ฟังทายาท “ข้าวขาหมู พ.4” พลิกโฉมร้านเก่าแก่ 40 ปี ให้ไฮเทคตั้งแต่หม้อต้มยันบริการลูกค้า

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ข้าวขาหมู พ.4





Main Idea

 
     รวมความไฮเทคฉบับ “ข้าวขาหมู พ.4”
 
 
  • ใช้เครื่องซูวีมาควบคุมอุณหภูมิ ต้มขาหมูได้มาตรฐานเดียวกันทุกหม้อ
 
  • เขียนโปรแกรม POS มาใช้กับร้านโดยเฉพาะ
 
  • นำระบบคิวและเพจเจอร์แจ้งคิวลูกค้ามาใช้ในร้าน
 
  • ปรับภาพลักษณ์ร้านใหม่ให้ทันสมัย 
 
  • ใช้เครื่องล้างจานอัตโนมัติมาทำงานแทนคน
 
  • พัฒนาสู่ขาหมูสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน
 
  • ทำ Cloud Kitchen แก้ปัญหาการขยายร้านในเวลารวดเร็ว
 
 

     ร้านข้าวขาหมูในตำนานย่านดินแดง ที่รู้จักกันในชื่อ “ข้าวขาหมู พ.4”  เสิร์ฟความอร่อยมานานกว่า 40 ปี เริ่มจากห้องแถว 1 ห้อง โต๊ะ 10 โต๊ะ รับลูกค้านับ 200 คิวต่อวัน วันนี้ทายาทรุ่น 2 เข้ามาพลิกโฉมร้านเก่าแก่ให้ทันสมัย พร้อมนำส่งประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ผ่านเทคโนโลยีที่เติมเต็มทุกจุดปัญหา จนสามารถขยายร้าน ขยายกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มโอกาสในการขาย ใช้คนน้อยลง แต่รับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        
               

     SME Thailand ชวนคุยกับทายาทรุ่น 2 ข้าวขาหมู พ.4  "พล-กรพล” และ “โชค-โชคชัย แก้วกรรณิพากร”  สองพี่น้องที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงของร้านเก่าแก่ในวันนี้



                 
           
เมื่อธุรกิจติดล็อก ได้เวลาติดอาวุธร้านให้ไฮเทค

           

     สิบปีที่แล้ว “พล-กรพล” อดีตครูสอนเทนนิสตัดสินใจเข้ามาสานต่อกิจการร้านขาหมู พ.4 ของครอบครัว ที่ปักหลักความอร่อยอยู่ย่านดินแดง ประชาสงเคราะห์ มานานกว่า 40 ปี ความตั้งใจของเขาคืออยากทำให้ร้านแห่งนี้เติบโต ขึ้น แต่จะทำได้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่
               

     ข้อจำกัดที่ว่าเริ่มตั้งแต่หม้อต้มขาหมู
               

     “ที่ผ่านมาคุณพ่อต้มขาหมูโดยใช้ความรู้ความชำนาญ ท่านทำทุกอย่างออกมาเป๊ะ แต่เราจะทำแบบนั้นไม่ได้ ผมไม่ได้เก่งเท่าคุณพ่อและทุกคนไม่สามารถที่จะสอนให้เก่งเหมือนท่านได้ ซึ่งการใช้หม้อต้มแบบเดิมมันจะขาดความแน่นอน ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่เราจะขยายยากมาก และในอนาคตคนก็จะหายากด้วย ผมเลยเริ่มแกะสูตรคุณพ่อแล้วมองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”
               

     จากความรู้ความชำนาญที่อยู่ในทักษะของมนุษย์ ถูกถอดออกมาเป็นสูตรที่ใช้กับ “เครื่องซูวี” (Sous-Vide) หรือเครื่องทำอาหารภายใต้สุญญากาศ โดยการควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้คงที่ตามที่กำหนด แต่ด้วยความที่เครื่องในตลาดมีราคาแพง และได้ปริมาณที่น้อย กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ พวกเขาจึงใช้วิธีถอดแบบเครื่องไปให้ช่างช่วยประดิษฐ์ให้จนสามารถต้มขาหมูในปริมาณมากขึ้น แถมเงินลงทุนจากกว่า 3 หมื่นบาท เหลือแค่หมื่นต้นๆ เท่านั้น





ปรับร้าน 4 ทศวรรษ ให้เป็นร้านไฮเทค 4.0


     พอแก้ปัญหาเรื่องการผลิตได้ ก็ได้เวลาเติมความไฮเทคให้กับร้าน พลบอกกับตัวเองเสมอว่า เขาอยากทำร้านที่ไม่ต้องมีคนบริการเหมือนญี่ปุ่น จึงเริ่มวางแปลนเขียน Flow การทำงานภายในร้านทั้งวงจร พร้อมทั้งหาเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการเข้ามาช่วย  แม้จะไม่มีทักษะทางด้านไอที แต่การมีพี่ชาย “โชค-โชคชัย” ทำงานด้านไอทีทั้งยังมีเพื่อนฝูงอยู่ในวงการนี้ จึงได้ให้ช่วยมาเขียนโปรแกรม POS ให้เหมาะกับความต้องการใช้งานของร้านให้ ทั้งยังเริ่มนำระบบคิวและเพจเจอร์ในการแจ้งคิวลูกค้าเข้ามาใช้ในร้าน ขณะเดียวกันก็ปรับภาพลักษณ์ร้านใหม่ให้ดูทันสมัย ด้วยการออกแบบและตกแต่ง รวมถึงออกแบบ Logo และสร้างแบรนด์ตัวเองให้ชัดเจนขึ้น จนกลายเป็นพ.4โฉมใหม่ที่ใครเห็นเป็นต้องว้าว


     “มันเริ่มจากว่าพอเราจะขยายร้านจากตึกแถว 1 ห้อง เป็น 3 ห้อง แต่เราไม่สามารถทุบร้านให้ทะลุถึงกันได้ เพราะทางการเคหะฯ ไม่อนุญาต มันก็เกิดปัญหาขึ้นว่าเด็กของเราไม่สามารถเดินเสิร์ฟได้รอบ เราต้องจ้างพนักงานเพิ่ม จากที่มีอยู่ 10 โต๊ะ เพิ่มเป็น 30 โต๊ะ ก็ต้องใช้คนเพิ่ม ซึ่งแรงงานหายากอยู่แล้วอย่างที่รู้กันดี เราก็เลยต้องคิดทำระบบพวกนี้ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาภายในร้าน”


     ปรับร้านให้ดูทันสมัย ทำให้ลดการใช้คนลง แถมยังได้ระบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการรับออเดอร์ส่งออเดอร์ทั้งหมดไปที่ครัว ทุกออเดอร์จะมีหมายเลขกำกับ แจ้งว่าคิวที่เท่าไหร่ เอากลับบ้านหรือทานในร้าน จากนั้นจะส่งต่อมาที่แคชเชียร์ทำการปิดยอด ซึ่งสามารถบอกได้ว่าเป็นยอดเงินสด ยอดออนไลน์ ยอดเดลิเวอรี่ที่มารับที่ร้าน โดยแคชเชียร์ไม่ต้องมานั่งคิดเงินเอง แต่ระบบสามารถสรุปจบในขั้นตอนเดียวทั้งราคาแม้กระทั่งเงินที่ต้องทอน


     “เดิมก่อนที่เราจะนำระบบเข้ามาใช้ เรามีพนักงานอยู่ประมาณ 10 คน อันนี้รวมพวกผมด้วยนะ แต่ตอนนั้นเรามีแค่ 10 โต๊ะ ถ้ากรณีขยายร้านโดยที่ไม่เอาระบบเข้ามาใช้ คิดว่าต้องจ้างพนักงานประมาณ 17 คน กลายเป็นว่าส่วนที่เกินมาเราตัดทิ้งไปได้เลย โดยที่เรายังใช้พนักงานเท่าเดิม แต่ขยายร้านได้มากขึ้น และยังได้ประสิทธิภาพมากขึ้น งานโฟลว์กว่าเดิมด้วย”



 

ระบบใหม่มา ลูกค้าเก่าหาย ต้องใช้กลยุทธ์ผสมผสาน


     การมาถึงของร้านใหม่ ดึงดูดความสนใจของคนไปทั้งโลกโซเชียล แต่ใครจะคิดว่าสำหรับลูกค้าเก่าที่ภักดีกันมานาน การต้องเข้าร้านที่เต็มไปด้วยความไฮเทค แถมยังต้องบริการตัวเองจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกจริต และทำให้ลูกค้าเก่าแก่บางรายต้องหายหน้าไปจากร้าน
                 

     “เราใช้เวลาพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาประมาณ 3 เดือน พอเอามาใช้ก็เกิดปัญหา ตั้งแต่ลูกค้าเดิมที่เข้ามาพอต้องบริการตัวเอง งั้นไม่นั่งแล้ว ไม่กินแล้ว งอล เดินออกจากร้านไปเลย ตอนนั้นเราแต่งร้านสวยนะ แต่เขาไม่กิน เพราะว่าฐานลูกค้าเดิมยังติดกับความเคยชินในการสั่งแบบเดิม และการบริการแบบเดิม ตอนที่เราเปิดร้านแรกๆ ลูกค้าเดิมหายไปประมาณ 3 เดือนได้ เพราะเราจำได้ว่าพี่คนนี้มากินบ่อยมาก อาทิตย์ละ 3-4 วัน แต่แล้วเขาก็หายไปเลย





     ตอนนั้นเราต้องมาคิดแก้ปัญหา โดยทั้งคุณพ่อ พี่สาวและเครือญาติก็มาช่วยกันดูแล และใช้การบริการแบบผสมผสานอยู่ คนที่ยังต้องการบริการแบบเดิมเราก็ยังมีคนดูแล ส่วนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมรับกับอะไรใหม่ๆ ก็มีบริการแบบใหม่ให้เขา ลูกค้าเก่าเองก็พยายามปรับเข้ากับบริการแบบใหม่ จนสุดท้ายผ่านมาประมาณ 6 เดือน คนเก่าก็เริ่มกลับมาใช้ระบบใหม่ และยอมรับมากขึ้น ผมมองว่าการที่เราเป็นร้านเก่าแก่ เราจะไม่เอาลูกค้าเดิมเลยไม่ได้ มันต้องใช้การผสมผสานทำให้เรารู้ว่าจะใช้ระบบใหม่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีระบบดั้งเดิมมาดูแลลูกค้าด้วย มันถึงจะเพอร์เฟ็ก” เขาบอก


     หลังทุกอย่างกลับมาอยู่ตัว จากร้านเล็กๆ กับโต๊ะแค่ 10 โต๊ะ มีลูกค้าประมาณ 200 คิวต่อวัน วันนี้พวกเขาสามารถขยายมารับลูกค้าได้ประมาณ 400 ราย ขยายฐานลูกค้าใหม่ขึ้นมาได้ถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยังรักษาลูกค้าเก่าไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการโดยแต่ละออเดอร์พร้อมเสิร์ฟใน 5 นาที และไม่เกิน 15 นาทีในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือมีลูกค้าจำนวนมาก

 


ระบบเกิดจากปัญหา และความรู้มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต


     ความไฮเทคของร้านข้าวขาหมู พ.4 ไม่ได้มีแค่การทำขาหมูหรือบริการหน้าร้านที่ทุกคนสังเกตได้เท่านั้น แม้แต่การวางเครื่องกดน้ำเพื่อให้พนักงานเสิร์ฟน้ำได้เร็วขึ้น และเช่าเครื่องล้างจานอัตโนมัติมาใช้เพราะลดแรงงานคน พวกเขาก็ทำครบ ไม่ใช่เพราะอยากไฮเทค แต่ทั้งหมดนี้เป็นการคิดจากปัญหาและการแก้ปัญหา


      “ตอนนั้นผมเริ่มจากเขียนแปลนเลยว่า ในร้านต้องมีอะไรบ้าง แล้วมาร์คจุดแต่ละคนต้องยืนตรงไหน คนนี้จะเดินไปทำอะไร มันทำให้เรารู้ว่าเรายังขาดตรงไหน สรุปไล่มาจนครบแล้วใครจะล้างจาน ใครจะเก็บจาน เพราะปัญหาก่อนหน้านี้คือเราหาคนล้างจานยากมาก เลยคิดว่าต้องใช้เครื่องล้างจานมาช่วยแล้ว แต่แทนที่จะซื้อเราเลือกเช่า เพราะมันมีบริการให้และยังเติมน้ำยาให้ตลอดอีก ถ้าเราต้องจ้างพนักงาน รวมกับน้ำยาที่ต้องซื้อ จาน 300-400 คิว ใช้คนเดียวล้างไม่ไหวแน่ แต่นี่เราใช้แค่คนหนึ่งคนเอาจานใส่เครื่องแล้วก็ได้ออกมาเลย บางร้านอาจจะคิดว่าเครื่องล้างจานไม่สำคัญ บางคนไม่มองเพราะคิดว่ามันแพงและไม่จำเป็น แต่จริงๆ มันจำเป็นมากสำหรับการทำร้านอาหาร” ทายาทรุ่นใหม่บอก


     ถามว่าเป็นแค่ SME จะมีเงินมาทำอะไรพวกนี้มากแค่ไหน แถมจะเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยแบบนี้ได้จากไหน ทายาทข้าวขาหมู พ.4 บอกเราว่า ทั้งหมดที่เห็นไม่ได้ใช้เงินเยอะเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นการนำของที่มีอยู่ในตลาดมาปรับใช้เอง ซึ่งนอกจากจะราคาถูกกว่าซื้อ ยังสามารถตอบโจทย์ร้านได้ดีกว่าอีกด้วย เหมือนเครื่องซูวีที่อยู่ในราคาแค่หมื่นต้นๆ ถูกกว่าซื้อหลายหมื่น ขณะที่ประเมิณค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเครื่อง ค่าระบบ ค่ารีโนเวทร้านให้ทันสมัย ไล่ไปจนค่าใช้จ่ายในการขยายและตกแต่งร้าน ทั้งหมดพวกเขาจ่ายค่าเสียหายไปไม่เกิน 1 ล้านบาท แถมยังเพิ่มโอกาสในการขายได้อีกหลายเท่า


     ส่วนความรู้ที่เอามาใช้ ก็ไม่ต้องไปลงเรียนที่ไหน เขาบอกว่าเริ่มจากถามเพื่อนและคนรู้จัก รวมถึงหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งเต็มไปด้วยองค์ความรู้รอบตัวมากมาย อะไรที่คิดว่าในโลกนี้ยังไม่มีใครทำ เขาบอกว่ามีคนทำแล้วทั้งนั้น ขอแค่เปิดใจและค้นคว้า จะมีคำตอบและทางออกทุกอย่างให้




 
จากร้านขาหมูสู่ขาหมูพร้อมทานและการทำ Cloud Kitchen


     การต่อยอดธุรกิจของข้าวขาหมู พ.4 ไม่ได้เกิดแค่ภายในร้าน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ร้านต้องหยุดไปเป็นสัปดาห์ ทายาทรุ่น 2 จึงได้พัฒนาโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าจะขาหมูสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และแม้แต่การทำ Cloud Kitchen เทรนด์ร้านอาหารยุคใหม่ที่กำลังมาแรงในวันนี้


     “มันเริ่มจากตอนแรกเราคิดจะแตกเป็นร้านเล็กๆ ทำเป็นคีออส แต่พอดีเกิดโควิดทำให้ทำไม่ได้ แต่ว่ามันมาพลิกเราเพราะเกิดธุรกิจใหม่เป็น Cloud Kitchen  ขึ้นมา คือปกติขาหมูทั่วไปต้องเอาขาหมูไป เอาหม้อไปต้มและต้องใช้เวลานาน เสร็จก็ยกกลับมาเก็บ แต่ของเราสามารถส่งให้เขาไปเป็นถุงและเครื่องซูวี 1 เครื่อง เขาจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้  โดยไม่ต้องไปลงทุนซื้อคีออส หรือร้านลงทุนทำร้านแพงๆ แต่ระบบนี้เขาสามารถทำที่บ้านได้ แล้วก็สะดวกไม่ต้องลงทุนเยอะ มีเดลิเวอรี่เข้าไปรับได้ถึงบ้าน ซึ่งตัว Cloud Kitchen เรามีเปิดเองไปแล้ว 1 ร้าน และกำลังคุยอยู่อีก 2 ร้าน มันทำให้เราขยายได้รวดเร็ว”





     จาก Cloud Kitchen เพราะโควิดยังทำให้พวกเขาพัฒนามาสู่ “ขาหมูพร้อมรับประทาน” ที่สามารถเก็บได้นานขึ้นโดยรสชาติไม่เปลี่ยน สามารถซื้อไว้คิดบ้านได้ แม้ไม่ได้ออกไปไหนเพราะกลัวไวรัส


     “ตัวนี้เราคิดออกมาภายใน 1 อาทิตย์ ที่ทำพวกนี้ได้เร็วเพราะอุปกรณ์เรามีอยู่แล้ว และเราพยายามแสวงหาเครื่องมือใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ส่วนโนว์ฮาวเราก็มีอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็คือการทำขาหมู ซึ่งถ้าเอามารวมกับเครื่องมือใหม่ๆ ก็จะทำให้สามารถขยายไปทำอะไรอีกหลายอย่างได้ ซึ่งอนาคตยังมองไปถึงการทำตู้กดขาหมู ซึ่งเป็นตู้อัตโนมัติที่ขายขาหมูโดยเฉพาะ ทำให้เราสามารถไปวางขายที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องไปเปิดร้าน หรือขายแฟรนไชส์ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ใครจะอยากลงทุนจริงไหม” เขาสะท้อนความคิด
               

     ทายาทบอกเราว่า ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เห็นนี้เกิดจากความคิดฝันเฟื่องแบบเด็กๆ ของพวกเขา แต่การจะทำฝันให้เป็นจริงหรือไปได้ถูกทางนั้น ก็ต้องหาข้อมูลก่อนลงมือทำ ดูว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน จากนั้นแค่ลงมือทำ มีปัญหาก็แก้ไข สุดท้ายก็จะพบคำตอบและทางออก ที่จะนำมาสู่โอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ เหมือนที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​