FARMLAND ดินแดนของคนรักไวน์ใน จ.เลย ที่กำเนิดจากไอเดียคู่รักออร์แกไนซ์

TEXT : นิตยา สุเรียมมา
PHOTO : สหภาค




               
      “ปากชม” อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดเลยอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคานแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมไปเพียง 40 กิโลเมตร แต่บรรยากาศของที่นี่ช่างเงียบสงบและแตกต่าง ผู้คนไม่พลุกพล่าน เป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมน้อยนักที่จะมีแหล่งท่องเที่ยวคาเฟ่แบบชิคๆ คูลๆ แต่เพราะในความเรียบง่าย และเหมือนไม่มีอะไรนี้จึงทำให้หลายคนตกหลุมรักจนตัดสินใจมาตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่นี่ กฤตริน ถนอมนิ่มอนันต์ (ก๊อบ) และภาณุภรณ์ ภาสดา (อุ๋ย) คู่รักนักออร์แกไนซ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น


      แต่จากที่จะมาอยู่เฉยๆ พวกเขากลับเข้ามาช่วยเติมเต็มมนต์เสน่ห์ให้กับเมืองแห่งนี้ให้กลายเป็นอีกหนึ่งดินแดนของคนรักไวน์ ด้วยการผันตัวเองจากออร์แกไนซ์เซอร์มาสู่ไวน์เมกเกอร์เริ่มต้นบ่มเพาะโรงไวน์เล็กๆ ของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “Farmland” จากคนที่ไม่รู้อะไรเลย จนถึงตอนนี้ คือ แทบจะผลิตไม่ทันในแต่ละปี



 

จังหวะชีวิต นำพามาให้เจอ
 
               
     กฤตรินและภาณุภรณ์ เล่าว่าเดิมทีนั้นพวกเขาตั้งใจเพียงแค่อยากหาพื้นที่เล็กๆ เงียบสงบเตรียมพร้อมสำหรับบั้นปลายชีวิตอาศัยอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตก็นำพาพวกเขาให้มาสู่โลกการทำงานอีกใบหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แถมสร้างโอกาสดีๆ ให้กับชีวิตได้เรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มเติม
               

     “เรื่องมันเริ่มขึ้นมาจากที่เราได้มาเที่ยวบ้านเพื่อนที่อำเภอปากชม และได้มาเจอที่ดินผืนนี้ รู้สึกชอบในความสงบ ถูกใจทั้งโลเคชั่น บรรยากาศ วิว เลยตัดสินใจซื้อ ช่วงแรกที่มาอยู่ไม่ได้คิดจะทำอะไรเลย แค่อยากมาสร้างบ้านอยู่เฉยๆ มีพื้นที่ของตัวเองสักที่หนึ่ง เดิมทีเราเปิดบริษัทรับจัดงานอีเวนต์อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศตลอดและมีทีมงานน้องๆ คอยสแตนบายให้อยู่แล้วด้วย ซึ่งพอได้มาอยู่จริงก็ทดลองทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย เริ่มจากปลูกผัก ปลูกผลไม้ แต่ทำแล้วไม่สนุก เลยอยากลองหาอะไรทำต่อ บังเอิญที่เราคนหนึ่งชอบดื่มไวน์ เลยอยากทดลองทำไวน์ด้วยตัวเองขึ้นมา เริ่มจากศึกษาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตบ้าง ติดต่อขอความรู้จากคนที่เขาทำโรงไวน์อยู่แล้วบ้าง มีพี่คนหนึ่งทำโรงไวน์อยู่จังหวัดระยองเขาก็ยอมสอนและเป็นที่ปรึกษามาจนทุกวันนี้ ในที่สุดก็ได้ทดลองทำไวน์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งพื้นที่ที่อำเภอปากชมมีการเพาะปลูกผลไม้ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว เราจึงทดลองนำมาผลิตเป็นไวน์ผลไม้ขึ้นมา เช่น ไวน์จากมะม่วง จากมัลเบอร์รี จากกล้วยหอม”
               

      หลังจากไวน์ล็อตแรกได้ผลิตออกมา กฤตรินและภาณุภรณ์ได้นำไปให้ร้านอาหารขึ้นชื่อของอำเภอปากชมได้ทดลองชิมพร้อมเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้ลิ้มลองรสชาติ ปรากฏว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจได้ผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด จึงทำให้ทั้งคู่มีกำลังใจที่จะผลิตขึ้นมาจริงจัง
               

     “ผลิตออกมาได้ครั้งแรก เราเอาไปให้พี่อดลุย์ ร้านหลวงพระบาง หาดคัมภีร์ทดลองชิม ซึ่งแต่ก่อนพี่เขาเป็นเชฟจากโรงแรมดังในกรุงเทพฯ และผันตัวเองมาเปิดร้านเล็กๆ อยู่ที่อำเภอปากชมเหมือนกัน พอได้ลองแล้วพี่เขาบอกว่าโอเคนะ ทำเลย  เราก็เลยลงมือทำอย่างจริงจัง ติดต่อเรื่องเอกสาร เรื่องกฎหมายขอเปิดโรงไวน์ผลิตขึ้นมา พอทำล็อตแรกออกมาได้เราก็เอากลับไปฝากให้พี่เขาช่วยนำไปแจกลูกค้าที่มารับประทานอาหารได้ทดลองดื่ม เพื่ออยากรู้ฟีดแบ็ก ปรากฏว่ามันดีแบบที่เราไม่เคยรู้ว่าตลาดคนดื่มไวน์เป็นแบบนี้เหรอ คือ มีความต้องการอยู่เยอะมากโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน มีคนมาถามซื้อเยอะมากก่อนที่เราจะเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาเยี่ยมชม เราก็เริ่มจากตลาดตรงนั้นก่อน และค่อยขยายขึ้นมาเรื่อยๆ ที่เลือกใช้ชื่อว่า Farmland เพราะอยากสื่อถึงเอกลักษณ์ของท้องที่อำเภอปากชม ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรมด้วย”



 

สูญเสียไปกว่าพันลิตร กว่าจะได้กลับมาสักขวด
 
               
     ด้วยความที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เลยทำให้ก๊อบและอุ๋ยต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าในการจะบ่มเพาะโรงไวน์และธุรกิจไวน์ของพวกเขาให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
               

       “เนื่องจากว่าเราไม่ได้เรียนมาโดยตรง ฉะนั้นจะไม่เหมือนคนที่เรียนหมอมาแล้วมาเปิดคลินิก ไม่เหมือนคนที่เรียนทำกับข้าวมาแล้วมาเปิดร้านอาหาร ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น”
               

      ทั้งกฤตรินและภาณุภรณ์เปรียบให้ฟังว่า การทำไวน์ขึ้นมาสักขวดหนึ่ง ก็เหมือนกับการเลี้ยงลูกที่ต้องคอยประคบประหงมใส่ใจดูแลอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ไวน์ที่ดีออกมา ซึ่งด้วยความที่ไม่ได้ร่ำเรียนหรือศึกษามาโดยตรง ทำให้หลายครั้งพวกเขาต้องสูญเสียไวน์ไปเป็นพันๆ ลิตรก็เคยมาแล้ว


      “มันเคยเกิดเหตุการณ์ที่อยู่ดีๆ เราหมักอะไรได้ลงตัวหมดแล้ว ทั้งแอลกอฮอล์และความหวาน คราวนี้ต่อไป คือ ขั้นตอนการบ่ม แต่จู่ๆ แทนที่จะนิ่งก็กลับเกิดกระบวนการหมักรอบสองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้รสชาติและคุณสมบัติของไวน์ที่เราตั้งค่าไว้มันเปลี่ยนไปหมดต้องกลับไปแก้กันใหม่ เพื่อให้น้ำไวน์กลับมาเสถียรเหมือนเดิม โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยีสต์ที่เป็นตัวสร้างแอลกอฮอล์ยังไม่ตาย เมื่อเจออุณหภูมิ เจออาหาร หรือสภาวะที่เหมาะสมก็ทำให้ฟื้นกลับมาเกิดการหมักขึ้นมาอีกรอบ ผลิตแอลกอฮอล์ขึ้นมาอีกครั้ง หรือถ้ามีความหวานหลงเหลืออยู่ ยีสต์ก็จะกินจนหมดเปลี่ยนจากไวน์กลายเป็นน้ำส้มสายชูได้ ปัญหามันมีมากมาย เพราะไวน์เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนการเลี้ยงลูกต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา


      “แต่ถึงคิดว่าดูแลดีแล้ว เราเองเคยทำเสียไปเป็นล็อตประมาณพันกว่าลิตรเลยก็มี หรือบรรจุขวดเสร็จเรียบร้อยแล้วเอาขึ้นเชลล์อยู่ดีๆ จุกคอร์กเด้งออกมาน้ำไวน์หกเต็มโรงไวน์เลยก็เคยมาแล้ว ถามว่าทำไมถึงยังทำต่อ ก็เพราะมีคนดื่มเข้าไปแล้วเขาชอบและมีความสุข เวลาลูกค้าบอกกลับมาว่าอร่อย เหมือนไวน์แพงๆ ที่เคยได้กินมาเลย นี่คือ กำลังใจทำให้เรายังสามารถทำต่อไปได้”




 
จากเมืองชายแดน สู่เส้นทางการค้าสากล
 
               
     ปัจจุบันไวน์ของ Farmland จะประกอบด้วย 2 ชนิด คือ ไวน์ขาวจากมะม่วง และไวน์แดงจากลูกมัลเบอร์รีอนาคตจะมีผลไม้พื้นถิ่นเพิ่มขึ้นมาอีกแน่นอน
               

       “ไวน์ของ Farmland จะเป็นไวน์ที่ผลิตจากผลไม้พื้นถิ่น จึงมีรสชาตินุ่มหวานไม่ฝาดเหมือนไวน์จากองุ่น ซึ่งเรื่องนี้เคยมีลูกค้าต่างชาติที่มาทดลองดื่ม เขาก็ค่อนข้างตื่นเต้นมากที่เราสามารถนำผลไม้มาหมักทำไวน์ได้ และให้รสชาติไวน์ที่ดีได้ ตรงนี้ถือเป็นอีกจุดเด่นของผู้ประกอบการไทยเลยที่ผลิตไวน์ ไม่ใช่เฉพาะแค่เราเท่านั้น แต่ยังมีโรงไวน์อีกหลายพื้นที่ของไทยที่ผลิตไวน์จากผลไม้ ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ดีน่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาให้ประเทศได้อีกเยอะ”
               

      ทุกวันนี้ Farmland Wine จะรับวัตถุดิบจากลูกไร่หรือเกษตรกรในพื้นที่เพื่อนำมาผลิตไวน์ ทำให้ช่วยส่งเสริมรายได้ให้คนในท้องที่ได้อีกทางหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง เช่น มัลเบอร์รีจะมีการนำวัตถุดิบมาใช้เพิ่มจากโครงการหลวงด้วย ส่วนในพื้นที่ของฟาร์มแลนด์จะเป็นพื้นที่ของโรงผลิตไวน์ คาเฟ่ และร้านอาหารเล็กๆ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไปมาและหลงใหลในรสชาติของไวน์ รวมถึงคนในท้องที่เองก็มาใช้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้นมาให้อำเภอปากชมอีกพื้นที่หนึ่ง
               

      หากจะมองในแง่ของความคุ้มค่าในการทำธุรกิจแล้ว ปากชมถือว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลและยังเป็นเมืองเล็กๆ ที่ทำเกษตรกรรม ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย แต่ทั้งคู่บอกว่าในความที่ไม่มีอะไรนั่นแหละ จึงทำให้พิเศษและโดดเด่นขึ้นมา





      “ด้วยความที่มันไกล และไม่มีอะไร สิ่งที่เราทำก็เลยกลายเป็นพิเศษขึ้นมา ถ้าฟาร์มแลนด์ไปเปิดที่เชียงใหม่ เปิดที่เขาใหญ่ คนอาจไม่ได้มองว่ามันพิเศษก็ได้ แต่พอเป็นที่นี่มีแต่ลูกค้าบอกว่าไม่คิดว่าจะมีโรงไวน์เปิดที่นี่ ไม่คิดว่าจะมีสถานที่แบบนี้อยู่ที่นี่ด้วย ทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะเป็นนักท่องเที่ยว บางทีก็มาจากทางเชียงคาน อุดรธานี และหนองคายบ้าง ซึ่งหลายคนก็ตั้งใจมาหาเราโดยตรงเลย พอได้ชิมแล้วติดใจในรสชาติ เขาก็สั่งซื้อมาอีก ทุกวันนี้การผลิตเรายังไม่มาก นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว ก็มีร้านอาหารบ้างในละแวกจังหวัดเลย ต่างจังหวัดยังไม่ได้ส่ง เพราะกำลังการผลิตไม่เพียงพอที่จะทำตลาดได้อย่างต่อเนื่อง”
 

      ในอนาคตทั้งคู่มองว่าเป้าหมายต่อไปอาจไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเติบโตสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย
               

      “ด้วยความที่เราเป็นเมืองชายแดน อยู่ห่างจากหนองคอยร้อยกว่ากิโลเมตร ซึ่งสามารถต่อไปเวียงจันทร์ได้ และในอนาคตจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงวิ่งจากคุนหมิง - เวียงจันทร์ เชื่อมต่อไปทางใต้ของไทยจนถึงมาเลเซีย มีนักธุรกิจชาวลาวที่ได้มาเป็นลูกค้าไวน์ของเรา เขาชิมแล้วติดใจในรสชาติเลยอยากนำไปทำตลาดตรงนี้ให้ โดยใช้เส้นทางรถไฟสายนี้กระจายสินค้าเราไปในทุกเมืองทุกประเทศที่รถไฟวิ่งผ่าน กำลังคุยๆ กันอยู่ แต่ช่วงนี้ติดโควิดฯ เลยมาไม่ได้ ดังนั้นจึงคิดว่ามีโอกาสรออยู่อีกมากแน่นอน”



 

หมัก บ่ม จนเข้าที่
 
               
      จากวันแรกที่ทำอะไรไม่เป็นเลย จนเดินทางมาถึงวันนี้ได้ นอกจากตัวธุรกิจที่เติบโตได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นแล้ว ถามว่าอะไร คือ สิ่งที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้จากการผันตัวมาเป็นไวน์เมกเกอร์ในครั้งนี้
               

      “เราได้เรียนรู้หัวใจของการทำไวน์มากขึ้นว่าต้องยังไง จากปัญหาที่เราเจอมาตลอด เริ่มจากทำอะไรไม่เป็นเลย จนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมน้ำไวน์ถึงไม่เสถียร แต่เราอยู่กับมันทุกวัน จนวันนี้เราสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองแล้ว ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าเราสามารถจัดการมันได้ ส่วนเรื่องของความเป็นฟาร์มแลนด์ จากวันแรกที่เราทำตรงนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากโรงไวน์ พอคนเริ่มรู้ว่ามี ก็เริ่มเข้ามามากขึ้น เราเลยเปิดเป็นคาเฟ่ ซึ่งตอนแรกก็มีแค่เครื่องดื่มกับพิซซ่าเท่านั้น  แต่วันนี้พอคนเข้ามาเยอะๆ เรามีอาหารรองรับมากขึ้น คิดว่ามันคงค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ค่อยๆ เติบโตมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งอนาคตเราอยากทำให้เป็นพื้นที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเดินทางมาเที่ยวพักผ่อนมากขึ้น เช่น อาจมีแปลงดอกไม้ มีแปลงผักให้คนเข้ามาดูมาเลือกซื้อ เป็นต้น”


      สุดท้ายเราให้ทั้งคู่ลองมองย้อนกลับไปจากวันเริ่มต้นที่เลือกมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ว่าเคยคิดไหมวันหนึ่งจะกลายมาเป็นคนทำไวน์ไปได้ และมีโรงไวน์เป็นของตัวเอง
               

      “ไม่เคยคิดนะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยังมานั่งคุยกันอยู่เลยว่า เราเดินทางมาถึงตรงนี้กันได้ยังไง เริ่มจากคนทำอะไรไม่เป็นเลย จนมีโรงไวน์เป็นของตัวเอง แต่มันก็เป็นธรรมชาติไปแล้วที่เช้าตื่นขึ้นมาจะต้องมาเปิดโรงไวน์ดูว่าไวน์ของเราเป็นยังไงบ้าง สภาพน้ำไวน์เป็นยังไง มีอะไรผิดปกติไหม กลิ่นยังเหมือนเดิมไหม มีปฏิกิริยาอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า เราทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”


      และนี่คือ เรื่องราวของคู่รักออร์แกไนซ์ที่วันหนึ่งเลือกที่จะผันตัวเองออกมาสู่โลกที่ไม่เคยรู้จักจากการเป็นไวน์เมกเกอร์ เพื่อจดบันทึกหน้าใหม่ให้กับชีวิตตัวเองเพิ่มอีกบทหนึ่ง





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​