ทำไม “หมูทอด (ต้อง) เจียงฮาย” “ไก่ทอด (ต้อง) หาดใหญ่” 2 อาหารถิ่น สร้างรายได้ให้ทั้งประเทศ

TEXT : กองบรรณาธิการ
 


 
              
     ในแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดของไทยนั้นมักมีอาหารสูตรเด็ดของท้องถิ่น หลายอย่างก็กลายเป็นเมนูสากลแพร่หลายและรู้จักกันไปทั่วประเทศ แถมยังสร้างงานสร้างรายได้และโอกาสธุรกิจให้เกิดขึ้นมากมาย ในวันนี้เราจึงขอนำเสนอ 2 เมนูในตำนานที่วันนี้ได้กลายเป็นเมนูยอดนิยมกันไปแล้ว แน่นอนว่าในชั่วโมงนี้คงเป็นอะไรอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “หมูทอดเจียงฮาย” และ “ไก่ทอดหาดใหญ่” 2 อาหารแดนดินถิ่นใต้และเหนือที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นสูตรอาหารทำเงินกัน
 
 
หมูทอดเจียงฮาย ชื่ออยู่เหนือ แต่ตัวมาดังอยู่เมืองกรุง 
              

     เริ่มกันที่เมนูยอดฮิตของหนุ่มสาวออฟฟิศในวันนี้กันก่อน ในทุก ๆ เช้าก่อนไปทำงานไม่ว่าจะตามสถานีรถไฟฟ้า หน้าตึกสำนักงานต่าง ๆ เรามักจะได้เห็นร้านขายหมูทอด ในชั่วโมงนี้ที่เห็นกันมาก ก็คือ “หมูทอดเจียงฮาย” ที่บรรดาพนักงานต่างหิ้วซื้อติดไม้ติดมือเป็นอาหารเช้าที่กินได้ง่าย อร่อย และราคาไม่แพง
              




     เห็นชื่อว่า “เจียงฮาย” หรือ เชียงราย แต่จริง ๆ แล้วว่ากันว่าหมูทอดเจียงฮายกลับไม่ได้โด่งดัง มีจุดเริ่มต้นมาจากทางภาคเหนือหรือจังหวัดเชียงรายเลย คนเชียงรายหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่คุ้นเคยและรู้จักหมูทอดหน้าตาแบบนี้ด้วยซ้ำ แถมยังไม่รู้ด้วยว่าโด่งดังขึ้นมาได้เพราะอะไร
              

     ซึ่งจากเท่าที่ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นและบอกเล่าถึงจุดกำเนิดของหมูทอดเจียงฮายว่าแท้จริงนั้นกลับเริ่มต้นขึ้นที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกที่ขึ้นป้ายติดหน้าร้านว่าหมูทอดเจียงฮายก็ที่นี่ ไปจนถึงการทำหมูทอดลักษณะเส้นบาง มันเยอะ ๆ ก็เริ่มขึ้นที่นี่อีกเช่นกัน โดยว่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนภาคเหนือกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในกรุงเทพฯ โดยได้นำสูตรจากกากหมูที่เคยทำดัดแปลงให้กลายเป็นหมูทอดขึ้นมา ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยซื้อด้วยตัวเองเท่าที่สังเกตคนขายหมูทอดเจียงฮายหลายคนก็มักเป็นคนเหนือจริง ๆ แถมคนเหนือเองก็ยังขึ้นชื่อมีฝีมือในการทำแคปหมู กากหมูอยู่แล้วด้วย ซึ่งหลายเจ้ามักซื้อวัตถุดิบและนำมาทำรวมกัน เพื่อกระจายขายไปยังที่ต่าง ๆ ตามตึกออฟฟิศ ตลาดนัด ป้ายรถ สถานีรถไฟฟ้า ในพื้นที่ที่ผู้คนผ่านไปมาพลุกพล่าน
 
  • มันล้วน ๆ ถูกใจสายกิน
 
     โดยจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์หมูทอดเจียงฮาย คือ เป็นหมูทอดที่สไลด์เป็นเส้นบาง ๆ แป้งน้อย เวลากินจึงกรอบทั่วถึงทั้งชิ้น ทำให้กินเพลิน ที่สำคัญ คือ มันเยอะถูกใจสายกิน โดยช่วงแรกนั้นจะทำขายเฉพาะกากหมู แต่ภายหลังได้เพิ่มเนื้อแดงส่วนสันนอกเข้ามาด้วย เพื่อให้ไม่รู้สึกเลี่ยนจนเกินไป และกินบ่อย ๆ ได้ ส่วนรสชาตินั้นจะออกรสเค็มเป็นตัวนำ เพื่อให้กินกับข้าวเหนียวกำลังดี





     ซึ่งจากขั้นตอนการทำที่ไม่ต้องเสียบไม้ให้ยุ่งยาก อีกทั้งเวลาทอดก็แห้งพอดี ไม่มีกลิ่นแรง เวลาหยิบกินก็ไม่เลอะมือ แถมพกพาได้สะดวก และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จึงทำให้หมูทอดเจียงฮายกลายเป็นอีกเมนูยอดนิยมของคนทำงานกรุงเทพฯ ได้ไม่ยาก อารมณ์เหมือนที่เมื่อก่อนเรามักนึกถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งในตอนเช้า ๆ
 
  • อยู่ที่ไหน คนก็ต่อแถวยาว
 
     หมูทอดเจียงฮายเริ่มต้นขายขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ อาจไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่จากการบอกเล่าความเป็นมาของแต่ละร้านที่เป็นเจ้าดังในย่านต่าง ๆ มีคนมารอต่อคิวซื้อยาว เช่น หน้าตึก Ari Hills พหลโยธิน 10, สถานี BTS บางหว้า,  ตลาดเช้าพาลาเดียม ประตูน้ำ ส่วนใหญ่แล้วขายมาไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ปี บางเจ้าขายมานานเป็นสิบ ๆ ปีเลยทีเดียว
โดยราคาหมูทอดเจียงฮายจะขายกันที่ขีดละ 35 -40 บาท ถึงแม้จะมีขายปนกับเมนูอื่น ๆ ด้วย เช่น หมูทอดกระเทียม ไก่ทอดกระเทียม กระดูกอ่อนทอด หมูสามชั้นทอด แต่หมูทอดเจียงฮายก็มักจะเป็นพระเอกเด่นและได้รับความนิยมในหมู่คนทำงานหนุ่มสาวออฟฟิศนั่นเอง สังเกตได้ว่าร้านไหนมีหมูทอดเจียงฮาย มักจะมีลูกค้ามารอต่อคิวแน่นเสมอ
              

     ซึ่งแม้จะเริ่มต้นฮิตกันมาจากริมทางและตลาดนัด แต่ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น บวกกับทำได้ไม่ยากนัก สามารถเก็บรักษาไว้ได้ระยะเวลาหนึ่ง จึงมีคนหยิบนำไปแพ็กใส่ถุงซีลอย่างดีและสร้างแบรนด์ขายในเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ อย่างลาซาด้าและช้อปปี้เป็นเมนูของว่างกินเล่นด้วย เช่น แบรนด์โป๊ยก่าย เป็นต้น
              

     นอกจากนี้ยังมีการขายส่ง ทั้งแบบเนื้อหมูหมักปรุงสำเร็จรูปพร้อมทอดขาย หากเป็นมันอยู่ที่กิโลกรัมละ 90 บาท ถ้าเป็นเนื้อแดงกิโลกรัมละ 145 บาท ซึ่งส่วนมากมักจะทอดนำมาผสมรวมกัน บ้างก็ขายเป็นซอสหมัก รวมถึงเปิดขายสูตรสอนผ่านออนไลน์อีกด้วย

 
ไก่ทอดหาดใหญ่ อยู่ที่ไหน ก็ได้กิน 


     สำหรับไก่ทอดหาดใหญ่ เมนูรุ่นพี่ที่ทำขายกันมาแล้วอย่างน้อย ๆ ไม่ต่ำกว่า 30 – 40 ปี เมนูนี้มีถิ่นกำเนิดชัดเจนว่าเกิดขึ้นมาและมีขายอยู่จริงที่หาดใหญ่ โดยว่ากันว่าเป็นสูตรไก่ทอดที่ได้อิทธิพลมาจากชาวมุสลิมทางมาเลเซีย


     มีการวิเคราะห์กันว่าที่มาของชื่อเรียกไก่ทอดหาดใหญ่นั้นอาจจะมาจาก 2 ส่วน คือ 1. มาจากที่นักท่องเที่ยวคนต่างถิ่นไปกินไก่ทอดที่มีขายกันทั่วไปในอำเภอหาดใหญ่ แล้วเกิดติดใจ จึงพากันเรียกว่า ไก่ทอดหาดใหญ่ 2. มาจากคนใต้หรือคนหาดใหญ่เองที่นำขึ้นมาขายที่กรุงเทพฯ เลยตั้งชื่อว่าเป็นไก่ทอดที่มาจากหาดใหญ่





     อีกหนึ่งที่มาของสูตรการทำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวว่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งแต่เดิมมีอาชีพขายไก่สด วันหนึ่งเมื่อขายไม่หมดจึงทดลองนำมาทอดขาย และดัวยความบังเอิญที่ได้หอมแดงมาจากเพื่อนขายผัก ซึ่งขายไม่หมดเช่นกัน จึงเกิดความเสียดายเลยนำมาทอดใส่ลงไปในกระทะพร้อมกับไก่ด้วย แต่ปรากฏกลับเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เพราะกลิ่นหอมยวนใจแถมโรยด้วยหอมเจียวทอดกรอบไม่เหมือนใคร กระทั่งขายดีมีคนมารอต่อคิวซื้อแถวยาวเหยียด ในท้ายที่สุดจึงเปลี่ยนจากอาชีพขายไก่สดมาขายไก่ทอดเพียงอย่างเดียวแทน จากนั้นจึงมีคนนำมาทำตามและขายกันทั่วหาดใหญ่ จนกลายเป็นเมืองแห่งไก่ทอดกันไปแล้ว และหากใครมาหาดใหญ่ แล้วไม่ได้กิน ก็เรียกว่าเหมือนมาไม่ถึง
              

     ว่ากันว่าถ้าเป็นคนหาดใหญ่จริง ๆ จะไม่นิยมเรียกว่าไก่ทอดหาดใหญ่ แต่จะเรียกว่าร้านข้าวเหนียวไก่ทอดแทน เพราะเวลากินมักต้องกินคู่กับข้าวเหนียวร้อน ๆ อยู่แล้ว


     โดยองค์ประกอบหลักของร้านไก่ทอดหาดใหญ่แท้ ๆ แบบครบสมบูรณ์จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ไก่ทอด ข้าวเหนียว หอมเจียว และน้ำจิ้ม ร้านไหนจะเป็นที่ถูกปากมากหรือน้อย ก็มักจะวัดกันที่องค์ประกอบเหล่านี้ ร้านขึ้นชื่อที่นิยมกินกัน ได้แก่ เหนียวไก่รอซีญ๊ะ ไก่ทอดหาดใหญ่ในตำนาน, ร้านบังเจน, ร้านมาลีไก่ทอด, ไก่ทอด ซอย 10 เพชรเกษม, ร้านซอฟียา เป็นต้น โดยแต่ละร้านขายมาไม่ต่ำกว่า 20 – 40 ปี              
    


       
 
  • หอมเจียวทอด ซิกเนอร์เจอร์หนึ่งเดียวที่ไม่มีใครเหมือน
 
     เอกลักษณ์ที่ถือเป็นจุดเด่นของไก่ทอดหาดใหญ่แท้ ๆ นอกจากรสชาติเข้มข้นของเครื่องเทศสมุนไพรจากทางใต้ อย่างเมล็ดผักชี ยี่หร่า รากผักชี กระเทียม พริกไทยแล้ว ยังมีการนำหอมเจียวทอดกรอบ ๆ เป็นซิกเนเจอร์ใส่ลงไปด้วย จึงทำให้เวลาทอดแล้วหอมยวนใจ จนใคร ๆ ก็อยากหยุดซื้อ ซึ่งมีหลายสูตรด้วยกันทั้งแบบผสมแป้ง และไม่ผสมแป้ง
   
  • กินได้ทั้งไทยพุทธ – ไทยอิสลาม
 
     และจากการโด่งดังมีชื่อเสียงของรสชาติไก่ทอดที่เป็นเอกลักษณ์นี้เอง จึงทำให้มีการนำไปกระจายขายไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิมที่เป็นต้นตำรับแท้ ๆ หรือคนไทยในภูมิภาคอื่น ๆ ก็ตาม ต่างคิดค้นสูตรไก่ทอดของตัวเองขึ้นมา แต่ยังคงเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของไก่ทอดหาดใหญ่อย่างหอมเจียวเอาไว้ หลายคนทำเป็นสูตรของตนเอง หลายคนก็รับซื้อจากร้านแฟรนไชส์ กระทั่งมีบางคนนำมาสร้างแบรนด์ขาย ตีแบรนด์ทำแพ็กเกจจิ้งใส่ขายเป็นเรื่องเป็นราวเลยก็มี โดยราคาที่ขายอยู่ในท้องตลาด มีคีออส โลโก้แบรนด์ กล่องใส่ไว้ใส่ไก่ทอดด้วยและวัตถุดิบให้จำนวนหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 50 ,000 บาท


     ส่วนราคาไก่ต่อชิ้นหากเป็นปีกไก่ และน่องจะตกอยู่ที่ชิ้นละ 20 -25 บาท ส่วนอกและสะโพกจะอยู่ที่ชิ้นละ 30 - 50 บาท แล้วแต่ขนาดความใหญ่ของชิ้น
              

     โดยร้านไก่ทอดหาดใหญ่ในกรุงเทพฯ นั้นจะมีขายกันทั่วไป ไม่ว่าตลาดนัด หรือตรอกซอกซอยต่าง ๆ จะไม่เน้นขายกระจุกตัวอยู่ในย่านตึกออฟฟิศเหมือนกับหมูทอดเจียงฮาย หรืออาจเรียกว่าขายทั่วประเทศ ไม่ว่าไปจังหวัดไหนก็มี ไปที่ไหนก็ได้กินนั่นเอง
              




     และนี่คือ เรื่องราวที่มาของ 2 อาหารถิ่นในตำนานที่เริ่มต้นขึ้นมาจากจุดเล็ก ๆ จากท้องที่ จนกลายเป็นเมนูยอดนิยมสากลระดับประเทศที่หากพูดถึงใคร ๆ ก็ย่อมรู้จักกันแล้ว ข้อสำคัญ คือ ก่อให้เกิดอาชีพ สร้างรายได้ และต่อยอดเป็นธุรกิจขึ้นมาได้อีกมากมาย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
              

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​