ทำธุรกิจยังไงให้อยู่ได้กว่า 300 ปี “Lock & Co“ ร้านขายหมวกที่เก่าสุดในโลก ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 
               
          หมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายมาหลายศตวรรษแล้วด้วยวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ครั้งหนึ่ง การสวมหมวกเวลาออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำ แม้ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 หมวกจะมีบทบาทลดน้อยลง และสวมใส่บ้างเป็นบางโอกาส แต่แฟชั่นหมวกก็ไม่ได้สูญหายไปไหน แถมยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบางสังคมอีกด้วย รวมถึงกลุ่มคนรักหมวก นิยมสะสมหมวกก็เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
               

         สำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เครื่องแต่งกายประเภทหมวก เชื่อว่าจะต้องเคยได้ยินชื่อ “Lock & Co” ร้านผลิตและจำหน่ายหมวกชื่อดังจากอังกฤษที่บริการผลิตหมวกตามสั่ง ทั้งหมวกโบราณ หมวกสมัยใหม่ หมวกคลาสสิก และหมวกร่วมสมัย โดยมีการวัดขนาดศีรษะ และให้ลูกค้าเลือกแบบและชนิดวัสดุ หมวกที่ทางร้านผลิตจะใช้วัสดุหลากหลาย อาทิ ผ้าสักหลาด ผ้าทวีด ผ้าแคชเมียร์ และผ้าทั่วไปที่คุณภาพดีที่สุดโดยเสาะหามาจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก
               

         แต่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Lock & Co คือนอกจากเป็นร้านจำหน่ายหมวกที่เป็นงานหัตถกรรม ยังเป็นร้านที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่สุดในโลก จนถึงปัจจุบัน เปิดบริการมานาน 345 ปีแล้ว ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ครอบครองโดยทายาทของเจ้าของเดิมผู้ก่อตั้งอีกด้วย



                     

         โรเจอร์ สตีเฟนสัน รองประธาน Lock & Co ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 7 เล่าว่าธุรกิจเริ่มต้นเมื่อปี 1676 โดยเจมส์ ล็อคบนถนนเซนต์เจมส์ในลอนดอน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านเมย์แฟร์อันแหล่งรวมร้านหรู หมวกที่รับผลิตให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจะเป็นเปลี่ยนไปตามยุค เช่น ในต้นคริสต์ศตวรรษ 1700 เป็นหมวกทรงสูง (Top hat) ก่อนที่ปลายคริสต์ศตวรรษจะเปลี่ยนไปนิยม หมวกสามมุมหรือหมวก Tricon
               

         กระทั่งปี 1849 Lock & Co ก็สร้างชื่อด้วยการออกแบบมวกชนิดหนึ่งเรียกว่า bowler hat หรือหมวกทรงกะลาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หากย้อนกลับไปยุควิคตอเรีย หมวกดังกล่าวเป็นหมวกที่คนงานรถไฟใส่ แต่ Lock & Co นำมาออกแบบใหม่ให้ชนชั้นสูงที่เข้าแข่งขันในเกมล่าสัตว์สวมใส่เพื่อให้คล่องตัวกว่าหมวกทรงสูงที่มักเกี่ยวกิ่งไม้หรือต้นไม้ หมวก bowler hat นี้เองที่ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลดชาวอังกฤษสวมใส่จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวพอๆ กับไม้เท้า



               

          ลูกค้าของ Lock & Co มีตั้งแต่สมาชิกราชวงศ์ บุคคลมีชื่อเสียงในสังคมไปจนถึงประชาชนทั่วไป สตีเฟนสันเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่าแบรนด์ของตระกูลได้รับใช้ราชวงศ์มาช้านาน รวมถึงวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ชาร์ลี แชปลิน นักแสดงตลก และฌอน คอนเนอรี นักแสดงชื่อดังที่สวมหมวก bowler hat ของ Lock & Co ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ แต่โดยมากจะพบเห็นหมวก Lock & Co ถูกสวมใส่ตามงานต่างๆ อาทิ รอยัล แอสคอต หรืองานแข่งขันม้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีของอังกฤษ พระราชพิธีในพระราชวัง และงานแต่งงานทั่วไป   
               

           ซู ซิมพ์สัน กรรมการผู้จัดการ Lock & Co ให้สัมภาษณ์ว่าหมวกทำให้การแต่งกายสมบูรณ์ขึ้น และเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนหรือสไตล์ของคนๆ นั้น Lock & Co สามารถตอบโจทย์รสนิยมของลูกค้าได้เนื่องจากมีเลือกมากมายหลายประเภทให้เลือก ก่อนหน้านั้น ทางร้านอาจจะเน้นบริการลูกค้าชาย แต่เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ขยายกลุ่มลูกค้าไปยังสุภาพสตรี และกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วสุดของบริษัทจนต้องจัดตั้งทีมดีไซเนอร์ขึ้นมาโดยเฉพาะ



               

          สำหรับหมวกสุภาพสตรีจะแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “Couture Millinery” เป็นหมวกรุ่นสั่งทำพิเศษ ต่อมาก็ “Casual Hats” เป็นหมวกลำลองที่ใส่ได้ทุกฤดูกาลและสามารถนำติดตัวได้ตลอด และ “Hat-a-Porter” เป็นหมวกสำเร็จรูปสำหรับฤดูร้อนและฤดูหนาว 
               

          ซิมพ์สันกล่าวอีกว่าลูกค้าของทางร้านได้ขยายจากกลุ่มคนชั้นสูงไปยังประชาชนทั่วไปมากขึ้น ยกตัวอย่าง คนขับแท็กซี่ในลอนดอนจำนวนมากก็เป็นลูกค้าที่ร้าน และมีลูกค้าอีกมากมายที่เข้ามาสำรวจสินค้าบนเว็บไซต์ของบริษัทแล้วเริ่มเก็บเงินเพื่อซื้อหมวกรุ่นที่ตัวเองชอบ อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพลักษณ์การเป็นร้านหรูหราที่คนมีฐานะชอบใช้บริการจึงอาจทำให้ลูกค้าทั่วไปไม่กล้าเดินเข้าร้านเพราะความเกร็ง แต่ผู้บริการ Lock & Co ยืนยันว่าพนักงานที่ร้านยินดีต้อนรับและปฏิบัติต่อลูกค้าทัดเทียมกัน 

               


         ทั้งนี้ หมวกของ Lock & Co ส่วนใหญ่ผลิตในอังกฤษโดยผู้เชี่ยวชาญด้านหมวกในแมนเชสเตอร์ ส่วนหมวกสุภาพสตรีจะผลิตที่ร้านโดยทีมดีไซเนอร์และช่างทำหมวกประจำของร้าน มีเพียงประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของสินค้าทั้งหมดที่ผลิตจากที่อื่นโดยเน้นประเทศในยุโรป เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ Lock & Co จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานที่ผลิตซึ่งมีไม่กี่แห่ง และมีพนักงานแผนกตรวจสอบความสมบูรณ์ของสินค้าทุกชิ้นอีกทีก่อนส่งมอบให้ลูกค้า   
               

         Lock & Co ไม่เหมือนร้านหมวกทั่วไป ขั้นตอนการใช้บริการจะซับซ้อนกว่า เริ่มตั้งแต่ลูกค้ามาเลือกดูหมวกที่ร้าน วัดขนาดศีรษะ เลือกแบบ และสั่งทำ การสั่งทำมี 2 แบบ สั่งทำตามตัวอย่างหมวกที่มี หรือสั่งทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการโดยการเลือกวัสดุและรายละเอียดต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นหมวกที่ใช้ในพิธีสมรสจะยิ่งซับซ้อน ลูกค้าอาจต้องนำชุดที่จะสวมในงานมาไว้ที่ร้านเพื่อเทียบสีให้เข้ากันที่สุด เมื่อหมวกสำเร็จแล้วก็ถึงเวลานักหมายลูกค้ามาลองหมวกที่ร้าน หากไม่พอดีก็จะทำการแก้ไขจนสมบูรณ์แบบที่สุด



               

         มาถึงคำถามที่ว่าเหตุใดธุรกิจ Lock & Co ถึงได้ยืนยาวมานานกว่า 300 ปี ในขณะที่ร้านอื่นๆ ต่างล้มหายไปก็เยอะ ซิมพ์สันกล่าวว่าก่อนหน้านั้น บนถนนเซนต์เจมส์อันเป็นย่านไฮโซมีร้านรับตัดหมวกอยู่ 5 ร้านด้วยกัน แต่ตอนนี้เหลือ Lock & Co เพียงร้านเดียว การหายไปของร้านเหล่านั้นบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นหมวก แต่ปัจจัยที่ทำให้ Lock & Co ยืนหยัดอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากความเหนียวแน่นในการเป็นธุรกิจของครอบครัว
               

           Lock & Co เองก็ไม่ต่างจากร้านอื่นที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่น แต่ทิศทางธุรกิจที่กำหนดโดยเจ้าของกิจการซึ่งเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำไม่เพียงยังผลให้ธุรกิจอยู่ได้แต่ยังกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์  สำหรับแผนในอนาคต Lock & Co ยังไม่มีแผนขยายร้านสาขาไปต่างประเทศ แต่ต้องการมุ่งไปที่ธุรกิจค้าส่งให้กระจายในยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากฐานลูกค้านอกประเทศมากที่สุดอยู่ในสหรัฐฯ นอกจากนั้น Lock & Co ยังเปิดกว้างที่จะร่วมงานกับดีไซเนอร์อื่น ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยทำงานกับวิเวียน เวสต์วู้ด ดีไซเนอร์สายพังก์ชื่อก้องโลก และสแวกเกอร์ กับ อะเบทธิงเอพ ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นจากญี่ปุ่น
 

         ที่มา : http://www.merchantandmakers.com/lock-and-co-hatters/
          https://www.huntsmansavilerow.com/huntsman-get-top-tips-top-hats-ascot-lock-co/
 
 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​