“วรกุลชัย แพ็คเกจซีล” คนทำพลาสติกรีไซเคิลที่ลงทุนสร้างแบรนด์ เพื่อช่วยลูกค้าตัวเองเปิดตลาด

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : KATHANA





Main Idea
 
 
    ข้อคิดจาก วรกุลชัย แพ็คเกจซีล
 
 
  • สกัดปัญหา ด้วยการลงมือแก้ไขตั้งแต่ต้นทางด้วยตัวเอง
 
  • ลงทุนขายให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อพิสูจน์คุณค่าของสินค้า
 
  • คิดหานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่หยุดพัฒนาตนเอง
 




     ปกติแล้วการสร้างแบรนด์หรือผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ก็เพื่อต้องการขายหรือหารายได้เข้ามาให้กับตัวเอง แต่นั่นอาจไม่ใช่กับ “วรกุลชัย แพ็คเกจซีล” ผู้ผลิตเส้นพลาสติกรีไซเคิลสำหรับงานหัตถกรรมภายใต้แบรนด์ “BUNNY TAPE” ที่ยอมลงทุนปั้นแบรนด์กระเป๋าของตัวเองขึ้นมา เพียงเพราะต้องการเปิดตลาดให้กับลูกค้า มากกว่าที่จะกระโดดเข้ามาลงเล่นอยู่ในตลาดแบบจริงจัง



 

ปัญหามา โอกาสเกิด
               

     ทินกร วรกุลชัย ประธานกรรมการบริหาร วรกุลชัย แพ็คเกจซีล ได้เล่าถึงแนวคิดสุดแหวกนี้ให้ฟังว่า เดิมทีนั้นทำธุรกิจผลิตเส้นพลาสติกสำหรับไว้ใช้รัดสินค้าในงานอุตสาหกรรมมาก่อน ซึ่งช่วงแรกจะเป็นการรับซื้อเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาจากซัพพลายเออร์อีกทีหนึ่ง แล้วจึงค่อยนำมาแปรรูปเอง แต่ภายหลังมีปัญหาสินค้าไม่ได้คุณภาพ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลการนำพลาสติกมารีไซเคิล กระทั่งตัดสินใจเปิดโรงงานของตัวเองขึ้นมา โดยตั้งอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมด้วย
               

     จากการได้มาทำโรงงานรีไซเคิลพลาสติกของตัวเอง ทำให้ทินกรพบว่าในการประมูลรับซื้อเศษพลาสติกเหลือใช้จากโรงงานต่างๆ ในแต่ละครั้งได้พบเศษพลาสติกหลายเกรดด้วยกัน บางชิ้นคุณภาพดี หากนำมาใช้ในงานอุตสาหกรรมอย่างเดียวก็น่าเสียดาย เขาจึงได้แยกเกรดพลาสติกออกมา แล้วนำมาผลิตเป็นเส้นพลาสติกใช้สานในงานหัตถกรรมออกมาด้วย ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านี้เขาเคยผลิตขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่นิยมของตลาดเช่นในทุกวันนี้ จึงได้เลิกผลิตไป
               

     ในการกลับมาผลิตอีกครั้ง แถมได้เป็นผู้ปรุงสูตรพลาสติกรีไซเคิลขึ้นมาด้วยตัวเอง ทำให้ทินกรและทีมงานพยายามคิดค้นเส้นพลาสติกสำหรับงานหัตถกรรมใหม่ๆ ออกมา ทั้งรูปแบบดีไซน์ คุณภาพ และการใช้งานที่ดีขึ้น เพื่อให้กลุ่มชาวบ้านหรือผู้ประดิษฐ์ชิ้นงานสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้
               

     โดยเส้นพลาสติกงานสานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่จะมีลักษณะบาง สานแล้วไม่เจ็บมือ เส้นไม่ล่อน ทำให้ผลิตชิ้นงานออกมาได้สวย และนอกจากเส้นสีสันฉูดฉาดที่เคยเห็นกันทั่วไป ก็มีการปรับให้เป็นโทนสีเรียบๆ ดูคลาสสิก เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตออกมาเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายไม้ หรือผิวสัมผัสแบบหนังขึ้นมาด้วย



 
 
ขายให้ดูเป็นตัวอย่าง


     แต่การสร้างวัตถุดิบใหม่ขึ้นมา ถึงจะมีความแปลกใหม่น่าสนใจกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะขายได้ในทันทีหากผู้ใช้ยังมองไม่เห็นทิศทางในการนำไปต่อยอดได้ และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้จากที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับตลาดเพียงอย่างเดียว ทำให้ทินกรและทีมงานต้องลงมือเป็นผู้ผลิตสินค้าขึ้นมาเสียเอง ด้วยการสร้างแบรนด์กระเป๋าสานจากเส้นพลาสติกขึ้นมา ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า “KATHANA” เปลี่ยนงานจักสานพื้นบ้านให้กลายเป็นแบรนด์กระเป๋าหรูได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศมากมาย


     “เราพัฒนาวัตถุดิบให้มีความน่าสนใจขึ้น แต่กลายเป็นว่าไม่สามารถเจาะกลุ่มตลาดลูกค้าเดิมที่เคยใช้ได้ เพราะเขามองไม่เห็นภาพว่าจะสามารถนำมาต่อยอดจากวัตถุดิบเดิมที่เคยใช้มาได้ยังไง อย่างตอนแรกที่ลองทำเป็นลายไม้ออกมา ไม่มีใครยอมซื้อไปใช้เลย ยอมรับว่าท้อเหมือนกัน สุดท้ายก็เลยคิดกันว่าต้องลองผลิตออกมาให้เขาเห็นว่ามันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้ยังไง ซึ่งพอเราสร้างแบรนด์และเอามาทำกระเป๋าของเราขึ้นมาเอง ผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดีมาก จากลูกค้าที่ตอนแรกไม่กล้าซื้อไปใช้งาน ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเขารู้แล้วว่ามันสามารถทำขึ้นมาได้จริงๆ จนทุกวันนี้ก็เริ่มมีคู่แข่งรายอื่นเอาไปทำเลียนแบบบ้าง แต่เราก็ไม่กลัว เพราะเราจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ไม่หยุด”





      แม้เส้นทางธุรกิจใหม่ของทินกรดูจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แต่เขาก็ยังยืนยันตามวัตถุประสงค์เดิม คือ  มีความถนัดที่จะเป็นผู้ผลิตเส้นพลาสติกรีไซเคิลที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ป้อนเข้ามาให้กับตลาดอยู่เสมอ มากกว่าที่จะลงมาเป็นผู้เล่นเสียเอง


      “วัตถุประสงค์ของเราจริงๆ ไม่ได้ต้องการที่จะลงมาเป็นผู้เล่นเสียเองในตลาดอยู่แล้ว เราไม่ได้อยากแข่งขันกับลูกค้าของเราเอง เราแค่ต้องการทำวัตถุดิบดีๆ ออกมานำเสนอให้กับตลาด ถ้ามีคนอยากได้สินค้าแบบนี้จริงๆ เราก็จะพยายามแนะนำต่อไปให้กับลูกค้าที่มาซื้อวัตถุดิบของเรา เพราะยังไงธุรกิจหลักของเราก็ยังเป็นการผลิตเส้นพลาสติก ที่ทำขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้ทุกคนมองเห็นว่ามันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้จริงๆ เท่านั้น เพราะสุดท้ายถ้าเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”


     ทินกรอธิบายเพิ่มเติมว่าการที่เขาสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อทดลองขายให้ดูเป็นตัวอย่าง นอกจากทำให้ลูกค้าตัวจริง ซึ่งเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบเกิดความมั่นใจแล้ว ยังช่วยให้สามารถมองเห็นทิศทางความต้องการจากตลาดของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย โดยสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองต่อไป



 
 
ยิ่งให้ ยิ่งได้ ยิ่งไม่มีสิ้นสุด


     สิ่งที่ทินกรและธุรกิจของเขาทำขึ้นมา ไม่เพียงเป็นการช่วยพัฒนางานหัตถกรรมฝีมือคนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาทัดเทียมกับสินค้าต่างประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยบริหารจัดการทรัพยากรพลาสติกเหลือใช้ จากที่ต้องถูกนำไปทิ้งอย่างไร้ค่าให้สามารถยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีก และยังเป็นการช่วยชะลอการดึงทรัพยากรใหม่ออกมาใช้ด้วย
               

     “นอกจากผลตอบแทนทางธุรกิจ และการได้ช่วยผู้ประกอบการคนไทยให้มีนวัตกรรมเส้นพลาสติกใหม่ๆ ใช้งานแล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อมเรามองว่าเราเองก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ได้นำสิ่งที่เป็นภาระล้นโลกในขณะนี้มาบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้งานได้ใหม่ เกิดการหมุนเวียน รวมถึงชะลอการนำวัตถุดิบใหม่จากธรรมชาติออกมาใช้งานด้วย ในระบบการผลิตของเราเรียกว่าน่าจะเป็น Zero Waste เลยก็ว่าได้ เพราะหากสินค้าชำรุด แตกหัก เราก็นำกลับมาหลอมใช้ได้ใหม่ แม้กระทั่งสายรัดพลาสติกที่ลูกค้าซื้อไปใช้งาน สุดท้ายถ้าเป็นเศษเหลือทิ้งเขาก็สามารถเก็บรวบรวมนำมาขายให้เรา เพื่อผลิตขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน วนต่อไปแบบนี้ได้เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด” ทินกรกล่าวทิ้งท้าย






 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​