“Lotus” ธุรกิจหมื่นล้าน ที่เริ่มจากขายที่นอนปิกนิก ฮิตจนขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea


ถอดสูตรความสำเร็จแบบ Lotus
 
  • ผลิตเก่ง ขายเก่ง มีความชำนาญครบรอบด้าน
 
  • เป็นผู้นำพยายามริเริ่มสิ่งใหม่ๆ มานำเสนอลูกค้า
 
  • ไม่หยุดตัวเองอยู่ที่ปัญหา แต่เลือกที่จะเดินหน้าให้เร็วที่สุด
 
  • คิดนอกกรอบ ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่สิ่งที่ทำอยู่
 



     ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่นอนและเครื่องนอนไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดอยู่ในขณะนี้ หรืออาจเลยไปถึงระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยก็ได้ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “Lotus” ธุรกิจที่นอนหมื่นล้านรวมอยู่ด้วยแน่นอน แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเติบโตมาได้อย่างทุกวันนี้ แบรนด์กลับเริ่มต้นตัวเองมาจากกิจการเล็กๆ อย่างการตัดมุ้งขาย รวมถึงยังเป็นผู้ผลิตที่นอนปิกนิกขายเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยด้วย
 



 
เริ่มจากมุ้ง        


     จุดเริ่มต้นกิจการของแบรนด์โลตัสเกิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีก่อน ในปี 2523 ด้วยการเปิดร้านขายมุ้งย่านโบ๊เบ๊ โดย กำธร – ลีหนา โลจนะโกสินทร์ สองสามีภรรยา ซึ่งในขณะนั้นได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว โดยกำธร ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของตระกูลรับหน้าที่เป็นเซลล์ขายมุ้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนลีหนาภรรยาได้ร่ำเรียนวิชาตัดเย็บมุ้งขายจากพ่อสามีอีกที





     กระทั่งเมื่อมีลูกคนแรกจึงได้แยกย้ายออกไปสร้างเนื้อสร้างตัวของตัวเอง ด้วยการร้านขายมุ้ง ชุดเครื่องนอน และสินค้าต่างๆ อยู่มาวันหนึ่งด้วยความที่เป็นร้านเล็กยังไม่มีเครดิตน่าเชื่อถือมากนัก ทำให้สินค้าที่เคยนำมาขายประจำอย่างผ้าปูที่นอน ก็กลับไม่มาส่ง จึงตัดสินใจหันมาเริ่มต้นตัดเย็บผ้าปูที่นอนขายเอง จนกลายเป็นที่มาจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์โลตัส ซึ่งในตอนแรกนั้นใช้ชื่อว่า ดอกบัว แต่ภายหลังอยากให้มีความเป็นสากลมากขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็น Lotus แทน





     จากส่วนผสมที่ลงตัวของทั้งคู่ ทั้งผลิตเก่ง และขายเก่ง จึงทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากผ้าปูที่นอน ก็เริ่มมีการผลิตสินค้าใหม่อย่าง “ที่นอนปิกนิก” ที่นอนน้ำหนักเบาเก็บพกพาได้ง่ายออกมาเพิ่ม ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกๆ ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ที่มีการทำที่นอนลักษณะนี้ออกมา จึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม ยอดขายพุ่งกระฉูดกว่าวันละล้านบาท กระทั่งสามารถเก็บเงินสร้างโรงงานของตัวเองขึ้นมาได้ โดยหลังจากขายชุดเครื่องนอนมาได้ 10 กว่าปี ภายหลังจึงมีความคิดผลิตที่นอนแบรนด์ตัวเองออกมาขายด้วย จึงทำให้โลตัสกลายเป็นแบรนด์ธุรกิจที่มีทั้งที่นอนและชุดเครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูเป็นของตัวเองแบบครบวงจร ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยากและท้าทายมีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปได้
 



 
วิกฤต สร้างแบรนด์เกิดใหม่ให้ปังยิ่งกว่าเดิม
               

     ภาพการเติบโตของที่นอนและเครื่องนอนโลตัสดำเนินมาเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2546 ได้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นกับธุรกิจจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เกือบหมดตัวเสียหายกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายก็ได้ทายาทรุ่น 2 “ทีปกร โลจนะโกสินทร์” เข้ามาช่วยกู้วิกฤต ซึ่งต้องดรอปเรียนกระทันหันจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อกลับมาช่วยครอบครัว โดยสิ่งที่ได้นำเข้ามาด้วย คือ การปรับระบบการทำงาน เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์และองค์กรให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงนำนวัตกรรมยุคใหม่เข้ามาสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการออกแบบที่นอนแบบไม่มีกุ๊นออกมาโดยมีลักษณะคล้ายทรงเต้าหู้ ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่คิดค้นขึ้นมาในโลก
               




     นอกจากจะพยายามสร้างแบรนด์หลักให้แข็งแกร่งขึ้นมาแล้ว ยังได้มีการออกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมาหลายสิบแบรนด์ด้วยกัน เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง ตัวอย่างที่เห็นได้โดดเด่น ก็คือแบรนด์ OMAZZ ชุดเครื่องนอนไฮเอนด์ที่ชูจุดขายด้วยการนำวัสดุธรรมชาติจากแหล่งที่ดีของโลกมาใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์





     และนอกจากนี้ยังมีการขยับฐานลูกค้าจากทั่วไปให้ขึ้นมาอยู่ในตลาด B- ถึง A+ แบรนด์ยังมีนำศิลปะเข้ามาใช้ในการสร้างแบรนด์มากขึ้น จากสินค้าจำเป็นและสินค้าเพื่อสุขภาพ ก็กลายเป็นสินค้าที่ขายด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นกว่าหลายเท่าตัว จากเดิมที่เคยอยู่ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็กลับกลายเป็น 50 -75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นมาได้ในระยะเวลาไม่ถึงยี่สิบปี และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้จากการกิจการเครื่องนอนและที่นอนเล็กๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นอาณาจักรหมื่นล้าน จนเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยากเลย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เกือบหลับ แต่กลับมาเป็นธุรกิจร้อยล้าน Plantae - La Glace 2 แบรนด์รุ่นใหม่ใจถึงทำถึง

Plantae และ La Glace สองแบรนด์รุ่นใหม่คือ ตัวอย่างของผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่ต่ายเคยตกอยู่ในวิกฤต แต่ด้วยแพชชันและการปรับตัวที่รวดเร็ว พวกเขากลับมาสร้างรายได้ระดับร้อยล้านได้สำเร็จ

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ