หาทางออกสวยๆ ให้ธุรกิจกล้วยไม้พ้นวิกฤตไวรัส สไตล์ ‘แอร์ออร์คิดส์’

TEXT : กองบรรณาธิการ
 
 



Main Idea           
 
 
  • ทายาทแอร์ออร์คิดส์รุ่นที่ 3 คือตัวอย่างของ SME ที่พยายามตั้งสติ เมื่อประตูการส่งออกถูกปิดตายเพราะ โควิด-19 ก็เลือกที่จะเปิดประตูบานใหม่ๆ คือ ขายกล้วยไม้ออนไลน์เดลิเวอรีให้กับลูกค้าในประเทศ เพื่อสร้างรายได้เข้ามาชดเชยส่วนที่เสียไป
 
  • สิ่งที่ได้รับกลับมาทดแทนอาจมิได้หมายถึงเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว บางอย่างก็มาในรูปของฐานลูกค้าใหม่ โนว์ฮาวการจัดการใหม่ พนักงานที่มีสกิลใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต ควบคู่ไปกับการคิดหาทางกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
 
              

     เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูบานใหม่จะเปิดขึ้นเสมอ… ประโยคนี้น่าจะอธิบายสถานการณ์ที่ สวนกล้วยไม้ แอร์ออร์คิดส์ จังหวัดนครปฐม ต้องพบเจอได้ดีที่สุด การที่แต่ละประเทศออกมาประกาศล็อกดาวน์ ปิดสนามบิน เท่ากับปิดช่องทางทำมาหากินของคนทำธุรกิจส่งออกกล้วยไม้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่  “ไชยพันธุ์ คุ้มวิเชียร” ทายาทรุ่น3 แอร์ออร์คิดส์ ก็ยังยิ้มสู้ และหาทางออกฝ่าวิกฤตให้กับธุรกิจตนเอง
              




     ปัญหาใหญ่ของไชยพันธุ์ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักคือ จะจัดการกับกำลังการผลิตที่มีเหลือมหาศาลอย่างไร อย่างกล้วยไม้ตัดดอกที่ก่อนหน้านี้เคยส่งออกไปขายเฉพาะที่จีนประเทศเดียวมีมากถึง 1.5-2 ล้านช่อต่อวัน แทนที่จะทิ้งกล้วยไม้ที่ส่งออกไม่ได้ให้เน่าเสียสูญเปล่า เขาเลือกที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมที่เกิดประโยชน์ขึ้นมา โดยเปิดฟาร์มให้ลูกค้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และเอากล้วยไม้ตัดดอกไปใช้งานกันฟรีๆ
              

     “เราพบว่ามีหลายๆ บ้านไม่เคยซื้อกล้วยไม้ไปจัดแจกัน หรือประดับตกแต่ง เราก็ใช้วิกฤตตอนนั้นให้ลูกค้าได้รู้จักกล้วยไม้ไทยมากขึ้น มาเที่ยวในซูเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้ที่เราทำมาปีนี้เป็นปีที่ 15 แล้ว เข้ามาถ่ายรูปในทุ่งดอกกล้วยไม้สวยๆ ตัดกล้วยไม้ฟรีๆ อยากได้เท่าไรเอาไปเลย ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ฟาร์มของเราว่าทำธุรกิจกล้วยไม้ครบวงจรไปด้วย





     ส่วนตลาดกล้วยไม้กระถางที่แอร์ออร์คิดส์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ โดยขายกล้วยไม้ทั้งต้นทั้งดอกให้ลูกค้าไปประดับตกแต่งสร้างความสวยงาม ด้วยประสบการณ์การแพ็กกิ้งเพื่อการส่งออก และการกระจายสินค้าสำหรับการขายส่ง เราปรับสเกลงานให้เล็กลง แล้วหันมาขายกล้วยไม้ผ่านทางออนไลน์ โดยเดลิเวอรีถึงหน้าบ้านลูกค้าทั่วประเทศ”


     ไชยพันธุ์บอกว่า ตลาดกล้วยไม้ออนไลน์นี้จัดว่าดีมากๆ เพราะว่าทางแอร์ออร์คิดส์ขายไม่แพง และพยายามทำต้นทุนในการจัดส่งให้ต่ำที่สุด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าที่ล็อกดาวน์อยู่กับบ้าน สั่งกล้วยไม้สวยๆ ไปสร้างความสดชื่น ทำกิจกรรมในครอบครัว หรือส่งกล้วยไม้ให้กับคนพิเศษ โดยไม่ต้องวิ่งหาซื้อเองให้เสี่ยงโรคและเสียเวลา







     แม้รายได้ที่เข้ามาจากการขายกล้วยไม้ออนไลน์ อาจจะยังไม่ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้หลักที่ส่งออกกล้วยไม้ แต่นี่คือกลไกการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทำอะไรได้…ทำเลยเมื่อมีเวลา โดยเฉพาะการโฟกัสเรื่องธุรกิจออนไลน์ ที่ทำให้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทีมงานของแอร์ออร์คิดส์ก็ต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้รับกับงานที่เปลี่ยนไป


     พนักงานหลายคนปรับตัวเป็นแอดมิน คอยให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับการเลี้ยงกล้วยไม้ทางออนไลน์ ส่วนการเดลิเวอรีสินค้าที่อ่อนไหวง่ายอย่างกล้วยไม้ก็ไม่ง่าย ต้องใส่ใจกับการแพ็กกิ้งและการจัดส่งอย่างมาก เพราะมีหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ดอกอาจจะหลุดหรือเหี่ยวเมื่อถึงมือลูกค้า แต่ยิ่งเรียนรู้ที่จะแก้ไข ก็ยิ่งมีโนว์ฮาวเพิ่มขึ้น
              






     ปัจจุบันรายได้จากการส่งออกกล้วยไม้ฟื้นคืนมาบ้างแล้วสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ทว่าตลาดนี้ยังต้องเหนื่อยอีกนาน เพราะต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินยังค่อนข้างสูง อีกทั้งตลาดยังขาดแคลนกำลังซื้อ ความท้าทายของทายาทรุ่นที่ 3 ของแอร์ออร์คิดส์ในเวลานี้ ก็คือการหารายได้ส่วนอื่นเข้ามาชดเชยเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงวิกฤตไปให้ได้
              

     “ทุกฟาร์มสามารถลงมาเล่นเรื่องกล้วยไม้กระถาง และงานออนไลน์ได้ ความต้องการยังมีอีกมาก เมื่อเริ่มคลายล็อกดาวน์แล้ว กล้วยไม้ก็ยังเป็นของที่ต้องใช้ประดับตกแต่งสถานที่ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้สินค้าไปส่งถึงบ้านลูกค้าได้อย่างปลอดภัย และราคาไม่แพง แต่ละสวนต้องมาช่วยกันคิดหรือหาเทคนิคของตัวเอง
              




     ตอนนี้ผู้คนก็เริ่มออกมาเที่ยวกันแล้ว ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตกล้วยไม้ของเราก็เป็นอีกสถานที่ที่คนเลือกมาพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากเป็นสถานที่เปิด โปร่ง โล่ง สบาย เหมาะกับการมาเที่ยว มาซื้อต้นไม้ แล้วเทรนด์ตอนนี้คนหันมาสนใจปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ไม้ฟอกอากาศ ไม้มงคลมากขึ้น ซึ่งมันดีต่อพวกเราที่เป็นเกษตรกร อาจมีคนบอกว่ากระแสคนดังปลูกต้นไม้ ทำให้ต้นไม้บางอย่างมีราคาแพงเกินไป แต่ผมกลับมองว่ามันเหมือนเป็นการให้กำลังใจแก่เกษตรกร ในสถานการณ์ที่มันยากลำบาก”
              

     นอกจากนี้ ไชยพันธุ์ยังจะเร่งศึกษาการแปรรูปกล้วยไม้ให้อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาการขายแต่กล้วยไม้สด ซึ่งปัจจุบันมีการสกัดสารจากกล้วยไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไปเป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอาง ทางแอร์ออร์คิดส์เองก็กำลังเร่งต่อยอดการทำชาจากกล้วยไม้ ในสายตาของคนรุ่นใหม่ เขามองว่าการแปรรูปกล้วยไม้สู่ตลาดเครื่องสำอางหรือยาสร้างภูมิคุ้มกันโรค ยังมีอนาคตอีกมากทีเดียว  
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ