รู้จัก กุมภวาปี – น้ำตาลตราช้อน ก่อนปิดตำนานน้ำตาลเมืองอุดร ผลิตในไทยแต่ไปเป็นเบอร์ 1 อยู่ในญี่ปุ่น

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 


               
     นับเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการธุรกิจไทยกับการประกาศปิดกิจการของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีที่อยู่คู่เมืองอุดรธานีมานานกว่า 58 ปี การจากลาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตพนักงานเกือบร่วม 300 คน ลูกจ้างชั่วคราวตามฤดูกาลอีกพันกว่าคน ไปจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอีกนับไม่ถ้วน แต่ยังเหมือนเป็นการสูญเสียสัญลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่ชาวกุมภวาปีมาช้านานด้วย ซึ่งหลายชีวิตหลายครอบครัวก็ผูกพันกับโรงงานแห่งนี้เสมือนเป็นบ้านหลังที่สองไปแล้ว เพื่อเป็นการร่วมส่งท้ายอีกหนึ่งตำนานน้ำตาลเมืองอุดรธานี วันนี้เราจึงขอนำเสนอเรื่องราวธุรกิจของโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ให้ได้รู้จักกัน
 
 
ย้อนประวัติโรงงานน้ำตาลเมืองอุดรธานี

 

     ย้อนไปเมื่อสมัย 80 กว่าปีก่อน ราวปี พ.ศ. 2480 จากข้อมูลวารสารหอการค้าจังหวัดอุดรธานีได้บันทึกไว้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลขึ้นมาในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมีการก่อสร้างขึ้นมาทั้งหมด 11 แห่งด้วยกัน ภายใต้การดูแลของบริษัท ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อของโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ต้นกำเนิดของโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีรวมอยู่ด้วย






     ต่อมาภายหลังได้ถูกขายต่อให้กับบริษัทและหน่วยงานภาครัฐอีกหลายทอดด้วยกัน จนสุดท้ายได้ตกมาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท บุญเกื้ออุตสาหกรรม จำกัด กระทั่งเมื่อปี 2506 เมื่อเกิดภาวะน้ำตาลล้นตลาด มีโรงงานผลิตน้ำตาลเกิดขึ้นมามากกว่า 48 แห่ง จึงได้มีการขายต่อให้กับกลุ่มทุนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีกลุ่มบริษัทมิตซุยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งนับเป็นทุนต่างชาติเพียงกลุ่มเดียวในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย


     โดยมีแนวทางหลักในการบริหารธุรกิจ คือ การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ซึ่งนอกจากจะมีนายทุนจากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้ว ยังมีการเปิดให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม นักธุรกิจชาวไทย ไปจนถึงเกษตกรชาวไร่อ้อย และพนักงานบริษัทสามารถเข้ามาร่วมถือหุ้นได้ด้วย ซึ่งน้อยนักที่จะมีบริษัทกล้าทำเช่นนี้ได้ โดยเหตุผลที่มาก็เพื่ออยากให้ชาวกุมภวาปีทุกคนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนั่นเอง







      หลังจากนั้นในปี 2517 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด หรือ KP Sugar Group นับรวมระยะเวลาแล้วจนถึงปัจจุบันภายใต้การดูแลของกลุ่มทุนต่างชาติแห่งนี้ จึงเป็นเวลา 58 ปีพอดีจนปิดดำเนินการ


     โดยผลผลิตส่วนใหญ่ของน้ำตาลกุมภวาปีนั้น จะเน้นการส่งออกขายไปยังต่างประเทศเป็นหลักกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน โดยเฉพาะการส่งป้อนกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ Spoon ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปช้อน จนต่อมาภายหลังได้กลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดญี่ปุ่นตามรายงานข่าวที่เคยลงไว้ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้มีการพูดถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม KP Sugar Group เพื่อป้อนให้กับกลุ่มประเทศ AEC นั่นเอง


 
 
โลโก้เดียว แต่ 2 โรงงานผลิต

 
               
     แต่ภายใต้โลโก้แบรนด์รูปช้อน ไม่ได้มีเพียงน้ำตาลกุมภวาปีโรงงานเดียวเท่านั้นที่ใช้ตราสัญลักษณ์นี้ ยังมีโรงงานรุ่นน้องอย่าง “น้ำตาลเกษตรผล” ก่อตั้งเมื่อปี 2534 มาร่วมใช้แบรนด์เดียวกันด้วย ในโลโก้รูปช้อนสีแดงและสีเหลือง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ KP Sugar Group เช่นกัน






     ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้โรงงานน้ำตาลกุมภวาปีจะปิดตัวไป แต่ยังมีโรงงานน้ำตาลเกษตรผลที่ยังคงอยู่ โดยจากรายงานข่าวล่าสุดกล่าวว่าชาวไร่อ้อยที่มีสัญญากับโรงงานน้ำตาลกุมภวาปีจะสามารถถ่ายโอนสัญญามายังโรงงานน้ำตาลเกษตรผลได้ เนื่องจากเป็นโรงงานในกลุ่มเดียวกัน แต่ด้านพนักงาน-ลูกจ้างจะไม่มีการโอนไปอัตโนมัติเนื่องจากตำแหน่งมีไม่มากพอ
               

     โดยนอกจาก 2 โรงงานดั้งเดิมในเมืองอุดรธานีแล้ว ในปี 2561 กลุ่มทุนมิตซุยและบริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด ได้จับมือร่วมกับบริษัท โทเร อินดัสตรีส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศจัดสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากกากอ้อยขึ้นที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีด้วย ภายใต้ชื่อ “บริษัท เซลลูโลซิก ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด” โดยมีการสนับสนุนจากองค์กรอีกหลายสถาบันในญี่ปุ่นร่วมกับทุนตนเองรวมแล้วเป็นเงินลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท นับเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในโลกที่ใช้กรีนเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 494,982,922 บาท คิดเป็น 72.79 เปอร์เซ็นต์ของทุน
               





     จากที่เล่ามาทั้งหมด ทั้งเรื่องราวความเป็นมา และแนวทางการบริหารธุรกิจ จึงอาจกล่าวได้ว่าโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี คือ หนึ่งในธุรกิจและสัญลักษณ์สำคัญที่อยู่ในใจของชาวกุมภวาปีมาช้านาน จึงไม่แปลกที่หากวันนี้ต้องจากไป จะทำให้หลายคนต้องใจหายและนึกเสียดาย เพราะความผูกพันที่อยู่ร่วมกันมานานนั่นเอง


     โดยแม้จะต้องจากไป ก็ไม่เสียแรงที่ชาวกุมภวาปีจะรักโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ เพราะแม้จะต้องปิดตัวลงแต่ก็มีการ รับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ปิดหนี ไม่หนีหาย โดยมีการจัดตั้งโครงการขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า MIARI : จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายธุรกิจ ที่แม้วันนี้จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้แล้ว แต่มีความพยายามที่จะดูแลทุกคนให้เป็นอย่างดีที่สุดนั่นเอง

 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​