ไอเดียสุดแซ่บ “ทานไทย” จับ Plant-based มาคู่กับ Thai Street Food ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ป้อนสู่ตลาดโลก

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ทานไทย





      ย้อนกลับไปในวันที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิต Plant-based หรือเนื้อที่ทำมาจากพืชเลยแม้แต่แบรนด์เดียว สินค้าส่วนใหญ่ยังมาจากการนำเข้า ทั้งจากฝั่งอเมริกา ยุโรปและเอเชีย กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านการออกแบบนวัตกรรม อย่าง “อรณา อนันตชินะ” "กวิสรา อนันต์ศฤงคาร" และ "ชนิกา พุดหอม" เกิดไอเดียที่จะทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ในคอนเซปต์ Plant-based Thai Street Food ขึ้น โดยใช้เนื้อจากพืชมาปรุงเป็นอาหารรสแซ่บสไตล์สตรีทฟู้ดแบบไทยๆ ที่ไม่ใช่แค่สาวกวีแกนหรือสายเจเท่านั้น แต่คนรักสุขภาพก็สามารถเข้าถึงได้


      และนั่นคือที่มาของ “ทานไทย” (Thaanthai) อาหารไทยสตรีทฟู้ดที่ทำมาจากพืชรายแรกของไทย เมื่อปลายปี 2018 โดยได้เชฟ  "ขุนกลาง ขุนขันธิน" มานั่งเป็น Head Chef แจ้งเกิดธุรกิจใหม่ไปพร้อมกับพวกเขา




 
เมื่อ Plant-based มาเจอกับ Thai Street Food


     แม้ในประเทศไทย Plant-based Food หรือกลุ่มอาหารที่ทำมาจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ฯลฯ  ยังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศเทรนด์นี้เกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว โดยมีหลายๆ แบรนด์ที่ลุกมาทำเนื้อจากพืช รวมถึงแบรนด์ของฮ่องกงอย่าง OmniPork ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และไอเดียของทานไทยก็จุดประกายขึ้นจากจุดนั้น


       “พวกเราทำงานด้าน Design Innovation  ในตอนนั้นได้ให้คำปรึกษาลูกค้าที่กำลังมองหา Business Model  ใหม่เลยเสนอตัวนี้ไป เพียงแต่ด้วยความที่ลูกค้าอาจจะยังไม่ได้สนใจมากนัก แต่เรามองเห็นโอกาสว่า ไอเดียนี้ยังไม่มีใครทำเลยในเมืองไทย ก็เลยหยิบตัว Plant-based Meat มาทดลองทำอะไรดู เรานั่งคุยกันว่าจริงๆ แล้วอยากให้เมนูอาหารที่ทำมาจาก Plant-based ตอบโจทย์คนที่ไม่ใช่แค่คนที่ทานวีแกนเท่านั้น แต่อยากจะให้คนที่เขากินอาหารทั่วๆ ไปอย่างเราๆ ซึ่งกังวลเรื่องสุขภาพได้เข้าถึงของพวกนี้มากขึ้นด้วย  เลยมองถึงรสชาติของอาหารที่เป็นสตรีทฟู้ดแบบไทยๆ ที่เรากินกันทุกวัน  ซึ่งน่าจะถูกปากคนไทย และเมนูอาหารไทยเองก็ดังไปทั่วโลกอยู่แล้ว เลยจับเมนู Thai Street Food  มาลองทำกับวัตถุดิบที่เป็น Plant-based เทสต์จนได้รสชาติที่อร่อยก็เริ่มออกขาย”



 

เรียนรู้จากการลงมือทำ เติมเต็มในสิ่งที่ขาด


     SME รุ่นเก่าอาจเริ่มธุรกิจด้วยความกล้าๆ กลัวๆ และใช้เวลานานกว่าจะแจ้งเกิดธุรกิจใหม่สักตัว แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พวกเขาเลือกที่จะลงมือทำและทำทันที แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไปกับมัน


       “ตอนนั้นเราทั้ง 3 คนไม่ได้มีธุรกิจร้านอาหารหรืออยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมาก่อนเลย เราแค่มีไอเดียและอยากจะทดลองก็เริ่มต้นด้วยการออกแบบเมนูสตรีทฟู้ด อย่าง พวกผัดกะเพราที่ทำมาจาก Plant-based ดูว่ามันจะอร่อยได้เทียบเท่าผัดกะเพราที่เรากินกันอยู่ทุกวันหรือเปล่า ทำออกมาและทดสอบกันเองภายในว่ารสชาติเป็นยังไง คุยกับเพื่อนๆ และคนรอบข้างว่าถ้าเรามีไอเดียประมาณนี้เขาจะสนใจไหม ลองเอาตัวเมนูที่ทำให้คนรอบข้างเริ่มชิม จนได้สูตรที่เรามั่นใจแล้วว่าสามารถขายให้กับคนที่กินวีแกนและคนที่กินสตรีทฟู้ดทั่วไปได้ ก็เริ่มขาย โดยเริ่มจากขายออนไลน์และทดลองขายในอีเวนต์เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ และตั้งราคาขายไว้ในระดับเดียวกับกลุ่มอาหารคลีน เนื่องจากตัววัตถุดิบอย่าง Plant based เองค่อนข้างมีราคาสูง และเรายังเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีด้วยไม่ว่าใบกะเพราหรือข้าวที่เป็นออร์แกนิก มาจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของไทย (Local Farmer) เพื่อตอบคุณค่าในส่วนนี้ด้วย”
 

      ทานไทยเริ่มจากใช้บริการครัวให้เช่า มีเชฟมาปรุงอาหารให้ ช่องทางขายหลักคือเพจ Facebook และ Instagram (Thaanthai) ไม่ได้ขายผ่านแพลตฟอร์ม ลูกค้าออเดอร์มาก็ติดต่อผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไปส่งสินค้าให้ โดยช่วงแรกมีออเดอร์อยู่ประมาณ 100 กล่องต่อวัน


      แม้จะดูเหมือนมีสัญญานที่ดี แต่ทั้ง 3 คนยอมรับว่า อุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจของพวกเธอก็คือการขาดความรู้และพื้นฐานในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้การทำอะไรหลายอย่างค่อนข้างช้า เพราะเมื่อได้ลงมือทำจริงๆ ถึงได้พบว่า Food Industry ยังมีอินไซด์อะไรหลายๆ อย่างที่คนนอกวงการยากที่จะรู้


      และนั่นคือเหตุผลที่เลือกนำตัวเองไปเข้า “โครงการ SPACE-F” โปรแกรมการพัฒนา Startup ด้านอาหารในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ปั้นฟู้ดเทคระดับโลกแห่งแรกของไทย เพื่อเติมเต็มความรู้ในสิ่งที่ขาด และเชื่อมต่อเครือข่ายคนในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ความฝันของพวกเธอได้ไปต่อ



 

เมื่อสนามเปลี่ยน ได้เวลาปรับโมเดลธุรกิจ


      วันแรกที่เริ่มทำอาจไร้เงาคู่แข่ง แต่ผ่านมาไม่นานสนามที่เคยหอมหวานกลับเต็มไปด้วยการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่รายเล็กรายน้อย แต่คือคู่แข่งรายใหญ่  รายที่มีความพร้อม และทุนหนากว่าผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อย่างพวกเขา ผู้ประกอบการ Plant-based มีโรงงานผลิตในประเทศไทย ใครใช้สินค้านำเข้าต้นทุนก็สูงกว่า ร้านอาหารเชนใหญ่ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ที่มีทั้งครัวและสาขาจำนวนมากเริ่มมีขายอาหาร Plant-based  ทานไทยไม่ได้เป็นเจ้าเดียวอีกต่อไป ไม่ใช่ผู้เล่นหลัก และไม่ได้มีอำนาจในการทำการค้าหรือการแข่งขันอะไรขนาดนั้น ถึงจุดที่เริ่มมีคู่แข่งพวกเขายอมรับว่า “เกินกำลัง” ก็ได้เวลาต้องปรับเกมรบใหม่


       “สนามมันเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับตัว โดยตอนแรกเราเริ่มจาก Product แล้วพอเริ่มมี Plant-based มากขึ้น คนเริ่มเอามาทำเมนูอาหารไทยเยอะขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่ารสชาติแตกต่าง แต่เอาจริงๆ แล้ว  ด้วยกำลังของช่องทางการจัดจำหน่ายที่เขามีมากกว่าเรา เราก็สู้ไม่ได้จริงๆ และเราก็ไม่ได้มีเงินที่จะไปทำการตลาดอะไรขนาดนั้นด้วย เลยมามองว่า คำว่า  Thai Street Food  มันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวอาหารอย่างเดียว แต่มีเรื่องของไลฟ์สไตล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเราสามารถนำมาใส่เพิ่มให้เป็นประสบการณ์ในการทานอาหาร Thai Street Food ที่สนุกขึ้น เราอยากสร้างนิยามใหม่ให้กับมุมมองของ  Plant based  Thai Street food ที่คนอาจยังไม่เคยเห็นมัน  ให้สนุกกว่าเดิม ทันสมัยกว่าเดิม”


      วิธีการในการสื่อสารเรื่องอาหารให้เป็นไลฟ์สไตล์และของใหม่ ไม่ใช่การไปออกงานแสดงสินค้าอาหาร แต่พวกเขาเลือกนำตัวเองไปปรากฎตัวในงาน Bangkok Design Week  เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ เพื่อให้คนสัมผัส Plant based Meat ในมุมมองใหม่ ผ่านความคิดสร้างสรรค์และความทันสมัย และหลังจากนี้ทานไทยจะเปลี่ยนไป


     ไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่ขายเมนู Plant based ในรูปแบบสตรีทฟู้ด แต่คือการสร้างประสบการณ์และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ผ่านร้านอาหารที่เป็น Specialty plant-based Thai Street Food ซึ่งจะทำในรูปแบบแฟรนไชส์ และเป้าหมายคือต่างประเทศ


      “เราอยากทำเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหาร Plant-based Thai Street Food โดยที่ตัวร้านมีความเป็นไลฟ์สไตล์ เหมือนกับที่วันนี้เราจะเห็นร้านที่เป็น Specialty Coffee เยอะมาก เราก็อยากเป็น Specialty Plant-based Thai Street Food ร้านที่คนจะไปนั่งชิลล์ได้ ไปพูดคุยกันได้ เพียงแต่รูปแบบอาหารจะเป็นลักษณะนี้ มีประสบการณ์ที่ไม่ใช่แค่ร้านอาหารทั่วไป นั่นคือไอเดียคอนเซปต์ของสิ่งที่เราอยากจะเป็น” พวกเธอบอกความมุ่งหมาย




 
มองหาพันธมิตรทางธุรกิจเติมเต็มฝัน พร้อมโบยบินสู่ต่างประเทศ


      ในวันนี้ทานไทยอยู่ระหว่างการมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) มาช่วยเติมเต็มความฝันของพวกเขา โดยเฉพาะต่อสายป่านด้านเงินทุนให้ยาวขึ้น เพื่อนำพาไอเดียใหม่พร้อมโบยบินสู่ต่างประเทศ


      “สำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารอยู่แล้ว และกำลังมองหาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือต้องการหา New s-curve ให้กับธุรกิจของตัวเอง เรามองว่าทานไทยน่าจะไปตอบโจทย์เขาได้ ในขณะที่เขาเองก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Food Industry อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นจุดที่เติมเต็มเราได้เช่นกัน ก็น่าจะไปด้วยกันได้ดี ซึ่งสิ่งที่เราทำมองว่ามันเป็นเหมือน New Business Model อันใหม่ ที่เชื่อว่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในอนาคตที่ต้องการประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ความอร่อยหรือว่าเรื่องของสุขภาพ แต่เรากำลังสร้างนิยามใหม่ กำลังสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ ซึ่งนี่เป็น Brand Value ที่สำคัญของเรา”


      เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคตหากค้นพบ Strategic Partner ที่ใช่ ทั้ง 3 คนบอกเราว่า อยากเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้เติบโตแค่ในเมืองไทย แต่อยากไปเติบใหญ่ในตลาดโลก อยากให้คนทั่วโลก ที่เมื่อนึกถึงอเมริกันฟู้ดจะนึกถึงเบอร์เกอร์ ก็อยากให้เวลาคิดถึงประเทศไทยหรือว่าอาหารไทย ก็อยากให้นึกถึงทานไทย ที่นำเสนอทั้งประสบการณ์ วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของความเป็นไทย เป็น Specialty Plant-based Thai Street Food ที่ทุกคนทั่วโลกจะคิดถึง
 

       เมื่อให้ฝากข้อแนะนำสำหรับคนที่จะเข้ามาในสนาม Plant-based Food ในฐานะคนที่ลงเล่นมาก่อน พวกเธอบอกว่า ด้วยความที่มันยังเป็นธุรกิจที่มาเร็ว และเป็นช่วงเริ่มต้น ในขณะที่เมืองไทยเองก็ยังไม่ใช่ตลาดแมส ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนจะต้องมีเลยคือต้องเตรียมเงินทุนประมาณหนึ่ง ต้องมีกำลังที่มากพอที่จะใช้ลงทุนในช่วงแรก และต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ทำกำไรในเร็ววันแน่นอน และจำเป็นมากๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าที่แม้จะมีน้อยแต่ว่ามีความสำคัญ เพราะว่าเขาจะเป็นคนที่บอกต่อและทำให้ธุรกิจของเราไปต่อได้ นอกจากนี้จุดขายของสินค้ายังมีความสำคัญ เพราะถ้าเราทำเหมือนคนอื่นก็จะไม่มีความแตกต่าง ต้องตอบตัวเองว่าเราอยากจะเป็นผู้ตามเทรนด์หรือผู้นำเทรนด์ เพราะถ้าแค่ตามเขา สุดท้ายก็จะต้องไปแข่งขันกันในเรื่องราคา แต่ถ้าเราจะนำเทรนด์ เราจะแข่งกันที่ความยูนีค และคุณค่าที่เราส่งมอบให้กับลูกค้าของเรา อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเป็นแบบไหน พวกเธอทิ้งท้ายไว้แค่นั้น
 
 




 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​