“บ้านพักกายพักใจ” ที่ปักหมุดสุดท้ายของอดีตโปรดักชั่นเฮ้าส์ชื่อดัง สู่นักเดินทางวีลแชร์ริมฝั่งโขง

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : สองภาค

 

 



     เพราะพรุ่งนี้ยังมีดวงตะวันขึ้นอยู่เสมอ ถึงแม้จะลาลับขอบฟ้าไปแล้วในช่วงเย็นของวันนี้ก็ตาม เปรียบเหมือนกับชีวิตของคนเราที่ต้องมีขึ้นมีลง ขอเพียงไม่ถอดใจยอมแพ้ไปเสียก่อนเราก็อาจไม่ต้องร้องไห้อีกครั้งก็ได้


     เหมือนเช่นกับชีวิตของ “วีระ พุฒิกุลางกูร” อดีตเจ้าของโปรดักชั่นเฮ้าส์ชื่อดัง “คามาราร์ต สตูดิโอ” ที่เชี่ยวชาญด้านการตกแต่งภาพโฆษณาลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เพราะทำงานหนักเกินไปวันหนึ่งจนเกิดล้มป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้ไม่สามารถเดินและพูดได้เป็นปกติ


     โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า “พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ผมไม่ร้องไห้อีกแล้ว” หลังจากที่ได้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งยังอำเภอเชียงคาน เมืองเงียบสงบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเลย พร้อมกับเปิดกิจการที่พักเล็ก ๆ “บ้านพักกายพักใจ” ไว้ต้อนรับเหล่านักเดินทางวีลแชร์ ครอบครัว และผู้สูงอายุเมื่อมาเยือนเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงแห่งนี้ด้วย

 



 
อุบัติเหตุชีวิต
           

     ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีก่อน วันที่ 9 มีนาคม 2542 ระหว่างที่กำลังทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างหนัก จู่ ๆ ชายหนุ่มในวัยสามสิบตอนปลายเจ้าของบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์ติด 1 ใน 5 มือวางรีทัชตกแต่งภาพของประเทศ ที่ชีวิตกำลังรุ่งและเติบโตไปด้วยดีอย่างวีระ ก็เกิดอาการชาและปากเบี้ยวขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว และตั้งแต่วันนั้นมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม


     จากที่เคยทำงานได้เดือนละเป็นหลักล้านบาท เขากลับต้องกลายเป็นบุคคลที่แม้แต่จะเดินเหิน พูดคุย หรือช่วยเหลือตัวเองก็ลำบาก อโณทัย พุฒิกุลางกูร ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากต้องเป็นผู้รับภาระในการฟื้นฟูดูแลสภาพร่างกายและจิตใจของเขาให้กลับคืนมา พร้อมกับดูแลลูกน้อยวัยประถมศึกษาปีที่ 2 และอนุบาล 2 พร้อมกันไปด้วย





     วีระต้องเริ่มหัดเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่างเหมือนเด็ก ตั้งแต่อ่าน ก – ฮ, A B C ไปจนถึงชื่อเรียกของสีต่าง ๆ ทั้งที่เคยเป็นงานที่เขาถนัดมากมาก่อน ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบสิบปีแรกที่ผ่านไป ไม่มีวันไหนเลยที่วีระไม่ร้องไห้ โดยเฉพาะช่วงเวลาเย็นที่พระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นภาพที่เขาชื่นชอบและเฝ้ามองดูมาตลอด ก็ยังไม่สามารถทำได้ ทำให้เขาไม่มีกระจิตกระใจคิดที่อยากทำอะไรต่อไปเลย แม้แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไปบนโลกใบนี้


     จนกระทั่งชีวิตเขาได้เริ่มรู้จักกับธรรมะ ได้พบครูดี ๆ หลายท่าน และหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนความคิดเขาให้มีกำลังใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งได้ ก็คือ “อ.กำพล ทองบุญนุ่ม” อดีตนักกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำจนพิการทั้งตัวตั้งแต่จากศีรษะลงไป และภายหลังได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์บรรยายธรรมะเดินทางไปให้กำลังใจกับผู้คนทั่วประเทศ






     “ครั้งแรกที่เจอกับอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านพูดกับผมเลยว่า “วีระคนพิการชอบเรียกร้องความสนใจ ถ้าเธออยากทำให้คนรอบข้างเธอมีความสุข เธอต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้” มันทำให้ย้อนกลับไปคิดได้เลยว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเกือบสิบปีนั้นผมทำร้ายภรรยามากแค่ไหน เพราะผมไม่เคยยอมทำอะไรเลย กระทั่งตื่นมาเช้าของอีกวันผมเริ่มลองหัดไปเข้าห้องน้ำเอง แปรงฟัน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว จนภรรยาตื่นขึ้นมาก็ยังงง และจากนั้นผมก็เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ลองหัดทำอะไรขึ้นมาด้วยตัวเองเรื่อย ๆ และไปออกทริปติดตามอาจารย์กำพลบรรยายธรรมะกับชมรมเพื่อนคุณธรรมอยู่พักหนึ่ง”


     วีระเล่าเท้าความให้ฟังว่าเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกสู่สาธรณะชน เพื่อให้เป็นแง่คิดและกำลังใจครั้งแรกในรายการเจาะใจ เมื่อ 7 ปีก่อน
 



 
“ผมเลือกแล้วว่าจะตายที่นี่”
 

     กระทั่งเมื่อ 8 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่วีระและภรรยาพร้อมครอบครัวได้เดินทางมายังอำเภอเชียงคาน เมืองเล็ก ๆ เงียบสงบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเลย เพื่อมาดูแลมารดาของภรรยาที่กำลังเจ็บป่วย ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในตัวจังหวัด


     เมื่อได้มาเจอกับสภาพภูมิประเทศที่มีแม่น้ำโขงอยู่ด้านหลัง และวิวภูเขาสลับซับซ้อนมองเห็นอยู่ไกล ๆ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อัธยาศัยไมตรีเอื้ออาทรของผู้คนที่นี่ วีระจึงโทรศัพท์ไปบอกพ่อและแม่ของเขาว่า “ผมเจอที่ตายของตัวเองแล้ว”
              

     และตั้งแต่นั้นมาหลังจากเดินทางไปมาหลายครั้งระหว่างกรุงเทพฯ - เชียงคาน วีระและอโณทัยก็ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินในซอยเล็ก ๆ ผืนหนึ่งบนถนนคนเดิน เพื่อปลูกบ้านที่อยู่อาศัย โดยตั้งชื่อว่า “บ้านพักกายพักใจ” เพื่อใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนบั้นปลายของชีวิต






     ความคิดแรกนั้นเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นที่พักขึ้นมา เพียงแต่ต้องการสร้างเอาไว้เพื่อรับรองญาติ ๆ และเพื่อนสนิทมิตรสหายเท่านั้น แต่ด้วยบรรยากาศของบ้านที่เข้ามาแล้วอยู่ได้อย่างสบายใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการนั่งวีลแชร์ จึงเกิดการบอกต่อ ๆ กันมา วีระและภรรยาจึงตัดสินใจทำเป็นที่พักขึ้นมาในที่สุด เพื่อให้บริการแก่นักเดินทางวีลแชร์ รวมถึงผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่เดินเหินได้ไม่สะดวกคล่องตัวนัก
              

     โดยห้องพักของบ้านพักกายพักใจ มีด้วยกันทั้งหมด 4 ห้อง ประกอบด้วยห้องครอบครัวขนาดใหญ่ด้านบน 2 ห้อง และห้องเล็กด้านล่าง 2 ห้องสำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการที่ต้องนั่งวีลแชร์หรือผู้สูงอายุที่เดินขึ้นชั้นบนลำบาก ราคาอยู่ที่ 800 -1500 บาทแล้วแต่ช่วงฤดูกาล ซึ่งไม่เพียงตกแต่งด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง ภายในบ้านยังมีมุมโชว์ผลงานภาพถ่ายของวีระให้ผู้มาเยือนได้ชื่นชมด้วย


     นอกจากนี้ในจุดต่าง ๆ ของบ้านที่ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้นั่งวีลแชร์ วีระจะเป็นผู้มาคุมการก่อสร้างด้วยตัวเองตลอด ซึ่งเก็บเกี่ยวมาจากทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตามเขามักจะพกตลับเมตรติดตัวไว้อยู่เสมอ เพื่อทำการวัดขนาดของราวจับ ความสูงต่ำที่เหมาะสมของอ่างล้างหน้า โถชักครก พื้นต่างระดับ ฯลฯ จึงเรียกว่าเป็นที่พักที่สามารถพักได้อย่างสบายใจและสบายกายแก่นักเดินทางสองล้อได้จริง ๆ
 



 
หัวใจดวงใหม่
 
                
     อโณทัยได้เป็นตัวแทนบอกเล่าความรู้สึกของการทำบ้านพักแห่งนี้ขึ้นมาว่า


     “จริง ๆ เราตั้งใจสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาจุดประสงค์หลัก ก็คือ เพื่อเอื้อสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุให้มากันเป็นครอบครัวได้ คือ เราเอาตัวเราเองเป็นหลัก เพราะส่วนมากคนพิการไปไหนก็ไม่สะดวก ไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากไปไหน หรือคนแก่เองก็ตาม ดังนั้นคอนเซปต์จึงคือ “บ้านพักกายพักใจ บ้านพักสุขสบายมากันได้ทั้งครอบครัว” คือ คุณสามารถมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะอย่างเราเองเวลาไปไหนก็หอบหิ้วไปด้วยกันตลอด นอกจากนี้หากลองสังเกตดี ๆ ตามประตูหน้าต่างของบ้านเราจะมีกรงเหล็กใส่ไว้ เป็นอีกคอนเซปต์ที่เราคิดขึ้นมา คือ “คุกขังใจ” เพื่อขังใจตัวเองให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่นำสิ่งไม่สบายใจมาหรือปัญหาจากภายนอกเข้ามาทำให้เป็นทุกข์ เหมือนที่เราเองก็เคยผ่านมันมาแล้ว”


      จากความตั้งใจดังกล่าว จึงทำให้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้ บ้านพักกายพักใจได้รับประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็น “สถานที่อารยสถาปัตย์แห่งปี 2561” ประเภทโรงแรม/ที่พัก Friendly Design ที่มีการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย
              




     โดยทุกวันนี้ในทุก ๆ เช้าหากไม่ติดสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจหรือเจ็บป่วยไม่สบาย ในเวลาตี 5 ของทุกวันวีระจะปั่นวีลแชร์ออกมาริมฝั่งโขงเพื่อถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นและดูวิถีชีวิตผู้คนที่ผ่านทางไปมาในยามเช้า บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นไกด์ท้องถิ่นพาลูกค้าที่พักออกมาใส่บาตรบ้าง ขณะที่ในเวลา 5 โมงเย็นจะเป็นเวลาอีกรอบหนึ่งที่เขาจะออกมาตามล่าดวงตะวันในเวลาใกล้ลาลับขอบฟ้าไปแล้วอีกเช่นกัน


     เขาทำอยู่แบบนี้ทุกวันโดยไม่มีเบื่อ ประหนึ่งเหมือนจะชดเชยเวลาที่หายไปเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ขังตัวเองอยู่กับความท้อแท้สิ้นหวัง และแน่นอนวันนี้ใบหน้าของเขาไม่มีน้ำตาให้เห็นอีกต่อไป มีแต่ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มและเปี่ยมไปด้วยความสุขเท่านั้น
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​