เริ่มต้นแบบไหนก็ “เจ๊ง!” ถ้ายังหลงตัวเอง และไม่เข้าใจปัญหาของลูกค้า

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
 
     รวมพฤติกรรมนำไปสู่การเจ๊ง
 
 
  • เปิดร้านเพราะเชี่ยวชาญ แต่ไม่เข้าใจตลาดและลูกค้า = เจ๊ง!
 
  • ทำธุรกิจด้วยการ “มโน” คิดเองเออเอง = เจ๊ง!
 
  • ทำธุรกิจโดยเริ่มจาก Mindset ที่ผิด = เจ๊ง!
 
  • ยึดติดความรู้แบบเก่า = เจ๊ง!
 


 
 
     ธุรกิจเราดี ธุรกิจเราเจ๋ง วิธีนี้เคยทำมาแล้วในอดีตก็ซัคเซสสุดๆ จะใช้อีกก็ต้องเวิร์กสิน่า ธุรกิจนี้มูลค่าตลาดตั้งหลายพันล้าน ขอกินแชร์แค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นสิบล้านแล้ว สินค้ากำไรชิ้นละตั้ง 100 บาท ถ้าขายได้เป็นพันเป็นหมื่นชิ้นล่ะก็ รวยไม่รู้เรื่องเลยนะ 
               

     ถึงขนาดนี้แล้ว ขายบ้านขายรถมาทุ่มกับธุรกิจนี้ให้หมดเลยดีไหม?


     ก่อนจะฝันไปไกลและต้องตกม้าตายกลางทาง “ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์” นายกก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์  สมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SMEs (SPD) ชวนมา “ดึงสติ” ให้หลุดจากโรคหลงตัวเองเพื่อเผชิญหน้าความจริงที่ว่า เริ่มต้นธุรกิจแบบไหนก็ “เจ๊ง” ถ้าไม่เข้าใจปัญหาของลูกค้า



               
 
                เปิดร้านเพราะเชี่ยวชาญ แต่ไม่เข้าใจตลาดและลูกค้า = เจ๊ง!


     วันนี้หลายธุรกิจอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก ธุรกิจเดิมต้องเผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ที่เก่งกาจทั้งในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ หลายคนที่ตกงานก็อยากมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่  โดยทุกคนขนมาเต็มทั้งความถนัด ความเชี่ยวชาญ และมั่นใจมากๆ ว่าสินค้าของตัวเองนั้นสุดเจ๋ง แต่สุดท้ายกับเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะอะไรกันนะ?


     “คอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจส่วนใหญ่คือเราถนัดอะไรก็ทำแบบนั้น ใช้ความชำนาญของเราโดยที่ไม่ได้มองที่ความต้องการของลูกค้า สมมุติว่าผมมีความชำนาญในเรื่องของข้าวมันไก่ ผมเลยเริ่มต้นธุรกิจขายข้าวมันไก่โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เพราะเข้าใจว่าเราทำข้าวมันไก่อร่อยที่สุด แล้วก็เก่งในการทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เลยมาเปิดร้านขายข้าวมันไก่ด้วยความมั่นใจแล้วก็เชื่อว่ามั่นตัวเองสูงมาก โดยที่ไม่ต้องทำ Business Model อะไรเลย เปิดร้านเสร็จเตรียมตัวรวยเลย ปรากฏเจ๊ง เพราะจุดที่ผมไปขาย คนเป็นเก๊ากันหมด  หรือเปิดร้านข้าวขาหมูในย่านที่คนเป็นมุสลิม เรียบร้อยเลย เจ๊งเพราะไม่เข้าใจลูกค้า” ดร.ณัฐนรินทร์ บอก




 
ทำธุรกิจด้วยการ “มโน” คิดเองเออเอง = เจ๊ง!


     การเริ่มต้นธุรกิจที่ถูกต้องควรมาจากการเข้าใจปัญหาของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง และในหลายๆ แง่มุม ต้องเกิด
จากกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) แต่หลายคนมักจะพบจุดจบเพราะเป็นสายมโน


     “ที่ผ่านมาการทำธุรกิจเรามักจะไม่พยายามทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาคืออะไร ส่วนใหญ่เรามักจะมโนขึ้นมาเอง เรียกว่าเป็นมุมคิดของเขานั่นแหละ แต่เป็นการคิดเชิงบวกนะ ส่วนใหญ่เรามักจะเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่ามันต้องดีสิ สมมุติของชิ้นนี้กำไรต่อชิ้นอยู่ที่ 500 บาท เราก็จะมีมโนขึ้นมาในหัวเลยว่า ถ้าเราขายได้ 10 ชิ้นก็เท่ากับ 5,000 บาท 100 ชิ้นก็ 50,000 บาท เดือนหนึ่งขายได้พันชิ้นก็ 500,000 บาท เลยนะ แล้วเราก็จะเริ่มสั่งเครื่องจักรเข้ามา สะต๊อกของเข้ามา โดยที่ไม่มองย้อนกลับมาเลยว่าจริงๆ แล้วมันขายได้จริงหรือเปล่า เพราะเรายังไม่เคยทำตัว Business Model อะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่เคยเห็นว่าธุรกิจที่เราจะทำนั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ได้ สุดท้ายก็เจ๊ง”




 
            ทำธุรกิจโดยเริ่มจาก Mindset ที่ผิด = เจ๊ง!
 

     ดร.ณัฐนรินทร์ บอกเราว่า การทำธุรกิจให้เข้าใกล้ความสำเร็จนั้นต้องเริ่มจาก Mindset ที่ถูกต้อง โดย SME ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก โดยต้องมีความคิดแบบก้าวหน้า  มีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ที่ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลลัพธ์ (Output) และข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)


     “เราต้องเปลี่ยนความคิดของเรา เราอาจเชื่อมั่นว่าสินค้าของเราสุดยอด สินค้าของเราเจ๋ง เพราะฉะนั้นมันจะยากมากที่เราจะทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ ในกระบวนการคิดของธุรกิจคนที่เป็นคนตัดสินใจซื้อคือตัวลูกค้า แต่เรากลับไม่ยอมถามลูกค้า เอาแต่เชื่อมั่นในตัวเรา เพราะฉะนั้นในกระบวนการหรือวิธีคิดในปัจจุบัน เราต้องพยายามเข้าใจลูกค้าให้มากขึ้น ถ้าเราอยากขายของเขาจริงๆ เพราะแม้กระทั่งขายอาหาร อาหารก็มีความอร่อยไม่เหมือนกัน คนแต่ละโซนก็อาจจะมีรสชาติที่ชอบกินไม่เหมือนกัน สมมติแค่ข้าวผัดเหมือนกัน ข้าวผัดที่ภาคเหนืออาจจะคนละรสชาติกับข้าวผัดที่ภาคตะวันออกก็ได้ นี่คือความเข้าใจในตัวลูกค้า ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ 95 เปอร์เซ็นต์ เจ๊ง เพราะเราไม่ได้เข้าใจลูกค้า” เขาย้ำ


     ก่อนบอกอีกว่า คนเรามักจะผลิตสินค้าที่คนไม่ต้องการอยู่เสมอๆ เรามักผลิตสินค้าที่เราอยากขาย แต่ว่าไม่ค่อยได้ผลิตสินค้าที่มีคนอยากซื้อ เช่น แว่นตาของ Google Glass ที่คิดว่าเจ๋ง แต่เจ๊งคนไม่ได้ใช้ ลูกค้าไม่ได้ต้องการ ฉะนั้นการออกแบบธุรกิจบางอย่างที่ไม่ได้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ ยังไงลูกค้าก็ไม่ซื้อ




 
ยึดติดความรู้แบบเก่า = เจ๊ง!


     แล้วอะไรคือ Mindset  ที่ถูกต้อง คือกระบวนการคิดที่ใช่และทำให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคนี้ ดร.ณัฐนรินทร์ บอกเราว่าต้องเริ่มต้นที่ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ (Relearn)


     “ในการทำธุรกิจปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมและรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วสามารถเรียนรู้และรับความรู้ใหม่ๆ เข้าไปได้ตลอด และต้องไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา บางครั้งความรู้และประสบการณ์ของเราเอง ที่อาจเป็นปัญหากับการทำธุรกิจในปัจจุบัน บางครั้งเราอาจจะต้องลืมหรือลบข้อมูลบางอย่างที่เราเคยเรียนรู้มาในอดีต เพราะว่าสิ่งที่เวิร์กในอดีตไม่ได้แปลว่าใช้ได้ในยุคนี้ ฉะนั้นต้องไม่ยึดติด ยอมปล่อย และละทิ้งความรู้เดิมๆ ออกไปบ้าง ที่สำคัญคือการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ  ตัวนี้สำคัญ เพราะความรู้ที่เราเคยรู้วันนี้มันมีการพัฒนาขึ้นไปและมีแง่มุมใหม่ๆ มีวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาแล้ว ฉะนั้น Mindset และกระบวนการคิดที่จะทำให้เรา0อยู่รอดในธุรกิจปัจจุบันก็คือ 3 ตัวนี้”
 

     นี่คือตัวอย่างของกับดักที่จะนำพาธุรกิจไปสู่หายนะ ก่อนจะประสบความสำเร็จได้แบบที่วาดฝันไว้ และเป็นเหตุผลที่ SME ต้องกลับมาย้อนทบทวนตัวเองดีๆ ก่อนจะคิดหรือลงมือทำอะไร เขายังย้ำว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องเป็นการสร้างและพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นระบบ และต้องทำธุรกิจอย่างมีแผน  เพราะจะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจ และหันมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า เราเข้าใจปัญหาของลูกค้าจริงๆ ใช่ไหม







 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​