“Fruitaya” นวัตกรรมเพื่อคนรักสุขภาพ จากผู้บุกเบิกแก้วมังกรในประเทศไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand และ Fruitaya





     เมื่อกว่า 20 ปีก่อน สวนเกษตรเล็กๆ แถวรังสิต คลอง 10 จ.ปทุมธานี ได้บุกเบิกนำ “แก้วมังกร” มาทดลองปลูกในประเทศไทย วันนี้พวกเขากลายเป็น สวนเกษตรแก้วมังกร บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีผลผลิตแก้วมังกรคุณภาพกว่า 2 แสนกิโลกรัมต่อปี (200 ตัน) ส่งออกไปในหลายประเทศ และเมื่อ 3 ปีก่อน ยังให้กำเนิดแบรนด์ “Fruitaya”  (ฟรุตทายา) ผลิตภัณฑ์แยม น้ำแก้วมังกร และแก้วมังกรอบแห้ง นวัตกรรมความอร่อยจากผลผลิตทางการเกษตรที่เข้ามาตอบตลาดคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ ซึ่งวางแผนส่งออกไปตลาดโลกเร็วๆ นี้


      พวกเขาสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร มาฟังคำตอบจาก Young Smart Farmer  เมืองปทุมฯ  “ฉัตรโสรฬ บุณยาคุมานนท์” เจ้าของกิจการ สวนเกษตรแก้วมังกร แบรนด์ Fruitaya กัน
 


 
           
แจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แก้ปัญหาผลผลิตตกเกรด


     สวนเกษตรแก้วมังกร Fruitaya เน้นปลูกแก้วมังกรคุณภาพปราศจากสารเคมีใน 3 สายพันธุ์ คือ สีขาวเวียดนาม สีแดงไต้หวัน และสีทองอิสราเอล ลูกใหญ่ สีสวย รสชาติหอมอร่อย ได้รับการรับรองครบทั้ง Global G.A.P. (รับรองสินค้าระดับโลก) และ Q G.A.P. (การรับรองสินค้าจากกรมวิชาการเกษตร) ตอกย้ำความปลอดภัย และได้คุณภาพ พร้อมส่งออกเป็นผลสดสู่ตลาดโลก  


      ทว่าในแต่ละรอบของการปลูก จะมีผลผลิตประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในกลุ่ม “ตกเกรด” คือผิวไม่สวย ไม่ควรคู่แก่การส่งออก ทำให้ราคาตกฮวบ จากผลสดทั่วไปขายกันที่กิโลกรัมละ 45-60 บาท แต่ถ้าผลตกเกรดต้องขายเข้าตลาดโดนกดราคาเหลือแค่ 10-20 บาทเท่านั้น ทั้งที่อยู่ในแปลงเดียวกัน และเป็นแก้วมังกรปลอดสารคุณภาพเดียวกับตลาดส่งออกแท้ๆ พวกเขาเลยมองว่า แทนที่จะขายทิ้งแบบถูกๆ ควรจะเอาผลผลิตเหล่านั้นมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Fruitaya


      “เราเริ่มต้นด้วยความที่เป็นสวนแก้วมังกร ฉะนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปอะไรเลย แต่ตัวผมเองพอมีคอนเนกชันกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลยไปติดต่อขอความช่วยเหลือบอกว่าเราสนใจจะแปรรูปแก้วมังกร อาจารย์เลยช่วยคิดสูตรในการผลิตและขอทุนจากภาครัฐให้ เพราะมองว่ายังไม่มีแก้วมังกรแปรรูปในท้องตลาดบ้านเรามากนัก เลยเห็นเป็นโอกาสและพัฒนาออกมาเป็น แยมแก้วมังกร น้ำแก้วมังกร และแก้วมังกรอบแห้ง


      แต่ว่าสูตรของอาจารย์ยังเป็นการเติมน้ำตาลลงไป เลยมองว่าอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของเราที่ใส่ใจสุขภาพ และเราเองก็อยากขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติด้วย และเรามีจุดแข็งคือเป็นเจ้าของสวนเอง ดังนั้นเราสามารถคัดเกรดคุณภาพในเรื่องของรสชาติวัตถุดิบได้ตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว  เลยพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ Function Food ที่ไม่มีการเติมน้ำตาลเข้าไป เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ"


      สินค้านวัตกรรมใหม่ใช้เวลาพัฒนาอยู่ประมาณ 8 เดือน ผลลัพธ์ที่ได้คือผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพที่ขยับราคาขายและโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้อีกหลายเท่า จากสินค้าตกเกรดขายได้กิโลกรัมละ 10-20 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเช่นทำเป็นแก้วมังกรอบแห้งขายได้ถุงละ 69 บาท  
 


 

ไม่ใช่แค่แก้วมังกร แต่คือ Fruitaya


      คนเอเชียอาจเรียกแก้วมังกรตรงๆ ตัวว่า Dragon Fruit แต่ชื่อจริงๆ ของพวกมันคือ Pitaya เมื่อต้องมาทำผลิตภัณฑ์จากแก้วมังกร พวกเขาเลยตั้งชื่อว่า “Fruitaya” ซึ่งมาจากคำว่า “Fruit” ที่แปลว่าผลไม้ และ “Pitaya” แก้วมังกรนั่นเอง


      “เราใช้ชื่อว่า Fruitaya เพื่อไม่ให้ตีกรอบตัวเองเกินไปว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากแก้วมังกรเท่านั้น  แต่ในอนาคตเมื่อเราทำแก้วมังกรได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะนำผลไม้ชนิดอื่นมาแปรรูปในลักษณะเดียวกันด้วย เพื่อให้เราสามารถต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ไม่ใช่แค่แก้วมังกรเท่านั้น” เขาบอกที่มาของชื่อ


      เมื่อถามถึงแนวทางการทำตลาดของแก้วมังกรแปรรูป เขาบอกว่ายังเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ต่างประเทศชื่นชอบ มองเป็น Superfruit ที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น มีไฟเบอร์สูง ช่วยในการขับถ่าย มีพรีไบโอติกช่วยปรับสมดุลลำไส้ มีวิตามิน D, C ช่วยในเรื่องสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ และต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องสุขภาพด้วย จึงเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยที่จะได้ไปเติบใหญ่ในตลาดโลก โดยเบื้องต้นจะส่งไปในตลาดเดิมที่ขายผลสดอยู่แล้ว อย่าง ยุโรป ออสเตรีย ฝรั่งเศส และเอเชียตะวันออกกลาง ก่อนขยับขยายต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำมาตรฐานเพื่อให้พร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าแปรรูป ไปกระจายความอร่อยในตลาดโลก


       “ถามว่าทำไมเราไม่เน้นตลาดในประเทศไม่ว่าจะเป็นผลสดหรือแปรรูป เพราะว่าด้วยความที่ประเทศไทยเรามีผลไม้เยอะ ดังนั้นคนจะมีทางเลือกมาก แก้วมังกรเลยอาจไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับผลไม้อย่างอื่น อย่าง ทุเรียน หรือมะม่วง ที่ให้รสชาติหวานมากกว่า แต่ถ้าดูตลาดส่งออก เรามองอัตราการเติบโตของผลสดที่มีออเดอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปเขานิยมทานแก้วมังกรกันเยอะ  เพราะว่ามันมีคุณประโยชน์เพียงแต่ว่าคนไทยอาจจะยังไม่ค่อยรู้เท่าไร เราเลยมองตลาดส่งออกเป็นหลัก”



 

กว่า 2 ทศวรรษ ที่ยืนหยัดในตลาดแก้วมังกร


       สวนเกษตรแก้วมังกร Fruitaya อยู่ในตลาดมากว่า 20 ปี โดยพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกนำแก้วมังกรเข้ามาปลูกในประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะไม่ใช่รายใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกสูงสุด แต่ก็เป็นรายเดียวของคนยุคริเริ่มที่ยังเหลือรอดอยู่ในขณะที่คนปลูกแก้วมังกรในยุคเดียวกันต่างทยอยล้มหายจากตลาดไปหมดแล้ว


      “เราเป็นผู้บุกเบิกแก้วมังกรเข้ามาในประเทศไทย เป็นสวนแรกๆ ที่ปลูกเลย และน่าจะเป็นเจ้าเดียวจากผู้ปลูกแก้วมังกรยุคแรกๆ ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่ล้มหายตายจากไป เพราะมีทั้งเรื่องของโรคระบาดทำให้เกิดความเสียหาย หลายรายก็เลยหยุดทำไป บางคนเขาปลูกในเชิงของธุรกิจซึ่งนักธุรกิจก็จะมองราคา ณ ตอนนี้เป็นหลัก ซึ่งบางทีผลผลิตล้นตลาด ราคาตก เขาก็เลือกที่จะล้มแล้วไปปลูกพืชอย่างอื่นแทนที่คิดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า เช่น ทุเรียน


     ถามว่าแล้วทำไมเราถึงยังอยู่ในตลาดมาได้ มองว่าเพราะเราพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ที่สวนของเราไม่เคยหยุดที่จะพัฒนา การที่เรามีคู่ค้าที่เป็นผู้ส่งออก ทำให้เราไม่ต้องง้อตลาดในประเทศมากนัก และเราก็พัฒนาทั้งในเรื่องของวิธีการปลูกเทคนิคการปลูกต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสวนในต่างประเทศ อย่างผมเองก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับสวนที่เวียดนาม เราบินไปดูสวนของเขา บางทีเขาก็มาหาความรู้กับเรา ในเรื่องของการตลาดและการแปรรูป รวมถึง บางสายพันธุ์อย่างเช่น สายพันธุ์สีทองอิสราเอล เราก็เอาเข้ามาปลูกในประเทศไทยก่อนเวียดนาม เขาก็มาดูงานที่สวนเรา เลยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาสวนของเราอยู่เรื่อยๆ”





      นอกจากการพัฒนาคุณภาพผลผลิต การยกระดับคนทำเกษตรมาสู่การแปรรูป ก็เป็นหนทางสู่ความยั่งยืนของนักธุรกิจเกษตรอย่างพวกเขา
               

      “ในมุมมองของผม การต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลผลิตด้วยการแปรรูสำคัญมาก เพราะว่าเกษตรกรในประเทศไทย ถ้าตัวผลผลิตของเขาไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การส่งออกและทำขายตลาดในต่างประเทศได้ เขาก็จะถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่ถ้าเกิดเขาสามารถเอามาต่อยอดเป็นสินค้าแปรรูปได้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้เยอะมาก และช่วยลดการกดขี่ของพ่อค้าคนกลางลงได้ด้วย ที่สำคัญยังทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ให้กับเขา


      กรณีของคนที่เป็นเกษตรกร ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ หรือการแปรรูปสินค้า ผมมองว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนอยู่เยอะมาก อย่าง ตัวผมเองอยู่ในกลุ่ม Young Smart Farmer ของจังหวัดปทุมธานีด้วย ซึ่งพอเราเข้ากลุ่มก็จะมีคอนเนกชันที่จะแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีคอร์สอบรมหรืออะไรที่น่าสนใจก็จะมาบอกกัน หรืออย่างเจอปัญหาเรื่องของการปลูก ก็สามารถขอคำปรึกษากันได้ บางทีเราอยากจะหาสินค้าเกษตรอะไรก็คุยกันในเครือข่ายได้ บางคนในกลุ่มของเราทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวเราก็สามารถเอาสินค้าของเราไปฝากขายได้ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกิดจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” เขาบอก


      เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต คนทำธุรกิจแก้วมังกรบอกเราแค่ว่า อยากทำแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้น เมื่อนึกถึงแก้วมังกรที่รสชาติอร่อย คุณภาพดี ก็อยากให้นึกถึง Fruitaya เมื่อนึกถึงแก้วมังกรในประเทศไทย ก็ขอให้นึกถึงสวนของพวกเขา เท่านั้นความฝันก็บรรลุเป้าหมายแล้ว


      และนี่คือเรื่องราวของคุณปลูกแก้วมังกร ที่ไม่ได้อยากหยุดแค่การขายผลผลิต แต่นึกถึงการแปรรูปเป็นสินค้านวัตกรรม เพื่อต่อยอดโอกาสธุรกิจไม่รู้จบให้กับพวกเขา
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​