ไม่มีหน้าร้านแล้วไง! “ปัง มังกร” คาเฟ่สุดชิกริมทางใช้ผนังเก่าเนรมิตให้เป็นร้านใจกลางเยาวราช

TEXT / PHOTO : นิตยา สุเรียมมา





Main Idea

 
  • โดยส่วนใหญ่แล้ว หากคิดจะเปิดร้านหรือทำธุรกิจขึ้นมาสักตัวหนึ่ง สิ่งที่ต้องลงทุนเป็นอย่างแรก ก็คือ การสร้างร้านขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
 
  • แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับ “ปังมังกร” Stree Café เล็กๆ ริมทางบนถนนเยาวราช ถนนที่ขึ้นชื่อว่าค่าเช่าที่แพงติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะเพียงแค่มีผนังจากบ้านเก่า และพื้นที่ว่างเล็กๆ ก็สามารถเนรมิตขึ้นมาให้กลายเป็นคาเฟ่สุดชิกได้แล้ว
 


 

     ในตรอกซอกซอยแห่งหนึ่งของเยาวราชที่เต็มไปด้วยสินค้ามากมายจากร้านรวงที่ตั้งอยู่ริมทาง ในอีกมุมหนึ่งบนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามจากผนังบ้านเก่าที่ผุผังไปตามกาลเวลา ใครจะคิดว่ามีร้านกาแฟเล็กๆ ตั้งอยู่ ซึ่งหากมองดูแบบผิวเผินอาจเหมือนกับร้านกาแฟรถเข็นข้างทางทั่วไป





      แต่หากลองมองลึกลงไปในรายละเอียด ตั้งแต่เคาน์เตอร์ที่ดัดแปลงจากรถจักรยานสุดคลาสสิก โต๊ะเก้าอี้ประดิษฐ์ง่ายๆ จากลังน้ำอัดลมเก่าที่ไม่ใช้แล้ว ไปจนถึงป้ายไฟและโคมไฟที่ซ่อนโลโก้ของร้านอยู่ด้านใน หรือชุดยูนิฟอร์มที่สวมใส่ จึงทำให้รู้ว่านี่ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟและขนมปังปิ้งริมทางอย่างที่เราเคยเห็นมาแน่นอน แต่คือ Stree Café รูปแบบใหม่ที่ใช้งบน้อย แต่ความครีเอทสูง จึงทำให้รู้ว่าจากพื้นที่ว่างเล็กๆ ก็สามารถเนรมิตให้กลายเป็นร้านชิกๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน
              

     ร้านคาเฟ่ดังกล่าว มีชื่อว่า “Pang Mangkon” หรือ ปังมังกร  “บริบูรณ์ เหลืองประกาย” เจ้าของร้านเล่าที่มาของไอเดียให้ฟังว่าเกิดจากวันหนึ่งเมื่อคิดอยากลาออกจากงานประจำ ซึ่งอดีตเคยเป็นดีไซนเนอร์เสื้อผ้าให้กับแบรนด์ชื่อดังแห่งหนึ่งมาก่อน จึงได้ลองมองหาธุรกิจไว้เพื่อรองรับ ด้วยความผูกพันกับพื้นที่เยาวราชตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งโตขึ้นมาก็คุ้นเคยกับพื้นที่นี้มาตลอด ไม่ว่าจะทำงาน มาหาเพื่อน จึงคิดว่าหากอยากสร้างธุรกิจขึ้นมาสักตัวหนึ่ง ก็อยากจะเริ่มและทำที่ในพื้นที่นี้ก่อน
              






     โดยไอเดียในการทำเป็น Stree Café ขึ้นมานั้น ได้แนวคิดมาจากร้านคาเฟ่ริมทางของเมืองนอกที่แม้อาจไม่ต้องใช้อะไรมาก แค่พื้นที่เล็กๆ ข้างทางก็สามารถสร้างเป็นร้านขึ้นมาได้ จึงได้พยายามมองหาพื้นที่ว่างข้างตึกเก่าเพื่อสร้างเป็นร้านขึ้นมา ในส่วนของการตกแต่งร้าน ก็ดัดแปลงมากจากข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและที่เก็บสะสมไว้ ทำให้ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเช่นกัน


     ซึ่งบริบูรณ์กล่าวว่าวิธีการดังกล่าวอาจช่วยให้ประหยัดต้นทุน ไม่ต้องตระเตรียมอะไรมาก และใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถสร้างร้านขึ้นมาได้เลย แต่ทุกอย่างก็ต้องใส่ความจริงใจและจริงจังลงไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสได้  ตั้งแต่การสร้างภาพลักษณ์ การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงการเลือกใช้สินค้าคุณภาพดี เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ แม้เป็นร้านริมทางก็สามารถทำให้กลายเป็นร้านที่ดีอยู่ในใจของลูกค้าได้เช่นกัน







     “ถึงเราจะเป็นร้านที่เหมือนสร้างขึ้นมาจากคอนเซปต์ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่เราก็มีความจริงจังในการทำธุรกิจ โดยวัตถุดิบต่างๆ ที่เลือกใช้ล้วนเป็นของคุณภาพ ยกตัวอย่างตัวขนมปังเองที่เป็นชื่อแบรนด์ ของเราใช้ขนมปังโฮมเมด ไม่ใส่สารกันบูด ซึ่งบังเอิญคุณป้าทำขายอยู่แล้ว เราเลยเอามาใช้ที่ร้าน เนยที่ใช้ทา ของเราก็เป็นเนยแท้ ไม่ใช่มาการีน หรืออย่างโก้โก้ ชาเขียวที่ใช้ชง ก็เป็นสินค้าที่นำเข้าทั้งนั้น


     "เมนูของเรามีทั้งแบบราคาแพงและถูกบ้างคละกันไป แล้วแต่ลูกค้าจะเลือกรับประทาน แต่ทุกอย่างเราจะตั้งพื้นฐานไว้ที่ราคาจับต้องได้ก่อน อย่างขนมปังก็จะเริ่มต้นที่แผ่นละ 20 บาท ถ้าเป็นหน้าที่แพงขึ้นมาหน่อยใช้ช็อกโกแลตชิพหรือบราวนี่นำเข้าก็ขายแผ่นละ 60 -70 บาท ก็มี ส่วนน้ำเริ่มต้นที่แก้วละ 40 บาท คือ นอกจากจะขายนักท่องเที่ยว เรายังขายคนแถวนี้ได้ด้วย อย่างช่วงนี้เงียบๆ นักท่องเที่ยวน้อย ก็ได้อากงอาม่าจากร้านแถวนี้มาช่วยซื้อ ทำให้พอมีรายได้เข้ามาบ้าง ทั้งหมดที่ทำได้แบบนี้ เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมากนั่นเอง”







     จากบรรยากาศของร้านคาเฟ่ริมทางเล็กๆ น่ารัก ในมุมของคนที่อยากลาออกมาพักผ่อนและมาหาอะไรทำของตัวเองก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเริ่มต้นในช่วงแรก แต่สำหรับบริบูรณ์แล้ว เขาบอกว่าวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายธุรกิจของเขาไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ โดยนอกจากร้านที่สาขาเยาวราชแล้ว เขาวาดแผนการไว้ว่าจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาอีก 2- 3 แห่งบนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ โดยใช้คอนเซปต์เดียวกัน คือ พื้นที่ตึกเก่าที่มีความคลาสสิก ซึ่งแต่ละสาขาก็จะใช้โลโก้เป็นรูปมังกรที่มีสีสันแตกต่างกันไป และสร้างกิจกรรมให้ลูกค้ามาประทับตราแต่ละสาขา เพื่อทำโปรโมชั่น รวมถึงอนาคตหากไปได้ดีเขาอาจขยายสาขาออกไปยังพื้นที่รอบนอกและขายแฟรนไชส์ด้วยก็ได้


     “เรามองว่าวันหนึ่งถ้าร้านเติบโตขึ้นมาได้ ก็อาจขยายโอกาสธุรกิจได้หลายรูปแบบ แต่ยังไงเราต้องสร้างสตอรี่และคุณภาพที่ดีแก่ลูกค้าให้เป็นที่จดจำก่อน เพราะวันหนึ่งหากเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้แล้ว ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนๆ ลูกค้าก็จะจดจำเราได้ ซึ่งง่ายต่อการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตได้”
              




     และนี่คือ คำกล่าวทิ้งท้ายของอดีตนักดีไซน์เนอร์หนุ่มที่ผันตัวมาเปิด Stree Café เล็กๆ ริมทางของตัวเองขึ้นมาบนพื้นที่ถนนที่อาจเรียกได้ว่ามีค่าเช่าที่สูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศเลยก็ว่าได้ และทำให้เราเห็นว่าถึงแม้วันนี้เขาจะไม่ได้วาดลวดลายเส้นสายอยู่บนผืนผ้าแล้ว แต่ไอเดีย ระบบความคิดต่างๆ ของนักคิดนักสร้างสรรค์กลับยังคงอยู่ แถมยังสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจในฝันให้ทำอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีกมากมาย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​