เปิดสูตร 5 แบรนด์ดังสู้โควิด กับกลยุทธ์ทำธุรกิจไซส์เล็กให้รอดในวิกฤต

TEXT : กองบรรณาธิการ
 




               
     การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบลง และคาดว่ายังไงก็คงต้องอยู่ร่วมกันไปอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งจากการระบาดซ้ำซ้อนหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มแสวงหาช่องทางใหม่และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาชั่วคราว แต่อาจเป็นแนวทางที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตก็ได้


     โดยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากการปรับตัวของหลายแบรนด์ คือ การเลือกทำธุรกิจให้มีขนาดเล็กลง ลงทุนน้อย โดยหยิบเอาเฉพาะจุดเด่นบางอย่างที่มี ตัดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป เพื่อปรับรูปแบบให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถขยายตลาดออกไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม วันนี้เราจึงหยิบ 5 ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้กลยุทธ์ปรับตัวให้เล็กลง เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตมาฝากกัน
 





 
Major : จากป๊อบคอรน์โรงหนัง สู่คีออสป๊อบคอร์น
               

     ปรับตัวกันมาพักหนึ่งแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สำหรับเมเจอร์ ซีนีแพล็กซ์ กรุ้ป ผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ของไทย ที่หยิบเอาเซกชั่นเล็กๆ แต่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการมาชมภาพยนตร์อย่างป๊อบคอร์นแตกไลน์ออกมาทำเป็นสินค้าป๊อบคอร์นเกรดพรีเมียมชื่อว่า “PopStar” ออกมาวางจำหน่ายในรูปแบบสำเร็จรูปทั้งที่เคาน์เตอร์หน้าโรงภาพยนตร์ จนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียมอย่างวิลล่า มาร์เก็ต และกูร์เมต์ มาร์เก็ตได้


     ล่าสุดได้ออกโมเดลใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งกับการทำ “คีออส และมินิคีออสป๊อบคอร์น” เปิดเป็นร้านขายป๊อบคอร์นโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบของป๊อบคอร์นทำสดใหม่ ไปจนถึงป๊อบคอร์นสำเร็จรูปที่มีทั้งในรูปแบบซองที่สามารถฉีกกินได้เลย, รูปแบบที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ และรูปแบบกระป๋อง เป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น และนับเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้ธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง






 
S & P : ลุยเปิดร้านไซส์มินิขายเฉพาะ Delivery & Take Way
               

     นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจเบเกอรีและอาหารที่อยู่คู่เมืองไทยมานานเกือบ 50 ปี สำหรับแบรนด์ S & P ซึ่งล่าสุดได้คลอดโมเดลธุรกิจใหม่สร้างแบรนด์ “Delta” ขึ้นมา เพื่อเปิดเป็นร้านย่อยให้บริการเฉพาะเดลิเวอรีและ Take Way รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใช้บริการเดลิเวอรีเยอะขึ้น ไปจนถึงการปรับตัวเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจต่อไปได้ในสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงรองรับวิถีชีวิตใหม่ที่อาจเปลี่ยนไปตลอดกาลในอนาคตได้ โดยนอกจากโมเดลการเปิดร้านใหม่ยังมีการคิดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ทำแอปพลิเคชันขึ้นมา เพื่อการใช้งานที่ง่ายขึ้นแก่ผู้บริโภคด้วย






 
After You : จากร้านสาขา หันมาออกบูธทั่วประเทศ


     นี่ก็อีกหนึ่งแบรนด์คาเฟ่ร้านเบเกอรี-เครื่องดื่มของคนรุ่นใหม่ที่เคยสร้างกระแสโด่งดังจากหลายเมนูและมีแนวทางการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งล่าสุดได้ขยายความอร่อยเดินหน้าสู้โควิด-19 ด้วยการเน้นขายเดลิเวอรี, ซื้อกลับบ้าน ไปจนถึงกระโดดออกจากร้านสาขาออกบูทขายสินค้าและป๊อบอัพสโตร์กระจายตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งด้วยชื่อเสียงที่มีอยู่ของ After You จึงทำให้ไม่ว่าจะไปตั้งที่ไหน ก็มีลูกค้าอยากเข้ามาอุดหนุน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองในการสร้างรายได้ รวมถึงผู้บริโภคเองก็เข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งนอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวภายในตัวร้านเองก็จะมีการปรับรูปแบบให้บริการที่มากขึ้น โดยปรับรูปโฉมใหม่ให้เป็น After You Marketplace เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคภายในร้าน เช่น เครื่องดื่มบรรจุขวด ของที่ระลึก เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อกลับบ้านได้ด้วย เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง





โคคา สุกี้ : ปิดสาขาใหญ่ ปรับขายผ่าน Pop Up เน้นเมนูจานเดียว


     เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ในแวดธุรกิจที่มักมีออกมาให้เห็นจนเกือบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วกับการทยอยปิดตัวปิดสาขาลงของแบรนด์ต่างๆ “โคคา สุกี้” แบรนด์สุกี้เก่าแก่ของไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยได้มีการประกาศปิดสาขาในตำนานที่สยามสแควร์ลงหลังหมดสัญญา แต่การปิดตัวลงดังกล่าวไม่ใช่การจบไปเลยซะทีเดียว แต่เป็นการจบเพื่อไปเริ่มใหม่ ซึ่งล่าสุดแบรนด์ได้เตรียมตัววางแผนที่จะเปิดร้านโคคา สุกี้ คอนเซ็ปต์ใหม่ในรูปแบบ Pop Up เพื่อจำหน่ายเป็นอาหารจานเดียวกว่า 30 เมนู ในรูปแบบที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ร้านเล็กๆ รองรับได้ไม่เกิน 30 ที่นั่ง โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถรองรับพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังมองว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่อายุน้อยให้เข้ามาใช้บริการได้มากขึ้นด้วย ซึ่งทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง





 
MUJI : เปิดร้านค้าออนไลน์แห่งแรก บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
               

     ใครเป็นสาวก MUJI คงรู้ดีว่ามูจิ คือ แบรนด์ที่เรียบง่าย มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามกระแสใดๆ แต่ล่าสุดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบรนด์จึงมีการปรับตัวเริ่มเปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วสำหรับ MUJI Thailand ที่ได้มีการจับมือกับบริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เพื่อเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.central.co.th โดยเน้นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและของใช้ภายในบ้าน


     และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ผ่านมายังได้มีการเปิดตัวร้านค้าออนไลน์อย่างเป็นทางการแห่งแรกขึ้นบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada เพื่อมอบประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบรักษ์โลก และเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัลให้กับแบรนด์ด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น ต่างไปจากเดิมที่เน้นการสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ามาสัมผัสสินค้าด้วยตัวเองตามสาขาต่างๆ นับเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของแบรนด์ที่เกิดขึ้น ก็เพราะผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นั่นเอง
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​