อารีฟู้ดส์ แบรนด์อาหารเสิร์ฟครัวร้อนในซูเปอร์ฯ กู้วิกฤตโควิดพลิกมาทำ Ready to Eat

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : อารีฟู้ดส์




               
     นี่คือเรื่องราวของ SME ในธุรกิจอาหารที่กำลังพยายามปรับตัวอย่างหนัก เพื่อหนีจากสถานการณ์วิกฤต ประคับประคองกิจการและพนักงานที่มีอยู่นับ 80 ชีวิต ให้รอดพ้นจากวิกฤตสาหัสในครั้งนี้
               

     เรากำลังพูดถึง “อารีฟู้ดส์” SME ที่ทำอาหารแช่แข็งพร้อมอุ่นขายทั้งคาวและหวาน ส่งให้กับครัวร้อนในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่ง มีรายได้ต่อปีที่ประมาณ 150 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาหลังต้องเจอกับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีช่วงเวลาที่ปิดห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย หลังจากนั้นพฤติกรรมคนก็เปลี่ยนไป การจะซื้อกับข้าวหรืออาหารแบบตักร้อนในถาดรวมใหญ่ก็ลดลง สินค้าที่เคยขายดีกลับขายไม่ค่อยได้ จนนำมาสู่รายได้ที่ลดลงอย่างมาก ขณะที่รายจ่ายไม่ได้หดหายตามไปด้วย
               

     นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้นำหญิงแกร่ง “จุไรรัตน์ รามจาตุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องเผชิญ สิ่งเดียวที่เธอบอกกับตัวเองในตอนนั้นก็คือ
               

     “ต้องตั้งสติ ต้องสู้ ไม่สู้ไม่ได้ เพราะถ้าเราล้มแล้วไม่ยอมลุกขึ้นเดินต่อ  ไม่ใช่แค่เราที่เดือดร้อน แต่พนักงานอีก 80 ชีวิตที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา ก็จะต้องเดือดร้อนไปด้วย”
               

     เมื่อธุรกิจจะล้มไม่ได้ก็ได้เวลาคิดใหม่ทำใหม่ ว่าแต่จะคิดและทำอย่างไร?



               

     นั่นคือที่มาของการปรับสายพานการผลิตมาสู่สินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทาน หรือ Ready to Eat ที่รองรับกับพฤติกรรมของผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค ที่ลดความนิยมอาหารปรุงสุกในครัวอุ่นร้อนของห้างฯ  แต่หันมาเลือกซื้ออาหารแช่แข็งพร้อมทานกันมากขึ้น ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ความสะดวก และอายุของอาหารที่เก็บได้นานกว่า จึงเริ่มผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ 8 รายการ ให้กับแม็คโคร เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา


      อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทานของอารีย์ฟู้ดส์ ภายใต้เฮ้าส์แบรนด์ของแม็คโคร มีทั้ง แกงเหลือง, แกงไตปลา,  คั่วกลิ้ง, สปาเก็ตตี้คาโบนาร่าแฮม, สปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศหมู, สปาเก็ตตี้ขี้เมาหมู, ข้าวซอย, แกงฮังเล และล่าสุดยังได้เปิดตัว  แบรนด์ “เฮง เฮง เฮง”  ที่เป็นสินค้าช่วงตรุษจีน มีทั้ง ไก่ไทยต้ม, เป็ดพะโล้, หมูสามชั้นพะโล้, ปลากระพงทองนึ่ง ซึ่งเน้นผลิตในขนาดที่ผู้ประกอบการต้องการ พร้อมนำไปอุ่นขายต่อถ้วยได้ทันที
               

      จากวิกฤตเลยพลิกกลับเป็นโอกาส โดยสินค้าใหม่ของอารีย์ฟู้ดส์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า  ธุรกิจเริ่มหายใจคล่องขึ้น เครื่องจักร 6 ไลน์ผลิตในโรงงานกลับมาทำงานได้คึกคักอีกครั้ง เปิดรับคำสั่งซื้อที่ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่พนักงานทุกชีวิตก็รอดวิกฤตไปด้วยกันเหมือนที่เธอคาดหวังไว้



               

     จุไรรัตน์ บอกว่า การที่ธุรกิจรายเล็กอย่าง SME จะเข้าโมเดิร์นเทรดได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีคือคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ที่สำคัญต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่สั่งผลิตให้ได้ ก็จะมีโอกาสไปแจ้งเกิดในตลาดนี้
               

      ก่อนจากกัน จุไรรัตน์ แบ่งปันเคล็ด(ไม่) ลับการทำธุรกิจให้อยู่รอดให้กับผู้ประกอบการ SME ว่า ต้องใช้หลัก 3 รู้ นั่นคือ 1.รู้ความต้องการของลูกค้า โดยใช้ข้อดีของ SME คือความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย ให้เป็นประโยชน์ 2.รู้เทรนด์ตลาดของกลุ่มธุรกิจอาหาร ยิ่งรู้ล่วงหน้ายิ่งดี เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ และ 3.รู้ราคาสินค้าในตลาด โดยเฉพาะตลาดนัดที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป เพราะหากขายแพง ผู้ประกอบการนำไปขายต่อก็จะขายไม่ได้ สินค้าก็จะไม่ถูกเลือก
               

      “การทำธุรกิจวันนี้ ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ได้ ไม่ใช่ว่ามีผลิตภัณฑ์เท่านี้จะมีเท่านี้ตลอดไป อย่าลืมว่าธุรกิจอาหารคู่แข่งเยอะมาก หากไม่พัฒนา สักวันคู่แข่งจะมาแย่งพื้นที่เรา อีกทั้งต้องมองช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ  หมั่นเพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก” เธอบอกในตอนท้าย
 



 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​