ยังจำได้ไหม? 16 ปี “โรตีบอย” ผู้จุดกระแสขนมปังต่อคิวยาวเจ้าแรกในไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ





     ย้อนไปเมื่อ 15 -16 ปีก่อน หากยังพอจำกันได้เมืองไทยมีกระแสขนมปังก้อนกลมที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่พักหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของขนมปังที่มีคนยอมรอต่อคิวซื้อยาวเป็นชั่วโมงๆ ร่วมร้อยกว่าคนเป็นรายแรกในไทยก็ว่าได้ แถมยังทำให้เกิดอาชีพรับจ้างต่อคิวรับหิ้วขึ้นมาด้วย แน่นอนขนมปังที่เรากำลังพูดถึงอยู่คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “โรตีบอย” นั่นเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมานานนับสิบปี และตัวขนมปังต้นฉบับเองจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแล้ว แต่หากเห็นขนมปังก้อนกลมลักษณะเดียวกันนี้ใครๆ ต่างก็ยังเรียกว่า โรตีบอย ไม่ว่าผู้บริโภคที่ลิ้มลองรสชาติโดยตรง คลิปสอนทำอาหาร หรือแม้แต่ร้านค้าหลายแห่งเองก็ยังเรียกชื่อนี้กันอยู่


     ผ่านมา 16 ปีแล้ว ยังคงคิดถึงกันบ้างไหม วันนี้ลองมาย้อนรอยเรื่องราวของขนมปังในตำนานชื่อนี้ และอัพเดตตัวธุรกิจว่าจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้โรตีบอยยังมีขายอยู่ไหม? ขายที่ไหน? และเติบโตไปมากน้อยเพียงใดกัน   



 

โรตีบอยดังขึ้นมาได้ยังไง
 
               
        ความจริงแล้วโรตีบอย มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “Rotiboy” หรือ “ร็อตตี้บอย” แต่เพื่อให้จดจำง่ายเข้าใจได้ง่ายคนไทยจึงมักเรียกว่า โรตีบอย โดยเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ร้านขนมปังถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในเมือง Bukit Mertajam รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ปี 2541 ผู้ก่อตั้ง คือ “Hiro Tan” แต่เรื่องราวที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ตัวธุรกิจเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2545 หลังจากที่ได้ย้ายสาขาไปตั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศ เพราะจู่ ๆ ขนมปังก้อนกลมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Mexican Bun” ก็กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าวันละเป็นหมื่น ๆ ชิ้นนำโด่งพุ่งแซงขนมปังชนิดอื่นที่มีอยู่ในร้านไปเกือบหมด จึงทำให้เป็นที่สนใจของนักธุรกิจชาวต่างชาติ ทั้งสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และอื่น ๆ ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์กลับไปทำตลาดในประเทศของตนบ้าง


      สำหรับในไทยนั้นโรตีบอยได้เข้ามาทำตลาดเมื่อปลายปี 2548 และโด่งดังเป็นที่รู้จักจนมีลูกค้ามารอต่อคิวซื้อยาวเป็นหางว่าวเมื่อต้นปี 2549 เพราะความแปลกใหม่ กลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเปิดให้บริการขึ้นครั้งแรกที่สาขาสยามสแควร์และสีลม


      ซึ่งการจุดกระแสของโรตีบอยไม่ได้นำพาแค่แบรนด์ต้นตำรับเท่านั้นให้โด่งดัง แต่ยังสร้างปรากฏการณ์ขนมปังฟีเวอร์ให้เกิดขึ้นด้วย โดยหลังจากที่ทำออกมาได้ไม่นาน ก็เริ่มมีแบรนด์อื่น ๆ ขยับออกมาทำตามด้วย เช่น ปาป้าโรตี, คอฟฟี่โดม, มิสเตอร์บัน และเบเกอร์บอย จนไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีขนมปังก้อนกลมๆ สไตล์เม็กซิกันนี้อยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ห้างร้านไปจนถึงตามตลาดนัดก็มีการทดลองทำออกมาเช่นกัน จนใครๆ ก็ต่างพากันเรียกขนมปังหน้าตาแบบนี้ว่าโรตีบอยกันไปหมด เรียกว่าห้างไหนหรือชุมชนใดไม่มีอาจถูกมองว่าเชยไปเลยก็ได้



 

ดังเร็ว แต่ก็ไปเร็วเช่นกัน
 
               
     ไม่น่าเชื่อว่าโด่งดังอยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ ในปี 2550 โรตีบอยกลับมีการประกาศยุติการให้บริการลงในเมืองไทย ซึ่งในขณะนั้นมีการเปิดตัวอยู่ 4 สาขาด้วยกัน ได้แก่ สีลม สยามสแควร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว และบิ๊กซีรามคำแหง
               

     จากปรากฏการณ์มาไวไปไวนี้ หลายคนต่างพากันวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นออกมาหลายข้อด้วยกัน เริ่มจาก 1. เป็นเพราะกระแสนิยม ซึ่งไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ที่แท้จริงของผู้บริโภคชาวไทย เมื่อได้ทดลองให้รู้แล้ว จึงไม่ได้มีการกลับมาซื้อซ้ำมากสักเท่าไหร่ 2. ว่ากันว่าอาจมาจากความไม่ชัดเจนของตัวแบรนด์เอง ซึ่งแม้จะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้โด่งดัง แต่สาขาต้นฉบับ 2 แห่งที่เปิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันกลับมีเจ้าของเป็นคนละคนกัน จึงทำให้ขาดการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจนและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
               

      3. การโหมกระหน่ำเข้ามาช่วงชิงตลาดของแบรนด์คู่แข่ง ซึ่งแม้โรตีบอยจะเป็นเจ้าแรกที่นำขนมปังก้อนกลมนี้เข้ามาในเมืองไทยก่อนก็จริงอยู่ แต่ด้วยความที่เป็นขนมปังสไตล์เม็กซิกัน ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของแบรนด์เพียงผู้เดียว ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถทดลองทำขึ้นมาได้ จนในที่สุดก็สามารถทำออกมาได้รสชาติใกล้เคียงแถมยังทำราคาได้ดีกว่า โดยเฉพาะกับมิสเตอร์บันที่ทำออกมาขนาดเล็กกว่า แต่จำหน่ายอยู่เพียงชิ้นละ 10 บาทเท่านั้น ในขณะที่โรตีบอยขายอยู่ชิ้นละ 25 บาท และเมื่อแบรนด์ไม่ได้มีการสร้างแบรนด์รอยัลตี้ขึ้นมาให้ชัดเจน ก็ไม่ยากที่ผู้บริโภคจะลองเปลี่ยนใจไปชิมและอุดหนุนแบรนด์อื่น ๆ บ้าง ซึ่งบางรายขยายสาขาออกไปมากกว่า 30 -40 แห่ง ขณะที่โรตีบอยกลับมีอยู่เพียงไม่ถึงสิบสาขาด้วยซ้ำ


      และข้อสุดท้ายข้อที่ 4. น่าจะมาจากกระแสเรื่องสุขภาพ ที่มีการโจมตีว่าหากรับประทานเข้าไปเยอะเกินไปจะไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะมีส่วนประกอบไปด้วยทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมัน โดยแบรนด์ที่กลับอยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้ ก็คือ มิสเตอร์บัน ซึ่งเป็นของคนไทยผลิตขึ้นมาเอง อาจเป็นเพราะนอกจากราคาย่อมเยาที่จับต้องได้ง่ายแล้ว ทางแบรนด์ยังมีการผลิตขนมปังชนิดอื่น ๆ ออกมาจำหน่ายด้วย อาทิ ครัวซองต์, พาย เป็นต้น



 

โรตีบอยในวันนี้
 
               
      ถามว่าหลังจากข่าวประกาศยุติการให้บริการในเมืองไทยไป ธุรกิจของโรตีบอยเป็นอย่างไรต่อไปบ้าง ยังดำเนินกิจการอยู่หรือเปล่า หลังจากได้ทำการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่ามีการเปิดเพจ “Rotiboy Thailand” ขึ้นมาในปี 2557 โดยมีการบอกเล่าเรื่องราวที่มาของแบรนด์และคลิปวิดีโอของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้หวนคิดถึงกัน เหมือนเป็นความพยายามเพื่อจะรื้อฟื้นแบรนด์ขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ข้อความล่าสุดทิ้งไว้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ว่าจะมีการ Coming Soon กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่ได้เห็น
               

     จากการที่วันนี้แบรนด์ Rotiboy ห่างหายจากตลาดบ้านเราไปนาน อาจทำให้หลายคนพาลสงสัยว่าจริง ๆ แล้ววันนี้แบรนด์ยังอยู่ดีไหม จากการเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์อีกเช่นกันพบว่าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแม่ผู้ให้กำเนิดอย่างมาเลเซียโรตีบอยยังอยู่ดี โดยมีการอัพเดตโพสต์ข้อความล่าสุดไปเมื่อช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมานี้เอง แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปบ้าง จนทำให้ต้องมีการประกาศปิดกิจการลงชั่วคราว แต่ก็กลับมาเปิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว


     ส่วนในเว็บไซต์ www.rotiboy.com เว็บไซต์หลักของแบรนด์ได้มีการโพสต์ข้อความให้ลูกค้าสามารถเข้าไปทำการสั่งซื้อออนไลน์ได้ โดยจะทำเป็นชุดขนมปังสำเร็จรูปแบบ Frozen ให้ลูกค้าทดลองนำไปอบรับประทานเองที่บ้านได้ คิดว่าอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่วนที่อินโดนีเซียเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเข้าไปทำตลาดของแบรนด์ Rotiboy ค่อนข้างมาก เท่าที่ลองเข้าไปดูในอินสตาแกรมของ “Rotiboy Indonesia” พบว่ายังคงมีการอัพเดตรูปภาพขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุด คือ เมื่อสองวันก่อน 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เอง ทำให้รู้ว่ายังคงเป็นอีกประเทศที่ยังมีการจำหน่ายอยู่


      ในขณะที่สิงคโปร์อีกหนึ่งประเทศที่เคยนิยมชมชอบโรตีบอยพอ ๆ กับไทย กลับพบเพียงการรีวิวแสดงความคิดเห็นไว้ในเว็บไซต์ The Smart Local Singapore ตั้งแต่ปี 2556 ว่าได้มีการหยุดการให้บริการไปแล้ว เช่นเดียวกับเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ยังมีคนเข้าไปคอมเมนต์ว่าเสียดายกลิ่นหอมของขนมปังกาแฟ Rotiboy ที่ไม่มีอยู่แล้วอีกต่อไปในสิงคโปร์ แต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมานี้ กลับยังมีข่าวพูดถึงชุดโรตีบอยสำเร็จรูปให้นำไปทำรับประทานเองที่บ้านเหมือนกับที่ลงไว้ในเว็บไซต์มาเลเซียด้วย ก็เป็นไปได้ว่าร้านสาขาที่สิงคโปร์อาจไม่มีแล้ว แต่ยังคงมีโรตีบอยรูปแบบทางเลือกไว้ให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้นั่นเอง ซึ่งไม่แน่วันหนึ่งสำหรับในเมืองไทยเองแบรนด์ Rotiboy อาจเริ่มต้นกลับมาในรูปแบบนี้ก็ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกวันนี้หากได้เห็นขนมปังก้อนกลม ๆ ชนิดนี้ เราก็ยังคงเรียกกันติดปากว่า โรตีบอยอยู่เหมือนเดิมนั่นเอง




 
www.smethailandlclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​