รวมเด็ด! 5 แบรนด์ก๋วยเตี๋ยวริมทาง ขายหลักสิบ แต่ธุรกิจโตหลักล้าน

TEXT : กองบรรณาธิการ




 
     ถ้าพูดถึงสตรีทฟู้ดบ้านเรา หนึ่งในประเภทอาหารที่มีการทำขายอันดับต้นๆ นอกจากส้มตำข้าวเหนียวไก่ย่าง ข้าวราดแกง ก็น่าจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวนี่แหละที่ไม่ว่าจะมองไปตามตรอกซอกซอยไหน ใต้ตึกอพาร์ทเมนต์หอพัก หรือแม้แต่หน้าร้านสะดวกซื้อก็ต้องมีให้เห็นอย่างน้อยหนึ่งร้าน ส่วนจะเป็นก๋วยเตี๋ยวหมู – เนื้อ, บะหมี่เกี๊ยว, ก๋วยเตี๋ยวเรือ, ก๋วยเตี๋ยวปลา หรือก๋วยเตี๋ยวไก่ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ทุกวันนี้จะมีแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบางแบรนด์ก็อยู่มานาน 20 - 40 ปี


       แต่สิ่งสำคัญที่จะบอก คือ เห็นขายกันชามละไม่กี่สิบบาทอย่างนี้ แต่กลับทำรายได้ให้กับแบรนด์ได้เป็นปีละหลายล้านบาททีเดียว ซึ่งบางแบรนด์อาจก้าวกระโดดขึ้นไปหลักพันล้านเลยก็ว่าได้ ในวันนี้เราจึงรวบรวม 5 แบรนด์ดังในตำนานที่ไม่ว่าไปที่ไหนก็มีให้เห็นอยู่ตลอด มาดูกันสิว่าแต่ละแบรนด์มีที่มายังไง มีกลยุทธ์อะไรถึงสร้างแบรนด์ให้กระจายออกไปทั่วประเทศได้อย่างทุกวันนี้
 

ก่อนจะมาเป็นแบรนด์ก๋วยเตี๋ยว
 
               
       ส่วนใหญ่แล้วที่มาของแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวริมทางและก๋วยเตี๋ยวรถเข็นต่างๆ ที่เราเห็นนั้น มักเกิดขึ้นมาจาก 2 ส่วน คือ 1. ลูกชิ้นอร่อย โดยก่อนที่จะมาเป็นแบรนด์ก๋วยเตี๋ยว หลายแบรนด์มักสร้างชื่อหรือชูจุดขายที่ลูกชิ้นก่อนเป็นหลัก ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีสูตรลับที่แตกต่างกันไป เข้าทำนองว่าทำลูกชิ้นให้อร่อยก่อนแล้วร้านก๋วยเตี๋ยวถึงค่อยตามมาทีหลัง เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าลูกชิ้น คือ ส่วนประกอบหลักสำคัญของก๋วยเตี๋ยวก็ว่าได้ โดยมีหลายแบรนด์มากที่แม้จะทำเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ขึ้นมา มีการทำป้าย ทำรถเข็นให้ แต่กลับไม่บังคับเรื่องการซื้อวัตถุดิบอื่นๆ เช่น เส้น เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ เพราะมุ่งขายลูกชิ้นมากกว่า 2. ต่อยอดจากร้านดัง หลายแบรนด์ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยว ก็เพราะเป็นร้านดังมาก่อน จนมีคนสนใจติดต่ออยากขอซื้อสูตรบ้าง จนทำให้เกิดเป็นโอกาสธุรกิจขึ้นมาต่อยอดสู่การขยายสาขาหรือแฟรนไชส์หรือขายสูตรได้ในที่สุด



 

ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว
ก่อตั้ง : ปี 2537
รายได้ : 835 ล้านบาท (ปี 2561)
จำนวนสาขา : 4,300 สาขา (ปี 2562)
                 

      หากจะพูดถึงแบรนด์หรือแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวริมทางแบรนด์แรกที่มีให้เห็นกันจนชินตาแล้วละก็คงหนีไม่ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ซึ่งนอกจากจะมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ ยังเป็นแบรนด์ก๋วยเตี๋ยวที่มีความโดดเด่นในด้านของบะหมี่เกี๊ยวอีกด้วย โดยแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวเริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2537 ผู้ก่อตั้ง คือ พันธ์รบ กำลา ชายผู้ชีวิตในวัยเด็กจบการศึกษาเพียงชั้นป.4 ก็ต้องออกมาช่วยทำงานหาจุนเจือครอบครัว โดยเขาได้เริ่มต้นทำธุรกิจบะหมี่รถเข็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 กระทั่งขายดีจึงได้สร้างแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวในสองปีถัดมาอย่างที่กล่าวไปแล้ว
               

     โดยครั้งแรกนั้นเขาไม่ได้เริ่มต้นจากบะหมี่เกี๊ยว แต่เริ่มจากการขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสทั่วไป แต่มองเห็นว่ากำไรจากการขายลูกชิ้นน้ำใสนั้นมักน้อยกว่าการขายบะหมี่ เนื่องจากต้องนับจำนวนลูกชิ้นให้เท่าๆ กันทุกชาม แต่สำหรับบะหมี่เขาสามารถปรับหั่นให้มีความหนาบางของเนื้อหมูได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้ทำกำไรได้มากกว่า โดยภายหลังเมื่อขายดีจึงได้เริ่มคิดทำบะหมี่ขึ้นมาใช้เองในรูปแบบที่ต้องการ จนภายหลังต่อยอดกลายเป็นแฟรนไชส์บะหมี่เกี๊ยวได้ในที่สุด โดยมีตัวเลขสาขาในปี 2562 อยู่ที่ 4,300 กว่าแห่ง ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 835 ล้านบาท (ปี 2561)
               

     กลยุทธ์ในการทำธุรกิจของแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว คือ นอกจากจะพยายามกระจายออกไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ แล้ว ยังเน้นขยายสาขาควบคู่กับการเปิดอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อต่างๆ ด้วย ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังขยายแฟรนไชส์ไปยังตลาดเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ด้วย และวางเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564 นี้ พร้อมกับมีการอัพเกรดแบรนด์สู่ตลาดพรีเมียม โดยการเปิดเป็นร้านสแตนอโลน “ชายสี่ แฟคตอรี่” เปิดให้บริการสามารถเข้าไปนั่งรับประทานในร้านห้องแอร์ได้ด้วย รวมถึงยังแตกไลน์แบรนด์ก๋วยเตี๋ยวอื่นๆ และธุรกิจสินค้าอื่นออกมาอีกมากมาย อย่างเช่น ชานมไข่มุก Three Tea เป็นต้น



 

โกเด้ง – โฮเด้ง
ก่อตั้ง : ปี 2545
รายได้ : 272.9 ล้านบาท (ปี 2560)

               
     หากพูดถึงบะหมี่เกี๊ยวไปกันแล้ว ก็ต้องมาต่อกันที่ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อและหมู ซึ่งเรียกว่าได้รับความนิยมและขายดีไม่แพ้กันเลย โดยแบรนด์ที่ถือว่าตีคู่กันมากับชายสี่ บะหมี่เกี๊ยวได้ ก็คือ “โกเด้ง - โฮเด้ง” ซึ่งมีรายได้หลักหลายร้อยล้านบาทเช่นกัน โดยจัดตั้งขึ้นมาในนามของบริษัท บิ๊กบอล ฟู้ด จำกัด เมื่อปี 2545 ผู้ก่อตั้ง คือ เลิศพงศ์ ฉัตรมาลีรัตน์ ชายหนุ่มผู้เคยทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน จนวันหนึ่งได้ลาออกมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวของตัวเองขึ้นมา กระทั่งขายดีเริ่มเปิดสาขาเพิ่มขึ้น จนมองเห็นโอกาสในตลาดรถเข็นก๋วยเตี๋ยว จึงได้มีการคิดค้นสูตรลูกชิ้นของตัวเองขึ้นมาโดยดัดแปลงจากสูตรของครอบครัว สร้างแบรนด์และผลิตเป็นสินค้าออกวางจำหน่ายสู่ท้องตลาดในที่สุด โดย “โกเด้ง” คือ ลูกชิ้นเนื้อวัว ส่วน “โฮเด้ง” คือ ลูกชิ้นหมู รวมถึงเปิดให้บริการแฟรนไชส์ขึ้นมาด้วย โดยใน 1 ร้านจะจัดรูปแบบให้จำหน่ายได้ทั้งเนื้อและหมูพร้อมกันไปเลย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้
               

     ราคาแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวโกเด้ง - โฮเด้งครบชุดจะอยู่ที่ประมาณ 28,940 – 50,640 บาท แล้วแต่วัสดุของตัวร้านที่เลือกใช้ และเซ็ตอุปกรณ์ข้าวของต่างๆ นอกจากร้านขายก๋วยเตี๋ยวยังมีแฟรนไชส์ร้านลูกชิ้นปิ้งด้วย ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตของแบรนด์นั้น ก็คล้ายกับชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว คือ กระจายสาขาแฟรนไชส์ออกไปตามตรอกซอกซอยถนนหนทางต่างๆ รวมถึงเปิดอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อด้วยเช่นกัน โดยในปี 2560 มีข้อมูลรายได้ของแบรนด์โกเด้ง - โฮเด้งแจ้งไว้ที่ 272.9 ล้านบาท



                 

นำชัย
ก่อตั้งแบรนด์ : ปี 2524

               
     เรียกว่าเป็นลูกชิ้นเนื้อก๋วยเตี๋ยวแรกๆ ที่มีการสร้างเป็นแบรนด์ขึ้นมาเลยก็ว่าได้สำหรับลูกชิ้นเนื้อนำชัย จนเป็นที่จดจำของผู้บริโภคว่าหากอยากกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อวัวที่อร่อย ก็ต้องลูกชิ้นนำชัย โดยก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี 2524 ซึ่งเริ่มต้นกิจการขึ้นมาจาก สมชาย - พาณี จิตต์เที่ยง (เฮียชัย – เจ๊ยัง) สองสามีภรรยาซึ่งผลิตลูกชิ้นเนื้อวัวแท้ออกมาจำหน่ายภายใต้ชื่อ “นำชัย รสเด็ด” จากนั้นจึงขยายมาผลิตลูกชิ้นหมูและแบรนด์เส้นบะหมี่ของตัวเองเพิ่มขึ้นมาด้วย


      โดยตลอดระยะเวลา 30 ปีแรกตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจมานั้น แบรนด์ไม่เคยมีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด ช่องทางการขายทั้งหมด คือ ส่งให้กับร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นทั่วประเทศ ต่อมาภายหลังเมื่อมีทายาทเข้ามาช่วยสานต่อกิจการมีการยกระดับมาตรฐานคุณภาพขึ้นมา และจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาในชื่อ “เอ็น.ซี.ฟู๊ด โปรดักชั่น จำกัด” เมื่อปี 2551 โดยเคยมีการให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2552 ถึงจำนวนสาขาที่มีอยู่ คือ 1,500 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 30 เปอร์เซ็นต์ ต่างจังหวัด 70 เปอร์เซ็นต์


     กลยุทธ์ของแบรนด์ที่นำมาใช้ทำธุรกิจ คือ การผลิตลูกชิ้นคุณภาพ ได้รับมาตรฐานการผลิตมากมาย อาทิ GMP, HACCP, ISO9001:2015, ISO14001 นอกจากนี้ยังได้สัญลักษณ์ HALAL เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย จุดเด่นอีกข้อของลูกชิ้นนำชัย คือ ไม่ใส่สารกันบูด ราคาแฟรนไชส์จะอยู่ที่ประมาณ 17,500 – 27,500 บาท โดยปัจจุบันนอกจากส่งให้กับร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นต่างๆ แล้ว แบรนด์ยังได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วย
 


 

แชมป์ – ฮั้งเพ้ง
ก่อตั้งแบรนด์ : ปี 2527

               
     นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ลูกชิ้นเนื้อวัวในตำนานแบรนด์แรกๆ ของไทยที่มีอายุธุรกิจไล่เลี่ยกับลูกชิ้นนำชัย โดยลูกชิ้นแชมป์ (ลูกชิ้นวัว) – ลูกชิ้นนายฮั้งเพ้ง (ลูกชิ้นหมู) ก่อตั้งธุรกิจขึ้นเมื่อราวปี 2527 ภายใต้ชื่อบริษัทอุตสาหกรรม แชมป์ จำกัด เจ้าของผู้เริ่มก่อตั้ง คือ บดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ หรือ นายฮั้งเพ้ง เป็นคนจังหวัดระนองโดยกำเนิด เป็นชาวสวนคนจีน


     โดยหลังจากเริ่มต้นสร้างครอบครัวเขาเคยประกอบกิจการขายอาหารตามสั่ง และราดหน้านายฮั้งจนมีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อน แต่เนื่องจากติดปัญหาส่วนตัวและต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำ ภายหลังจึงได้ปิดกิจการไป และเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องเสียเวลากับการทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาก จนมามองถึงการทำลูกชิ้น ซึ่งหากทำออกมาเป็นวัตถุดิบสำเร็จรูปได้ ก็ไม่ต้องยุ่งยากในขั้นตอนการทำ โดยช่วงแรกนั้นลูกชิ้นของเขาก็ทำออกมาไม่เป็นท่า แต่ต่อมาภายหลังก็สามารถพัฒนาสูตรขึ้นมาได้ดี


     ช่วงแรกนั้นทำกันเองภายในครอบครัวเพื่อให้พอขายกับร้านก๋วยเตี๋ยวที่พี่น้องแต่ละคนก็ขยายสาขาออกไป ต่อมาเมื่อรสชาติดีอร่อยมีคนมาขอซื้อนำไปขายต่อมากขึ้น จึงได้ขยายเปิดเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้นขึ้นมาในย่านลาดพร้าวเมื่อปี 2526 และจากนั้นก็เริ่มขายแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวรถเข็นขึ้นมา โดยปัจจุบันมีสาขากระจายออกไปทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง  ราคาแฟรนไชส์จะอยู่ที่ 28,000 – 40,000 บาท โดยตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจนั้นมีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิตให้ทันสมัยอยู่เสมอ



 

เจียงลูกชิ้นปลา
ก่อตั้งแบรนด์ : ปี 2549
รายได้ : 136,423,490 ล้านบาท (ปี 2559)

               
     นับเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาที่มีความโดดเด่นในด้านรสชาติ และการเติบโตในด้านการทำธุรกิจ โดยจุดเริ่มต้นของร้านก๋วยเตี๋ยวเจียงลูกชิ้นปลานั้น เริ่มต้นขึ้นมาจากร้านตึกแถว ซึ่งเมื่อขายดีมีคนติดใจในรสชาติจึงมีผู้สนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ ก่อนขยายเป็นโรงงานผลิตในที่สุด โดยมี วิทย์ แซ่เจียง เป็นเจ้าของธุรกิจ โดยก่อตั้งธุรกิจขึ้นเมื่อราวปี 2549 ชื่อบริษัทปัจจุบัน คือ บริษัท เจเอฟบี ฟู้ดส์ จำกัด

               
     โดยก่อนหน้าที่จะมาทำลูกชิ้นปลาขายเองนั้น เขาได้ทดลองทำธุรกิจมาหลายอย่าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยความที่ชื่นชอบในลูกชิ้นปลาต่อมาจึงได้ทดลองผลิตทำขึ้นมาเองและเปิดเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นมา กระทั่งเริ่มขายส่งลูกชิ้นให้กับร้านก๋วยเตี๋ยวต่างๆ พร้อมกับขยายสาขาของตัวเองออกไปด้วย แต่ต่อมาบางร้านที่ได้นำลูกชิ้นไปขายต่อและขอใช้ชื่อแบรนด์กลับไม่ซื่อสัตย์ นำลูกชิ้นปลาที่ถูกกว่ามาขายปนกันไปด้วย จึงทำให้เกิดความเสียหาย ภายหลังจึงได้คิดระบบแฟรนไชส์ที่เป็นมาตรฐานออกมา รวมถึงสร้างภาพลักษณ์แบรนด์โฉมใหม่มีการตกแต่งร้านให้สวยงามมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสาขาของแบรนด์ที่ทำเอง เช่น สาขาตลิ่งชันที่อยู่ติดถนนบรมราชนนี มีการนำตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ มาตกแต่งร้านทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์
               

     โดยหลังจากปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมาใหม่ มีการทำเป็นร้านนั่งติดแอร์ เจียงลูกชิ้นปลามีการขยายธุรกิจไปสู่ห้างสรรพสินค้าต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการใช้กลยุทธ์ขยายสาขาไปตามปั๊มน้ำมันปตท. ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและกระจายออกไปได้มากขึ้น โดยนอกจากการมุ่งสร้างมาตรฐานในระบบแฟรนไชส์ที่ดี การยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ใหม่ให้ทันสมัยตอบโจทย์ผู้คนยุคนี้ได้มากขึ้น จุดเด่นอีกอย่างในการคำนึงถึงการขยายสาขาของเจียงลูกชิ้นปลา ก็คือ การเลือกทำเลที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีที่จอดรถสะดวกสบาย ซึ่งจะนำมาพิจารณาในการคัดเลือกแฟรนไชส์ด้วย โดยนอกจากการมุ่งสร้างมาตรฐานให้กับสาขาต่างๆ แล้ว ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในร้านออกมาให้หลากหลายมากขึ้นเป็นของกินเล่น และเมนูเสริมต่างๆ เพื่อให้เป็นทางเลือกกับผู้บริโภคด้วย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปัจจุบันแบรนด์สามารถทำรายได้ได้มากกว่า 136 ล้านบาท (ปี 2559) เลยทีเดียว





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​