คุยกับทายาท “บะหมี่หมื่นลี้” ผู้อยากสร้างองค์กรร้อยปี อยากทำของดีที่ทุกคนต้องได้กิน

TEXT : กองบรรณาธิการ





     บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด คือชื่อของโรงงานผลิตและจำหน่ายเส้นบะหมี่ แผ่นเกี๊ยวจีน แผ่นเกี๊ยวซ่า เส้นยากิโซบะ เส้นราเมน เส้นอุด้ง ในแบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคยดี อย่าง หมื่นลี้ มัมปูกุ เส้นเงิน และเส้นไหม อยู่ในสนามมานานเกือบ 20 ปี (ก่อตั้งในปี 2545)


      เมื่อ 6 ปีก่อน “แพม-ภิญญาพัชญ์ ศรีรุ่งเรืองจิต” ทายาทคนโตของ “ลาวัลย์  ศรีรุ่งเรืองจิต” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ได้เริ่มเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว วันนี้เธอนั่งเป็น รองกรรมการผู้จัดการ โดยเธอจบปริญญาตรีจาก ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยปริญญาโท MBA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีโอกาสไปเรียนภาษาที่ประเทศจีนอยู่ 1 ปี


      องค์ความรู้ทั้งหมดนี้คือต้นทุนที่เธอมีก่อนเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ทว่ามันเพียงพอหรือไม่ ทายาทรุ่นใหม่ต้องรับมือกับพันธกิจที่ท้าทายนี้อย่างไร แล้วธุรกิจในยุคของเธอจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน มาฟังคำตอบไปพร้อมกัน



                               
เคล็ดวิชาทายาทที่คนรุ่นหนึ่งปลูกฝังไว้ตั้งแต่เล็ก
           

     ภิญญาพัชญ์ เข้ามาในธุรกิจครอบครัวแบบเต็มตัวเมื่อประมาณ 6 ปีก่อน แต่หากย้อนไปในวัยเด็กพูดได้ว่าเธอคลุกคลีอยู่กับธุรกิจที่บ้านตั้งแต่เริ่มก่อตั้งด้วยซ้ำ โดยเธอเล่าว่าแม่ตั้งโรงงานตอนที่เธอยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 สิ่งที่แม่ปลูกฝังมาตลอดคือมักจะมีโจทย์มาให้ลองทำ อย่างตอนตั้งโรงงานบะหมี่ใหม่ๆ ก็ยื่นข้อเสนอว่าถ้าสามารถขายบะหมี่ได้  ได้เงินเท่าไรเงินต้นไม่ต้องคืน เธอเลยได้เริ่มเป็นแม่ค้าฝึกหัด หอบหิ้วบะหมี่ขึ้นรถโรงเรียนไปขายคุณครู พ่อค้าแม่ค้าที่โรงอาหารและเพื่อนๆ จากจุดนั้นเองที่เธอได้เรียนรู้ว่า


      “การขายสินค้าหรือแม้กระทั่งการนำเสนอสินค้าของเราไม่ได้มีข้อจำกัดเลย เพราะเราสามารถขายให้ใครก็ได้ จะเพื่อน คุณครู หรือแม่ค้า ก็ขายได้”
               

      แต่แล้ววันหนึ่งแม่ค้าแพมก็ต้องหยุดขายบะหมี่ เพราะผู้เป็นแม่เริ่มกังวลว่าลูกสาวจะไปโฟกัสกับการค้ามากกว่าเรียนหนังสือ


      “ช่วงนั้นเลยไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจของคุณแม่มากนัก รู้อย่างเดียวว่าคุณแม่ต้องออกไปหาลูกค้าตอนกลางคืน เพราะว่าเราเริ่มจากตลาดสด ตอนนั้นเรายังเป็นแบรนด์ใหม่ ยังไม่มีทุนทรัพย์เยอะแยะมากมายอะไร คุณแม่ก็ต้องไปตลาดกลางคืนเพื่อไปพรีเซนต์สินค้าตอนตี 1 ตี 2” เธอเล่า
               

     ในตอนที่เลือกวิชาเรียนเมื่อต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยเธอเลยเลือก เทคโนโลยีทางอาหาร เพราะมองว่าอย่างน้อยวิชาความรู้ที่ได้คงนำมาช่วยธุรกิจของที่บ้านได้บ้างไม่มากก็น้อย



 

ผู้บริหารฝึกหัดที่เริ่มทุกอย่างจากการเรียนรู้


      เมื่อถามว่าตั้งใจจะมาทำอะไรกับธุรกิจครอบครัวบ้าง ภิญญาพัชญ์ บอกเราว่า อยากมาช่วยแบ่งเบาภาระคุณแม่ อยากกลับมาพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจให้ดีขึ้น ให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพ และสะดวกสบายมากขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น ที่สำคัญพนักงานทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่สามารถทำงานร่วมกันได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย


      “ช่วงแรกต้องเรียกว่าเริ่มจากเป็นผู้เรียนดีกว่า เพราะแม้จะอยู่กับคุณแม่มาตั้งแต่ตั้งธุรกิจนี้ แต่ตอนนั้นยังเด็กอยู่ วันจันทร์-ศุกร์ ยังเรียนหนังสือ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ก็มาที่ทำงานคุณแม่ แต่ว่ายังไม่ได้เข้ามาสัมผัส ไม่ได้มาแบกรับภาระ ความกดดัน หรือต้องตัดสินใจอะไร แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ ก็เหมือนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ และเรียนรู้ที่จะต้องยืนบนขาของตัวเองให้ได้ ตอนนั้นก็อาศัยถามจากคนที่เคยทำงานมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นพี่ๆ หรือแม้กระทั่งน้องที่เขาทำงานมาก่อนเรา ก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ปรับตัวไป” เธอเล่า


      ถามว่าทายาทอย่างเธอเข้ามาทำอะไรให้ธุรกิจครอบครัวบ้าง ภิญญาพัชญ์ เล่าว่า ไม่ปิดตัวเองจากทุกโอกาสที่เข้ามา  เพราะสิ่งที่ยุคของเธอไม่เหมือนยุคก่อนคือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะความก้าวหน้าของระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และการมาถึงของช่องทางใหม่ๆ อย่างออนไลน์


      “เราต้องติดตามและไปหยิบสิ่งเหล่านั้นมาใช้ให้ถูกจังหวะ เพราะถ้าทิ้งโอกาสตรงนั้นไปก็จะกลายเป็นช่องว่างที่คนอื่นสามารถมาแทนที่เราได้ ฉะนั้นเราต้องทำให้เร็ว เพื่อให้ก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของออนไลน์ การควบคุมคุณภาพ เรื่องของ  CRM ที่จะสามารถให้กับลูกค้าได้มากขึ้น อย่างเมื่อก่อนการขนส่งสินค้ายังลำบาก เราเคยตั้งแต่ส่งผ่านรถทัวร์ ซึ่งต้องส่งปริมาณเยอะๆ และใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันลูกค้าชอบที่จะสั่งน้อยๆ ห่อเดียวก็ส่งแล้ว แต่เขาอยากได้ของเลย อาจจะใช้เวลาแค่ภายในวันเดียว จึงเป็นอะไรที่เราต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งค่อนข้างยากเหมือนกันแต่เราก็ค่อยๆ เปลี่ยน เปลี่ยนทีละเรื่อง อาจใช้เวลา แต่ว่ามันทำให้ตัวเราเองแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ”



 

ทำของดีที่ทุกคนต้องได้กิน ตลาดไหนก็เข้าถึงได้ไม่เหลื่อมล้ำ


      ตลอด 6 ปีที่ผ่าน ผลิตภัณฑ์ของยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหารค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่รูปลักษณ์ที่สวยงาม หลากหลาย สะอาดตา เข้ากับยุคสมัย ตัวเส้นที่มีสีสันและคุณประโยชน์ มีการทำมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น ยังคงให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยคงคอนเซ็ปต์ ทำสินค้าที่เหมือนแม่ทำอาหารให้ลูกกิน คือไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่สีสังเคราะห์ และเลือกของที่มีคุณภาพที่สุดมาทำ โดยการพัฒนาสินค้าจะมาจากการฟังเสียงของลูกค้าเป็นสำคัญ


       “ที่เราโตมาได้จนถึงทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเพราะฐานลูกค้าเก่าของเราที่อยู่ด้วยกันมานาน และลูกค้านี่แหละที่จะเป็นคนฟีดแบคกลับมาบอกเราว่าอะไรดีอะไรไม่ดี หรืออยากให้เราปรับปรุงตรงไหน เหมือนเป็นยุคที่ต้องเกื้อกูลข้อมูลกันระหว่างเรากับลูกค้า ไม่ใช่แค่จะมาทำโปรโมชั่น เพราะบางทีแค่การลดแลกแจกแถมก็ไม่ได้บ่งบอกว่าลูกค้าจะรักเราตลอดไปหรือจะซื้อสินค้าของเราตลอดไป”  


       การเข้ามาของทายาทรุ่นใหม่ เธอบอกว่า เน้นทำสินค้าให้เข้าถึงคนง่ายมากขึ้น ขายผ่านช่องทางที่หลากหลายขึ้น และเน้นทำสินค้าแบบเดียวกัน ในคุณภาพเดียวกันที่ทุกตลาดต้องได้กิน ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะในห้างฯ ในตลาด หรือแม้แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวริมทาง ก็ต้องได้ของคุณภาพแบบเดียวกันเสมอ


       “ที่ลูกค้าซื้อของเราแทนที่จะไปซื้อจากเจ้าอื่น มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำคุณภาพค่อนข้างมั่นคง โดยเราพยายามที่จะไม่ขายเพื่อให้เขาประทับใจแค่ครั้งแรก แต่จะทำยังไงก็ได้ให้เขาซื้อกับเราได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามทำทุกอย่างให้เขาซื้อง่ายที่สุด โดยไม่ได้มองว่าเขาซื้อ 1 ห่อ หรือเขาซื้อ 100 กิโล 1,000 กิโล แต่ต่อให้เขาซื้อแค่ 1 ห่อเราก็จะบริการเขาให้ดี และเราพยายามขายให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตลาดไหน จะในห้างฯ หรือในตลาด ก็ต้องซื้อสินค้าของเราได้ แบรนด์เราจึงไม่ได้มีสูตร 1-2-3 หรือมีผลิตภัณฑ์สำหรับช่องทางไหนโดยเฉพาะ เพราะมองว่าไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็จะต้องกินได้เหมือนกัน เพียงแต่ตลาดนี้อาจจะขายแพ็กเล็กหน่อย ตลาดนี้แพ็กใหญ่หน่อยแค่นั้นเอง แต่ของต้องเป็นแบบเดียวกัน ลูกค้าจะมีเงินมากเงินน้อยก็ต้องสามารถกินของเราได้เหมือนกัน ไม่เหลื่อมล้ำ” เธอสะท้อนแนวคิดที่ทำสินค้าให้คนทุกกลุ่มกินได้


       วันนี้ลูกค้าของพวกเขาเลยครอบคลุมทั้ง กลุ่มซูเปอร์มาร์เกต และโมเดิร์นเทรด ตลาดสด ตลาดโรงเรียน ร้านก๋วยเตี๋ยว ตัวแทนจำหน่าย กลุ่มลูกค้าที่ซื้อตรงกับโรงงาน ตลอดจนลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ และยังจัดตั้งทีมวิจัยขึ้นมาเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการผลิตให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอีกด้วย



 

นำพาธุรกิจครอบครัวมุ่งสู่ฝันองค์กร 100 ปี


       เมื่อให้ลองให้คะแนนตัวเองในผลงานที่ผ่านมา เธอบอกว่า รู้สึกพอใจกับสิ่งที่ทำและรักที่จะทำตรงนี้ โดยความสุขของเธอไม่ใช่แค่ความสำเร็จในธุรกิจเท่านั้น แต่คือการได้ถ่ายทอดความรู้และสิ่งที่เธอเข้าใจไปให้กับพนักงาน และเมื่อไรก็ตามที่พนักงานคนนั้นทำได้และพัฒนาตัวเองขึ้น เธอก็จะรู้สึกประสบความสำเร็จ ภูมิใจและมีความสุขตามไปด้วย  


       อีกหนึ่งความสุขและเป็นข้อได้เปรียบของการได้ทำธุรกิจกับครอบครัวคือ ได้ใช้ชีวิตและมีเวลาอยู่กับคนที่บ้านมากขึ้น ความสุขที่เธอบอกว่า มีเงินแค่ไหนก็ซื้อไม่ได้


        “ถ้าเราไปทำงานที่อื่นสิ่งที่จะไม่มีแน่นอนก็คือเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว มองว่านี่คือหัวใจสำคัญของคนที่มาทำธุรกิจต่อจากที่บ้าน วันนี้งานอาจจะยังไม่เสร็จหรอก แต่เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยมาทำต่อก็ได้ แต่วันนี้กลางวันเดี๋ยวได้กินข้าวกับคุณแม่และน้องชายแล้ว สำหรับตัวเองมันเป็นอะไรที่แฮปปี้ ทำแล้วมีความสุข”


       สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ทายาทบอกเราว่า มันคือการวางแผนระยะยาวแต่ไม่ได้กังวลกับมันในระยะยาว มองแค่ว่าวันนี้ทำแล้วต้องดีกว่าเมื่อวาน ดีกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา มีปัญหาก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปกับมัน เมื่อเติบโตขึ้นปัญหาที่เคยคิดว่าใหญ่ในวันแรก ประสบการณ์ก็จะทำให้ปัญหานั้นเล็กลง และรู้หนทางที่จะรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ช่วยให้เธอยังคงมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน





      และเมื่อถามว่าอยากเห็นธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เธอบอกแค่ว่า อยากเป็นองค์กร 100 ปี ที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน


       “เคยคุยกับคุณแม่ว่า อยากให้ธุรกิจของเราโตแบบสตรองเหมือนโรงงานของญี่ปุ่นที่อยู่ได้เป็น 100 ปี อยู่จนกว่าเราจะไม่ได้ทำมันแล้วแต่มันก็ยังอยู่ต่อไปได้ อยากให้เป็นแบบนั้นเ พราะมองว่าเราคงไม่ทำธุรกิจอะไรสักอย่างแล้วแค่ทำให้มีมูลค่าสูงสุดแล้วก็ขายมันทิ้งไป นั่นไม่ใช่ทางของเรา แต่อยากทำให้มันพัฒนาขึ้น ช่วยให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรา แต่ยังรวมถึงพี่ๆ น้องๆ ที่อยู่ในองค์กร ที่เป็นยิ่งกว่าคนในครอบครัวของเรา รวมถึงลูกค้าของเราด้วย”
 

       และนี่คือเรื่องราวของทายาทคนทำเส้นบะหมี่ ผู้อยากเห็นธุรกิจครอบครัวอยู่ยั่งยืนเป็นองค์กร 100 ปี และทำของดีที่ไม่ว่าใครก็ต้องได้กิน แม้เป้าหมายที่เธอตั้งใจไว้อาจยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ แต่เธอก็เลือกลงมือทำอย่างตั้งใจนับแต่วันแรกที่ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว
 
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​