโอกาสไปสัมภาษณ์บริษัทของตัวเอง ทำให้หลายคำถามจากทายาทธุรกิจ “ชนรรค์ สมบูรณ์เวชการ” ส่งไปยังผู้เป็นพ่อ “สิทธิชัย สมบูรณ์เวชชการ” และคำถามที่เคยสงสัยในวัยเด็ก ก็เพิ่งได้คำตอบในวันนี้  และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในเชิงทัศนคติของลูกชายคนนี้
 
 
 

     ในช่วงเวลาเด็ก จะเป็นช่วงเวลาที่ได้เจอคุณพ่อกับคุณแม่น้อยมาก และการที่ผมไปโตในต่างประเทศนั้นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์เหินห่างไปไกลยิ่งขึ้น ในสมองผมจำเรื่องราวได้มากมาย และมีข้อสงสัยหลายๆ ข้อ จนถึงปัจจุบัน เช่น ทำไมคุณพ่อถึงให้ความสำคัญกับคนนี้มากๆ จนถึงกับถามตัวเองในใจหลายครั้งว่า “ไปบ้านลุงคนนี้อีกแล้วเหรอ” ทำไมผมถึงไม่ค่อยเจอท่าน ทำไมการไปต่างประเทศแต่ละครั้งที่ลูกๆ คิดว่าพ่อแม่พาไปเที่ยวลูกๆ ก็ได้ไปที่เดิมคือเมืองกวางเจาเกือบทุกปีจนผมได้ไปเรียนเมืองนอก แม้กระทั่งสัญญาเล็กๆ น้อยๆ ว่า พ่อลืมพาไปซื้อเกมเครื่องใหม่ที่คลองถม แต่สุดท้ายก็พาไปในสองอาทิตย์ ผมก็ยังจำได้เสมอ
               




     ชีวิตในวัยเยาว์ของผมคือ ตื่นมาคุณพ่อหรือคุณแม่ไปส่งบ้าง เพราะพี่น้องอยู่คนละโรงเรียนกัน คนขับรถนำรถส่งของเป็นรถกระบะสีแดงที่ใช้ส่งของมารับที่โรงเรียนเป็นประจำ บางทีก็โดนเพื่อนล้อว่าพ่อขับกระบะเหรอ นานๆ ทีจะได้นั่งรถซีดานที่คุณพ่อคุณแม่ขับเพื่อกลับบ้าน หลายมื้อจะไม่ได้ทานกับที่บ้าน เพราะชีวิตในวัยเรียนคือ ตื่นนอน นั่งรถ เรียน เรียนพิเศษ  กินข้าวในรถ กลับบ้าน ทำการบ้าน นอน ส่วนในวันเสาร์อาทิตย์นั้นคุณแม่ก็พาไปเรียนพิเศษ โตขึ้นมาก็เริ่มให้นั่งรถเมล์กลับบ้านเองหลังเรียนพิเศษ ปิดเทอมชีวิตคือคุณพ่อคุณแม่พามาที่โรงงาน ไปนั่งพับกล่อง แต่สิ่งที่ดีที่สุดของการปิดเทอมคือการไปคุยกับคุณปู่คุณย่าและญาติๆ ที่เอ็นดูผม นานๆ ทีจะได้ไปเที่ยว ได้ไปกินอะไรดีๆ กับที่บ้าน มันอาจจะเป็นปมของผมมาตลอดว่า ผมอาจจะขาดความอบอุ่นในช่วงวัยเยาว์ แต่จนถึงโตและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกครอบครัวในทุกวันนี้ คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่ผมไม่กล้าแม้แต่จะถามเลยว่าทำไม
               




     ปัจจุบันผมเรียนปริญญาเอกควบคู่ไปกับการทำงาน และหัวข้อวิทยานิพนธ์ของผมคือ “ธุรกิจครอบครัว” เลยมีโอกาสในการไปสัมภาษณ์องค์กรที่เป็นต้นแบบที่ดีเพื่อนำมาพัฒนาให้กับธุรกิจครอบครัวของประเทศ และหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในข้อกำหนดของงานวิจัยของผม คือ บริษัทของผมเอง ในตอนแรกก็หวั่นเกรงที่จะไปถามคุณพ่อ เพราะแกอาจจะไม่สบายใจที่จะตอบคำถาม และคุณพ่อเป็นคนพูดน้อย ทำเยอะกับลูกๆ เป็นสุภาพบุรุษที่ใจดี แต่ผมก็มีความเกร็งในการเข้าไปหาท่านในหลายๆ เรื่อง เพราะแกจะเป็นคนเงียบๆ แต่เวลาพูดอะไรจะใช้เหตุและผลเสมอ สุดท้ายผมเลยไปถามคุณพ่อว่า


     “ป๊า โมขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัวเราได้ไหมครับ” คุณพ่อก็บอกว่า “ได้” อย่างเต็มใจ


     ในวันที่ผมได้ไปพูดคุยกับ “คุณสิทธิชัย สมบูรณ์เวชชการ” ถือเป็นวันที่เป็นจุดเปลี่ยนในเชิงทัศนคติของผมอีกวันหนึ่งในชีวิต ผมได้รู้จัก “พ่อ” ของผม และคำถามที่ผมสงสัยในวัยเด็ก คุณพ่อตอบออกมาในบทสัมภาษณ์เกือบทุกข้อ ผมเพิ่งได้ทราบว่า ในสมัยก่อนนั้น แม้ตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ คุณพ่อยังต้องฝึกเรียนวิชาเคลือบยา วิชาการทำยาน้ำ ที่เราได้มาถึงทุกวันนี้ โดยมีผู้ช่วยคือคุณแม่ พวกท่านได้ลองผิดลองถูก สืบสานธุรกิจจากรุ่นคุณปู่ แก้ปัญหาจากผลิตภัณฑ์ในรุ่นหนึ่งให้ดีขึ้นในรุ่นที่สอง แม้ทุนจะไม่มาก แต่ท่านได้ใช้แรงกาย แรงใจในการทำงานเพื่อสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ให้กับบริษัท มองในมุมของเด็กคนหนึ่ง คืออาจจะน้อยใจที่ไม่ค่อยได้เจอพ่อ หรือเวลาลงมาเปิดตู้เย็นกลางดึก จะเห็นพ่อนอนอยู่บนโซฟา กรนด้วยความเหน็ดเหนื่อย บางวันรอคุณพ่อมาสอนเลข แต่ด้วยความเหนื่อย ท่านก็อาจจะมีความหงุดหงิดบ้าง ทำไมไปแต่เมืองจีน เพราะคุณพ่อไปเรียนรู้และซื้อเครื่องจักรเพื่อมาพัฒนาระบบของบริษัทนั่นเอง
               




     วันที่ได้สัมภาษณ์คุณสิทธิชัย เป็นวันที่ผมได้รู้จักพ่อและรักคุณพ่อคุณแม่ขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อีกวันผมจึงไลน์หาท่าน


     “ป๊าครับ ขอบคุณเวลาของป๊ามากๆ เหมือนได้รู้จักป๊ามากขึ้น เป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิต โมจะทำให้ดีที่สุดครับ ถ้าเช้าๆหลังโมวิ่งเสร็จ โมอยากให้ป๊าเล่าเรื่องราวในอดีตให้โมฟังได้ไหม เพราะโมอยากจะสืบทอดทุกอย่างที่บรรพบุรุษส่งมาให้ วันละ 10-20 นาทีก็ได้ อดีตถ้าผิดพลาดไป โมขอโทษ แต่จากนี้ไปจะใจกว้างและเป็นคนดีแบบป๊า ขอโทษที่มาคิดได้ในวันที่ป๊าแทบจะหมดแรงแล้ว”


     คำตอบสั้นๆ ของป๊าในไลน์คือ สติกเกอร์ดุ๊กดิ๊กปล่อยพลังหัวใจ “เออ” พ่อก็ฮาดีเนอะ
               

     หลังจากนั้นทุกเช้า พ่อก็จะมีเรื่องเล่าให้ผมฟังทุกวัน และผมได้บทเรียนชีวิตมากมาย และคำตอบในวัยเด็กอีกเยอะ ทำไมถึงไปบ้านลุงคนนั้น ผมก็ได้คำตอบโดยผมไม่ได้ถามว่า ลุงผู้นั้นถือเป็นพ่อคนที่สองของพ่อ สอน ถ่ายทอด และ ช่วยเหลือสิ่งต่างๆ มากมาย คือถ้าไม่มีลุงในวันนั้น ผมคงไม่มีวันนี้เลยทีเดียว คำว่า “บุญคุณ” ก็ได้ถูกถ่ายทอดมาจากการกระทำของพ่อต่อผู้มีพระคุณของท่าน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้อง


     “บุญคุณต้องทดแทน แค้นนี้ต้องชำระ”


     ใช้ไม่ได้กับพ่อผม เพราะพ่อผมยึดคติไว้ว่า เราจะไม่สร้างศัตรู แม้ใครจะมากลั่นแกล้งเรา แต่เราต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาและให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี
               




     สิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นโชคชะตา ที่ผมได้พูดคุยกับท่าน และจุดไฟในตัวเองให้ทำอะไรให้ดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รู้ว่าแก่นของครอบครัวนี้คืออะไร และผมต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อจะรักษาแก่นนี้ไว้ได้นานที่สุด
               

     ในยุคกรีกโบราณ จะมีโรงเรียนหนึ่งชื่อว่า Stoics ซึ่งมีนักปรัชญาที่น่านับถืออยู่ในสังกัด เช่น Marcus Aurelius Seneca และ Epictetus เขาได้สอนว่าชีวิตคนเรา จะมีแค่สามวินัยเท่านั้น
               

     วินัยแห่งมุมมอง ว่าเราจะเลือกมองโลกอย่างไร
               

     วินัยการกระทำ ว่าเราเลือกที่จะทำอะไรในมุมมองของเรา
               

     และ วินัยแห่งการยอมรับ ในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น อากาศ มุมมองและการกระทำของคนอื่น แม้กระทั่งสภาพร่างกายของเราก็ไม่อยู่ในการควบคุมของเรา


     ถึงแม้คุณพ่อจะไม่ได้ศึกษา The Stoics มาเลย แต่ผมว่าคุณพ่อทำได้ดีมากในสามเรื่องนั้น และทำให้ผมนับถือท่านมากเป็นทวีคูณ
               




     ภาพที่ผมไม่เคยมองเห็น ก็ได้กระจ่างชัดขึ้น เมื่อวินัยของมุมมองและการกระทำของผมเปลี่ยน คือเราต้องเข้าไปหาความรู้จากพ่ออย่างมีเคารพ และ ใช้จิตในการเข้าใจ และ ใช้หัวใจในการกระทำ
               

     คุณมีภาพที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ไหมครับ ถ้ามี บางครั้งการเปิดจิตของตัวเองกับคำถามนั้น อาจนำพาสู่คำตอบก็เป็นได้
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​