เชลล์ถึงขั้นต้องชวนชิม “Rock Ice” น้ำแข็งจอมอึดจากแดนอาทิตย์อุทัย

TEXT      : กองบรรณาธิการ

PHOTO  : SME Thailand

 




Main Idea


เรื่องมหัศจรรย์ของน้ำแข็งละลายช้า
 
  • ลงทุนเดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อมาทำตลาดในไทย
 
  • ยอมขายขาดทุนต่ำกว่าราคาจริง เพื่อให้ผู้บริโภคกล้าทดลองใช้
 
  • นำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่าง
 
  • รักษาคุณภาพมาตรฐานของแบรนด์ แม้ผู้บริโภคจะบอกว่าแพง แต่วันหนึ่งพิสูจน์แล้วด้วยคุณภาพ
 
              



     อากาศหนาวเริ่มมาเยือนแล้ว วันนี้เลยอยากลองหาเรื่องเล่าอะไรเย็นๆ มาฝากกัน ซึ่งถ้าพูดถึงสินค้าที่มีความเย็นที่สุดคงหนีไม่พ้น “น้ำแข็ง” แน่นอน โดยนอกจากประวัติความเป็นมาของน้ำแข็งโลกที่ว่ากันว่ามีใช้มานานนับพันปีจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จนนำเข้ามาในไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 เรายังพบเรื่องราวที่น่าสนใจของน้ำแข็งอีกยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งหากเอ่ยชื่อมาย่อมต้องร้องอ๋อเป็นแน่ โดยน้ำแข็งที่เรากำลังพูดถึง ก็คือ “Rock Ice” ต้นตำรับน้ำแข็งละลายช้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั่นเอง
 




 
เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากญี่ปุ่น
              

     Rock Ice เข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นขึ้นจากการนำเข้าน้ำแข็งใส่เรือบรรจุอยู่ในห้องเย็นเดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น  เพื่อเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย ในช่วงแรกนั้นเป็นการจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตและใช้กันในร้านอาหารญี่ปุ่นไม่กี่แห่งเท่านั้น โดยจะซื้อขายกันเป็นกิโล ไม่ได้บรรจุใส่ถุงสำเร็จรูปเหมือนเช่นปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งว่ากันว่ายอมขายขาดทุนลดราคาลงจากปกติที่ขายในประเทศญี่ปุ่นกิโลกรัมละ 85 บาท เพื่อให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น
              




     กระทั่งในปี 2548  จึงได้มีการเปิดโรงงานผลิตขึ้นในเมืองไทยที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้ชื่อบริษัท โคคุโบะ ร็อกไอซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตออกมาจำหน่ายเป็นน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “ร็อกไอซ์” ในราคาเริ่มต้นถุงละ 12 บาท
              

     โดยผู้ก่อตั้งและคิดค้นน้ำแข็งร็อกไอซ์ขึ้นมา คือ “Yoshi Kokubo” ก่อตั้งขึ้นมาภายใต้ชื่อบริษัท โคคุโบะ ไอซ์ จำกัด เมื่อประมาณปี 2516 ว่ากันว่าเป็นบริษัทผลิตน้ำแข็งที่ถือส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในตลาดญี่ปุ่นในยุคนั้น โดยมีโรงงานผลิตน้ำแข็งเป็นของตัวเองมากกว่า 17 แห่งด้วยกัน
 



 
ละลายช้า เพราะใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย
              

     หากไม่นับเรื่องราคาที่แพงกว่าน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปทั่วไปอยู่ 1 -2 เท่า จุดเด่นที่ทำให้ใครต่างรู้จักร็อกไอซ์กันดี ก็คือ การเป็นน้ำแข็งจอมอึดที่ละลายช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งก็ได้ที่ทำให้มีราคาแพงกว่าน้ำแข็งอื่น โดยน้ำแข็งยุนิตปกติทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 9 บาท ขณะที่ร็อกไอซ์ขายอยู่ที่ 18 บาท
              




     โดยว่ากันว่าเหตุผลที่น้ำแข็งร็อกไอซ์ละลายช้านั้น มาจากนวัตกรรมการผลิตที่คิดค้นมาอย่างดี ไปจนถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เก็บความเย็นได้ดีเป็นพิเศษทีเดียว เริ่มจากกระบวนการผลิตมีการควบคุมคุณภาพและนำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ครบทุกด้าน ตั้งแต่ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยความแข็งของน้ำแข็งร็อกไอซ์เกิดจากการควบคุมอุณหภูมิในการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตน้ำแข็งทั่วไปถึง 3 เท่า จึงทำให้มีมวลหนาแน่นมากกว่า ลักษณะก้อนน้ำแข็งที่ได้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมตัน ใส สะอาด ไม่ขุ่น ไม่มีกลิ่นคลอรีนตกค้าง ทำให้ละลายช้ากว่าน้ำแข็งปกติทั่วไป ขณะเดียวกันถุงพลาสติกที่ใช้ใส่เป็นถุงลามิเนต 2 ชั้น และเป็นฟู้ดเกรดจึงทำให้ปกป้องการรั่วซึมและการเข้าของอากาศภายนอกได้ดีกว่า

 


 
น้ำแข็งอร่อย จนเชลล์ (ยัง) ชวนชิม
              

     จากการใส่ใจคุณภาพการผลิตที่ทั้งสะอาด ปลอดภัย ละลายช้า จึงใช้ใส่เครื่องดื่มทำให้ได้รสชาติอร่อยเต็มๆ มากกว่า จึงทำให้ร็อกไอซ์กลายเป็นน้ำแข็งในไม่กี่แบรนด์ที่ได้รับการการันตีจากหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ จนถึงขั้นยกตราเชลล์ชวนชิมให้เลยทีเดียว
              

     ปัจจุบันนอกจากการผลิตน้ำแข็งถุงสำเร็จรูปขายบริษัท โคคุโบะ ยังมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ร้านคาเฟ่น้ำแข็งใสชื่อ K-Lab อีกหนึ่งผลพวงที่ได้จากการผลิตน้ำแข็งคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาด
              




     และนี่คือ เรื่องราวที่มาทั้งหมดของ Rock Ice น้ำแข็งพันธุ์อึดจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยในทุกวันนี้แล้ว
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​