แกะสูตรลับ “หอมรัญจวน” แฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทยของอดีตแอร์โฮสเตส พลิกขนมหลักสิบสู่เงินล้าน ทำ 5 ปี มี 7 สาขา

TEXT : นิตยา สุเรียมมา

PHOTO : หอมรัญจวน ขนมไทย
 

              


     จากชีวิตสวยหรูของแอร์โฮสเตสสาวที่เดือนๆ หนึ่งได้เงินไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท ได้ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก ได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นชีวิตที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากมีบ้าง แต่ด้วยความฝันที่มีบวกกับจังหวะชีวิตที่ต้องเลือก จึงทำให้ พจนันท์​ เกตุ​ประเสริฐ อดีตแอร์โฮสเตสสาวตัดสินใจลาออกจากงานเงินเดือนแสนกว่าบาท เพื่อมาขายขนมไทยกล่องละไม่กี่สิบบาท ซึ่งหากใครมองก็คงนึกเสียดาย แถมยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคทั้งคำดูถูก กลเกมในธุรกิจที่ไม่ได้โลกสวยอย่างที่คิด แต่สุดท้ายวันนี้ก็สามารถรุกขึ้นมายืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง เริ่มต้นสร้างธุรกิจจากคาเฟ่ จนกลายเป็นแฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทยที่มีครบวงจรทั้งขนม น้ำ ไอศกรีม ภายใต้ชื่อแบรนด์ “หอมรัญจวน ขนมไทย” ทำมา 5 ปี มี 7 สาขาด้วยกัน
 

บทเรียนแรกในโลกธุรกิจ
 
               
     โดยกว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ พจนันท์เล่าให้ฟังว่าเธอต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่คำตำหนิไม่เห็นด้วยกับการทิ้งอาชีพมั่นคงเพื่อมาทำค้าขาย การดูถูกว่าน่าจะทำไปได้ไม่รอด ไปจนถึงถูกแอบนำชื่อไปใช้ ในขณะที่ธุรกิจกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่แล้วสุดท้ายโชคชะตาก็นำพาให้เธอมาพบสิ่งที่ดีกว่า
               




     “ช่วงในระหว่างที่เป็นแอร์โฮสเตสได้เดินทางไปต่างประเทศเยอะมาก ได้เห็นคาเฟ่จากหลายๆ ที่ ซึ่งหลายแห่งก็นำขนมท้องถิ่นมาใช้เป็นเมนูหลักของร้าน ทำให้เรานึกอยากทำร้านคาเฟ่โดยนำขนมไทยมาใช้บ้าง เพราะเป็นคนชอบกินขนมไทยอยู่แล้ว อีกอย่างหากย้อนไปเมื่อ 5 – 6 ปีก่อนคาเฟ่ขนมไทยก็ยังไม่บูมเท่ากับตอนนี้ จนตอนหลังวางแผนจะกลับมาอยู่เมืองไทยเพื่อสร้างครอบครัวที่ชลบุรี เลยพยายามมองหาลู่ทางใหม่ ก็ทำให้นึกย้อนถึงความชื่นชอบในขนมไทย จนลาออกมาแล้วจึงเริ่มลงเรียนแบบจริงจัง และก็ทดลองทำออกมาขาย เริ่มจากลองโพสต์ขายก่อน จากนั้นก็เริ่มรับออร์เดอร์เยอะขึ้น ส่งตามร้านบ้าง


     “ทำอยู่ได้ 4 – 5 เดือนเงินเก็บก็เริ่มร่อยหรอ ขายได้เดือนละ 2 – 3 หมื่นบาท ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เกือบถอดใจอยู่หลายครั้ง จนมาเห็นแบรนด์ April's Bakery ซึ่งเจ้าของเขาก็เป็นแอร์โฮสเตสมาก่อนเหมือนกัน แต่เขาก็ยังทำอยู่ได้ เลยทำให้มีกำลังใจขึ้นมา ก็เริ่มลองปรับรูปแบบลองจัดเป็นกระเช้าของขวัญ ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น จนในที่สุดก็เริ่มมีร้านเล็กๆ ของตัวเอง ตอนนั้นขายดีมาก เพราะร้านขนมไทยแบบนี้ในชลบุรียังไม่ค่อยมีบวกกับเอาไปลงรีวิวในเพจแนะนำร้านด้วย ทำให้ลูกค้าก็เริ่มเยอะขึ้น แต่สุดท้ายเริ่มมีปัญหาเรื่องพื้นที่เพราะตอนนั้นร้านเราเล็กก็เลยย้ายออกมา  ระหว่างหาที่ใหม่ก็ลองวางขายตลาดนัดบ้าง แต่ขายไม่ได้เลย เพราะตลาดทั่วไปขายอันละ 10 – 20 บาท แต่ของเราเป็นขนมงานฝีมือขายกล่องละ 50 บาท เลยไม่มีใครซื้อ


     “จนในที่สุดก็ไปเจอกับที่แปลงหนึ่ง สามีเป็นคนหามาให้ ตอนแรกคิดว่าคงเป็นตึกทาวน์เฮ้าส์สักที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่ากลับเป็นที่เปล่าของร้านหมูกระทะเดิมเคยเช่าไว้และเลิกกิจการไป มีสีสเปรย์พ่นกำแพงเต็มไปหมด แต่ด้วยราคาเช่าไม่แพงและได้พื้นที่ค่อนข้างใหญ่ด้วย 200 ตารางวาก็เลยตัดสินใจลองดูทั้งที่ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าจะออกมาเป็นยังไง กระทั่งวันที่ไปรางวัดที่มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาหาก็มาถามว่าเราจะมาทำอะไร มาขายอะไร ตอนแรกก็ไม่ได้บอกว่าขายขนมไทย จนมารู้ภายหลังว่าเขามาจากเซเว่นฯ กำลังมาดูที่เพื่อเตรียมเปิดร้านเร็วๆ นี้ เลยอยากทำความรู้จักไว้ก่อน ความรู้สึกตอนนั้น คือ เหมือนเป็นความโชคดีในโชคร้ายเลย จากที่เงียบๆ ไม่มีใครมาทำอะไร ก็กลายเป็นทำเลทองขึ้นมา” พจนันท์เล่าย้อนเรื่องราวก่อนจะมาเป็นธุรกิจในปัจจุบันให้ฟัง



 

 
ฟ้าหลังฝน
 
               
     โดยหลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง ในที่สุดพจนันท์ก็สามารถตั้งหลักกับธุรกิจที่เธอรักได้ ด้วยขนาดร้านและพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นทำให้สามารถทำอะไรได้มากมาย ตั้งแต่ทำขนมขาย เปิดคลาสสอนทำขนม รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นโอกาสธุรกิจครั้งใหม่ที่ใหญ่และเติบโตขึ้นมากกว่าเดิม
               

     “เปิดตัวมาวันแรกเราก็ขายดีเลย จากแต่ก่อนเป็นร้านเล็กเคยขายได้เดือนละ 4 – 5 หมื่นบาท แต่พอเปิดร้านใหม่ขายวันแรกได้ 5 หมื่นกว่าบาทเลย ตอนนั้นดีใจมาก จากนั้นโอกาสดีๆ ก็เริ่มมีเข้ามา มีรายการโทรทัศน์หลายช่องมาขอถ่ายทำ มีคนเชิญไปออกงานแสดงสินค้า ได้ไปร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ เซฟดังๆ มากมาย โรงแรมใหญ่ๆ ก็สั่งออร์เดอร์เข้ามา เรารู้สึกเหมือนทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว เราเชื่อว่าอย่างนั้น เพราะถ้าวันนั้นไม่เจอกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ นานา ไม่ได้ออกจากร้านเดิม ก็คงไม่ผลักให้เรามาถึงจุดนี้ได้” พจนันท์เล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความสุข
               

     เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ แต่พจนันท์เล่าว่าตัวเธอเองก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทำตัวเองให้น่าสนใจ รวมถึงบางครั้งก็ต้องวิ่งเข้าไปหาโอกาส เพื่อเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้กับตัวเองด้วย
               




     “การทำร้านใหม่ ทำให้เราทำอะไรได้สะดวกขึ้น ด้วยขนาดร้านที่ใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องพยายามสร้างโอกาสให้กับตัวเองด้วย ไม่ใช่อยู่เฉยๆ บางครั้งเราก็ต้องสร้างสปอตไลท์ให้กับตัวเอง พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่คนอื่นสามารถมองเห็นเราได้ด้วย ซึ่งในระหว่างที่เปิดร้านไปด้วย เราก็พยายามหาอีเวนต์ไปออกบูธไปแนะนำตัวเองให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยไปของวงในทำให้ได้รับผลตอบรับดีมาก จนทำให้ใครๆ รู้จักเรามากขึ้น เริ่มกล้าให้เราทำงานใหญ่ๆ ให้ ครั้งหนึ่งเคยรับงาน 3 – 4 หมื่นชิ้นให้เวลามาแค่ 3 วันก็มี ซึ่งเรามีนักเรียนที่มาเรียนด้วยอยู่ในมือ เลยสามารถมาช่วยทำได้ จากโอกาสแรก ก็ต่อไปโอกาสที่ 2 ที่ 3 ต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด”
               

     โดยในคาเฟ่หอมรัญจวน ขนมไทย เรียกว่ามีทุกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขนมไทยชาววังโบราณ ที่ต้องพิถีพิถันใช้ฝีมือในการทำ เมนูเครื่องดื่มจากขนมไทยที่ไม่ได้หากินได้ง่ายตามคาเฟ่ทั่วไป แต่เป็นสูตรเฉพาะที่คิดดัดแปลงขึ้นมาเอง เป็นเครื่องดื่มใส่ขนมไทย อาทิ ทับทิมกรอบ อาลัว ไปจนถึงไอศกรีมก็เป็นรสชาติของขนมไทยด้วย
 




แตกหน่อ ต่อยอด สู่แฟรนไชส์คาเฟ่ขนมไทย
 
               
     จากการสร้างโอกาสให้ตัวเองหลายๆ ทาง ทำหลายอย่างที่คิดว่ามีโอกาส จนในที่สุดพจนันท์ก็พบช่องทางสร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ ด้วยการต่อยอดจากคาเฟ่ร้านขนมไทยให้กลายมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ โดยเท่าที่ลองเสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ณ ตอนนี้แทบไม่พบว่ามีใครทำเป็นคาเฟ่ขนมไทยออกมาในรูปแบบของแฟรนไชส์เลย อาจเพราะด้วยการบริหารจัดการที่ค่อนข้างยาก ละเอียดอ่อนของตัวขนมไทยเองก็ได้
               

     “บังเอิญได้ไอเดียมาจากตอนที่เริ่มเปิดสอนนักเรียน ซึ่งจะมีคำถามเข้ามาร้อยแปดอย่างเลย บางอย่างไม่ก็รู้ ก็ต้องทดลองเรียนรู้และไปหาคำตอบมาให้เขา จนเริ่มรู้สึกว่าเราเริ่มมีความรู้มากขึ้น ถ้าลองเปิดเป็นแฟรนไชส์เราน่าจะสามารถช่วยดูแลเขาได้ เพราะเราเรียนรู้มาจากนักเรียนแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วการจะทำออกมาในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะขนมไทยค่อนข้างละเอียดอ่อน ไหนจะเรื่องการขนส่ง การออกแบบกระบวนการผลิต อย่างเรื่องไส้ขนมต่างๆ เราจะเป็นคนทำส่งไปให้ และให้เขาไปทำในส่วนแป้งประกอบขึ้นรูปอีกที บางสาขาถ้ามีวัตถุดิบท้องถิ่นที่ดีเขาก็ส่งมาให้เราช่วยคิดและทำเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะสาขาออกมาให้ก็มี ซึ่งกว่าที่จะตัดสินใจเปิดรับแฟรนไชส์แต่ละที่ได้เราสัมภาษณ์ค่อนข้างเยอะเลยและดูองค์ประกอบหลายๆ ส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าเขาอยากทำกับเราจริงๆ ไหม และถ้าทำแล้วโอกาสที่จะไปต่อได้เป็นยังไงบ้าง ตลาดและคู่แข่งเป็นยังไง”   
               




     ปัจจุบันหอมรัญจวน ขนมไทย มีทั้งหมด 7 สาขาด้วยกัน โดยแบ่งเป็นสาขาต้นตำรับ 2 แห่ง ได้แก่ หอมรัญจวน​ ขนมไทย​ ต้นตำรับ (ชลบุรี) และหอมรัญจวน​ ต้นตำรับ –​รังสิต และสาขาแฟรนไชส์อีก 5 แห่ง ได้แก่ หอมรัญจวน​ เชียงราย, หอมรัญจวน บ่อวิน, หอมรัญจวน บางนา, หอมรัญจวน​ ศรีราชา และล่าสุด คือ หอมรัญจวน จันทบุรี​
โดยนอกจากจะเป็นคาเฟ่ที่มีการประยุกต์ขนมไทยให้เป็นเมนูต่างๆ ขึ้นมาแล้ว ยังมีการต่อยอดทำเป็นชุดขนมไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และรูปเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิความเชื่อต่างๆ ด้วย ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กชั้นดีดึงดูดรายการต่างๆ ให้เข้ามาถ่ายทำ


     ล่าสุดนอกจากรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว ยังมีโปรเจกต์ใหม่กำลังจะเปิดเป็นคีออสเล็กๆ ภายใต้ชื่อ  “หอมรัญจวน ทูโก” สำหรับผู้ที่มีทุนน้อย แต่อยากเริ่มต้นธุรกิจด้วย และนี่คือ เรื่องราวทั้งหมดของแอร์โฮสเตสสาวผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ จนประสบความสำเร็จกับเส้นทางที่เลือกเดินได้ในทุกวันนี้
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​