รู้จัก “แบรนด์ JIB” คนขายกล้วยน้ำว้าที่ถูกโรงงานปฏิเสธ พลิกวิกฤตมาส่งเข้าเซเว่น 6 พันลูกต่อวัน

TEXT : กองบรรณาธิการ





     ใครที่เป็นสายสุขภาพเวลาเดินเข้าร้าน 7-11 คงคุ้นชินกับมุมกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้า ที่เรียงรายอวดความสดใหม่อยู่ในหลายสาขา แล้วอยากรู้ไหมล่ะว่ากล้วยพวกนั้นมาจากไหน?
               

     วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับแบรนด์เล็กๆ ที่ชื่อ “JIB” ไม่ใช่ร้านขายคอมพิวเตอร์ชื่อดัง แต่คือคนขายกล้วยน้ำว้าที่มีตลาดหลักคือร้าน 7-11 และส่งผลผลิตกล้วยสูงถึง 6 พันลูกต่อวัน
                       
           
ใครคือเจ้าของแบรนด์ JIB


     แบรนด์ JIB มาจากชื่อของผู้ก่อตั้ง  “จิ๊บ-ช่อทิพย์ อุฮุย” เธอเข้าสู่วงการขายส่งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยขับรถจากเพชรบุรีไปขายตะลอนขายกล้วยที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรี เฉลี่ยวันละ 80 – 100 กิโลกรัม ทำอยู่นานกว่า 5 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี ได้แต่งงานมีครอบครัว จึงกลับมาขายส่งกล้วยที่บ้านเกิด ในตลาดท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีทั้งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 ตัน


     แต่ทว่ากิจการก็เริ่มสั่นคลอน หลังปี 2557 – 2559  เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ราคาผลไม้ตกต่ำ ส่งผลให้กล้วยเหลือเยอะมาก ในตอนนั้นเธอแก้ปัญหาด้วยการนำไปขายต่อในโรงงานแปรรูป แต่กลับถูกกดราคาต่ำเตี่ยเรี่ยดิน จากหวีละ 20 บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น



 

คนขายกล้วยน้ำว้า มาส่งเข้า 7-11 ได้ยังไง


     ในช่วงที่เกิดวิกฤตกล้วยล้นตลาด ขายกล้วยแทบไม่ได้ จนต้องหาทางออกไปส่งโรงงานแปรรูป แต่ก็ต้องทนกับการถูกกดราคา โรงงานจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ขณะเดียวกันคู่แข่งก็เยอะขึ้นมาก แต่ที่โหดร้ายไปกว่านั้นก็คือการที่จู่ๆ วันหนึ่งโรงงานก็ออกมาบอกว่า “ไม่รับซื้อ” โดยไม่มีเหตุผล ตัดสัมพันธ์กันง่ายดายอย่างนั้น


     ถ้าเป็นคนอื่นคงไปต่อไม่ถูก แต่ถ้าเป็นนักสู้แบบ ช่อทิพย์ เธอเลือกขับรถไปคลังสินค้าของซีพี ออลล์ แล้วเข้าไปขอเบอร์ฝ่ายจัดซื้อเพื่อโทรศัพท์ปรึกษา เธอบอกไปตรงๆ ว่า อยากจะขายกล้วยน้ำว้าเข้า 7-11 ต้องทำยังไง? เพราะเบื่อเต็มทนกับการทำธุรกิจบนความไม่แน่นอน แถมยังต้องมาลุ้นอยู่ทุกวันว่าโรงงานจะมาไม้ไหนอีกด้วย



 

ทำกล้วยแบบไหนถึงส่งขาย 7-11 ได้


     ใครจะคิดว่าวิธีแบบบู๊ๆ ในวันนั้น สุดท้ายจะทำให้พวกเขาพบหนทางส่งสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อชื่อดังได้จริงๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากการขายสินค้าแบบเก่าๆ คือกล้วยน้ำว้าที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคใน 7-11 ได้นั้นต้องมี “มาตรฐาน” ช่อทิพย์ เลยใช้เวลา 4 เดือน กับเงินอีก 8 แสนบาท ในการลงทุนสร้างโรงแพ็คกล้วย บนพื้นที่ขนาด 52 ตารางวา จนส่งกล้วยน้ำว้าขายใน 7-11 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เริ่มจากส่งร้านเซเว่นฯ สาขาภาคใต้ วันละ 500 แพ็ค แพ็คละ 2 ลูก หลังจากนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดกล้วยน้ำว่า JIB สามารถส่งเข้า 7-11 ได้ถึงกว่า 1,000 สาขา คิดเป็นปริมาณกล้วยวันละ 6,000 ลูก หรือราว 3, 000 แพ็คต่อวันเลยทีเดียว



 

กล้วยแบรนด์ JIB มาจากไหน


     กล้วยน้ำว้านับ 6 พันลูกต่อวัน มาจากพื้นที่เพาะปลูกของพวกเขาเองที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ บนพื้นที่ 20 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นการรับซื้อจากเกษตรกรมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์  โดยรับซื้อจากเกษตรกรใน จ.เพชรบุรีรวม 16 สวน ราว 300 ไร่ สิ่งที่พวกเธอให้ความช่วยเหลือเกษตรกรคือ  การประกันราคา ให้ถุงห่อกล้วย ลงตรวจแปลงกล้วย  เก็บเกี่ยวผลผลิต และให้เกษตรกรยืมเงินลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ย รายละ 5,000 บาท  นับเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเกือบทั้งหมดของกระบวนการ


     กล้วยน้ำว้าของ JIB เป็นกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์กาบขาว กาบเขียว และ ปากช่อง 50  มีความเหนียวหนึบ หวาน และรสชาติดี โดยพวกเขามีเคล็ดลับคือกรรมวิธีการบ่มที่ช่วยให้กล้วยมีเนื้อที่ละเอียดและแตกต่างจากที่อื่น ส่วนระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว จะตัดกล้วยทุกวัน แต่ละสวนเว้นรอบนาน 10 วัน โดยกล้วยที่เลือกใช้ต้องปลูกนาน 12 - 14 เดือน น้ำหนักต่อลูกที่ 80 กรัม ซึ่งหลังเก็บกล้วยมาจากสวนจะต้องพักไว้ในห้องแอร์ก่อนขาย 2 วัน เพื่อให้ยางแห้งพร้อมที่จะส่งผลสวยๆ ไปเสิร์ฟลูกค้าร้าน 7-11
 

     นี่คือตัวอย่างของ SME  รายเล็ก ที่มีหัวใจนักสู้ ผู้พลิกวิกฤตจนสามารถส่งขายกล้วยเข้าร้านดัง และมีรายได้หลักล้านบาท โดยปีนี้ที่ทุกคนมองว่าวิกฤต แต่ยอดขายกล้วยก็ยังเติบโตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งพวกเขาตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 7  ล้านบาท ส่วนเกษตรกร 16 สวน ที่ส่งกล้วยให้แต่ละสวนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท อีกด้วย










 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​